75 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2 : จากสงครามโลกสู่สงครามโควิด! โดย สุรชาติ บำรุงสุข

75 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2 จากสงครามโลกสู่สงครามโควิด!

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นวาระครบรอบ 75 ปีของการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป มีการฉลองใหญ่ในหลายเมืองหลักไม่ว่าจะเป็น ลอนดอน ปารีส มอสโคว์ และเบอร์ลิน เพื่อร่วมรำลึกถึงการสิ้นสุดสงครามโลก แม้การฉลองครั้งนี้จะเป็นไปอย่างจำกัด เพราะการระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้ชีวิตทางสังคมของชาวยุโรปถูก “ล็อกดาวน์” อยู่ในบ้าน และกิจกรรมสาธารณะที่ถูกจัดขึ้นก็ไม่สามารถเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้

แต่ในปีที่ 75 ครั้งนี้ เรากลับเห็นยุโรปเผชิญกับสงครามที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน คือ “สงครามโควิด-19” ที่มีเชื้อไวรัสเป็นข้าศึก และเป็นข้าศึกที่น่ากลัวที่สุด!

จุดจบของสงคราม

Advertisement

หากย้อนกลับไปสู่อดีตของสงครามโลกครั้งที่ 2 อาจจะถือว่า เดือนเมษายน 1945 เป็นดังช่วงเวลาสุดท้ายที่เป็น “จุดจบ” ของสงคราม

ในช่วงปลายสงคราม ผู้นำสหภาพโซเวียตรัสเซียตัดสินใจครั้งสำคัญ ที่ถือเป็นการเปิด “ยุทธการใหญ่” ในการเตรียมปิดฉากสงครามกับฮิตเลอร์ คงไม่ผิดนักที่จะถือว่า การเปิดการรุกใหญ่เข้ายึดกรุงวอร์ซอ ของโปแลนด์ในวันที่ 17 มกราคม 1945 คือจุดเริ่มต้นของการรุกใหญ่ของรัสเซียในแนวรบด้านตะวันออก และเป็นสัญญาณของการเคลื่อนทัพใหญ่ของรัสเซีย

แต่การรุกใหญ่ครั้งนี้มาถึงจุดของการตัดสินใจครั้งสำคัญในช่วงวันที่ 16 เมษายน เมื่อนายพลชูคอฟ (Gen. Zhukov) ตัดสินใจเปิด “การรุกครั้งสุดท้าย” เพื่อทะลวงใจกลางของอำนาจรัฐนาซี ด้วยการเตรียมบุกเบอร์ลิน และในอีกหนึ่งวันถัดมาคือวันที่ 7 เมษายน กองทัพแดงของรัสเซียก็เปิดการโจมตีกรุงเวียนนา

Advertisement

การเคลื่อนทัพในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการรุกทางทหารขนาดใหญ่ในแบบที่โลกแทบไม่เคยเห็นมาก่อนอีกครั้งหนึ่งหลังจากการยกพลขึ้นบกของสัมพันธมิตรที่ชายหาดนอร์มังดีของฝรั่งเศสในตอนกลางปี 1944 และยังเป็นตัวแทนอีกชุดของสงครามเบ็ดเสร็จที่รัฐใช้กำลังพลขนาดใหญ่เข้าทำการรบ ดังจะเห็นได้ว่า กำลังพลของรัสเซียไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านนายเปิดการรุกจากโปแลนด์ เข้าตีออสเตรีย เพื่อมุ่งไปสู่การเตรียมยึดเบอร์ลิน

ในอีกด้านของพื้นที่การรบที่รัวร์ (the Ruhr) ทหารเยอรมันมากกว่า 3 แสนนายกำลังตกอยู่ภายใต้วงล้อมของกองทัพสหรัฐที่กระชับแน่นขึ้น และขณะเดียวกัน กองทัพอังกฤษก็เปิดการรุกในแนวรบด้านเบรเมิน (Bremen) เพื่อมุ่งสู่เบอร์ลิน … กำลังรบของเยอรมันกำลังถูกบีบให้ถอยร่นในแนวรบด้านต่างๆ

ฮิตเลอร์เกิดในวันที่ 20 เมษายน … วันเกิดปีนี้ เขาไม่ได้มึโอกาสฉลองใหญ่ เพราะเบอร์ลินกำลังถูกปืนใหญ่ของรัสเซียโจมตีอย่างหนักในวันนั้น ต่อมาในวันที่ 26 กำลังส่วนหน้าของกองทัพแดงก็เข้าถึงชานกรุงเบอร์ลิน กองทัพแดงถึงเบอร์ลินก่อนกองทัพของฝ่ายสัมพันธมิตร และสิ่งที่ทหารรัสเซียเผชิญอย่างหนักก็คือ “สงครามในเมือง” กับหน่วยเอสเอสของนาซี กองกำลังเยาวชนของฮิตเลอร์ และกองกำลังประชาชนติดอาวุธ

แน่นอนว่า สงครามบนถนนในเบอร์ลินเป็นไปด้วยความรุนแรง เพราะเยอรมันต้านทานการมาของทหารรัสเซียอย่างเต็มที่ แต่กำลังรบของรัสเซียเคลื่อนเข้าใกล้บังเกอร์ของท่านผู้นำมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกันนั้น กำลังรบบางส่วนของเยอรมันก็ได้เริ่มวางอาวุธ และในวันที่ 29 ฮิตเลอร์ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญด้วยการแต่งตั้งพลเรือเอก คาร์ล เดอนิทซ์ (Adm. Donitz) ให้เป็นผู้นำเยอรมันต่อจากเขา

 

วาระสุดท้าย!

