ยาบ้า – 16 ปีแห่งความรอคอย โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมานี้ มีการประชุมร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหายาเสพติดที่โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยมีศาลฎีการ่วมกับสำนักกิจการในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) และศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมประชุมเรื่อง ทิศทางของนโยบายยาเสพติดโลก เพื่อนำผลของการประชุมสมัยพิเศษของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเรื่องยาเสพติด (UNGASS) ปี 2016 มาปรับใช้ในประเทศไทย โดยมีนายวีรพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา พร้อมด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเปิดการประชุม ทั้งนี้ ได้กล่าวถึงวิวัฒนาการแก้ไขยาเสพติดเมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาว่า มีแนวคิดทำให้โลกปราศจากยาเสพติดด้วยประกาศสงคราม แต่เมื่อทำงานร่วมกับยาเสพติดมายาวนานจนถึงปัจจุบัน โลกยอมจำนนให้ยาเสพติด และกลับมาคิดว่าจะอยู่ร่วมกับยาเสพติดได้อย่างไร

เปรียบเทียบได้กับคนเป็นมะเร็งที่ไม่มียารักษา ต้องใช้ชีวิตอยู่กับมะเร็งต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข

ขณะนี้ทิศทางเกี่ยวกับยาเสพติดกำลังเปลี่ยนไป หลายประเทศพูดถึงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการดูแลสุขภาพอนามัยของผู้เสพ ทิศทางของการใช้ยาเสพติดเพื่อรักษาอาการป่วย แต่ยูเอ็นยังไม่กล้าเขียนและไม่กล้ายอมรับ ทั้งที่มีผลงานวิจัยยืนยันและมีทิศทางของการยอมรับมากกว่า 70% แล้ว

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ในที่ประชุม UNGASS ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่เรียกร้องให้คำนึงถึงการลงโทษที่ได้สัดส่วน เช่น อันตรายของสารกระตุ้นในกลุ่มแอมเฟตามีนที่มีต่อตนเองและผู้อื่นในสังคม บทบาทของผู้กระทำผิด มาตรการอื่นแทนการลงโทษจำคุก หลายประเทศนำแนวคิดของประเทศไทยไปใช้ แต่ในไทยทำไม่ได้เพราะติดขัดที่กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าไม่แก้กฎหมายก็เดินต่อไปไม่ได้ ตนจึงผลักดันให้ยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดเป็นการปฏิรูปกฎหมายยาเสพติดทั้งระบบ ขณะนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกา กฎหมายใหม่จะเปิดช่องให้ศาลมีโอกาสใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำคุก หรือการปรับที่น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เมื่อมีเหตุอันสมควรเฉพาะราย โดยพิเคราะห์ถึงความร้ายแรงของการกระทำความผิด ฐานะของผู้กระทำความผิด และพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้อง การแก้ไขปัญหายาเสพติดต้องดำเนินการให้ครบทั้ง 3 ด้าน คือ ปราบปราม ป้องกัน และบำบัด แต่ที่ผ่านมาการบำบัดทำไม่ได้ ติดขัดที่กฎหมาย ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่จะเปลี่ยนเมทแอมเฟตามีนจากยาเสพติดรุนแรงเป็นยาปกติ เพราะในทางการแพทย์ เมทแอมเฟตามีนมีผลทำลายสุขภาพและสมองน้อยกว่าบุหรี่และสุรา แต่สังคมกลับยอมรับบุหรี่และสุรา หลังจากนี้จะหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เพื่อหาแนวทางที่เป็นไปได้ในการยกเลิกเมทแอมเฟตามีนจากบัญชียาเสพติด

Advertisement

ครับ ! เริ่มต้นก่อนจะพูดหรือวิจารณ์อะไรต้องทราบเสียก่อนว่า แอมเฟตามีนคืออะไร ?

