ที่มา | คอลัมน์ คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง มติชนรายวัน |
---|---|
ผู้เขียน | กล้า สมุทวณิช |
เผยแพร่ |
แนวคิดเรื่องการปลดเมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าออกจากการเป็นยาเสพติดประเภท 1 ไปสู่สิ่งที่มันเคยเป็นหรือควรจะเป็น กลายเป็นแม่เหล็กเรียกมือเท้าแบบที่ผู้เสนอความคิดให้คาดไว้บ้างก็คิดไม่ถึง
ยิ่งเมื่อถูกลดทอนผ่านสื่อลงเหลือเพียงวาทกรรมให้จำง่ายว่า “ยาบ้าถูกกฎหมาย” ยิ่งทำให้เรื่องเข้ารกเข้าพงกันเข้าไปใหญ่ ประกอบกับวิธีและน้ำเสียงของผู้แถลงด้วย ยิ่งเป็นการล่อรับการโจมตีจากฝ่ายที่เห็นต่างแบบไม่ต้องสงสัย เลยเถิดกันไปจนกลายเป็นเสียงเยาะเย้ยไยไพว่า จากนี้ไปรัฐบาลจะเปิดเสรีให้มีการค้ายาบ้าแบบหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อเหมือนวิตามินซีหรือยาสามัญประจำบ้าน
ต้องเรียกสติคืนกันนิดหน่อย ว่าการทำให้ “ไม่เป็นอาชญากรรม” (Decriminalization) เป็นคนละเรื่องกับการทำให้ถูกกฎหมาย (Legalization) และแน่นอนว่าต่างจากการปล่อยเสรีเช่นกัน
อย่าลืมว่ามีอะไรอีกหลายอย่างรอบตัวเรา ที่เราอาจจะไม่ทันคิดว่าเป็นของร้ายหรืออันตราย อย่างน้อยก็รถยนต์ที่เราขับเรานั่งอยู่ทุกวัน รถยนต์ก็เป็นของที่มีไว้ใช้ขับได้ถูกกฎหมาย แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาขับรถยนต์ได้ ความสามารถในการขับรถยนต์ถูกควบคุมไว้ด้วยระบบใบอนุญาต ทั้งก็ใช่ว่าใครที่มีใบอนุญาตขับขี่แล้วจะขับรถอย่างไรก็ได้โดยเสรีก็หาไม่ เพราะต้องถูกบังคับด้วยกฎหมายจราจรที่กำหนดรายละเอียดว่ารถของท่านจะใช้ความเร็วได้เท่าไร จะเคลื่อนจะหยุดได้ตรงไหนอย่างไร
หรืออย่างอาวุธปืน ที่เป็นของร้ายที่ “กฎหมายอนุญาต” ให้ประชาชนมีไว้ครอบครองได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหาซื้อปืนได้จากร้านสะดวกซื้อเหมือนโทรศัพท์มือถือเสียที่ไหน
หากเรามอง “ความผิด” ตามกฎหมายเหมือนกับโทนสีแล้ว สีขาวก็คงเหมือนสิ่งที่ไม่ผิดเลยใครๆ ก็ทำได้ ไม่มีอำนาจใดจะมาห้ามปราม ส่วนสิ่งใดที่ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ สีขาวนั้นก็จะเริ่มอมโทนเทาขึ้นมาหน่อย หากข้อจำกัดตามกฎหมายนั้นมากเข้า สีก็จะเทาแก่ขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงเรื่องสีดำที่ทำไม่ได้เลยโดยไม่มีข้อยกเว้น
เช่นนี้สารใดจะกลายเป็น “ยาเสพติด” ขึ้นกับการที่กฎหมายกำหนดไว้ และ “ยาบ้า” ก็ถือเป็นยาเสพติดที่เพิ่งสร้างขึ้นมาราวยี่สิบปีนี้เอง ซึ่งใครที่เรียนวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในรุ่นก่อนปี 2540 คงจำได้ว่าบัญชียาเสพติดให้โทษที่เราต้องท่องหรือมีโปสเตอร์ปิดที่บอร์ดของโรงเรียนนั้นก็มีแค่ บุหรี่ สุรา กระท่อม กัญชา มอร์ฟีน เฮโรอีน
ส่วนที่เป็นยาบ้าสมัยนี้ ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นของที่มีขายได้ทั่วไป ใครอยากอ่านหนังสือยันเช้าก็ซื้อมากินได้ เรียกว่า “ยาขยัน” หรือที่กาลต่อมามันจะกลายเป็นสิ่งที่กฎหมายควบคุมไว้ในฐานะของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่ผู้คนรู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อของ “ยาม้า” อันเป็นนามเรียกขานสุดท้ายก่อนที่มันจะกลายเป็นยาเสพติดให้โทษโดยสมบูรณ์ไปในปี 2539 เมื่อผู้ใหญ่สมัยนั้นมีนโยบายต้องการจะกำจัด “ยาม้า” ซึ่งสร้างปัญหาในแง่ว่าผู้ขับขี่รถบรรทุกหรือรถสาธารณะใช้ “ยาม้า” เพื่อที่จะขับรถแบบ “ควงกะ” ได้นาน แต่ผลร้ายของมันก็คืออุบัติเหตุที่เกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอบ้าง หรือผลข้างเคียงประเภทอาการหูแว่วคุ้มคลั่งอาละวาดบ้าง
