ที่มาและปฏิบัติการของเคอร์ฟิว ในมิติของอำนาจรัฐและอำนาจตำรวจ โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มักจะมีการพูดถึงเรื่อง “เคอร์ฟิว” กันจนติดปาก และอาจจะมีการอธิบายถึงที่มาทางประวัติศาสตร์อยู่บ้าง (ดูบทความที่น่าสนใจของ วทัญญู ฟักทอง. “เคอร์ฟิว หมายถึงอะไร ทำไมต้องเอามาใช้กับโควิด” กรุงเทพธุรกิจ 7/6/63) แต่สิ่งที่ผมขอนำเสนอในวันนี้เป็นเรื่องของมุมมองเพิ่มไปจากเกร็ดประวัติศาสตร์ มาสู่การตั้งคำถามกับอำนาจของรัฐและอำนาจของตำรวจ

ที่มาในการเขียนเรื่องนี้มาจากเรื่องราวสองเรื่อง

เรื่องแรกคือ การเสียชีวิตลงของ จอร์จ ฟลอยด์ ที่มลรัฐมินนิแอโปลิส สหรัฐอเมริกา และเมืองไทยเกิดการตื่นตัวเรื่องอคติและการเหยียดสีผิว ซึ่งในมุมมองและประสบการณ์ของผม คิดว่าเราอธิบายเรื่องอคติและการเหยียดสีผิวทั้งในแง่ประวัติศาสตร์มุมกว้างและทฤษฎีลอยๆ ไม่ได้

แต่ต้องอธิบายในปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละ “สนาม” (field หรือ site) ที่อำนาจของอคติและการเหยียดสีผิวนั้นทำงาน เพราะเรื่องที่เรากำลังสนใจคือปฏิบัติการทางอำนาจอย่างหนึ่งที่เกิดในวันนี้ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจและเข้าถึงมันด้วยประวัติศาสตร์อันยาวไกลเท่านั้น แต่ต้องอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ และการดำรงอยู่ของมันให้ได้

Advertisement

จะพบว่าในอเมริกา เรื่องของปฏิบัติการทางอำนาจที่ว่าด้วยเรื่องอคติและการเหยียดสีผิวไม่ได้เกิดทุกที่เท่ากัน มิติของพื้นที่ (spatial dimension) จึงเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องของสีผิวนั้นอาจจะเหมือนจบไปแล้วตั้งแต่โอบามาขึ้นเป็นประธานาธิบดี และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงจำนวนไม่น้อยก็มาจากผิวสีหรือผิวดำ หรือในกรณีของการศึกษา ก็มีโควต้าของคนผิวสี โดยเฉพาะผิวดำนั้นเข้าไปในมหาวิทยาลัยจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาสนใจกันก็คือ ยังมีในบางพื้นที่ที่ความยากจนนั้นเข้มข้นและกระจุกตัว และในพื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่ที่คนผิวดำอยู่ในจำนวนมาก และหลุดออกจากพื้นที่ไม่ได้ ไต่อันดับทางสังคมได้ยาก ดังที่ผมเคยแตะบางส่วนของเรื่องนี้ไปแล้วในตอนที่
พูดถึง “คนจนหลุดระบบ”

สิ่งที่ต้องอธิบายเพิ่มก็คือ ปฏิบัติการทางอำนาจที่เกิดขึ้นกับคนผิวดำ (ใช้คำนี้ได้ยาก คำว่าคนดำ นั้นต้องคนดำเรียกตัวเองว่า Black หรือจะใช้คำว่า African American ทั้งที่อาจจะมาจากเปอร์โตริโกก็ได้ หรืออาจเพิ่งมาจากแอฟริกาในวันนี้เลยก็ได้) มันไม่ได้เกิดในหัวอย่างเดียว มันเป็นปฏิบัติการและเชื่อมโยงกับอำนาจรัฐอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอำนาจรัฐที่กระทำผ่านตำรวจ

Advertisement

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ถ้าคนดำนั้นใส่สูทและขับรถคันใหญ่แล้วไปหยิบของในซุปเปอร์มาร์เก็ต ในย่านที่มีอันจะกินหน่อย การปฏิบัติตนของตำรวจอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีของฟลอยด์แทบจะครบองค์ประกอบคือ การกระทำในการเข้าถึงตัวของตำรวจนั้นเกิดขึ้นในย่านที่ครบองค์ประกอบให้อำนาจของอคติทำงานทันที คือการใช้ธนบัตรปลอมในร้านชำเล็กๆ ในย่านที่พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมตำรวจถึงรุนแรงเป็นพิเศษ

