ในประเทศที่ไม่มีสถานการณ์หลังโควิด โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

เขียนเรื่องโควิดมาหลายเดือนแล้ว ตั้งแต่คนยังขำๆ กับเรื่องนี้ และผู้รู้จำนวนหนึ่งยังไม่กล้าแสดงท่าทีจนเดี๋ยวนี้เวทีเสวนาเรื่องโควิดมีเต็มไปหมด อย่างน้อยผมว่าในบ้านเรากระแสการตื่นตัวกับโควิดนั้นน่าจะอยู่ในระดับที่คนพร้อมจะป้องกันตัวเองและดูแลส่วนรวมได้ในระดับหนึ่ง

แต่ก่อนที่จะพูดต่อนะครับ เราต้องเข้าใจคำว่า “หลัง”หรือ “Post-” เสียก่อน เพราะเวลาที่นักวิชาการเขาพิจารณาเรื่องคำว่า “หลัง” นี้เขาไม่ได้หมายความว่าหลังในความหมายทั่วไปที่เราเข้าใจกัน ที่หมายถึงจะมีสิ่งที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์จริงๆ

หรือจะให้พูดง่ายๆ ก็คือ จะพูดเรื่องโลกหลังโควิดนั้นไม่ต้องมาพูดกันตอนนี้ เพราะยังไม่มีวัคซีน ดังนั้น พูดไปก็เสียเวลา อยู่ไปแบบนี้ดีกว่า หรือคนที่พูดไปก็ไม่มีความแท้อะไร พูดไปเรื่อยๆ โม้ไปเรื่อยๆ

ทีนี้ถ้าพิจารณาคำว่า “หลัง” ในความหมายอื่นที่มากไปกว่ามิติทางประวัติศาสตร์เส้นตรง: ก่อน-ปัจจุบัน-หลัง เราก็อาจจะพิจารณาว่า เมื่อใช้คำว่า “หลัง” หรือ “พ้นไปจาก” เราไม่ได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นทีหลังที่แยกขาดจากสิ่งที่ผ่านมา

Advertisement

แต่เราพยายามตั้งคำถามถึงความเปลี่ยนแปลงว่าอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง อะไรไม่เปลี่ยนแปลง หรือไอ้ที่เราคิดว่าเปลี่ยนแปลงนั้นมันเปลี่ยนแปลงจริงไหม มันเปลี่ยนแปลงเพื่อใคร และสิ่งที่มาแทนที่มันเป็นสิ่งใหม่ หรือมันแค่เปลี่ยนรูปแปลงร่างจากสิ่งเดิมเท่านั้นเอง

ประเด็นในแบบนี้จึงไม่ได้อยู่ที่ว่าต้องมาไล่จับผิด หาที่ยืน หรือไล่ขิงกันว่าเวอร์ชั่นของโลกหลังโควิดของใครเหนือกว่า แท้กว่ากัน เพราะนั่นคือตรรกะของการขายงาน สิ่งสำคัญที่เราอาจจะลองคิดต่างไปก็คือการส่งเสริมให้มีความวิพากษ์ (critical) และเข้าอกเข้าใจสิ่งที่เราทำผ่านมาและกำลังทำอยู่รวมทั้งคิดไปข้างหน้าได้แค่ไหน (reflexive) ร่วมกับความเข้าอกเข้าใจ-เอาใจเขามาใส่ใจเรา (empathy)

เรื่องที่อาจจะต้องพิจารณาต่อในแง่ของโลกหลังโควิดในบ้านเรา ซึ่งเราอาจจะพูดได้ว่าต่อให้ยังไม่มีการใช้ไวรัสเราก็จะไม่มีโลกหลังโควิดง่ายๆ แต่อาจจะกลายเป็นการพยายามย้อนเวลาไปสู่โลกก่อนโควิดเสียด้วยซ้ำ