น่าเสียดายที่ไม่มีใครย้อนไปดูว่า เหตุใดบรรดาคนขับรถจึงจำเป็นต้อง “ควงกะ” หรือขับรถให้ได้รอบได้ชั่วโมงมากที่สุด ความจำเป็นใดที่ต้องขยันเป็นพิเศษขนาดที่จะต้องใช้ตัวช่วยเช่นนั้น หรือเพราะหากขับ “เท่าที่ไหว” หมายถึงรายได้ที่ไม่พอเลี้ยงชีพ เราจึงแก้ปัญหานั้นด้วยวิธีการเพิ่มโทษให้ “ยาม้า” ด้วยวิธีคิดง่ายๆ แบบไม้เรียวครองโลก ตั้งชื่อมันเสียใหม่ให้สื่อสารว่าเป็นยาที่เสพแล้วบ้า พร้อมวางมันลงในแดนความผิดตามกฎหมายยาเสพติด กำหนดโทษให้มากเข้าไว้เพราะเชื่อว่าคนจะกลัวเพราะเสพก็ตายขายก็ติดคุกไปถึงประหารชีวิต
หากในทางความเป็นจริงแล้วการตัดสินใจทำหรือไม่ทำความผิดของผู้คนไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เมื่อยาม้าแปลงเป็นยาบ้าและมีโทษเท่ากับการค้าหรือเสพเฮโรอีนซึ่งเคยเป็น “เบอร์หนึ่ง” ในขณะที่กระบวนการผลิตของยาบ้านั้นง่ายดายและต้นทุนต่ำกว่าอุปสงค์เท่าเดิมแต่อุปทานลดลงอย่างเฉียบพลันเพราะผลของกฎหมาย การ “ทำตลาด” ยาบ้าก็เกิดขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นเบอร์หนึ่งที่เพาะสร้างนักโทษจนเต็มคุก เกิดปัญหาติดตามมามากมาย
จนกระทั่งเราเริ่มจะเอะใจกันนั่นแหละว่าหรือเพราะเราเอา “ยาม้า” ไปวางไว้ผิดที่กันแน่ที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่เมื่อเรามาทบทวนได้วันนี้ก็สายไปแล้ว ความ “รู้สึกผิดบาป” ของยาบ้าได้ฝังไปในสำนึกทางศีลธรรมของสังคมเสียแล้ว เป็น “บาป” อย่างหนึ่งที่กฎหมายสถาปนาขึ้นในสังคมโดยแท้ แล้วอยู่ดีๆ จะให้รัฐมาเปลี่ยนใจว่าจริงๆ แล้วมันก็ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ก็ยากที่สังคมจะเชื่อได้แล้ว
เพราะมโนสำนึกทางศีลธรรมนั้นคล้ายหน่วยความจำประเภทเขียนได้แต่ลบยาก ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสีย นั่นคือถ้าความผิดบาปใดฝังตัวเข้าสู่ชั้นศีลธรรมแล้ว ก็จะทำให้ผู้คนหลีกเลี่ยงที่จะทำเรื่องผิดบาปนั้นด้วยความรู้สึกละอายและเกรงกลัวจากจิตใจของตัวเองโดยแท้ที่ไม่ใช่เพียงการเคารพกฎหมาย แต่ข้อเสียของมันก็อย่างที่ได้กล่าวไป คือเมื่อคนเชื่อว่ามันเป็นความผิดบาปทางศีลธรรมไปแล้ว โอกาสลบล้างสิ่งที่ฝังเข้าสู่ความรู้สึกทางศีลธรรมนั้นก็ยาก
เมื่อเมทแอมเฟตามีนได้ถูกปรับไล่โทนจากแถบสีเทากลางไปสู่สีดำสนิท ฝังไปในศีลธรรมของสังคมแล้วว่าเป็นยาเสพติดอันชั่วร้าย เราจึงมีปัญหากันในวันนี้ วันที่จะมีการทบทวนเพื่อ “ปรับโทน” มันลงมา จากดำเข้มเป็นเทากลางเท่าเดิมหรือเทาอ่อนเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการดำเนินนิตินโนบายที่ผิดพลาดในยุคก่อน ก็เป็นเรื่องที่ “เรียกแขก” กันอย่างที่เห็นนี้
ก็เพราะกฎหมายโยนมันข้ามเส้นจากสิ่งที่ต้องจำกัดโดยกฎหมาย ไปเป็นของร้ายระดับเดียวกับอาชญากรรมเสียแล้ว การพามันข้ามกลับมาวางไว้ที่เดิม ก็ต้องใช้ความพยายามที่มากยิ่งกว่าหลายเท่า