แอมเฟตามีน (amphetamine) ย่อมาจาก alpha-8nvvtwi M methylphenethylamine) แอมเฟตามีน มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสขมนิดๆ มีสูตรทางเคมีคือ C9H13N

แอมเฟตามีน เป็นสารที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาในปี พ.ศ.2430 โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ เอเดเลียโน (Edeleno) ในรูปของแอมเฟตามีนซัลเฟต (Amphetamine Sulphate) ต่อมาในปี พ.ศ.2431 นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นก็สามารถสังเคราะห์อนุพันธ์ของแอมเฟตามีนได้อีกตัวหนึ่งคือ เมทแอมเฟตามีน (Methamphetamine) ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลางได้รุนแรงกว่า

Advertisement

ในสหรัฐอเมริกาแอมเฟตามีนถูกใช้เป็นยารักษาโรคหลายชนิด ที่นิยมแพร่หลายเป็นยาดมแก้หวัดคัดจมูก ชื่อยาเบนซีดรีน (Ben zedrine) มีไส้กระดาษชุบด้วยน้ำยาบรรจุไว้ในหลอดให้สูดดม แต่ก็มีผู้นำมาใช้ในทางที่ผิดเพื่อกระตุ้นร่างกาย และลดความอ้วน โดยนำไส้กระดาษซับมาจุ่มน้ำเพื่อละลายตัวยา แล้วนำมาใช้กินแทน

ต่อมามีการผลิตแอมเฟตามีนในรูปยาเม็ดใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นยาสามัญประจำบ้าน ไม่ต้องมีใบสั่งยาก็ซื้อหามาใช้ได้ ในขณะนั้นมีการโฆษณาสรรพคุณของแอมเฟตามีนว่าสามารถรักษาโรคได้ถึง 39 โรค เช่น โรคจิต โรคประสาท โรคซึมเศร้า โรคปวดศีรษะ เป็นต้น โดยไม่ได้ตระหนักถึงฤทธิ์ของยาที่ทำให้เสพติดกันมากนัก และมีประชาชนจำนวนมากที่นำมาใช้ในทางที่ผิด ในปี พ.ศ.2482 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาประกาศให้ยาจำพวกแอมเฟตามีนเป็นยาควบคุมซึ่งต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์จึงจะซื้อได้ ทำให้การใช้ยาชนิดนี้ลดน้อยลงจากท้องตลาด และเริ่มมีการผลิตและจำหน่ายผิดกฎหมายอย่างแพร่หลาย และได้เข้ามาแพร่ระบาดในประเทศไทย ในช่วงปี พ.ศ.2510

สมัยก่อนพวกเด็กนักเรียนที่ต้องดูหนังสือดึกๆ แล้วไม่อยากง่วงนอนก็ซื้อยาขยันก็คือเมทแอมเฟตามีนในรูปยาเม็ดมากิน (ผู้เขียนก็เคยกิน ซึ่งก็ได้ผลคือไม่ง่วงไม่หลับแต่ดูหนังสือไม่รู้เรื่องอยู่ดี) นอกจากนี้ เมทแอมเฟตามีนในรูปยาเม็ดนั้นก็เป็นที่นิยมของพวกขับรถบรรทุก 10 ล้อและคนขับรถทางไกลเพราะทำให้ไม่ง่วง ซึ่งยาเม็ดเมทแอมเฟตามีนนี้มีชื่อเรียกว่ายาม้า (ที่ไต้หวันเขากินหมากแทนเวลาขับรถจะได้ไม่ง่วง)

เมทแอมเฟตามีนถูกจัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท พ.ศ.2518 แต่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 135 ปี พ.ศ.2539 กำหนดให้เป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษปี พ.ศ.2522 เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2539 (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, 2539)

ตรงนี้แหละครับที่เป็นเรื่อง

ท่านผู้อ่านที่เคารพครับ ความสำคัญมันคือการเลื่อนตำแหน่งเมทแอมเฟตามีนจากยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่มีบทลงโทษของผู้ผลิต นำเข้าหรือส่งออกอย่างผิดกฎหมาย คือ จำคุกตั้งแต่ 1 ปี-ตลอดชีวิต ปรับตั้งแต่ 100,000-5,000,000 บาท แต่เมื่อเลื่อนตำแหน่งไปเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ที่มีบทลงโทษของผู้ผลิต นำเข้าหรือส่งออกนั้นคือบทลงโทษสูงสุดคือประหารชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่ 4 ปี-ตลอดชีวิต หรือปรับตั้งแต่ 81,000 บาท-5,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คือยกเอาแอมเฟตามีนที่มีส่วนผสมในยาแก้หวัดทุกชนิดไปเหมือนกับเฮโรอีนที่มีแต่โทษหาประโยชน์อะไรไม่ได้เลย และมีประเทศไทยเราเท่านั้นนะครับที่เล่นบทหนักที่สุดกับยาบ้าแม้แต่หน่วยปราบปรามยาเสพติดของอเมริกาคือ Drug Enforcement Administration (DEA) ก็ไม่ได้จัดยาบ้าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 เหมือนแบบเฮโรอีนอย่างเมืองไทย

