เหยี่ยวถลาลม 23พ.ค.2563 : วันหลอน-คืนลวง

ตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2500 ที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ โค่นล้ม “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ผู้เป็นนาย “ประชาธิปไตย” ก็ถูกแปลงโฉมเป็น “ประชาธิปไทย” อันมีความหมายว่า จากนี้ไป ที่เหลืออยู่ก็แต่เพียง “อาภรณ์” ให้เผด็จการสวมใส่เท่านั้น

หลังจาก “สฤษดิ์” ตาย ระบอบเผด็จการทหารก็สืบต่อด้วย “ถนอม-ประภาส-ณรงค์” ครองอำนาจยาวนานจนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

แต่ชั่วอึดใจเดียวที่ฝันกันว่า “เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” ฉับพลันก็ดับลงด้วยการล้อมปราบสังหารหมู่ “6 ตุลา 2519”

“ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” สอนให้รู้ว่า ถ้าหนึ่ง คืออำมาตย์หรือขุนนางมียศศักดิ์มีอำนาจ อีกหนึ่งคือ ขี้ข้าหรือไพร่ ถ้าหนึ่ง ร่ำรวยมีสุข อีกหนึ่งคือ ก็จนยากทุกเข็ญ ถ้าหนึ่ง ฉลาดปราดเปรื่อง อีกหนึ่งก็คือ โง่งมดักดานไม่มีการศึกษา

Advertisement

ที่นี่ “คนเราไม่เท่ากัน” !

ทำให้เมื่อฝ่ายหนึ่ง ฆ่าคนแล้วลอยนวล ส่วนอีกฝ่าย เมื่อถูกฆ่าแล้วญาติพี่น้องยังต้องสงบเสงี่ยมเจียมตนรักความสงบ

สามัคคีคือไม่เถียง คนดีคือไม่มีความเห็นต่าง!

Advertisement

จาก 6 ตุลา 2519 เป็นต้นมา เกิดคำประดิษฐ์ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” แท้จริงก็ความหมายเดียวกับ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่ต้องอยู่ภายใต้การชี้นำและกำหนดจาก “นิ้วชี้” ของผู้มีอำนาจซึ่ง
ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ภายหลังจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เคลื่อนตัวจาก “เบื้องหน้า” ไปอยู่ “เบื้องหลัง” นักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ถูกเหยียดว่าแค่ “นักเลือกตั้ง”

และเพียงไม่กี่ชั่วยามต่อมาคณะทหารที่มีนามว่า “รสช.” ก็ก่อรัฐประหารในเดือนกุมภา 2534

จากนั้นกันยา 2549 คณะทหาร “คมช.” ก็ก่อรัฐประหาร !

“22 พ.ค.2557” คณะทหาร “คสช.” ก่อรัฐประหาร !

กว่าครึ่งศตวรรษมานี้ “กองทัพ” กลายเป็น “สถาบันทางการเมือง” ที่มีการจัดตั้งเข้มแข็งที่สุด ไม่ใช่แค่กลไกของรัฐ

คำว่า “ระยะเปลี่ยนผ่าน” สำหรับประเทศไทยเป็น “วาทกรรม” ปลอบใจให้อดทนและจำนน

นับตั้งแต่ยุคสมัย จอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม จอมพลประภาส พันเอกณรงค์ จนถึงความฝันอันเฟื่องฟูของ พลเอกสุจินดา คราประยูร กับ “จปร.5” ไล่เรียงมาจนถึงวันนี้ เดือนนี้ ปีนี้ที่มีประเทศนี้มี “250 ส.ว.” มี “ยุทธศาสตร์ 20” กับมีนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยเป็นไม้ประดับ

ถามว่ามีอะไรที่แตกต่าง มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง!?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image