Advertisement

เรื่องของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น มาจนถึงวันนี้ก็ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนแล้วว่า รัฐไทยผูกตัวเองเข้ากับเรื่องนี้อย่างเหนียวแน่นด้วยเงื่อนไขสามประการ

1.การรวมอำนาจเข้าสู่ตัวนายกรัฐมนตรี: ถ้าลองตั้งหลักคิดดีๆ ใช่ว่าก่อนจะมีโควิดนั้นไม่มีรัฐบาลและไม่มีอำนาจรัฐ สิ่งที่สำคัญคืออำนาจรัฐมี รัฐมี แต่พลเอกประยุทธ์ไม่มีอำนาจรัฐเต็มที่และไม่คุ้นชินกับการใช้อำนาจแบบปรึกษาหารือร่วม

นอกจากนั้นความรับผิดชอบในแบบผู้นำคณะรัฐประหารแตกต่างกับความรับผิดชอบในแบบการรับผิดชอบร่วมที่เรียกว่าคณะรัฐมนตรีในระบอบรัฐสภา เพราะการหารือในระบอบรัฐมนตรี (cabinet) นั้นนายกรัฐมนตรีเปรียบเสมือนคนที่หนึ่งในคนที่เท่าๆ กัน (first among the equal) หมายถึงว่าการปรึกษาหารือต่างๆ ในฐานะการตัดสินใจร่วมเป็นเรื่องสำคัญ ต้องรับฟังความเห็นของทุกคน จะมาทุบโต๊ะสั่งคนอื่นตลอดเวลาไม่ได้

สิ่งนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดว่าการรวมอำนาจในฐานะการรวมศูนย์อำนาจ/กระชับอำนาจในรอบนี้มีความพิเศษก็คือตามที่ฝ่ายลอดช่องได้พยายามพูดถึง นั่นก็คือต้องการ single command ซึ่งคำถามก็คือเราจะแปลความหมายของคำว่า single command อย่างไร

เรื่องตลกร้ายก็คือ ประเทศนั้นก็เป็นประเทศที่รวมศูนย์อำนาจอย่างล้นเกินอยู่แล้ว รวมศูนย์อำนาจมาโดยตลอด แต่ดันมีคนอีกกลุ่มที่ยังไม่พออกพอใจระบบการรวมศูนย์อำนาจที่เป็นอยู่ ทั้งที่นายเก่าของตัวเองก็คุมมหาดไทย และตัวเองก็คุมกลาโหมและกองทัพอยู่แล้ว ไม่นับการอุปโลกน์ตนเองว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเข้าไปอีก

ถ้าเราเชื่อคำอธิบาของอาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ที่อธิบายว่าเมืองไทยนั้นกระจายอำนาจล่าช้า และมีลักษณะการรวมศูนย์แบบกระจัดกระจาย (fragmented centralization) มาโดยตลอดร้อยปี คือรวมศูนย์แต่ไม่ประสานกัน คำถามก็คือ การรวมอำนาจในรอบนี้เป็นพิเศษกว่าระบบที่รวบอำนาจเป็นปกตินั้นทำอะไรได้เพิ่มขึ้นบ้าง หรือสุดท้ายก็เป็นการทำ single command แบบกระจัดกระจายเหมือนเดิม

ทำไมไม่ลอดช่องในสภาวะปกติให้กฎหมายมันใช้งานได้ในแบบของมันเอง ทำไมไม่เชื่อในระบบนิติธรรม (rule of law) แต่ต้องผลักการปกครองให้เป็นระบบคำสั่งจากผู้มีอำนาจด้วยกฎหมายที่ผู้มีอำนาจที่ไม่ใช่ประชาชนออกเอง (rule by law)

