สัพเพเหระคดี : ค่าน้ำร้อนน้ำชา : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงเป็นลูกผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมซ่อมบำรุงและวิศวกรรมระบบทำความเย็นของบริษัท

บริษัทของคุณโผง ว่าจ้าง ผู้รับเหมามาก่อสร้างอาคารห้องเย็น

คุณโผงผู้ดูแลโครงการก่อสร้างนั้น ได้เรียกร้องเอา “ค่าน้ำร้อนน้ำชา” จากผู้ประมูลก่อสร้างอาคารห้องเย็น แต่ผู้ประมูลงานนอกจากไม่ยอมจ่ายให้แล้ว ยังหอบหลักฐานไปแจ้งให้บริษัทต้นสังกัดของคุณโผงทราบเสียด้วย

บริษัทต้นสังกัดของคุณโผง สอบสวนทวนความแล้ว เห็นว่าคุณโผงประพฤติตนไม่ซื่อตรง เป็นการกระทำทุจริตต่อหน้าที่-จึงเลิกจ้างไป

Advertisement

คุณโผงมาฟ้อง ขอให้บริษัทชำระเงินจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำนวน 3,348,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

บริษัทให้การว่า บริษัทเลิกจ้างคุณโผง เนื่องจากคุณโผงทุจริตต่อหน้าที่ จึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม
คุณโผงไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเงินตามฟ้องจากบริษัท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานชั้นต้นพิจารณา แล้วพิพากษายกฟ้อง!

คุณโผงอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหา ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคุณโผงว่า บริษัทหยิบยกเหตุเลิกจ้างที่มิได้ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างขึ้นในภายหลังได้หรือไม่

โดยคุณโผงอุทธรณ์ว่า หนังสือเลิกจ้างไม่ได้ระบุเหตุเลิกจ้างว่าคุณโผงทุจริตต่อหน้าที่ จึงไม่อาจยกเรื่องดังกล่าวมาต่อสู้คุณโผงได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย

เห็นว่า คุณโผงฟ้องขอให้บริษัทชำระค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การวินิจฉัยว่า นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเป็นธรรมหรือไม่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 มิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้ และไม่มีบทบัญญัติใดให้นำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคท้าย ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับค่าชดเชยมาใช้บังคับแก่กรณีการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมด้วย

ดังนั้น บริษัทจึงยกเหตุเลิกจ้างขึ้นอ้างในภายหลังเพื่อต่อสู้คดีกับลูกจ้างที่ฟ้องว่านายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมได้ แม้จะไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างก็ตาม

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาชอบแล้ว

อุทธรณ์ของคุณโผงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

คุณโผงจึงจำต้องเงียบไปในที่สุด

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7429/2560)

++++++++++++++

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่ กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ ต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่งถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง หรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

โอภาส เพ็งเจริญ
[email protected]

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image