การปรับครม. แนวคิด ประสบการณ์ และความเป็นจริง โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

กระแสการปรับ ครม.นั้นเริ่มมีการพูดถึงกันอยู่มากในปัจจุบัน อาจด้วยเงื่อนไขปัจจัยที่สำคัญสองประการ

1.ปัญหาและผลสำเร็จจากการดำเนินงานของรัฐบาลประยุทธ์ 2 (หมายถึงประยุทธ์หลังการเลือกตั้ง) โดยเฉพาะนับตั้งแต่เริ่มมีรัฐบาลเมื่อกรกฎาคม 2562 รวมทั้งการรับมือกับวิกฤตโควิดในช่วงที่ผ่านมา

2.เรื่องราวที่เชื่อมโยงกับเงื่อนไขข้อที่ 1. นั่นก็คือเรื่องของความเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรอำนาจและตำแหน่งในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคแกนนำอันดับหนึ่งของรัฐบาล ที่มีการดันเอาทั้งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนเก่าออกไป แต่ทั้งสองคนนี้และเครือข่ายของพวกเขากลับมีตำแหน่งใน ครม.อยู่ด้วย จึงนำไปสู่ประเด็นทั้งการทวงคืนตำแหน่งรัฐมนตรีใน ครม. ที่เชื่อว่าเป็นโควต้าของพรรคคืนมาจัดสรรให้คนในพรรคอีกครั้ง

การวิเคราะห์ในเรื่องของโอกาสในการปรับ ครม.นั้นมีอยู่มากมาย รวมทั้งการวิเคราะห์คาดเดาถึงตัวเต็ง-ตัวแทนที่จะเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ทั้งที่คนอยากให้มาเป็น หรือคนคิดว่าคนคนนี้ต้องได้แน่ๆ แต่ก็ไม่อยากให้เป็น หรือคิดว่าไม่ควรจะได้เป็น และไม่ว่าจะมีการออกมาปฏิเสธข่าวในช่วงแรกว่าจะไม่มีการปรับ ครม.ในช่วงนี้ แต่มาจนถึงวันนี้ความเชื่อที่ว่าการปรับ ครม.นั้นคงจะเกิดขึ้นแน่ๆ กลายเป็นชุดความคิด-ความคาดหวังหลักของสังคมไปแล้ว

Advertisement

ก่อนที่จะมาวิเคราะห์ในกรณีของบ้านเรา ผมอยากนำเสนอประเด็นในทางแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยการพิจารณาการปรับ ครม.ในต่างประเทศสักนิด แม้ว่าอาจจะไม่เข้ากับบริบทของบ้านเรา แต่อาจทำให้เราได้เห็นมิติการศึกษาและประสบการณ์ของประเทศอื่นสักเล็กน้อย

เมื่อพูดถึงแนวคิดทฤษฎีว่าด้วยการปรับ ครม. สิ่งที่สำคัญที่พอจะทำให้เราได้พิจารณาก็คือ การปรับ ครม.มักจะถูกศึกษาในเรื่องของ “การเมืองรัฐสภา” หรือ parliamentary politics ซึ่งอาจจะจำกัดความแคบไปอีกก็คือเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตัวนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล (หรือหัวโต๊ะ ครม.) กับตัว สมาชิก ครม.ท่านอื่นๆ และการเมืองของการเลือกตั้งในระบอบรัฐสภา