ที่สำคัญตำรวจของอเมริกานั้นเป็นตำรวจที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่เพียบพร้อมราวกับเป็นกองทัพไฮเทค และมีปฏิบัติการหลายอย่างในลักษณะของเหมือนเครื่องจักรและทหาร (militarization) ถ้าเทียบกับบางที่ที่ตำรวจนั้นถือกระบอง หรือ ในอเมริกาบางพื้นที่ตำรวจตรวจพื้นที่ด้วยจักรยาน แต่ในสถานการณ์ของจอร์จนั้นไม่ใช่เช่นนั้น

เรื่องที่สองที่เป็นที่มาของการเขียนเรื่องเคอร์ฟิวก็คือ ปัจจุบันในประเทศไทยหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญในการจัดการสถานการณ์โควิดนั้นก็คือเรื่องของการประกาศเคอร์ฟิว และการค่อยๆ ลดเวลาเคอร์ฟิวลง หรือจะอธิบายด้วยภาษาที่เป็นทางการก็คือ การห้ามบุคคลใดในราชอาณาจักรออกนอกเคหสถาน โดยเริ่มตั้งแต่ 4 ทุ่มถึงตี 4 และต่อมานั้นก็ขยับเป็น 5 ทุ่มถึงตี 4 และจะขยับเป็น 5 ทุ่มถึงตี 3

เรื่องการประกาศเคอร์ฟิวนั้นมีการถกเถียงกันมากมายว่าควรจะยกเลิกได้หรือยัง และความสำคัญในรอบนี้คือ เป็นครั้งแรกที่มีการใช้เคอร์ฟิวกับสถานการณ์ที่ไม่ใช่เรื่องของความไม่สงบทางการเมือง (ทั้งจากประเทศเพื่อนบ้าน และความไม่สงบภายในประเทศ)

ในหนังสือของ David Correia และ Tyler Wall ที่ชื่อ Police: A Field Guide (verso: 2018) ได้อธิบายถึงคำว่า เคอร์ฟิว (Curfew) ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและเทคนิคของการใช้ความรุนแรงของตำรวจ (อย่าลืมว่าในฐานะนักสังคมวิทยาการเมือง Max Weber กล่าวไว้ว่ารัฐนั้นคือองค์กรที่ผูกขาดความรุนแรงทางกายภาพของรัฐ)

สำหรับมุมมองหนึ่งทางวิชาการด้านอาชญาวิทยา/สังคมวิทยา การบริหารจัดการกิจการของตำรวจและการปฏิบัติการในการใช้อำนาจของตำรวจ (policing) ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้อำนาจรัฐเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการประกาศเคอร์ฟิวที่ไม่มีที่สิ้นสุด เพราะหากเราเชื่อในเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ว่า กำเนิดของคำว่าเคอร์ฟิวนั้นมาจากคำว่าการดับไฟ หรือการควบคุมไม่ให้เกิดเพลิงไหม้ (หรือเผาบ้านเผาเมืองนั่นแหละ) ผู้ที่มีหน้าที่พิทักษ์ความสงบเรียบร้อยและกฎเกณฑ์นั้นก็จะมีความเชื่อที่ว่าแนวโน้มที่จะเกิดเพลิงไหม้นั้นมีอยู่ทั่วไปและจำเป็นจะต้องถูกดับหรือควบคุมเพลิงให้ได้ เสมือนกับการที่ความไม่สงบนั้นมักจะมีขึ้นในหมู่ประชาชนและมีโอกาสที่จะทำลายล้างระบบทางสังคมที่เป็นอยู่ให้พังทลายลง

โดยทั่วไปการประกาศเคอร์ฟิวก็เหมือนกับการกักขัง/จองจำ (incarceration) อย่างหนึ่ง โดยเป็นรูปแบบการออกกฎเกณฑ์ของตำรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนที่ของประชากรผ่านการจำกัดเวลาและพื้นที่ และหากไม่ทำตามจะต้องเจอกับการลงโทษที่รุนแรงผ่านการใช้กำลังบังคับ ในบางกรณีเราจะพบการเคลื่อนกำลังทั้งตำรวจ (ทหาร) การตั้งด่าน การตรวจตราลาดตระเวน การใช้สุนัขตำรวจ ใช้เฮลิคอปเตอร์

และมักจะเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจกับคนจนเป็นพิเศษ (กรณีบ้านเราอาจจะเห็นว่าคนที่ถูกจับส่วนใหญ่มักจะเป็นคนจน หรือคนไร้บ้าน หรือคนที่หาค่ำกินเช้า) ขณะที่ในภาพรวมนั้นการประกาศเคอร์ฟิวนั้นทำให้อำนาจในพื้นที่เปลี่ยนมือจากตัวเราเองในการมีเสรีภาพในการเดินทางและเข้าออกที่พักอาศัย หรือบ้าน โดยทำให้บ้านกลายเป็นสถานที่กักขัง/กักบริเวณ

