บทบาทของสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองรับทศวรรษที่สอง (2559-2564) โดย นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ

แม้ขณะนี้จะอยู่ในช่วงของการต่อสู้เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังคงเป็นรัฐสวัสดิการ เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เป็นของประชาชนทุกคน และไม่กลายเป็นระบบอนาถา แต่จากประสบการณ์ทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทำให้มีความเปลี่ยนห่วงต่อระบบในอนาคต โดยแบ่งเป็น

1.สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การสร้างหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิด้านการบริการสาธารณสุข และปกป้องประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากการเจ็บป่วย เป็นเป้าหมายสําคัญที่สํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานรวมทั้งภาคีต่างๆ ได้ร่วมกัน ดําเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ

“ทุกคนที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินไทย ได้รับความคุ้มครองหลักประกันสุขภาพอย่างถ้วนหน้า ด้วยความมั่นใจ” ที่ถูกกําหนดไว้เป็นโรดแมป (Road map) ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และในอนาคตอันใกล้ สถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในประเทศและต่างประเทศย่อมส่งผลต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้กับประชาชนไทยทุกคนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นทั้งโอกาสในการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น และอาจเป็นความเสี่ยงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย

Advertisement

โดยการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่าอาจส่งผลต่อการสร้างหลักประกันสุขภาพในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ 1.1 สังคมโลก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทําให้ทุกประเทศมีภารกิจภายใต้นโยบายของสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก ที่ต้องขับเคลื่อนการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศและพัฒนาไปสู่สังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (Inclusive Society) โดยมีความสําเร็จของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยเป็นตัวอย่าง

1.2 ภายในประเทศ 1.2.1) ด้านเศรษฐกิจ จากข้อจํากัดของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมืองของไทย ทําให้เกิดปัญหาด้านความเพียงพอของงบประมาณ และยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนในสังคม 1.2.2) ด้านสังคม การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ขณะที่วัยแรงงานและวัยเด็กลดลง การอยู่ลําพังแบบครอบครัวเดียวเพิ่มมากขึ้น การพึ่งพิงดูแลกันในครอบครัวน้อยลง ผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มหลักที่ประสบปัญหาและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ อีกทั้งการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization)

1.2.3) ด้านการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายใหม่ๆ การปฏิรูปประเทศและระบบสุขภาพ ส่งผลต่อนโยบายและทิศทางของระบบสุขภาพในอนาคต การที่ภูมิภาคอาเซียนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและเขตเศรษฐกิจใหม่ ชายแดนจะมีผลต่อการใช้ทรัพยากรด้านสุขภาพมากขึ้น

Advertisement

1.3 ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทั้งเทคโนโลยีทางการแพทย์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีการพัฒนาและเกิดการเข้าถึงอย่างรวดเร็วเป็นทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบ ต่อการจัดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต

2.สิ่งท้าทายของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศไทย

ถึงแม้ว่าระยะเวลาสิบสี่ปีที่ผ่านมาระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ได้มีความก้าวหน้าและประสบความสําเร็จอย่างดี จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศให้เป็นตัวอย่าง ของการสร้างหลักประกันของประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในการดําเนินการในระยะต่อไป ยังคงมีสิ่งท้าทายที่สําคัญรออยู่

ประกอบด้วย 2.1 ความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผ่านมากลไกการทํางานบางส่วนยังอาจจะมีความไม่เข้าใจกัน ในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทําให้เกิดความขัดแย้งภายใน ระบบบริการสาธารณสุขขึ้น ซึ่งทิศทางในอนาคต จำเป็นต้องมีกลไกในการจัดการให้มีการตัดสินใจ การดําเนินและรับผลที่จะเกิดขึ้นรวมกันมากขึ้น

2.2 การสร้างความยั่งยืนทางการเงินของระบบในระยะยาว โดยเฉพาะความยั่งยืนด้านการเงิน การคลัง เมื่อประเทศไทยอยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยง ทางด้านสังคมและการเมือง การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจจะมีข้อจํากัด ส่งผลให้การแสวงหาแหล่งงบประมาณและการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอนาคต ต้องมีการดําเนินการอย่างจริงจังและมีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

2.3 ประชาชนกลุ่มเฉพาะบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จําเป็นได้ เช่น กลุ่มคนชายขอบ ผู้ต้องขัง กลุ่มคนชั้นกลางในเมือง ผู้สูงอายุ ผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เป็นต้น ซึ่งต้องมีการวางเป้าหมายและกําหนดแผนการดําเนินการที่ชัดเจน

2.4 การลดการเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ ที่ผ่านมา แม้จะมีทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอยู่แล้ว แต่การดําเนินการที่จะส่งผลลัพธ์อย่างจริงจังยังมีข้อจํากัด การดําเนินการเพื่อให้งานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องดําเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

2.5 ความเท่าเทียมของการเข้าถึงการบริการสุขภาพของระบบประกันสุขภาพต่างๆ ของรัฐ ยังคงมีความแตกต่างและซ้ำซ้อนอยู่ ซึ่งต้องการนโยบายและกลยุทธ์การจัดการที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและประสิทธิภาพของระบบ

2.6 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นระบบใหญ่ของประเทศ และมีผลต่อความมั่นคงของประชาชน สังคม และประเทศ สปสช.จึงต้องมีการปรับบทบาทและระบบการทํางานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นกลไกหลักในการดําเนินการสร้างความสมดุลระหว่างประชาชน ผู้ใช้บริการ หน่วยบริการ และงบประมาณของรัฐบาล

3.ภารกิจของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

มีเจตนารมณ์ หรือวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ให้กับประชาชนผ่านระบบบริการและระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความมั่นคง อาทิ ประชาชนชาวไทยมีสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน ผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และระบบงานต้องมีส่วนร่วม โดยเฉพาะส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรภาคประชาชน และเอกชนมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม

ที่สำคัญต้องลดความเหลื่อมล้ำ โดยการจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ และสนับสนุนการพัฒนาและการบริหารหนุนเสริมระหว่างกองทุนต่างๆ ของภาครัฐ

ในครึ่งหลังของทศวรรษที่สองนี้ ต้องสร้างความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้การมีส่วนร่วมและการระดมความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์ จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image