เหยี่ยวถลาลม 11ก.ค.2563 : คนพายเรือ

“พายเรือให้โจรนั่ง” เป็นสำนวนโบราณตั้งแต่สมัยที่คนสยามหรือคนไทยยังนิยมใช้แม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรไปมาหาสู่และทำมาค้าขาย เฉกเช่นเดียวกับสมัยนี้ที่ใช้ถนนเป็นทางร่วมกันทั้งคนดีและคนร้าย

ตามแผนประทุษกรรมการก่ออาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นคดีมือปืนรับจ้างที่ลอบฆ่าคน หรือคดีปล้นทรัพย์ร้านทอง ปล้นธนาคาร ปล้นทรัพย์ตามบ้านเรือนก็ตาม คนซึ่งทำหน้าที่ “พายเรือ” หรือถ้าเทียบกับสมัยนี้ทำหน้าที่ “ขับรถ” นำพาผู้ร้ายไปก่อการนั้นมีความผิดเท่าเทียมกับ “มือปืน” หรือคนร้ายที่ลงมือปล้น

“พายเรือให้โจรนั่ง” เป็นสำนวนที่หมายจะบอกกล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือคนที่ไม่ดีหรือช่วยเหลือคนร้าย ที่ฟังดูคล้ายกับว่า “ความผิดเบาบาง” นั้นแท้จริงแล้วไม่ใช่

“คนพายเรือ” คือตัวการร่วม ที่ได้รับการแบ่งงานหรือแบ่งหน้าที่กันทำ !

Advertisement

กฎหมายอาญา มาตรา 83 จึงบัญญัติว่า “ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น”

จะพายเรือให้โจรนั่งหรือจะขับรถพามือปืนไปลั่นไกยิงคนก็มีความผิดและมีโทษเท่ากับโจร !

ยังจำกันได้หรือไม่ว่า ภายหลังรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ตอนแรก “รสช.” ยังคงขวยเขินจึงจัดให้มี “นายกรัฐมนตรีขัดตาทัพ” ในปีต่อมา รสช.จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 22 มีนาคม 2535 อวดอ้างว่า “คืนอำนาจให้ประชาชน”

Advertisement

จึงเกิดมี “พรรคสามัคคีธรรม” ขึ้นมาเป็น “นอมินีทหาร”

หลังเลือกตั้ง “สามัคคีธรรม” รวมหัวกับชาติไทย, กิจสังคม, ประชากรไทย และราษฎร สนับสนุน พล.อ.
สุจินดา คราประยูร
เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ถูกโจมตีว่า “พายเรือให้โจรนั่ง”

ฝ่ายที่เล่นบท “คนดี” มี พรรคประชาธิปัตย์, ความหวังใหม่, พลังธรรม ของมหาจำลองและพรรคเอกภาพ ชวนกันชุมนุมต่อต้าน “คนนอก” เป็นนายกรัฐมนตรี

กล่าวหา พล.อ.สุจินดาว่าเป็นผู้นำรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ ทำลายระบอบประชาธิปไตย ไม่สมควรเป็น “ผู้นำรัฐบาล” ในระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ

ฝ่ายค้านจุดไฟติดจนลามไปสู่เหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ’35” ทำให้ “เรือ รสช.” ล่มตายเกลี้ยงทั้งลำ

แต่วันนี้ไม่เหมือนกับวันนั้น

แค่ “ฝีพาย” บางคนถูกไล่ลงจากเรือ !?!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image