ในอีกหนึ่งวันถัดมา ฮิตเลอร์ก็ตัดสินใจปลิดชีพตนเองในวันที่ 30 เมษายน (10 วันหลังจากวาระครบรอบวันเกิดของเขา) และการสู้รบในวันนี้ก็เป็นไปอย่างหนัก หนึ่งในพื้นที่การต่อสู้ที่สำคัญคือ บริเวณรัฐสภาเยอรมัน (the German Reichtag) ซึ่งการรบในจุดนี้อยู่ห่างจากบังเกอร์ของฮิตเลอร์เพียง 400 เมตรเท่านั้น การรบที่เกิดขึ้นทำให้ภาพถ่ายของส่วนหน้าของทหารรัสเซียที่ปีนขึ้นไปปักธงค้อนเคียวและดาวแดงที่อาคารนี้ กลายเป็นหนึ่งในภาพสำคัญของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นภาพที่เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดของระบอบการปกครองของนาซีด้วย

ในวันที่ 2 พฤษภาคม เบอร์ลินก็ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพร้สเซีย ซึ่งในวันนี้เอง กำลังรบของเยอรมันในอิตาลีและในเบอร์ลินได้ประกาศยุติการต่อสู้ และตามมาด้วยการประกาศการวางอาวุธในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของกองทัพเยอรมัน

ต่อมาในวันที่ 7 พฤษภาคม ผู้แทนของกองทัพเยอรมันได้เดินทางไปยังกองบัญชาการสัมพันธมิตรของนายพลไอเซนฮาวร์เพื่อลงนามการยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข แต่ผู้นำรัสเซียคือ สตาลินกลับกดดันให้ไอเซนฮาวร์เลื่อนการลงนามอย่างเป็นทางการไปอีกหนึ่งวัน เพื่อที่จะจัดให้มีการฉลองในวันที่ 8 พฤษภาคม ที่เบอร์ลิน และขณะเดียวกันก็เพื่อรอรับการลงนามของฝ่ายรัสเซียด้วย เพราะรัสเซียไม่ต้องการให้การลงนามยอมแพ้ของเยอรมันเกิดกับฝ่ายตะวันตกเท่านั้น แต่ต้องให้มีการลงนามกับฝ่ายรัสเซียด้วย

การต่อสู้ของหน่วยทหารเยอรมันนั้นไม่ได้สิ้นสุดลงทั้งหมดในวันที่ 7-8 พฤษภาคม เพราะการต่อสู้ระหว่างกองกำลังติดอาวุธของประชาชนที่กรุงปราก กับหน่วยทหารเยอรมันเริ่มขึ้นในวันที่ 5 และดำเนินไปจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม อันเป็นจุดสิ้นสุดการสู้รบของสงครามนี้

แต่ก็ถือกันว่า วันที่ 8 พฤษภาคม 1945 เป็นวันแห่งชัยชนะของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป ที่ชาติตะวันตกจะร่วมเฉลิมฉลอง หรือที่เรียกว่า “VE Day” (Victory in Europe Day) ซึ่งในส่วนของสหภาพโซเวียตจะฉลองในวันที่ 9 พฤษภาคม

สงครามใหม่!

วันแห่งชัยชนะของสงครามในยุโรปเวียนมาครบรอบ 75 ปีในปี 2020 เพื่อให้พวกเราร่วมกันรำลึกอีกครั้งถึงความเสียหายขนาดใหญ่ในทุกมิติที่ถูกทำลายไปด้วยสงคราม และขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องเตือนสติคนรุ่นหลังให้เห็นถึงภัยสงครามที่เกิดขึ้น

แต่ในปีที่ 75 สถานการณ์กลับแตกต่างออกไปอย่างมาก ยุโรปไม่ได้เผชิญกับปัญหาสงครามในแบบเดิมที่มีกองทัพนาซีเป็นข้าศึกหลัก และสัมพันธมิตรมีเป้าหมายสำคัญคือ การรุกเข้าตีเบอร์ลิน และปลดปล่อยยุโรปออกจากการยึดครองของฮิตเลอร์

ยุโรปปัจจุบันกลับเผชิญกับ “ข้าศึกใหม่” ที่เป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 จนอาจเปรียบเทียบได้ว่า “สงครามโควิด” กำลังทำลายชีวิตของผู้คนเป็นจำนวนมากในหลายประเทศของยุโรป ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นใน “สงครามโลกครั้งที่ 2” เมื่อ 75 ปีที่แล้ว … ชีวิตของผู้คนร่วงหล่นดังใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วงในสงครามทั้งสองแบบ และขณะเดียวกันสงครามครั้งนี้ก็ทำลายเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตทางสังคมในแบบที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน หรือดังที่หลายฝ่ายมีความเห็นร่วมกันว่า โลกใหม่หลังจากนี้จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป

ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่จะกล่าวว่า นับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ก่อความเสียหายใหญ่อีกครั้งได้เท่ากับ “สงครามโควิด” ในปัจจุบัน และใน “สงครามใหม่” นี้ เราไม่รู้ว่า เราควรจะเจรจากับใครที่เป็นผู้นำข้าศึก เพื่อยุติสงคราม เช่นที่เราไม่รู้ว่า เราควรจะยึดเมืองใดที่เป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดอำนาจรัฐของข้าศึก ดังเช่นชัยชนะเหนือกรุงเบอร์ลินเมื่อ 75 ปีก่อน

สงครามใหม่ครั้งนี้จึงท้าทายความคิดของผู้คนร่วมสมัยในทุกภูมิภาคเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่แต่เพียงท้าทายกับชาวยุโรปในวาระครบรอบ 75 ปีสงครามโลกครั้งที่ 2 เท่านั้น !

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image