แต่ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้ารัฐบาล หรือหัวโต๊ะ ครม. (ซึ่งตามทฤษฎีของการเมืองรัฐสภาต้นแบบหรืออังกฤษนั้นจะมองว่าเป็น first among the equal คือ นายกฯก็เป็นหนึ่งในรัฐมนตรี แต่อาจสั่งการได้ไม่ทั้งหมด เพราะตามทฤษฎี การตัดสินใจของรัฐบาลนั้นจะอยู่ในรูปการตัดสินใจร่วม (collective decision) ในนามของ “มติ ครม.” ไม่ใช่การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี) กับคณะรัฐมนตรีมีความซับซ้อนมาก เพราะว่าตัวนายกรัฐมนตรีและสมาชิก ครม. ก็มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน (อันนี้ในกรณีของการเมืองสองพรรค ที่มีพรรคที่ชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล และพรรคที่แพ้/ได้คะแนนไม่พอจัดตั้งก็ได้เป็นฝ่ายค้าน) ดังนั้นความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องการปรับ ครม. กับการเมืองในพรรคการเมืองเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญในการเมืองระบอบรัฐสภา

Advertisement

อีกด้านหนึ่งของการพิจารณาเรื่องของการปรับ ครม. ก็คือ เรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างความนิยมของรัฐบาล โดยเฉพาะตัวของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลเองกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และการคาดการณ์ต่อการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะมีขึ้น

จะพบว่าการตั้งประเด็นในสถานการณ์ต่างประเทศโดยเฉพาะกรณีของอังกฤษ แคนาดา นิวซีแลนด์ ตามที่มีการศึกษาวิจัยกันมา (Chirstopher Kam and Indridi Indrisason. The Timing of Cabinet Reshuffles in Five Westminster Parliamentary Systems. Legislative Studies Quarterly. 30:3. 2005: 327-363. และ Cabinet Reshuffles and Ministerial Drift. British Journal of Political Science. 38:4. 2008: 621-656.) ตั้งคำถามและมีข้อค้นพบที่น่าสนใจ

ข้อค้นพบจากการศึกษาทั้งในประวัติศาสตร์ และเปรียบเทียบหลายประเทศพบว่า ความเชื่อที่ว่าการปรับ ครม. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการคัดเลือกคนดีมีฝีมือเข้ามาเป็นสมาชิก ครม./รัฐบาล ไม่น่าจะเป็นเงื่อนไขหลักในการปรับ ครม. แต่เอาเข้าจริงกลับพบว่าการปรับรัฐมนตรีจริงๆ มีเงื่อนไขมากกว่านั้น และหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญก็คือเรื่องของเวลาที่เหมาะสมในการปรับ ครม.จะอยู่ที่เมื่อไหร่จะปรับ และเหตุผลเบื้องหลังของการปรับคืออะไร?

จากการวิจัยพบว่า เอาเข้าจริงการปรับ ครม. เป็นเรื่องของการพยายามอยู่รอดของตัวนายกรัฐมนตรีมากกว่าตัวรัฐบาล กล่าวคืออำนาจในการตัดสินใจปรับ ครม.นั้นเป็นเรื่องของนายกรัฐมนตรี ทั้งในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง มากกว่าเรื่องที่ต้องปรับเพื่อการบริหารประเทศและหาคนดีมาทำงานให้รัฐบาลล้วนๆ

พูดง่ายๆ ถ้านายกฯไม่มีอำนาจหลักในรัฐบาล ในพรรค และต่อความนิยมของประชาชนในฐานะผู้เลือกตั้งลงคะแนนเสียง การปรับ ครม.ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ

กล่าวอีกอย่างก็คือ ถ้านายกรัฐมนตรีมีความรู้สึกไม่มั่นคงทั้งจากการท้าทายภายในรัฐบาลและภายในพรรคของตัวเอง รวมทั้งต่อคะแนนนิยมที่มีต่อประชาชน (หมายถึงถ้าจะต้องมีการเลือกตั้งในอีกไม่นาน) ก็จะมีแนวโน้มและแรงจูงใจต่อการปรับ ครม.มากขึ้น

พูดง่ายๆ ก็คือในความเป็นจริงการปรับ ครม.เป็นเรื่องของการรักษาอำนาจของนายกรัฐมนตรีต่อแรงกดดันทุกรูปแบบ มากกว่าเป็นเรื่องปัญหาการบริหารงานและชาติบ้านเมืองนั่นแหละครับ เขาจะปรับก็ต่อเมื่อเขารู้สึกไม่มั่นคงทั้งจากการท้าทายของตัวสมาชิก ครม. สมาชิกพรรค และจากผู้นำพรรคคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรัฐบาล (หากจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป)

