สุจิตต์ วงษ์เทศ : พญากง พญาพาน ในกลอนสุนทรภู่

พระปฐมเจดีย์ ถ่ายโดยคาร์ล ดอร์ริง ราว พ.ศ. 2449 – 2456 (ภาพจาก Karl Döhring.Buddhist Stupa (Phra Chedi) Architecture of Thailand. Thailand : White Lotus Press, 2000)

พญากง พญาพาน เป็นตำนานนิทานประวัติความเป็นมาของการสร้างพระปฐมเจดีย์ กับพระประโทณเจดีย์ (จ. นครปฐม) ในความนึกคิดของคนบอกเล่า

เชื่อไม่ได้ว่าเป็นจริงอย่างนั้น แต่เป็นหลักฐานเชื่อถือได้ว่ามีคนสมัยหลังๆ กลุ่มหนึ่งซึ่งยังไม่รู้ว่าใคร? แต่งตำนานนิทานเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยสำนึกอย่างใดอย่างหนึ่งที่ต้องสืบค้นต่อไป

โครงเรื่องหลักของพญากง พญาพาน คือ ลูกฆ่าพ่อ มีนักปราชญ์บอกไว้นานแล้วว่าน่าจะรับดัดแปลงจากนิทานภาษาสันสกฤต (ซึ่งรับจากกรีกอีกทอดหนึ่ง) ถ้าจริงตามนี้ก็แสดงว่า

1. พญากง พญาพาน ไม่ใช่นิทานท้องถิ่นดั้งเดิมของพระปฐมกับพระประโทณ ที่ จ. นครปฐม

Advertisement

2. เป็นนิทานนำเข้า โดยผู้เป็นนักปราชญ์ทางบาลี-สันสกฤต เมื่อนานมากแล้วก่อนยุคกรุงรัตนโกสินทร์

3. มีร่องรอยชวนให้น่าเชื่อว่านักปราชญ์ผู้นั้นน่าจะเป็นมหาเถรศรีศรัทธาฯ (หลานพ่อขุนผาเมือง) มีประวัติส่วนพระองค์อยู่ในจารึกวัดศรีชุม (รัฐสุโขทัย) ที่เคยเสด็จไปประทับบริเวณพระธาตุหลวง เมืองหลั่งยะสิว (นครปฐมโบราณ) แล้วปฏิสังขรณ์ศาสนวัตถุสถาน (ก่อนเป็นพระปฐมเจดีย์หลายร้อยปี)

เอาเป็นว่าตำนานนิทานมีคุณวิเศษอยู่ในตัวเองอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ

Advertisement

1. เป็นวรรณกรรม ที่มีกลวิธีเล่าเรื่องด้วยสำนวนโวหารภาษาแบบบ้านๆ ดึงดูดให้คนติดตามอย่างใจจดใจจ่อ บางเรื่องมีจินตนาการบรรเจิดกว้างขวางอย่างยิ่ง หลายเรื่องมีพลังให้เกิดความคิดสร้างสรรค์งานร่วมสมัย

2. เป็นร่องรอยบอกทิศทางความสัมพันธ์ด้านมานุษยวิทยา และประวัติศาสตร์โบราณคดี

แต่จะใช้งานได้ต้องมีหลักฐานประวัติศาสตร์โบราณคดีสนับสนุน ถ้ายังขาดหลักฐานสนับสนุนก็ยังเชื่อไม่ได้ แต่ไม่ทิ้งไปเลย คงเก็บไว้ใช้งานอื่น หรือรอหลักฐานอาจพบใหม่ต่อไปข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image