ถ้าเราเชื่อว่าประเทศของเรามีระบบกฎหมายที่มีลักษณะสากลตามระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยในระดับหนึ่ง และผู้ร่างที่ผ่านๆ มาไม่ใช่พวกลอดช่องทั้งหมด เราก็จะเห็นว่ามีการวางระบบการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยภาวะปกติได้อยู่ผ่าน พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อ ซึ่งก็จะสามารถทำงานได้หากได้รับความร่วมมือกันในทุกๆ ฝ่าย (จำกรณีการเสนอให้ระงับวีซ่า on arrival ที่ทางสาธารณสุขเสนอเข้า ครม.และ ครม.ไม่อนุมัติได้ไหมครับ คำถามก็คือ ถ้า ครม.อนุมัติเรื่องก็จะเปลี่ยนไป)

หรือในกรณีของคณะกรรมการรายจังหวัดนั้นก็ยังใช้ระบบของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อในการตัดสินใจอยู่ดี

2. การทำให้สถานการณ์โรคระบาดเป็นปัญหาความมั่นคง: การรวบอำนาจเข้าสู่นายกรัฐมนตรีในรอบนี้ไม่ได้กระทำแค่การดึงอำนาจเข้าสู่นายทหารเก่าที่ขึ้นสู่อำนาจผ่านการรัฐประหาร และยังมีอิทธิพลถึงขนาดพรรคที่ตั้งใหม่ต้องเชิญมาเป็นนายกรัฐมนตรี (และให้รุ่นพี่ตัวเองเข้าไปนั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคในท้ายที่สุด หลังจากในช่วงแรกปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน) แต่เป็นการรวบอำนาจด้วยเงื่อนไขของความมั่นคง

นั่นหมายความว่าในการรวบอำนาจของพลเอกประยุทธ์ทั้งที่เป็นผู้นำพลเรือนจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อต้องเปิดผอบ (แบบนางโมรา หรือจะเขียนให้ดูเท่คือ ถูตะเกียงเอายักษ์ออกมา หรือจะเปิด pandora box ที่ไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบที่ไม่ได้ตั้งใจอะไรออกมาบ้าง) แล้วเปิดให้ระบบความมั่นคงทำงาน โดยการพิงตัวเองกับระบบรัฐแห่งความมั่นคง หรือสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับสำนักนายกรัฐมนตรี

พูดง่ายๆ คือ ไอ้ที่กล่าวกันว่า สุขภาพต้องมาก่อนเสรีภาพนั้นเป็นเรื่องลวงโลกครับ เรื่องจริงคือ ความมั่นคงมาก่อนสุขภาพและเสรีภาพเข้าไปอีก เพราะเรื่องสุขภาพถูกทำให้เป็นเรื่องความมั่นคง (securitization of public health) คือกระดูกสันหลังของเรื่องการทำให้ประเด็นสาธารณสุขเป็นเรื่องทางการเมือง (politicization of public health) เพราะการเมืองในวันนี้คือการใช้อำนาจตรงจากตัวผู้นำยิงตรงถึงระบบราชการด้วยเงื่อนไขความมั่นคง และสุดท้ายก็มาลงตรงที่การเน้นเรื่องการปิดพรมแดน ปิดสนามบิน และการประกาศเคอร์ฟิว รวมทั้งการประกาศมาตรการการปิดกิจการทางเศรษฐกิจ การศึกษา และการแทรกแซงวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะการเข้าตรวจและการตั้งด่าน

การให้สภาความมั่นคงมีบทบาทสำคัญในศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และชงเรื่องต่างๆ ไปสู่คณะรัฐมนตรี ทั้งที่จะเห็นว่า สมช.อยู่ภายใต้นายกฯ ศบค.ก็มีนายกฯเป็นประธาน และ ครม.ก็มีนายกฯนั่งหัวโต๊ะ ก็คือการเล่นแร่แปรธาตุทางอำนาจการบริหารที่สุดท้ายเรื่องทุกเรื่องก็อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีที่ไม่คุ้นชินกับการทำงานใน ครม.โดยการประสานงานกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่านการมอบหมายอำนาจให้กับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลนั่นแหละครับ

