10 ปี ของการสลายการชุมนุม และร่องรอยที่ปรากฏ ในนิยายหลัง 2553 : โดย สิรนันท์ ห่อหุ้ม

10 ปี ของการสลายการชุมนุม และร่องรอยที่ปรากฏ ในนิยายหลัง 2553 : โดย สิรนันท์ ห่อหุ้ม

เหตุการณ์การขอคืนพื้นที่และสลายการชุมนุมกลางเดือนพฤษภาคมในปี 2553 เป็นจุดแตกหักสำคัญของความขัดแย้งทางอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

เดือนเมษายนปี 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้ยื่นข้อเสนอให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ โดยมีการปะทะกันระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ก่อนที่ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม รัฐบาลจะใช้มาตรการทางทหารเข้าขอคืนพื้นที่และสลายการชุมนุม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ ผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,100 คน และในวันที่ 19 พฤษภาคมปี 2553 กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ได้ประกาศยุติการชุมนุม พร้อมกับความสูญเสียในหลายๆ ครอบครัว ก่อนที่อีกไม่กี่วันต่อมา บิ๊ก คลีนนิ่ง เดย์ ตามพื้นที่ต่างๆ ที่นำโดยอดีตผู้ว่ากรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็เกิดขึ้น

ล้างคราบเลือดของคนตาย คนเจ็บบนท้องถนนจนสะอาด เช็ดกระจกห้างสรรพสินค้าจนเอี่ยมอ่อง

10 ปีผ่านมาแล้ว การ #ตามหาความจริง ยังคงเดินหน้าอยู่เสมอ พร้อมคำถามถึงข้อเท็จจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น วันที่อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้นให้สัมภาษณ์ว่า “Unfortunately, Some People died”

Advertisement

หลังการขอคืนพื้นที่และสลายการชุมนุมกลางเดือนพฤษภาคมปี 2553 ศิลปะหลายแขนงได้ถ่ายทอดมุมมองต่างๆ ในเหตุการณ์นั้น ผ่านวิธีการเล่าที่แตกต่างกันออกไป หนึ่งในนั้นคืองานวรรณกรรม

นวนิยายไทยหลายเรื่องได้เขียนถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ผ่านศาสตร์แห่งการเล่าเรื่องในลักษณะต่างๆ กันไป และหนึ่งในนั้นที่น่าสนใจ คือการใช้เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเป็นส่วนหนึ่งของนวนิยาย โดยเชื่อมโยงกับบริบททางการเมืองไทยร่วมสมัย ในวิทยานิพนธ์ที่ผู้เขียนกำลังทำอยู่ ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการสลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคมปี 2553 เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้นวนิยายจำนวนหนึ่ง เขียนขึ้นโดยเลือกใช้ความทรงจำต่างๆ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาเชื่อมโยงกับบริบทความขัดแย้งในการเมืองไทยร่วมสมัย โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นเพราะความทรงจำบางส่วนที่สังคมมีต่อ 6 ตุลาคม 2519 มีลักษณะที่ชวนให้นักเขียนกลับไปเทียบความเหมือน (identify) ของเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคมปี 2553 อาทิ การคลุมเครือของข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรุนแรงที่รัฐกระทำต่อประชาชน และความขัดแย้งในการตีความข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวของสังคม

ในนวนิยายเรื่อง “หลงลบลืมสูญ” โดย วิภาส ศรีทอง ได้เล่าถึงเหตุการณ์การเมืองร่วมสมัย คือการชุมนุมทางการเมืองในเดือนพฤษภาคมปี 2553 การสลายการชุมนุม และวันบิ๊กคลีนนิ่งเดย์หลังการสลายการชุมนุม โดยเชื่อมโยงกับอดีต คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และการประกาศใช้พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยเล่าผ่านความสับสนในจิตใจของตัวละครซึ่งเป็นชนชั้นกลางในสังคมไทย ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางความคลุมเครือของข้อมูลข่าวสารต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน และพยายามที่จะหาข้อเท็จจริงจากความทรงจำต่างๆ เพื่อเยียวยาตัวเอง

Advertisement

นวนิยายเรื่อง “อนุสรณ์สถาน” โดย วีรพงษ์ สุนทรฉัตรวัฒน์ เล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ด้วยมุมมองของฝ่ายอนุรักษนิยมหรือฝ่ายขวา ที่ไม่ต้องการให้เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของปัจเจกบุคคลถูกค้นพบ ทว่าสุดท้ายแล้ว ความลับของครอบครัวที่ถูกฝังไว้ในความทรงจำของแต่ละคน กลับถูกรื้อฟื้นอีกครั้งโดยลูกหลานของตัวเอง ผ่านเหตุการณ์การเมืองไทยร่วมสมัยที่ตัวละครรุ่นลูกกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน คือการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคมปี 2553 โดยมีการใช้บุคคลจริงในประวัติศาสตร์มาเป็นส่วนหนึ่งของการเล่า เพื่อร้อยอดีตเข้ากับปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกันน้ำเสียงของตัวละครซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็กลับวิพากษ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยมทั้งในอดีตและปัจจุบัน

นวนิยายหลายเรื่องหลังปี 2553 ได้นำเสนอความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 โดยเชื่อมโยงกับการเมืองไทยร่วมสมัยในบริบทเหตุการณ์การ “ขอคืนพื้นที่” ซึ่งกองทัพได้เข้ากระชับพื้นที่และประกาศให้พื้นที่การชุมนุมดังกล่าวเป็น “เขตใช้กระสุนจริง” ในการสลายการชุมนุมปี 2553 แม้ว่าจะมีการเล่าผ่านกลวิธีการประพันธ์ในรูปแบบหลากหลาย และการตีความที่แตกต่างกันออกไปก็ตาม

นอกจากนี้ นวนิยายกลุ่มนี้ยังนำเสนอปัญหาทางโครงสร้างของสังคม ที่ทำให้เหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นซ้ำรอยเดิม โดยเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ถูกนำมาเทียบเคียงกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาและมีลักษณะของเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน แต่มีบางส่วนที่คาบเกี่ยวและซ้อนทับกันอยู่ โดยเฉพาะในประเด็นของสาเหตุปัญหาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางอำนาจในสังคมไทย และวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวของอำนาจรัฐในแต่ละยุคอีกด้วย

ข้อเท็จจริงที่ถูกกดทับ ปรากฏชัดนักในวรรณกรรม

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image