ในอดีตนั้นเคอรฟิวเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังของชนชั้นปกครองผู้หวาดกลัวต่อการลุกฮือขึ้นของพวกชนชั้นแรงงาน/ชนชั้นล่าง คำว่าเคอร์ฟิวมาจากการที่โบสถ์ในยุคกลางนั้นจะตีระฆังให้กับผู้อยู่อาศัยดับไฟนอกบ้านและกลับไปอยู่ในบ้าน เพราะบ้านเรือนสมัยนั้นเป็นไม้ การควบคุมไฟในเมืองจึงสำคัญ และการคุมเรื่องไฟนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของอุบัติเหตุ แต่ยังคุมการแสดงออกทางการเมืองโดยเฉพาะการต่อต้านอำนาจโดยการจุดไฟเผาบ้านเผาเมืองของพวกก่อการร้ายและพวกที่ต้องการปฏิวัติ การควบคุมไม่ให้จุดไฟหรือเคอร์ฟิวจึงเป็นเครื่องมือในการห้ามคนที่จะก่อการมาชุมนุมพบปะกัน (ซึ่งอาจเป็นการวางแผนก่อความสงบ) ในยามค่ำคืน ตั้งแต่การพบปะกันที่ โรงเตี๊ยม จนถึงร้านกาแฟ

การใช้การประกาศเคอร์ฟิวโดยเนื้อแท้จึงเป็นทั้งการสร้างความสงบและการต้านการก่อการร้ายต่อรัฐและชนชั้นปกครอง และในยุคสมัยใหม่นั้นการใช้เคอร์ฟิวจึงเป็นการทำให้อำนาจพิเศษ/อำนาจในสภาวะฉุกเฉินเป็นอำนาจที่ดูเหมือนเป็นอำนาจปกติในสังคมเสรีนิยมประชาธิปไตย โดยเฉพาะกับคนที่เห็นต่างไม่ว่าจะเป็นพวกกรรมาชีพ หรือกระทั่งคนหนุ่มสาว

ในอเมริกานั้นการประกาศเคอร์ฟิวมีมานานแล้ว และมักจะเป็นหนึ่งในมาตรการแรกๆ ที่รัฐใช้ในการจัดการกับวิกฤตและความไม่สงบ รวมไปถึงเรื่องของอาชญากรรมและความเบี่ยงเบน อย่างใน ค.ศ.1703 เทศบาลเมืองบอสตันประกาศเคอร์ฟิวไม่ให้คนผิวดำและอินเดียนแดงออกจากเคหสถาน รวมทั้งมีการตรวจตราทาสและคนเร่ร่อน (ซึ่งหมายรวมไปถึงคนขาวที่ยากจน) นอกจากนั้นการประกาศเคอร์ฟิวยังช่วยให้นายทาสที่เป็นเจ้าของไร่นาจัดการป้องกันไม่ให้ทาสนั้นรวมตัวกันและพบปะกันในยามค่ำคืนเพราะเกรงว่าจะเกิดการลุกฮือขึ้น หรือแม้กระทั่งหลังการเลิกทาสก็ยังมีการออกกฎในบางเมืองไม่ให้คนดำออกมาเพ่นพ่านในบางเวลา

รวมกระทั่งแม้ในยุคของการเรียกร้องสิทธิพลเมืองและการต่อต้านสงครามเวียดนามในสหรัฐอเมริกาเองในช่วงทศวรรษที่ 1960 การประกาศเคอร์ฟิวก็ยังใช้ในการใช้อำนาจของตำรวจในการควบคุมการจลาจลและการประท้วง

การประกาศเคอร์ฟิวนั้นมักถูกมองว่าเป็นการควบคุมฝูงชนหรือประชาชนที่อิงตามกฎหมาย และอาจใช้ในกรณีของการที่สหรัฐเข้าคุมพื้นที่สงครามในต่างแดน เช่น อิรัก หรืออัฟกานิสถาน ในสงครามเวียดนาม หรือแม้กระทั่งในค่ายกักกันของชาวญี่ปุ่นในอเมริกาช่วงสงคราม นอกจากนี้ ในการจลาจลต่างๆ การจับกุมของตำรวจในอเมริกานั้นมักจะใช้การประกาศเคอร์ฟิวเป็นเครื่องมือ เช่นในการจลาจลในแอลเอปี 1992 ซินซิเนติ 2001 ที่เน้นไปที่การจัดการคนที่ออกมาก่อจลาจลซึ่งเป็นคนผิวดำเป็นส่วนมาก หรือในกรณีการประท้วงที่ซีแอตเทิลในปี 1999 และการชุมนุมที่วอลสตรีทในปี 2011 หรือกระทั่งหลังเหตุการณ์ในปี ที่นิวออร์ลีนหลังจากเฮอริเคนคาทริน่า หลังปี 2005 หรือใช้หลังปี 2014 เมื่อมีการประท้วงและลุกฮือของประชาชนที่บัลติมอร์ และเฟอร์กูสัน หลังการเสียชีวิตของไมเคิล บราวน์ ด้วยน้ำมือของตำรวจ