คือเสียงก็จะเอา การสนับสนุนก็จะเอา แต่อำนาจอะไรก็ไม่แบ่งนั่นแหละครับ แถมไม่แบ่งอย่างมีระบบด้วย

เรื่องที่ใหญ่กว่านั้นคือ การนำเสนอเรื่องต่างๆ ภายใต้สถานการณ์ความมั่นคงนี้ ทำให้เรื่องทุกอย่างดูเป็นความลับ เป็นเรื่องของการใช้อำนาจทางเดียว จากบนลงล่าง ทั้งที่สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือ ในการประกาศการผ่อนปรนต่างๆ นั้นเราไม่เคยได้ยินการวางเงื่อนไขว่าเมื่อไหร่เราจะสามารถเปิดอะไรได้บ้าง เมื่อไหร่เราจะปรับอะไรได้บ้าง

ในทางหนึ่งเรื่องทุกอย่างเป็นเรื่องลับ เป็นเรื่องปราศจากการตรวจสอบและรับทราบและร่วมหารือกับประชาชน (สภาก็ปิดจนเพิ่งเปิดเมื่อกู้เงินไปแล้ว แถมยังอิดออดที่จะให้เกิดกรรมการร่วมรับผิดชอบและตรวจสอบเพิ่มเติม) ในอีกทางหนึ่ง เราก็รอรับฟังข่าวจากผู้เชี่ยวชาญบางท่านที่คาดการณ์โรคระบาดว่ามากมายมหาศาลถ้าเปิดเมือง

คำถามก็คือ เราจะใช้อะไรเป็นฐานในการคิดในแง่การเปิดเมือง เราจะบ้าจี้คิดว่าต้องไม่มีคนติดเชื้อเลยเหรอ?ต้องไม่มีกี่วัน? หรือเราจะต้องคิดให้มีสติกว่านี้โดยมีฐานก่อนว่า เรามีเตียงและบุคลากรอยู่สักเท่าไหร่ แล้วเราจะรับได้โดยประมาณสักเท่าไหร่เป็นตัวเลขที่เป็นจริง

เรากำลังอยู่ในสภาพที่ฟังรัฐอำนาจนิยมเวชกรรมในภาวะฉุกเฉินคัดสรรเรื่องเล่าประเภท เห็นไหมประเทศอื่นที่เปิดมีปัญหา แต่เราไม่ได้เข้าใจมุมมองในประเทศนั้นว่าที่เขาเปิดเพราะเชื่อในการบริหารจัดการในภาวะวิกฤตที่เขาเน้นความยืดหยุ่น พลวัต และตอบสนองต่อปัญหา เช่น ถ้าติดเยอะเขาปิดอีก ไม่ใช่รอไปเรื่อยๆ (สิงคโปร์) หรือแม้กระทั่งประเทศที่ไม่เคยปิด แต่มีการกำหนดเงื่อนไขระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด (สวีเดน)

เราจึงปล่อยให้เกิดการเล่าเรื่องฝ่ายเดียวที่สมประโยชน์และความมุ่งหมายที่จะสถาปนาอำนาจแห่งความมั่นคงทางสุขภาพต่อไปเรื่อยๆ และชี้หน้าด่าทุกคนที่ไม่เห็นด้วยว่าเป็นพวกชังชาติ หรือเสียประโยชน์ทางการเมือง

มากไปกว่านั้นเรากำลังทำให้ทุกเรื่องของความมั่นคงเป็นเรื่องทางศีลธรรมเข้าไปอีก คือการให้เหตุผลประเภทถ้ากินเหล้าหลังห้าทุ่มถึงตีสามตีสี่เป็นเรื่องการมั่วสุมเสี่ยงติดเชื้อ ทั้งที่เวลาอื่นทานได้