ย้ำอีกครั้งก็คือ การปรับ ครม.ไม่ใช่เรื่องของความไร้ประสิทธิภาพของตัวรัฐมนตรีเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของความไร้ความสามารถและความอ่อนแอของตัวนายกรัฐมนตรีมากกว่า คือเมื่อเจอแรงกดดันมากๆ ก็จะต้องปรับ ถ้าไม่ปรับก็จะยิ่งเสียความนิยมทั้งประชาชนและกับสมาชิกพรรค

ทีนี้เรื่องมันยิ่งหนักไปกว่านั้นก็คือ ในการเลือกคนมาเป็นสมาชิก ครม.แต่แรกนั้น ถ้าตัดประเด็นการเลือกนอกจากพรรคที่มาร่วมรัฐบาลไปแล้ว โดยมาดูจากพรรคตัวเองเป็นหลักก็จะพบว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่ได้เลือกคนที่เก่งที่สุดมาเป็นรัฐมนตรีแต่แรก แต่เขาจะต้องเลือกคนที่แน่นอนว่าจะต้องมีฝีมือ(บ้าง) แต่ก็จะต้องภักดีกับตัวนายกฯเป็นหลัก คือต้องไม่โดดเด่นกว่าตัวนายกฯเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้นั้นไม่ง่ายนัก เพราะตอนแรกใครๆ ก็ทำท่าว่าจะทำงานได้และเชื่อฟังนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลทั้งนั้น

แต่เอาเข้าจริงเมื่อทำงานไปแล้ว ก็อาจเกิดปัญหาหนักที่ทำให้นายกรัฐมนตรีจำต้องคิดปรับ ครม. ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีฝีมือ แต่อาจจะมาจากว่ามีฝีมือมากเกินไป คือทำงานดีไป ทำงานจนเป็นที่รู้จักของประชาชนกว่าตัวนายกรัฐมนตรีเอง หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าเอาผลงานไปเป็นของตัวเองมากกว่าผลงานมาเป็นของรัฐบาลในภาพรวมหรือเป็นของนายกรัฐมนตรี การเก่งเกินไป ข้ามหน้าข้ามตา (ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ทำให้ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีนั้นลดลง

ทีนี้มาดูบ้านเราบ้าง ก็พบว่าพวกทฤษฎีฝรั่งแบบนี้อาจจะใช้ไม่ได้โดยตรงเพราะท่านนายกรัฐมนตรีของเราท่านไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง (แถมพรรคที่ออกตัวหนุนนั้นก็ไม่ได้ที่นั่งมากที่สุด) แต่พรรคที่ได้คะแนนมาสูงสุดในแง่คะแนนรวมก็ชูธงสนับสนุนนายกฯท่านนี้มาก่อน แถมนายกฯท่านนี้ก็ยังยึดอำนาจเขามาและปกครองประเทศภายใต้ระบอบรัฐประหารและกฎระเบียบที่ร่างเองอยู่หลายปี

พูดง่ายๆ ว่า ถ้าจะปรับ ครม.จริงๆ จะให้ยอมรับกันหรือครับว่าปรับเพราะความนิยมของนายกฯท่านนี้ลดลง?

และจะยอมรับกันหรือครับว่า ปรับเพราะมีแรงกดดันจากพรรคร่วม และสมาชิกพรรคหลักที่สนับสนุนตัวท่านนายกฯแต่แรก โดยเฉพาะการมาพูดเรื่องโควต้าพรรคที่ต้องทวงคืน?

