สุจิตต์ วงษ์เทศ : อนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่บ้านกร่ำ อ. แกลง จ. ระยอง สร้างหาเสียงการเมืองไม่ใช่หลักฐานประวัติสุนทรภู่

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง (ภาพโดย ปานตะวัน รัฐสีมา)

อนุสาวรีย์สุนทรภู่ ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จ. ระยอง ไม่ใช่หลักฐานว่าสุนทรภู่เกิดที่นั่น แต่เป็นงานหาเสียงการเมืองก่อน พ.ศ. 2500
“สิ่งหนึ่งที่ข้าพเจ้าต้องทำ คือสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ขึ้นที่บ้านกร่ำ…” เป็นคำประกาศอย่างหนักแน่นในการหาเสียงเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเมื่อ พ.ศ. 2498 ของนายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ ซึ่งทำให้เขาได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. จังหวัดระยองหลายสมัย
ด้วยปณิธานนี้ นายเสวตรได้ผลักดันให้กระทรวงวัฒนธรรมในสมัยนั้นมีมติให้ดำเนินการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ ณ บริเวณวัดป่าเดิม ต. บ้านกร่ำ อ. แกลง จ. ระยอง โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ในเดือนมีนาคม 2498

“เมื่อวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์แล้ว ข้าพเจ้าได้จัดการหาที่ดินเพิ่มขึ้น เพราะที่ดินที่เป็นของวัดป่าเดิมที่เหลืออยู่ มีเพียง 2 ไร่เท่านั้น…” นายเสวตรเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตการเมือง”
“หลังจากจัดการเรื่องที่ดินแล้ว ข้าพเจ้าได้ไปพบอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้เป็นปรมาจารย์ของกรมศิลปากรในด้านประติมากรรม ขอให้ท่านช่วยทำหุ่นจำลองอนุสาวรีย์ขึ้น โดยมีรูปปั้นสุนทรภู่เป็นหลัก มีรูปปั้นพระอภัยมณี นางมัจฉา และผีเสื้อสมุทรเป็นส่วนประกอบ” ซึ่งอาจารย์ศิลป์ให้ความร่วมมืออย่างดี เขียนโครงร่างอนุสาวรีย์และปั้นอนุสาวรีย์จำลองสูงประมาณ 40 เซนติเมตร พร้อมหล่อรูปปั้นเป็นโลหะเป็นแบบไว้
แต่การสร้างอนุสาวรีย์นี้ก็มีอุปสรรค เมื่อรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกรัฐประหารในปี พ.ศ. 2500 ทำให้การดำเนินการสร้างล่าช้าออกไป
จนกระทั่ง พ.ศ. 2511 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีจอมพล ถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างโดยให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบ และหล่อรูปอนุสาวรีย์ ตลอดจนวางแผนผังอนุสาวรีย์ด้วย
ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ออกแบบและควบคุมการปั้นและหล่อรูป คือ สนั่น ศิลากร
ประติมากรผู้ปั้นรูปที่สนั่น ศิลากร คัดเลือกมาคือ สุกิจ ลายเดช ปั้นรูปสุนทรภู่ ไกรสร ศรีสุวรรณ ปั้นรูปพระอภัยมณี สาโรช จารักษ์ ปั้นรูปนางเงือก คนสุดท้ายที่คัดเลือกให้ปั้นรูปนางผีเสื้อสมุทรคือศิลปบัณฑิตที่เพิ่งจบหมาดๆ ชื่อธนะ เลาหกัยกุล
[คัดจาก ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 มกราคม 2547 หน้า 151-159)

สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี เกิดในวังหลัง เป็นผู้ดีบางกอก

สุนทรภู่ มีชีวิตวนเวียนอยู่ใน “วัง” กับ “วัด” เริ่มตั้งแต่ เกิด – โต – บวช – ตาย
เกิด – วังหลัง สมัย ร.1, โต – วังหลวง สมัย ร.2, บวช – วัดหลวง สมัย ร.3, ตาย – วังหน้า สมัย ร.4

กรุงเทพฯ บ้านเกิดของสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี ผู้ดีบางกอก (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี. สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, 2546)
กรุงเทพฯ บ้านเกิดของสุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี ผู้ดีบางกอก (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี. สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร, 2546)

สุนทรภู่เกิดที่วังหลัง คลองบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี ในต้นแผ่นดิน ร.1 เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329
ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า
คนทั่วไปถูกทำให้รู้มานานแล้ว ว่าสุนทรภู่เป็นชาวบ้านกร่ำ เกิดที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง ปัจจุบันอยู่ใน จ. ระยอง
ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องไม่จริง แต่สร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ด้วยเหตุผลทางการเมือง และการท่องเที่ยว
สุนทรภู่ถูกใส่ร้ายว่าเป็นอาลักษณ์ ขี้เมา เจ้าชู้ อยู่อย่างไพร่ ไร้เคหา ได้แต่ลอยเรือร่อนเร่ไปมา แล้วทะเลาะกับ ร.3
นี่ก็ล้วนเป็นเรื่องไม่จริงที่ถูกสร้างขึ้นภายหลัง

Advertisement
 แผนที่กรุงเทพฯ (ยุคต้น แสดงตำแหน่งวัดเทพธิดาราม และสถานที่เกี่ยวข้องสุนทรภู่
แผนที่กรุงเทพฯ (ยุคต้น แสดงตำแหน่งวัดเทพธิดาราม และสถานที่เกี่ยวข้องสุนทรภู่

แท้จริงแล้วสุนทรภู่เป็นผู้ดีมีตระกูลสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แล้วใกล้ชิดพระราชวงศ์จักรี
ตัวตนแท้จริงของสุนทรภู่มีอาชีพรับราชการ เป็นนักปราชญ์ประจำราชสำนัก ร.2 มีความสามารถพิเศษทางกวีนิพนธ์ แต่ไม่ได้มีอาชีพเป็นกวี เพราะยุคนั้นไม่มีอาชีพกวี
สุนทรภู่ฝักใฝ่ทางการเมืองในเจ้าฟ้ามงกุฎ จนขัดแย้งกับ ร.3 เลยต้องออกบวชหนีราชภัย ย่อมเป็นพยานว่าไม่มีโอกาสกินเหล้าเมามายเลยแม้แต่น้อย
เพราะอยู่ในสายตาของรัฐ และในความอุปการะของเจ้านายชั้นสูงตลอดชีวิต แล้วแต่งหนังสือหลายเรื่องเป็นที่รู้กัน

สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เป็นวังหลวง วังหน้า วังหลัง ที่สุนทรภู่มีชีวิตวนเวียนเกี่ยวข้อง (ภาพจากเครื่องบินมองจากฝั่งธนบุรีและมองจากฝั่งกรุงเทพฯ) (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี, สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร, 2546)
สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่เป็นวังหลวง วังหน้า วังหลัง ที่สุนทรภู่มีชีวิตวนเวียนเกี่ยวข้อง (ภาพจากเครื่องบินมองจากฝั่งธนบุรีและมองจากฝั่งกรุงเทพฯ) (ภาพจาก สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี, สำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร, 2546)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image