ผู้นำไม่โง่เราก็จะตายกันหมดอยู่ดี : โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

การกลับมาใหม่ของวลี “ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด” เป็นประเด็นที่เริ่มมีการพูดกันอยู่มากในวันนี้
และอาจกล่าวได้ว่า แม้ว่าวลี ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด จะมาจากคนที่ไม่อยากจะได้เครดิตในเรื่องนี้แล้ว (แถมยังถูกไล่ล่าด้วยอดีตของตัวเองในการคิดค้นวลีนี้ขึ้นมา) แต่มาในวันนี้ วลีทอง นี้ได้กลายเป็นของสาธารณะ ที่ได้รับการหยิบฉวยไปใช้ในขบวนการตอบโต้การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงสังคม (counter movement) ไปเรียบร้อยแล้ว

ความรุนแรงของการวิจารณ์ว่าผู้นำโง่ จะนำไปสู่ผลการเปลี่ยนแปลงได้ไหมในรอบนี้ ผมกลับรู้สึกว่าไม่น่าจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย แต่ถามว่าในรอบนี้ จะส่งผลสะเทือนได้มากแค่ไหนในการด่าว่าผู้นำโง่

คำตอบของผมคือไม่ส่งผลสะเทือนต่อตัวผู้นำมากนัก

แต่ส่งผลสะเทือนถึงกองเชียร์อยู่มาก ถึง มากที่สุด

Advertisement

ไม่ใช่เพราะกองเชียร์เชื่อว่าผู้นำของตนเองนั้นฉลาด

แต่กองเชียร์สะเทือนเพราะรู้สึกตัวว่าการที่พวกตนนั้นยังเชียร์และยืนยันที่จะเลือกผู้นำคนนี้เอาไว้ในตำแหน่งนั้นเป็นเรื่องที่ “ไม่ฉลาด” และทำให้ตัวเองดูโง่ลงไปทุกวันต่างหาก

ความไม่ฉลาดนั้นเป็นคุณสมบัติหนึ่งที่กองเชียร์ของผู้นำรับไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้เสียหายแบบหมดเนื้อหน้าตัก เพราะกองเชียร์ผู้นำยังยึดครองอีกหลายคุณสมบัติที่ทำให้เขายังมั่นใจว่าจะยังครองอำนาจเอาไว้ได้ อาทิ คุณธรรมความดี ความยึดมั่นในประเพณี ความรักชาติ ฯลฯ

Advertisement

จึงไม่น่าแปลกใจว่าเมื่อมีข้อถกเถียงใดๆ ที่ใช้ความฉลาดถกเถียงไม่ได้ คุณสมบัติข้ออื่นๆ ที่ใช้ประกอบความเป็นชนชั้นนำก็จะถูกนำออกมาใช้ในทันทีว่าความฉลาดจะต้องถูกกำกับโดยคุณธรรมข้ออื่นๆ ดังที่กล่าวไว้แล้ว

ทีนี้ลองมาวิเคราะห์ให้ลึกขึ้นอีกสักนิดว่า “ผู้นำโง่” เนี่ยจริงไหม?

ประเด็นที่ควรวิเคราะห์เจาะลึกจึงไม่ควรจะเป็นเรื่องผู้นำโง่หรือไม่ แต่ต้องทำใจให้เป็นกลาง และเปิดกว้างขึ้นก่อนจะตอบว่า ผู้นำนั้นโง่จริงไหม เพราะผู้นำนั้นอาจจะโง่บางเรื่อง และฉลาดบางเรื่อง

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเชื่อว่าผู้นำโง่ขนาดนี้ พวกเขาจะครองอำนาจในระบอบเผด็จการได้นานจนเป็นอันดับสองรองจากจอมพลถนอมได้อย่างไร และในวันนี้ดูจะไม่มีทีท่าที่จะไปอย่างง่ายๆ แต่อย่างใด

เรื่องที่ควรพิจารณาจึงเป็นเรื่องที่ว่า เขาโง่เรื่องไหน และเขาฉลาดเรื่องไหน ต่างหาก

รวมไปถึงว่า อะไรคือ “เป้าหมายในการปกครอง” ของเขา

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าการที่เราไปวิจารณ์ว่าผู้นำโง่นั้นเราจะตายกันหมด ทั้งที่ “เป้าหมายในการปกครอง” ของเขาอาจไม่ได้ทำให้เราไม่ตายกันตั้งแต่แรก

ในระบอบเผด็จการ รวมทั้งเผด็จการแปลงรูปนั้น ความสำคัญในการปกคองไม่ได้อยู่ที่ทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีเป็นเป้าหมายสูงสุดเสมอไป (เช่นเขามาเพื่อความสงบ ถ้าไม่เลือกเขาจะไม่ได้เศษเงินนิดๆ หน่อยๆ เพราะรู้ว่า ถ้าเป็นพรรคอื่น การทำนโยบายเช่นนี้ย่อมถูกวิจารณ์และห้ามทำแน่ๆ)