จะเห็นว่าในกรณีของการเมืองไทยปัจจุบันนั้น พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเล็กๆ แบบรวมพลังประชาชาติไทยเขาจัดการเปลี่ยนหัวหน้าพรรคและส่งข้อเสนอเตรียมเปลี่ยน รมต.ในโควต้าของพรรคของเขามาตั้งแต่ไก่โห่ ขณะที่พรรคอย่างประชาธิปัตย์ที่ยังหาหน้ากากไม่เจอ ก็ยืนยันว่ายังไม่ปรับอะไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็จะยิ่งเห็นชัดว่า นายกรัฐมนตรีเองไม่ได้มีอำนาจอะไรในการพิจารณาคนที่เหมาะสมในตำแหน่งรัฐมนตรีทั้งหมดใช่ไหม? หากแต่ละพรรคร่วมเขาไม่สนใจที่จะยอมปรับด้วย

นอกจากนั้นคำถามที่ตามมาจากเรื่องโควต้าของแต่ละพรรคจะพบว่า มีความพยายามในการตั้งคำถามว่า ตัวนายกรัฐมนตรีจะมีโควต้ากลางอยู่เท่าไหร่ในมือ เป็นไปได้ไหมว่ากรณีความเปลี่ยนแปลงในพลังประชารัฐ และอนาคตของตัวกลุ่ม 4 กุมารเองนั้นจะกลายเป็นโอกาสมากกว่าวิกฤตของตัวนายกรัฐมนตรีที่จะมีโควต้าของตัวเองเพิ่มขึ้น

ทั้งที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีฐานอำนาจเชื่อมตรงกับพรรค เพราะไม่ได้เป็นสมาชิกและหัวหน้าพรรค แม้ว่าพี่ชายสุดเลิฟจะเข้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น?

แต่กระนั้นก็ตาม สิ่งที่ควรพิจารณาอย่างยิ่ง ก็คือเรื่องของการตั้งคำถามทั้งในส่วนของการย้อนไปในปีที่ผ่านมาตอนตั้งรัฐบาล และในส่วนของการต่อรองตำแหน่งใน ครม.ในรอบใหม่ ในแง่ของการถามว่าการเจรจาตำแหน่งต่างๆ นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน อย่างไร (เมื่อนึกถึงสมัยคุณบรรหารชอบไปทานสมบูรณ์ภัตตาคาร) เพราะตัวคุณประยุทธ์เองนั้นโดยสถานะที่เป็นทางการ เขาเป็นแค่คนที่ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯโดยพรรคพลังประชารัฐ แต่กระบวนการต่อรองเก้าอี้ทั้งในส่วนโควต้าของคุณประยุทธ์เอง และในส่วนของโควต้าพลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ นั้น ใครคือคนตัดสินใจ ใครเชื่อมโยง ใครเจรจา ใครต่อรอง เขาต่อรองกันที่ไหน การต่อรองเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงไหม?

เรื่องแบบนี้เราปล่อยให้ผ่านมาได้อย่างไร และกำลังจะปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้ยังดำเนินต่อไปในครั้งนี้ด้วยใช่หรือไม่?

ส่วนกรณีปัญหาการทำงานข้ามหน้าข้ามตานายกรัฐมนตรีนั้น คิดว่าในบ้านเราคงไม่เกิด เพราะปัจจุบัน นายกรัฐมนตรีของเรานั้นแก้ปัญหาด้านนี้ไปได้โดยไม่ต้องปรับ ครม. แต่ใช้อำนาจประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินมาตั้งแต่ช่วงโควิดซะเลย คือใช้วิธีไม่ต้องให้ใครข้ามหน้าข้ามตาด้วยการดึงอำนาจมาที่ตนตั้งแต่แรกแล้ว

นี่แหละครับประเทศของเราในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะปรับ ครม.หรือไม่ เราจะมีคนมีฝีมือมาทำงานจริงไหม?

หรือว่าลึกๆ แล้วการปรับ ครม.เป็นเรื่องของการรักษาอำนาจของตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมากกว่าเรื่องอื่นๆ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image