สัพเพเหระคดี : รอยพิมพ์นิ้วมือ หรือรอยเปื้อนหมึก : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณลูกชายหนุ่มใหญ่วัยฉกรรจ์เสียชีวิตไป ทิ้งมรดกกองใหญ่ไว้เบื้องหลัง

คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่แม้จะชรามาก แต่ไม่พอใจที่คุณลูกสะใภ้แบ่งให้มาน้อยกว่าที่ควรมากกว่า

ประกอบแรงยุจากน้องๆ ของลูกชาย(ผู้ตาย) ที่ว่า แม่ต้องได้มากกว่านี้ เพราะทรัพย์มรดกของพี่ชายมีเยอะ แม่ควรได้มาอีก (เผื่อจะตกเป็นของพวกเราบ้างในโอกาสข้างหน้า)

คุณแม่จึงพิมพ์ลายนิ้วมือแต่งตั้งผู้รับมอบอำนาจไปฟ้องลูกสะใภ้ ขอแบ่งมรดกตามที่ระบุมาหนึ่งในสาม คือจำนวน 32,697,267 บาท

Advertisement

คุณลูกสะใภ้ต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อปกป้องทรัพย์สินนั้นให้รอดพ้นจากการถูกแบ่งปันไปอีก

ประเด็นหนึ่งที่สำคัญ คือ หนังสือมอบอำนาจมาฟ้องคดีที่คุณแม่พิมพ์ลายพิมพ์นิ้วมือมา ไม่ระบุว่าเป็นลายนิ้วใด

ที่สำคัญ คือ ดูอย่างไรก็เห็นเป็นแต่รอยน้ำหมึกเลอะบนกระดาษ ไม่มีร่องรอยลายของนิ้วมือให้ตรวจพิสูจน์ได้เลย

แค่มีผู้ลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนกำกับรับรองว่าเป็นรอยพิมพ์ลายนิ้วมือเท่านั้น

ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า ให้แบ่งมรดกตามระบุในฟ้องแก่คุณแม่ 1 ใน 6

คดีขึ้นมายังศาลฎีกา ประเด็นลายนิ้วมือหรือรอยเปื้อนหมึกบนกระดาษ ยังเถียงกันอยู่อีก เพราะถ้าเป็นแค่รอยเปื้อนหมึกคดีก็จบได้ง่ายๆ เช่นกัน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้ลายพิมพ์ จะไม่เห็นลายนิ้วมือ แต่ใต้ลายพิมพ์มีคำอธิบายว่า เป็นลายนิ้วมือ ทำให้เข้าใจได้ว่ารอยดังกล่าวเป็นรอยของลายพิมพ์นิ้วมือ มิใช่รอยเปื้อนหมึก กอปรกับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 9 วรรค 2 บัญญัติไว้ ใจความว่า ลายพิมพ์นิ้วมือที่ทำลงในเอกสาร หากมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนแล้ว ให้ถือเสมอกับการลงลายมือชื่อ

ดังนั้น แม้ลายพิมพ์นิ้วมือจะไม่ปรากฏลายของนิ้วมือ แต่เมื่อมีพยานลงลายมือชื่อรับรอง 2 คนแล้ว และยังมีพยานบุคคลภายนอก เป็นนายแพทย์ผู้อำนวยการโรงพยาบาล และนายอำเภอในท้องถิ่น มาเบิกความยืนยันด้วย ได้ความว่าเป็นลายพิมพ์นิ้วหัวแม่มือข้างขวา จึงฟังได้ว่า หนังสือมอบอํานาจให้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลฎีกาพิพากษายืน

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4145/2548)

+++++++++++++++++++++++

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 9 เมื่อมีกิจการอันใดซึ่งกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือ บุคคลผู้จะต้องทำหนังสือไม่จำเป็นต้องเขียนเองแต่หนังสือนั้นต้องลงลายมือชื่อของบุคคลนั้น

ลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นที่ทำลงในเอกสารแทนการลงลายมือชื่อหากมีพยานลงลายมือชื่อรับรองไว้ด้วยสองคนแล้วให้ถือเสมอกับลงลายมือชื่อ

ความในวรรคสอง ไม่ใช้บังคับแก่การลงลายพิมพ์นิ้วมือ แกงได ตราประทับหรือเครื่องหมายอื่นทำนองเช่นว่านั้นซึ่งทำลงในเอกสารที่ทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image