สัพเพเหระคดี : อายุความบัตรเครดิต : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

อายุความ คือ ระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ ให้เจ้าของสิทธิเรียกร้องหรือเจ้าหนี้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลต่อลูกหนี้

ถ้าเจ้าของสิทธิเรียกร้องไม่ใช้สิทธิเรียกร้องนั้นทางศาลเสียภายในกำหนดอายุความ สิทธิเรียกร้องนั้นจะ
“ขาดอายุความ” (มาตรา 193/9)

เมื่อสิทธิเรียกร้องนั้น “ขาดอายุความ” เสียแล้ว หากเจ้าหนี้นำหนี้ไปฟ้องศาล และลูกหนี้ได้ยกอายุความขึ้นมาต่อสู้เพื่อปฏิเสธการชำระหนี้นั้น ศาลจะไม่บังคับสิทธิเรียกร้องนั้นให้แก่เจ้าหนี้

อายุความของสิทธิเรียกร้องของสัญญาแต่ละชนิด จะแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33-193/35 อาจจะเป็นอายุความ 5 ปี, อายุความ 2 ปี หรืออายุความ 1 ปี หรืออายุความ 10 ปีกรณีที่ไม่ได้ระบุอายุความไว้เป็นการเฉพาะ

Advertisement

อายุความหนี้บัตรเครดิต หมายถึง อายุความ (ระยะเวลา) ที่เจ้าหนี้ หมายถึง ผู้ออกบัตรเครดิต จะใช้สิทธิทางศาล เรียกเอาเงินที่ทดรองจ่ายไปแทนผู้ใช้บัตรสำหรับเป็นค่าสินค่าหรือบริการ และ/หรือ เรียกเอาเงินที่ผู้ใช้บัตรกดเงินสดออกไปจากตู้ถอนเงินอัตโนมัติ

อายุความหนี้บัตรเครดิต จะมีระยะเวลา 2 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ มาตรา 193/34 (7) คือ สิทธิที่ผู้ประกอบธุรกิจ เรียกเอาเงินที่ได้ออก “ทดรองไป” ก่อนตามความตอนท้ายของมาตรา 139/34 (7) นั่นเอง

มีปัญหาว่า อายุความหนี้บัตรเครดิต 2 ปีนั้น จะเริ่มนับจากวันไหน และสิ้นสุดลงในวันไหน

Advertisement

อายุความนั้น ให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป (มาตรา 139/12)

เช่น ในใบเรียกเก็บเงิน กำหนดชำระเงินในวันที่ 3 เมษายน 2563 หากไม่ชำระภายในวันนั้น อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2563 เป็นต้นไป แล้วจะสิ้นสุดหรือครบกำหนด อายุความ 2 ปี ในวันที่ 3 เมษายน 2565

ถ้าบริษัทผู้ออกบัตรเครดิต หรือเจ้าหนี้มาฟ้องผู้ใช้บัตรหลังจากนั้น ผู้ใช้บัตรสามารถยกเอาประเด็นเรื่องว่า สิทธิเรียกร้องนั้นขาดอายุความแล้วขึ้นมาต่อสู้คดีได้

แต่ต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ยื่นคำให้การต่อสู้คดี และยกกรณีอายุความนี้ขึ้นมาต่อสู้ในคำให้การว่า เป็นกรณีที่หนี้ขาดอายุความไปแล้วโดยชัดเจนว่า อายุความสิทธิเรียกร้องกรณีนี้ เริ่มตั้งแต่เมื่อใดและสิ้นสุดลงเมื่อใดซึ่งล่วงเลยไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเมื่อถูกฟ้องคดีเรียกหนี้แล้วลูกหนี้เงียบไป-ไม่ไปศาล ไม่ตั้งทนายความยื่นคำให้การต่อสู้คดี หรือให้การเพียงว่าคดีขาดอายุความลอยๆ

แน่ละประเด็นเรื่องอายุความหนี้บัตรเครดิตนี้ เจ้าหนี้เขาระมัดระวังเข้มงวด ไม่ค่อยปล่อยให้เวลาล่วงเลยไปจนหนี้ขาดอายุความ แต่อาจมีอยู่บ้างที่พลั้งเผลอหลงลืมจนขาดอายุความไปแต่แม้ขาดอายุความแล้วก็ยังนำมาฟ้องคดีได้ เพราะอาจมีกรณีที่ลูกหนี้ไม่ยกประเด็นอายุความขึ้นต่อสู้ หรือลูกหนี้ขาดนัด ไม่ยื่นคำให้การต่อสู้คดี เจ้าหนี้ก็มีโอกาสชนะคดีได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ระหว่างระยะเวลา 2 ปีของอายุความที่ดำเนินไป พึงเข้าใจด้วยว่า ลูกหนี้จะต้องไม่มีการกระทำการใดๆ ให้อายุความเกิดสะดุดหยุดลงอีก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหนี้ต้องไม่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ต้องไม่ชำระหนี้บางส่วน ไม่ชำระดอกเบี้ย ฯลฯ ในระหว่างนั้น

ไม่เช่นนั้น อายุความจะเริ่มนับ 2 ปีใหม่ นับแต่วันที่ไปดำเนินการดังว่า

เมื่อเป็นหนี้ในฐานะลูกหนี้ได้รับความสะดวกจากการใช้บัตรซื้อสินค้า หรือจากการกดเงินคนอื่นมาใช้จ่ายสนองความต้องการแล้ว ถึงเวลาย่อมมีหน้าที่ต้องชำระหนี้คืนเขาไป ถ้าไม่ชำระฝ่ายเจ้าหนี้เขาก็มีหน้าที่ติดตามทวงถามและฟ้องคดีไปตามกติกา

อย่าโกรธขึ้งบึ้งหน้าคิดแค้นเคืองกันเลย

แต่ตัองไม่ลืมว่า อายุความหนี้บัตรเครดิตนั้น 2 ปี ไม่ว่าจะเป็นกรณี ใช้กดเงินสด หรือกรณีใช้ชำระค่าสินค้า

ท่านใดเป็นเจ้าหนี้-ลูกหนี้ เชิญสู้กันให้เต็มที่นะ

+++++++++++++

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 193/10 สิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความลูกหนี้มีสิทธิที่จะปฏิเสธการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องนั้นได้

มาตรา 193/14 อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือกระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image