ทางแก้ปัญหาเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรมของคนไทย โดย รศ.(พิเศษ) ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา

ท่านผู้หญิงเพชรา เตชะกัมพุช อดีตคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า เมื่อปี 2513 ภายหลังจากที่ทำพระทนต์ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ท่านรับสั่งถามว่า “เวลาที่พระองค์ท่านมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน มีทันตแพทย์มาช่วยกันดูแลรักษา แล้วราษฎรที่อยู่ห่างไกลความเจริญ มีหมอช่วยดูแลรักษาหรือเปล่า” เมื่อได้ทรงทราบจากทันตแพทย์ผู้ถวายการรักษาว่า ไม่มี แม้แต่จังหวัดบางจังหวัด เช่น จังหวัดแม่ฮ่องสอน ไม่มีทันตแพทย์ประจำ อำเภอแทบทุกอำเภอในขณะนั้นไม่มีทันตแพทย์เลย เมื่อพระองค์ท่านทรงทราบ จึงรับสั่งว่า “โรคฟัน เป็นโรคของทุกคน การที่จะให้ราษฎรผู้ยากไร้และอยู่ห่างไกลความเจริญ ต้องทิ้งท้องไร่ท้องนา เข้ามารับการรักษาในเมือง คงเป็นไปไม่ได้ น่าที่ทันตแพทย์จะเดินทางไปดูแลเป็นครั้งคราว” พระราชดำรัสในครั้งนั้น นับเป็นจุดเริ่มต้นงานทันตกรรมเคลื่อนที่ หรืองานทันตกรรมชนบท เป็นครั้งแรกในประเทศไทย

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในปี 2513 แสดงให้เห็นถึงพระราชหฤทัยห่วงใยที่ทรงมีต่อพสกนิกรผู้อยู่ใต้เบื้องพระบรมโพธิสมภาร และได้พระราชทานแนวทางที่ทำให้เกิดนวัตกรรมการให้บริการทันตกรรม ส่งผลให้ราษฎรในพื้นที่ห่างไกล ได้รับโอกาสในการรักษาโรคฟันเฉกเช่นเดียวกับราษฎรที่อยู่ในเมืองใหญ่

ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ได้ทำหน้าที่ในการผลิตและกระจายทันตแพทย์ไปยังส่วนต่างๆ ของประเทศอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนทันตแพทย์ 1,200 คนในปี 2513 ได้เพิ่มจำนวนเป็น 14,667 คนในปี 2559 หรือเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือ ทันตแพทย์ 1 คน ดูแลประชาชน 5,553 คน (2556) ในขณะที่ออสเตรเลียอยู่ที่ 1:1998 (2549) สหรัฐอเมริกา 1:1642 (2559) ญี่ปุ่น 1:1,258 (2555) อินเดีย 1:10,271 (2557) แต่เมื่อดูสัดส่วนทันตแพทย์ต่อประชากรในภาคต่างๆ กลับพบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมาก ในขณะที่กรุงเทพฯมีสัดส่วน 1:1,039 แต่ภูมิภาคกลับสูงถึง 1:9,563 (รายละเอียดตามภาพด้านล่าง)

นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจุบันทันตแพทย์ที่อยู่ในภาครัฐ กลับมีสัดส่วนพอๆ กับทันตแพทย์ภาคเอกชน

Advertisement

ทันตะ2

 

ปัจจุบันคนไทยมีสิทธิรักษาพยาบาลผ่านระบบหลักประกันสุขภาพต่างๆ เช่น ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ และระบบประกันสังคมครอบคลุมเกือบ 100% แต่สิทธิประโยชน์ยังคงมีความลักลั่น ข้าราชการมีสิทธิประโยชน์ในแง่รักษาโรคฟันและเหงือกได้ครอบคลุมที่สุด แต่สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีสิทธิประโยชน์ในแง่การส่งเสริมป้องกันดีกว่า

Advertisement

ในขณะที่ทั้ง 2 สิทธิใช้งบประมาณที่มาจากภาษีราษฎรเหมือนกัน ต่างจากสิทธิประกันสังคมที่ผู้มีสิทธิต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุนด้วย แต่กลับมีสิทธิประโยชน์น้อยกว่า 2 สิทธิแรก เพราะนอกจากรายการให้บริการจะมีจำกัดแล้ว ยังกำหนดวงเงินการเข้ารับบริการในแต่ละปีและเมื่อเข้ารับบริการแล้วต้องสำรองเงินตนเองจ่ายไปก่อน เงื่อนไขเหล่านี้จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการของผู้มีสิทธิเป็นอย่างมาก ทำให้ปรากฏการณ์ที่เรียกกันว่า “ความเหลื่อมล้ำ” และเห็นได้ว่า แม้คนไทยจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลตามกฎหมาย แต่ในชีวิตจริง การเข้าถึงสิทธิการรักษายังคงเป็นปัญหา

แนวทางการเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมให้กับคนไทยในเวลานี้ อาจไม่ใช่การเร่งผลิตทันตแพทย์ แต่หากอยู่ที่การกระจายทันตแพทย์ให้เหมาะสม และจากข้อเท็จจริงที่พบว่าทันตแพทย์ที่ทำงานในภาครัฐมีจำนวนเพียงครึ่งเดียวของทันตแพทย์ทั้งหมด การจัดบริการโดยนำทันตแพทย์ภาคเอกชนมาร่วมให้บริการ (รัฐร่วมเอกชน Public Private Partnership-PPP) ในรูปแบบที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ดำเนินการอยู่

จึงเป็นแนวทางที่ควรส่งเสริมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศไทย

โรคฟันเป็นโรคที่ป้องกันได้ หากจัดระบบการส่งเสริมป้องกันโรคให้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพและมีความต่อเนื่อง จะสามารถลดอัตราการเกิดฟันผุและการสูญเสียฟันก่อนเวลาอันควรได้ จะเห็นตัวอย่างได้จากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย แนวทางที่ สปสช.ได้เคยดำเนินการไว้อย่างเป็นรูปธรรม คือการจัดสรรงบประมาณตั้งเป็น “กองทุนทันตกรรม” มีจุดประสงค์เฉพาะในการส่งเสริมป้องกันโรคในช่องปากในกลุ่มเด็กนักเรียน ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่การดำเนินการให้ได้ผลสัมฤทธิ์จำเป็นต้องใช้เวลาและอาศัยความต่อเนื่อง เป็นที่น่าเสียดายที่ สปสช.ยกเลิกกองทุนทันตกรรมไปเสียก่อนที่จะเห็นความสำเร็จ

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลการรักษาพยาบาลให้กับคนไทยมากถึง 48 ล้านคน และเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมป้องกันโรคให้กับคนไทยทุกคน หากออกแบบกลไกการบริหารงบประมาณร่วมกับกลไกการบริหารของกระทรวงสาธารณสุข เชื่อแน่ว่าจะสามารถสร้างความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนในการดูแลสุขภาพช่องปากของคนไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเห็นผลได้ในไม่ช้า

ทันตะ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image