เป้าหมายสูงสุดในการปกครองของพวกเขาอาจอยู่ที่การรักษาอำนาจเอาไว้ให้ได้ ดังนั้น การทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ถ้าทำได้ก็มีเป้าหมายเพื่อให้ตนอยู่ในอำนาจต่อไปได้ เพราะอำนาจสูงสุดไม่ได้อยู่ที่ประชาชนตั้งแต่แรกอยู่แล้วในระบอบแบบนี้

จึงไม่ควรแปลกใจที่เวลาเกิดวิกฤตความชอบธรรมทางอำนาจนั้น เผด็จการที่ล่มสลายคือพวกที่สร้างสมดุลทางอำนาจไม่ได้ คือ ไม่ยอมถอย หรือออกมาปฏิรูปตัวเอง แต่เลือกที่จะปะทะกับประชาชน และกดปราบ

แต่การปะทะกับประชาชนและกดปราบนั้นก็ไม่สามารถทำได้ดังใจในทุกครั้ง เพราะในหลักวิชานั้น การเลือกใช้กำลังปราบปรามเกิดขึ้นได้เมื่อเผด็จการได้รับการยอมรับและได้รับการร่วมมือจากฝ่ายความมั่นคง คือ ตำรวจ และกองทัพ

และที่สำคัญโดยตรรกะของกองทัพนั้นเขาจะร่วมมือในการใช้กำลังปราบปรามก็ต่อเมื่อเขารู้สึกว่า เขาจะใช้กำลังน้อยที่สุด คือกองทัพจะไม่เลือกใช้กำลังในกรณีที่เชื่อว่าพวกเขาจะสูญเสียเยอะ (อันนี้คือทฤษฎีที่ต่างประเทศถกเถียงกัน ส่วนในกรณีบ้านเราอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ อีกร้อยแปดอย่างที่ไม่ได้อยู่ตามตำรา)

กล่าวโดยสรุป ผู้นำอาจจะโง่ในการแก้ปัญหาในหลายเรื่อง และเราอาจจะตายกันเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่เขาไม่ตาย ตราบใดที่เขาฉลาดในการรักษาอำนาจ และสร้างพันธมิตรกับตำรวจทหารในระดับที่ทำให้ตำรวจและกองทัพแยกตัวจากพวกเขาได้

ย้ำว่า ผู้นำที่โง่ในเรื่องการบริหารประเทศนั้น อาจไม่โง่ในเรื่องการบริหารอำนาจ

และนอกจากไม่โง่ในเรื่องการบริหารอำนาจ พวกเขายังเป็นสิ่งมีชีวิตที่เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเขาเองได้ด้วย

เรื่องความไม่โง่ของผู้นำโดยเฉพาะผู้นำเผด็จการ เป็นเรื่องที่มีการศึกษากันมาสักพักใหญ่ เพราะเผด็จการปัจจุบันนั้นแปรรูปเปลี่ยนร่างได้หลายรูปแบบ (โปรดพิจารณา W.J.Dobson. 2012. The Dictator’s Learning Curve: Inside the Global Battle for Democracy. New York: Doubleday) และพัฒนากลวิธีในการอยู่ในอำนาจมาอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ได้ใช้เพียงกลไกใช้อำนาจบังคับเท่านั้น มิหนำซ้ำพวกเขายังเรียนรู้จากประสบการณ์ประเทศอื่นด้วย

หนึ่งในศัตรูของเผด็จการที่เราอาจจะนึกไม่ถึงนั้นไม่ใช่ฝ่ายค้าน หรือต่างชาติ หรือพลังประชาธิปไตยลอยๆ กว้างๆ

แต่คือ พลังของเยาวชนคนหนุ่มสาว ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับเผด็จการ

แต่พลังของคนหนุ่มสาวนั้นอาจไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีง่ายๆ ว่าคนหนุ่มสาวนั้นมีแนวคิดประชาธิปไตยที่ถ่องแท้งดงามตั้งแต่แรกในการลุกฮือขึ้นต่อสู้กับเผด็จการ

ในหลายกรณีนั้นคนหนุ่มสาวนั้นลุกขึ้นสู้กับประชาธิปไตยไม่ใช่เพราะเขามีความเข้าใจประชาธิปไตยที่ถ่องแท้ในแง่ทฤษฎี

มิพักต้องกล่าวถึงว่าพวกเขานั้นส่วนใหญ่ล้วนเติบโตขึ้นมาในระบอบเผด็จการที่ครองอำนาจอย่างยาวนานอีกต่างหาก

