สัพเพเหระคดี : คิดว่าเด็ด : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงกับพวกร่วมคิดกันวางแผนว่า ให้พนักงานยื่นใบลาป่วยพร้อมๆ กันโดยมีใบรับรองแพทย์ว่าป่วยเพื่อต่อรองกับบริษัท

จากนั้นจึงมีหนังสือเวียนออกมาชักชวนเพื่อนพนักงาน ให้ไปขอใบรับรองแพทย์กันวันที่ 29 มกราคม เพื่อลาป่วยพร้อมกัน แล้วนัดรวมตัวกันหน้าบริษัท ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

ทั้งนี้ คุณโผงกับพวกรวม 6 คน คิดว่าเด็ดแล้ว จึงร่วมกันทำดังว่า โดยแยกย้ายกันไปจัดหาใบรับรองแพทย์มาจนได้ และได้ยื่นลาป่วย โดยมีใบรับรองแพทย์แนบแสดงไปด้วย

บริษัทว่า ดูแปลกๆ แฮะ จากนั้น จึงทำการสอบสวน จนได้ความตามท้องเรื่อง แล้วมีคำสั่งเลิกจ้างคุณโผงกับพวกทันที

Advertisement

คุณโผงกับพวกโดนเข้า จึงมายื่นฟ้องบริษัท ว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ขอให้จ่ายค่าเสียหายมา

บริษัทให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานพิจารณาแล้วพิพากษา ยกฟ้อง

Advertisement

คุณโผงกับพวกอุทธรณ์คดี

ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของคุณโผงกับพวกดังกล่าว เป็นการจงใจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย บริษัทจึงชอบที่จะเลิกจ้างได้

ที่คุณโผงกับพวกอุทธรณ์ในทำนองว่า พวกตนหยุดงานเพียงวันเดียว ทั้งแต่ละคนไปพบแพทย์คนละโรงพยาบาลกัน ต่างมีใบรับรองแพทย์มาแสดงเพื่อหยุดงาน หากไม่ป่วยจริงแพทย์คงไม่ออกหลักฐานใบรับรองแพทย์ให้นั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54

เมื่อศาลชั้นอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย คดีจึงสิ้นสุดยุติไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานที่มีไว้

นั่นคือ ยกฟ้อง!

คุณโผงกับพวกทั้ง 6 คน ก็จ๋อยไป ต้องไปหางานทำใหม่

(เทียบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 770-775/2560)
+++++++++++++++++++

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522

มาตรา 54 วรรคหนึ่ง การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงาน ให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในข้อกฎหมายไปยังศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image