ผลก็คือตั้งแต่ยกฐานะเมทแอมเฟตามีนขึ้นเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ใน พ.ศ.2539 แล้วจำนวนยาบ้าที่แพร่ระบาดในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยเท่าทวีคูณ ซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ในการแพร่ระบาดของยาบ้าได้ด้วยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เบื้องต้นคือเมื่อของหายากเพราะโทษแรง ราคาก็ต้องสูงขึ้นเป็นหลายเท่าทวีคูณ จากยาม้าเม็ดละ 5-10 บาท ก็เพิ่มเป็นราคาเม็ดละเป็นเรือนร้อยบาททันที ใครๆ ก็อยากผลิต อยากขายเพราะกำไรงามที่สุด

ผู้เขียนได้เขียนคัดค้านเรื่องการปราบปรามยาบ้าด้วยการเลื่อนระดับยาบ้าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ลงในมติชนในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2542 และวันที่ 7 กันยายน 2542 และในวันที่ 17 เมษายน 2549 และในบทความสุดท้ายนี้ผู้เขียนได้แสดงหลักฐานของการจับยาบ้า (เฉพาะที่ยึดยาบ้าได้เท่านั้น)

พ.ศ.2539 ยึดยาบ้าได้ 9,022,222 เม็ด ส่วน พ.ศ.2542 (11 เดือนแรก ม.ค.-พ.ย.) ยึดยาบ้าได้ 43,003,000 เม็ด พูดง่ายๆ ไม่ถึง 4 ปีดี จับยาบ้าเพิ่มขึ้นร่วม 5 เท่า และปัจจุบันนี้ทางการไทยก็เลิกเก็บสถิติการยึดยาบ้าแล้วละครับ เพราะประมาณคร่าวๆ คงมีเป็นหมื่นเป็นแสนล้านแล้วละครับ

ในเดือนเมษายน พ.ศ.2543 (16 ปีมาแล้ว) นั้นเองผู้เขียนก็ได้ไปออกรายการโทรทัศน์ที่มีคุณสรยุทธ ทัศนจินดา เป็นพิธีกรตอนนั้นยังอยู่ที่ช่องเนชั่นไปพูดกับนายแพทย์, แพทย์หญิงและรองเลขาธิการ ป.ป.ส. เรื่องยาบ้านี่แหละปรากฏว่าข้อเสนอที่ลดขั้นยาบ้าลงมาเป็นยาเสพติดให้โทษระดับที่ 2 ตามเดิมหรือปล่อยให้องค์การเภสัชฯผลิตยาบ้าขายเองในราคาถูกจะได้ควบคุมได้เพราะถ้าราคาถูกมากก็คงไม่มีใครผลิตแข่งหรอกครับ

ปรากฏว่าผู้เขียนถูกสับเละเทะจากบรรดาผู้เข้าร่วมสนทนาออกทีวีครั้งนี้ จนคุณสรยุทธต้องเข้าช่วยในบางครั้งและมีท่านผู้ชมแสดงความคิดเห็นมาด้วยก็ไม่เห็นด้วยกับผู้เขียนประมาณ 95 ต่อ 100 นั่นแหละครับ

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อที่จะให้กำลังใจท่านรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมแหละครับ เพราะท่านคงโดนสับเละแน่ หากท่านที่เคารพอยากดูงานที่ผู้เขียนเขียนให้กับคลังความรู้และข้อมูลระบบสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สว รส.) เมื่อ 16 ปีที่แล้ว เรื่อง “นโยบายและกลไกทางกฎหมาย ศึกษาตัวอย่างกรณีปัญหายาบ้า : สาเหตุ การแก้ไข และนโยบายใหม่” ก็ดาวน์โหลดเอาได้ ฟรีครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image