แต่เหตุผลที่เขาลุกขึ้นมาต่อสู้อาจมีเงื่อนไขสักสองประการที่มีร่วมกันในหลายประเทศ

หนึ่งคือ ฝ่ายค้านมันห่วยแตก จนพวกเขาจำต้องออกมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านเสียเอง

พูดอีกอย่างก็คือ เมื่อใดที่เยาวชนคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะนักศึกษานั้นมีพลัง หรือใช้เงื่อนไขการเป็นพลังบริสุทธิ์ในการเคลื่อนไหว เมื่อนั้นเราจะเข้าใจว่าการเคลื่อนไหวของนักศึกษาเป็นตัวชี้วัดว่าระบบการเมืองปกติมันไม่ทำงาน ฝ่ายค้านไม่ได้รับการเชื่อถือศรัทธาจากประชาชน และมีข่าวลือว่ามีการเจรจากับรัฐบาล

นอกเหนือไปจากความสร้างวาทะ และอารมณ์ขันแล้ว พลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวถ้าถูกจุดติดและถูกขับเน้นออกมาเมื่อไหร่ ย่อมแปลว่าฝ่ายค้านไม่เหลือเครดิตในสังคม หากไม่ใช่เพราะเป็นพวกเดียวกับรัฐบาล ก็หมายถึงการถูกทำให้ง่อยเปลี้ยเสียกำลังในการต่อสู้ต่อกรกับประชาชน

จึงไม่แปลกใจว่าเมื่อคนหนุ่มสาวเคลื่อนไหว พวกเขาจะไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อเปิดทางเจรจา เพราะการเจรจาต่อรองถูกมองว่าเป็นการถูกซื้อและเป็นการต่อรอง พวกเขาไม่ได้ต้องการต่อรอง พวกเขาต้องการต่อสู้และแสดงออกซึ่งความไม่พอใจ

อย่างกรณีของบ้านเรา จะเห็นว่าพรรคที่พวกเขาเลือกถูกยุบ และพรรคที่พวกเขาเลือกในส่วนที่เหลือยังเสียโอกาสได้แสดงบทบาทในสภาจากการจัดเวลาที่ไม่มีความเป็นมืออาชีพของทีมงานฝ่ายค้านด้วยข้ออ้างง่ายๆ ว่า คิดว่าจะมีการยืดหยุ่นในการบริหารเวลา

ในอีกด้านหนึ่ง การอ้างพลังความบริสุทธิ์ของนักศึกษาของคนหนุ่มสาวย่อมเปราะบางต่อการวิจารณ์และถูกลดทอนความชอบธรรม เพราะฝ่ายตรงข้ามก็จะขุดทั้งหลักฐาน หรือสร้างข่าวลวงมาทำลายความชอบธรรมเรื่องพลังความบริสุทธิ์ด้วยการอ้างถึงการแทรกแซง และการเชื่อมโยงของพลังคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษา กับเครือข่ายการเมือง รวมทั้งการกล่าวหาความความบริสุทธิ์ในพลังนักศึกษามักจะหมายถึงการไม่รู้จริงถึงเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองในโลกแห่งความเป็นจริง

ทางออกในหลายขบวนการในโลกของคนหนุ่มสาวจึงอยู่ที่การขยายแนวร่วมกับประชาชน และรับเอาปัญหาของประชาชนเข้ามาร่วมและเชื่อมโยงกับปัญหาของพวกเขาเองในการต่อสู้ และรอจนกระทั่งเกิดประเด็นทางสังคมที่พวกเขาจะออกไปต่อสู้อีกครั้งหนึ่ง อาทิ กรณีเวเนซุเอลานั้น พวกเขาขยับมาสู้ในการรณรงค์ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจให้ซาร์เวสประสบความสำเร็จในปี 2008

สอง การเคลื่อนไหวของคนหนุ่มสาวนั้นไม่ได้เกิดจากหลักการประชาธิปไตยแบบนามธรรม แต่เกิดจากการที่ “ข้อตกลงขั้นต่ำในการอยู่ในสังคมเผด็จการถูกละเมิด” ในหลายกรณีในโลก เช่นในเวเนซุเอลาเมื่อสัก ค.ศ.2007 นั้น เรื่องราวในการต่อสู้กับรัฐบาลจนนำไปสู่การเคลื่อนไหวใหญ่นั้นเกิดจากการที่รัฐบาลปิดสถานีโทรทัศน์ที่มักจะออกมาวิจารณ์รัฐบาล

หรือแม้แต่ในรัสเซียเอง ก็มีการต่อต้านรัฐบาลเมื่อมีการพยายามจะไม่ต่ออายุใบอนุญาตให้ช่องการ์ตูนที่ฉายการ์ตูนที่วิจารณ์รัฐบาลและสังคมเช่นช่อง 2×2 ที่ฉาย South Park จนเป็นผลสำเร็จ เป็นต้น

