สัพเพเหระคดี 22มิ.ย.2563 : พลาดไปแล้ว : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผง ถูกบริษัทเลิกจ้าง

คุณโผงจึงไปร้องกับพนักงานตรวจแรงงานขอให้สั่งบริษัทจ่ายค่าชดเชย

ต่อมาพนักงานตรวจแรงงานวินิจฉัยแล้วมีคำสั่งว่า คุณโผงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย และมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแรงงานภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง

คุณโผงจึงมาฟ้องบริษัท ขอให้ศาลบังคับบริษัทจ่ายค่าชดเชย

Advertisement

ศาลแรงงานชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

คุณโผงอุทธรณ์คดี

ศาลแรงงานอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ วินิจฉัยว่า คุณโผงไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานภายในกำหนด 30 วันนับแต่ทราบคำสั่ง คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นที่สุด คุณโผงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัท

Advertisement

ทั้งนี้ ศาลชี้ว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคุณโผงว่า คุณโผงมีอำนาจฟ้องบริษัทหรือไม่

คุณโผงอุทธรณ์ว่า ได้ยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานตาม มาตรา 125 เพื่อขอบังคับให้บริษัทจ่ายค่าชดเชยจากการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เท่ากับว่าได้ฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานด้วยแล้ว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน จึงยังไม่เป็นที่สุด จึงมีอำนาจฟ้องนั้น

ศาลเห็นว่า มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันออกคำสั่ง” และวรรคสองบัญญัติว่า “ในกรณีที่นํายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้ํางซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด”

คดีนี้คุณโผงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ตามมาตรา 123 เพื่อให้บริษัทนายจ้างจ่ายค่าชดเชย พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งว่า คุณโผงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย

คุณโผงทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560 และนำคดีมาฟ้องบริษัทซึ่งเป็นนายจ้าง เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2560 ภายในระยะเวลา 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน

แต่ไม่ได้ฟ้อง เพื่อขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่สั่งว่า คุณโผงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ทั้งคุณโผงไม่ได้ขอแก้ไขคำของฟ้องโดยขอให้เพิ่มพนักงานตรวจแรงงานเป็นจำเลย และไม่ได้ขอให้ศาลออกหมายเรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี

การที่คุณโผงฟ้องเฉพาะบริษัทเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่า เป็นฟ้องขอเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานด้วย

ประกอบกับความใน มาตรา 125 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายจ้างหรือลูกจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด” ต่อเนื่องมาจากความในวรรคหนึ่งที่ว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้างหรือลูกจ้าง ไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง” ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสหรือให้สิทธิแก่นายจ้างหรือลูกจ้างที่ไม่เห็นชอบกับคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน นำคดีไปฟ้องศาลเพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อคุณโผงไม่ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานภายใน 30 วันนับแต่วันทราบคำสั่ง คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจึงเป็นที่สุดตาม มาตรา 125 วรรคสอง

คุณโผงจึงไม่มีอำนาจฟ้องบริษัท

พิพากษายืน-ยกฟ้อง

หลังสิ้นคำพิพากษาคุณโผงยืนนิ่ง-เงียบหน้าละห้อยหงอยเป็นที่สุด

(คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 1889/2561)

++++++++++++++++++++++++++

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

มาตรา 125 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบ
คำสั่ง

ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด

ในกรณีที่นายจ้างเป็นฝ่ายนำคดีไปสู่ศาล นายจ้างต้องวางเงินต่อศาลตามจำนวนที่ถึงกำหนดจ่ายตามคำสั่งนั้น จึงจะฟ้องคดีได้

เมื่อคดีถึงที่สุดและนายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนใดให้แก่ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย ให้ศาลมีอำนาจจ่ายเงินที่นายจ้างวางไว้ต่อศาลให้แก่ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตาย หรือกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ได้จ่ายเงินตามมาตรา 134 ได้ แล้วแต่กรณี

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image