ปฏิรูป ปฏิโลมกับ ครม.ใหม่ : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ปฏิรูป ปฏิโลมกับ ครม.ใหม่ : สมหมาย ปาริจฉัตต์

ของฟรีไม่มีในโลก  เสถียรภาพรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงในพรรคพลังประชารัฐก็เช่นกัน หนีไม่พ้นความจริงที่ว่าข้างต้น

เจตนาเบื้องลึกเพื่อกระชับอำนาจในพรรคแกนนำและยืดอายุรัฐบาล แต่ก็ต้องแลกด้วยอำนาจต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีของกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ที่แปฏิรูป ปฏิโลมกับ ครม.ใหม่ : ประจำวันพฤหัสบดีที่ 9 กรกฎาคม 2563ต่งตัวรอเมื่อไหร่วันเวลานั้นจะมาถึงเสียที

พล.อ.ประยุทธ์ จะจัดการอย่างไรต่อไป เมื่อเงื่อนไขการปรับคณะรัฐมนตรีเพิ่มขึ้นมาตามลำดับ ล่าสุดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพิ่งผ่านที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปตามคาดหมาย

หากการปรับคณะรัฐมนตรีถูกทอดเวลาออกไปเรื่อยๆ การเคลื่อนไหวส่งสัญญาณทวงถามจากเสือหิว เสือโหย ทั้งหลายก็จะดังขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด เพราะคิดแต่เพียงว่าเก้าอี้นี้น่าจะเป็นของพวกข้าฯได้แล้ว

Advertisement

เหตุผล ความจำเป็นเรื่องแนวทางนโยบาย เนื้อหา หน้างาน สิ่งที่จะทำเพื่อพี่น้องประชาชนค่อยว่ากันทีหลัง

ต้องการเข้ามาทำหน้าที่แทนคนเดิมเพื่อเปลี่ยนแปลง ผลักดันงานอะไรที่คนเก่าทำไว้ไม่สำเร็จ หรือมีของดีอะไรที่แปลกใหม่ มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่มากกว่า

ทิศทางจะดำเนินไปในแนวทางไหน ไม่มีการบอกกล่าวที่ชัดเจนต่อสังคมทั้งสิ้น

Advertisement

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจที่ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ที่รัฐบาล คสช.ประกาศเป็นธงนำมาตั้งแต่ก่อน จนกระทั่งร่างรัฐธรรมนูญออกมาเป็นบทบังคับสำเร็จ

วันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศคนใหม่แทนคนเดิมที่ลาออกไปรับตำแหน่งวุฒิสมาชิกทั้ง 12 คณะ และตั้งคณะปฏิรูปด้านการศึกษา กับคณะกรรมการปฏิรูปวัฒนธรรม กีฬา แรงงานและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้นใหม่ ขณะที่คณะกรรมการปฏิรูปด้านตำรวจ ซึ่งหมดวาระไปแล้วยังไม่ปรากฏมีการแต่งตั้งใหม่ในครั้งนี้

ประเด็นที่ชวนติดตามก็คือความสัมพันธ์ระหว่างการปรับคณะรัฐมนตรีที่กำลังจะดำเนินไปกับภารกิจด้านการปฏิรูปประเทศ จะเป็นอย่างไรต่อไป

ที่ผ่านมาบทบาทการขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูป เป็นภาระหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปและหน่วยงานประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะ

บทบาทของฝ่ายการเมืองในระดับนโยบายเป็นไปในลักษณะของผู้เฝ้าดู รอกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านร้องขอถึงขยับ กระชับให้ฝ่ายข้าราชการประจำผู้ปฏิบัติเคลื่อนไหว

ด้วยเหตุนี้เวลาไปชี้แจงความคืบหน้าของการปฏิรูปต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ทุกสามเดือน จึงกลายเป็นภาระของฝ่ายเลขานุการ เลขาสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับทีมงาน เป็นหนังหน้าไฟไปรับหน้าเสื่อ แทนที่จะเป็นรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง เพราะคิดว่างานด้านปฏิรูปไม่ใช่ภาระหน้าที่ของฝ่ายการเมือง ไม่ได้เขียนไว้ในนโยบายของพรรคตอนหาเสียง จึงไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วน

กรรมการปฏิรูปจึงเดินไปทาง ฝ่ายการเมืองระดับนโยบายไปอีกทาง หรือไม่ก็วางเฉย เพราะไม่เชื่อมั่นมาแต่ต้นว่า แนวทางปฏิรูปจากส่วนบนจะสำเร็จ

เพราะความเชื่อคนละชุด จึงเกิดช่องว่างระหว่างรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง กับกรรมการปฏิรูป วาระการปฏิรูปกลายเป็นปฏิโลมเสียมากกว่า ดังที่ได้ยินในการประชุมอภิปรายของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกเป็นประจำ

ในวาระที่จะมีการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่และแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปครบชุดสมบูรณ์แล้วนี้ ทั้งสองฝ่ายควรจะต้องเร่งปิดช่องว่าง ถมช่องโหว่ของการปฏิบัติงานแบบไปคนละทิศ คนละทางโดยเร็วในทันที

อย่างน้อยที่สุดน่าจะมีโอกาสเปิดเวทีพบปะแลกเปลี่ยนระหว่างที่ประชุมประธานคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง หรือคณะรัฐมนตรี เพื่อสนทนา วิวาทะกันให้ตกผลึกว่าจะปรับชุดความเชื่อกันใหม่อย่างไร และจะเดินหน้าทำงานร่วมกันต่อไปอย่างไร

หาไม่เช่นนั้นแล้ว คนที่รับกรรมจากช่องว่างที่ยังดำรงอยู่ก็คือพี่น้องประชาชนผู้ที่ควรจะได้รับผลของการปฏิรูปโดยเร็ว กับข้าราชการประจำฝ่ายปฏิบัติ จะถูกเรียกร้องกดดันจากกรรมการปฏิรูปด้านนั้นๆ และฝ่ายกำหนดนโยบายในกระทรวง

มีสภาพไม่ต่างจากกระโถนรองรับน้ำลาย โดนเล่นงานทั้งขึ้นทั้งล่อง เพราะสภาพหลายนาย หลายฝ่าย นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image