3. การให้ความสำคัญกับสภาวะยกเว้นโดยเฉพาะการไม่ต้องรับผิด: ที่สำคัญกว่าสองเรื่องแรกก็คือการจัดการโควิดในบ้านเราโดย การรวบอำนาจสู่นายกฯที่ไม่ชินกับการทำงานเป็นคณะ/ทีม และการทำให้เป็นเรื่องสุขภาพทางความมั่นคง ก็คือเรื่องของแรงจูงใจเบื้องหลัง อาจจะเป็นเรื่องคุ้นชิน หรือจริตส่วนลึกของผู้มีอำนาจก็ได้ ในแง่ของความเชื่อว่า เมื่อมีการรวบอำนาจแล้วและมีการใช้กลไกความมั่นคงและวิธีคิดความมั่นคงที่คนอื่นไม่ต้องมายุ่งมากแล้ว ก็ต้องขอให้ไม่ต้องรับผิดในสิ่งที่ทำลงไป

เรื่องลวงโลกที่สำคัญในประเทศเราเรื่องหนึ่งก็คือพวกวาทกรรมที่ว่า “ผมรับผิดชอบเอง” หรือ “ถ้ามีปัญหาขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ คุณรับผิดชอบไหวไหม” ทั้งที่บรรยากาศ/บริบทของผู้นำที่ชอบพูดแบบนี้ก็ล้วนแล้วอยู่ในระบบไม่ต้องรับผิดทั้งสิ้น

เรื่องการไม่ต้องรับผิด หรือที่เรียกว่า อภิสิทธิ์ปลอดความผิดนั้น เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันคิดพิจารณาให้ดี เพราะบ้านเมืองเราห่างไกลจากความถูกต้องมานาน แม้แต่คำว่าถูกกฎหมายยังยากที่จะพูดเลย

พักหลังนี่เรื่องของถูกกับผิดดูจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นสิ่งตรงข้ามกันที่เราเข้าใจตรงกันแล้ว แต่เป็นเรื่องของการพยายามอธิบายว่า ไม่มีอำนาจรับเรื่อง หรือเรื่องชงมาไม่ถึง เพราะมีองค์กรคอยตัดเรื่องออก หรือไม่มีช่องกฎหมายห้ามให้ทำ หรือถ้าไม่ใช่พวกเดียวกันต่อให้กฎหมายไม่ห้ามก็ต้องไปหามาให้ได้ว่าจะเข้าช่องไหน (ช่องพจนานุกรมก็ยังได้ถ้าจะทำ)

ดังที่ผู้มีอำนาจท่านหนึ่งชอบให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีคนตั้งคำถามเรื่องการฉายแสงหาความจริงในเหตุการณ์พฤษภาเลือดว่า ให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องไปดูซิว่าใครทำ แล้วก็ไปดูว่าผิดตรงไหน และจะลงโทษอย่างไร ดังนั้น เราก็พออนุมานได้ว่าใครทำนั้นสำคัญที่สุดนั่นแหละครับ

เรื่องที่สำคัญในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องถูก-ผิด แต่เป็นเรื่องที่บอกว่า ไม่ผิด หรือที่แย่กว่านั้นคือ เอาผิดไม่ได้

และในสถานการณ์ที่ไม่ต้องรับผิดตาม พ.ร.ก.ก็คือ เอาผิดไม่ได้ถูกระบุไว้เลยโดยไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสิน

ขณะที่ถ้าในกรณีของ พ.ร.บ.โรคติดต่อนั้น ยังมีการขอความเป็นธรรมและความคุ้มครองจากศาลปกครองได้ ในแง่ของการคานอำนาจคำสั่งของรัฐในฐานะคำสั่งทางปกครอง

ดังนั้น สถานการณ์หลังโควิดในบ้านเราจึงไม่มี เพราะบ้านเราคนมีอำนาจมองว่าโควิดคือของขวัญที่ทำให้พวกเขาใส่เกียร์ถอยหลังในนามของการเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ

ถ้าเชื่อแบบที่ผมอธิบาย ก็ไม่น่าแปลกใจหรอกครับว่าอยู่แบบนี้น่ะสะดวกคนมีอำนาจครับ…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image