สัพเพเหระคดี 6ก.ค.2563 : ผิดพลาด : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณโผงเป็นพนักงานบริษัทมาสักพัก

แรกๆ ทำงานก็ราบรื่นดีอยู่หลายปี หากหลังๆ มารู้สึกว่าขัดแย้งกับคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะกับผู้บังคับบัญชา และจำเพาะลงไปอีกคือกับเจ้าของบริษัท

ว่ากันไป คุณโผงขัดแย้งกับบริษัทนั่นละ!!

คุณโผงยื่นหนังสือลาออก แต่หนังสือนั่นเว้นว่างส่วนที่เป็นวันเดือนปีไว้ คือ ไม่ได้ลงวันที่หรอก

Advertisement

นึกว่าบริษัทจะไม่อนุมัติ หรืออนุมัติไม่ได้เพราะจดหมายไม่ลงวันที่

ที่ไหนได้ บริษัทรับหนังสือที่เขียนลาออกนั้นมา รีบลงวันที่อนุมัติแล้วเชิญคุณโผงออกซะทันทีเลย

ผิดคาด-คุณโผงคาดผิดหรือผิดพลาดไปแล้ว แม้จะพยายามเถียงว่า ไม่ได้ลงวันที่ในหนังสือที่ยื่นไปสักหน่อย แต่หาเป็นผลไม่

Advertisement

บริษัทได้ที รีบนิมนต์คุณโผงให้ออกไปให้ไวเลยเชียว

คุณโผงไม่พอใจ ใจนั้นไม่อยากลาออก อยากให้บริษัทเลิกจ้างมากกว่าจะได้ค่าโน่นค่านี่ติดมือมาบ้าง จึงมาฟ้องศาลแรงงานกลางว่า บริษัทบังคับให้ลาออก เนื่องจากตนได้ไปเบิกความเป็นพยานในคดีเรื่องหนึ่งและบริษัทแพ้คดี แต่คุณโผงไม่ยอมลาออก ทว่าบริษัทมีใบลาของคุณโผงซึ่งมีลายมือชื่อไว้อยู่แล้ว บริษัทได้ลงวันที่ในใบลาดังกล่าวและมีคำสั่งอนุมัติให้คุณโผงลาออกได้ แสดงว่าบริษัทเลิกจ้างอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า

ท้ายฟ้องคุณโผงขอให้บังคับบริษัทจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าเสียหาย ค่าทำงานในวันหยุด และโบนัส แก่คุณโผงมา

บริษัทให้การว่า คุณโผงลาออกจากงานโดยสมัครใจเอง ไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมและไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า คุณโผงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย ค่าชดเชย ค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุด และโบนัส ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง

คุณโผงอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ว่าคุณโผงได้ยื่นใบลาออกจริง แต่ใบลาออกที่ยื่นไปนั้นไม่ได้ลงวันที่ จึงไม่ถือเป็นการลาออก เพราะเป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ตั้งแต่วันยื่น

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ใบลาออกจากงาน ไม่มีกฎหมายใดบังคับว่าถ้าไม่ลงวันที่แล้วจะเป็นใบลาออกที่ไม่สมบูรณ์ เมื่อคุณโผงรับว่าได้ยื่นใบลาออกจริง ก็ย่อมเป็นการลาออกที่สมบูรณ์ มิใช่บริษัทให้ออกจากงานโดยไม่เป็นธรรม

พิพากษายืน

คุณโผงจึงจำต้องเดินหงอยคอตกกลับไป

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1649/2525)

++++++++++++++++

พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

มาตรา 119 นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใด ดังต่อไปนี้

(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง

(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง

(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน

หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด

(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร

(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

ในกรณี (6) ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้องเป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

การเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยตามวรรคหนึ่ง ถ้านายจ้างไม่ได้ระบุข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุที่เลิกจ้างไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างหรือไม่ได้แจ้งเหตุที่เลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะที่เลิกจ้างนายจ้างจะยกเหตุนั้นขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image