แน่นอนว่าผลลัพธ์การต่อสู้นั้นไม่ได้แปลว่าคนหนุ่มสาวได้รับชัยชนะโดยอัตโนมัติ แต่มันคือการป้องกันหลักการเสรีภาพขั้นพื้นฐานบางข้อที่พวกเขาไม่ต้องการให้ละเมิด และรัฐบาลเผด็จการที่ฉลาดก็จะไม่ปิดกั้นไปเสียทุกเรื่อง เช่นการไม่ปิดอินเตอร์เน็ตทั้งหมด แต่อาจบริหารจัดการเนื้อหาบางส่วนบ้าง ที่ไม่กระทบกับเรื่องความบันเทิงในชีวิตประจำวัน

ในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลเผด็จการสมัยใหม่เรียนรู้ที่จะอยู่ในอำนาจโดยบริหารจัดการเสรีภาพที่จะไม่ปิดกั้นเสียหมด เช่นความบันเทิงต้องมี ไม่ปิดอินเตอร์เน็ตทั้งหมด (เพราะถ้าปิดหมดก็คือการละเมิดเส้นแห่งการยินยอมที่ประชาชนจะยอมอยู่ในระบอบดังกล่าว) แถมยังสร้างขบวนการนักศึกษาที่ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐ เพื่อต่อต้านหรือป้องปรามการเกิดขบวนการเคลื่อนไหวท้าทายรัฐบาล อย่างกรณีการตั้งกลุ่ม Nashi ที่มาจากนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยตามต่างจังหวัดและอาชีวะ ให้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ โดยมีเป้าหมายในการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลปูติน

นอกจากการได้รับการสนับสนุนจากรัฐแล้ว ยังมีการจัดค่ายฤดูร้อนที่มีกิจกรรมที่เยาวชนชื่นชอบเช่น แคมป์ปิ้ง ขี่จักรยาน และพายเรือ รวมถึงการอบรมทางอุดมการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า พรรคฝ่ายค้านและพวกขบวนการสิทธิมนุษยชนนั้นเป็นพวกที่ทำลายชาติ ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่ปูตินได้รับความนิยมในหมู่คนเหล่านี้ก็เพราะปูตินเป็นผู้นำที่นำเอาเกียรติภูมิกลับสู่รัสเซียให้ต่างชาติยอมรับ (ไม่ว่าจะเพราะชอบหรือกลัว) เพราะทศวรรษก่อนหน้านั้นรัสเซียเสียพื้นที่ในเวทีโลกไปมากจากการล่มสลายของโซเวียตและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ดังนั้น
ปูตินจึงเป็นเสมือนผู้นำแบบวีรบุรุษในแง่นี้ที่นำเอาเกียรติภูมิของรัสเซียกลับมา

ในรัสเซีย การจัดการกับขบวนการต่อต้านรัฐบาลโดยนักศึกษายังมีเรื่องของการข่มขู่ หรือส่งคนเข้ามาแทรกซึมและโน้มน้าวให้ผู้นำนักศึกษาสุ่มเสี่ยงต่อเรื่องฉาวโฉ่เพื่อที่จะเอาไปแบล๊กเมล์ผู้นำเหล่านั้น

ในประเด็นสุดท้ายที่จะขอกล่าวถึงก็คือ จริงไหมที่การบริหารเศรษฐกิจที่ย่ำแย่จะส่งผลให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมจนถึงขั้นที่ล่มสลายลง?

คำตอบคือไม่จริง ในแง่ที่ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจนั้นไม่ได้ทำให้รัฐบาลนั้นหมดความชอบธรรมและ “หล่นลงจากขั้ว” ได้อย่างฉับพลันทันที

ในทฤษฎีและประสบการณ์การปฏิวัติและเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนั้น ความเสื่อมโทรมทางเศรษฐกิจทั้งโดยตัวมันเอง และโดยการไม่มีผลงานของรัฐบาลไม่ได้ทำให้รัฐบาลนั้นลงจากอำนาจ แต่เมื่อรัฐบาลออกมาแก้ตัวและโทษประชาชน หรือเมื่อแนวทางในการแก้ปัญหานั้นสะท้อนว่ายิ่งสร้างปัญหาให้ประชาชน และช่วยคนที่ได้เปรียบ รวมทั้งเมื่อรัฐบาลให้ความสำคัญกับการรักษาอำนาจของตัวเองและพวกพ้องมากกว่าการแก้ปัญหาประชาชน

เมื่อนั้นโอกาสที่จะทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลย่อมมีเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้การเคลื่อนไหวนั้นนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลได้ในฉับพลันทันที จนกว่าพันธมิตรทางอำนาจและกองเชียร์ของรัฐบาลนั้นยอมถอยห่างจากรัฐบาลด้วยครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image