อีกกลุ่มของปฏิบัติการในการใช้เคอร์ฟิวในอเมริกา ที่ใช้จัดระเบียบชีวิตประจำวันของผู้คนก็คือการใช้ประกาศเคอร์ฟิวจัดการคนจนผิวสี โดยเฉพาะเยาวชน ในช่วงหลายเดือนในภาคฤดูร้อน หรือทั้งปี การจัดการกับเยาวชนนั้นก็ถือเป็นการจัดการทั้งครอบครัวเพราะผู้ปกครองก็จะต้องมีหน้าที่ในการดูแลบุตรหลาน อย่างในกรณีของบัลติมอร์ในช่วงชุมนุมก็ใช้เงื่อนไขห้ามเยาวชนต่ำกว่า 14 ปีออกจากบ้าน

แต่การจัดการเยาวชนด้วยเคอร์ฟิวนั้นมีการวิจัยพบว่าไม่ได้ช่วยลดอาชญากรรมและการออกนอกลู่นอกทางของเยาวชนได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการจองจำเยาวชนไว้ในบ้านมากกว่า และเป็นการใช้เงื่อนไขการละเมิดเคอร์ฟิวในการจัดการประชากร มากกว่าจัดการที่ต้นตอของปัญหา

กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การใช้เคอร์ฟิวในการจัดการผู้คนนั้นเป็นการใช้กฎหมายในการทำลายล้างพื้นที่ และก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่การทำลายล้างพื้นที่เหล่านี้จะเป็นการทำลายผู้คน เพราะการใช้เคอร์ฟิวนั้นมุ่งหวังที่จะจำกัดพฤติกรรมบางประเภท และก็จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นการทำลายหรือจัดการผู้คนบางประเภทที่มีพฤติกรรมตามที่ไม่พึงประสงค์ และแน่นอนว่ามีการอนุญาต หรือมีข้อยกเว้นให้กับคนบางกลุ่มเสมอ โดยเฉพาะพวกที่ทำงานที่จำเป็นตามที่รัฐกำหนด นั่นหมายความว่าถ้าไม่เกี่ยวข้อง ไม่ทำงานที่จำเป็นก็จะถูกจำกัดพื้นที่ และคนที่เคยมีชีวิตยามค่ำคืนและคนที่ไม่ได้ถูกมองว่าจำเป็นก็จะไม่ถูกนับในการใช้อำนาจครั้งนี้ เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐและชนชั้นปกครอง (ในบางประเทศนั้นความสำคัญของการเว้นจากเคอร์ฟิวได้นั้นก็จะต้องมีหลักฐานหรือใบอนุญาตเพื่อพิสูจน์ว่าทำงานที่เป็นประโยชน์กับรัฐ/ผู้ปกครองเท่านั้น)

เมื่อย้อนไปตอนแรกที่บอกว่าการใช้อำนาจของตำรวจนั้นเป็นเสมือนการใช้เคอร์ฟิวแบบไม่มีที่สิ้นสุดก็เพราะแม้กระทั่งสัญญาณไฟจราจร การตั้งด่านหรือแม้กระทั่งการค้นตัว ก็เป็นเสมือนการใช้อำนาจเคอร์ฟิวที่ประกาศว่าใครเคลื่อนที่ได้ ใครอยู่ตรงไหน หรือแม้กระทั่งการที่ตำรวจเริ่มใช้อำนาจกับผู้ต้องสงสัย โดยการไถ่ถามว่า คุณคนนั้นหน่ะ จะไปไหน หรือกำลังทำอะไรอยู่ เมื่อการกระทำในการเรียก และเรียกถามเกิดขึ้น อำนาจในการใช้เคอร์ฟิวก็เริ่มทำงานทันที แม้ว่าจะไม่มีการประกาศเคอร์ฟิวอย่างเป็นทางการ เพราะจำเป็นต้องระงับเหตุหรือความเป็นไปได้ในการจุดไฟ/เผาบ้านเผาเมืองเอาไว้ในหมู่ประชาชนที่อยู่เบื้องล่างเสมอ

โดยเป็นการใช้อำนาจทั้งจากผู้ที่พิทักษ์ความสงบ รัฐและชนชั้นผู้ปกครองที่ไม่สามารถไว้ใจผู้อยู่ด้านล่าง/ประชาชนได้สนิทใจ

เมื่อการปกครองด้วยความกลัวนั้นเกิดการทำงานได้ทั้งสองทาง

ทั้งจากความกลัวที่ข้างบนส่งลงมาข้างล่าง

และความกลัวที่ข้างบนเองก็กลัวว่าคนข้างล่างอาจจะส่งขึ้นมาสู่ข้างบน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image