สัพเพเหระคดี 3ส.ค.2563 : ยังไม่มีหนี้ : โดย โอภาส เพ็งเจริญ

คุณจำนูญยืมเงินคุณโผง 1 แสนบาท รับเงินไปแล้ว แต่ไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมกันไว้หรอก

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 คุณจำนูญได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 1 แสนบาท ลงวันที่ล่วงหน้า เป็นวันที่ 27 มกราคม 2536 เพื่อชำระหนี้ให้แก่คุณโผง โดยในวันออกเช็คนั้น คุณจำนูญได้ทำบันทึกมอบไว้แก่คุณโผงว่า “ได้ออกเช็คนี้เพื่อชำระหนี้ ที่กู้ยืมเงินจากคุณโผงไว้แล้ว”

ทว่าเมื่อถึงกำหนด คุณโผงนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคารปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน !!!!

คุณโผงไปฟ้องขอให้ลงโทษคุณจำนูญตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

Advertisement

ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง!!

คุณโผงอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คือยกฟ้อง!!!

Advertisement

คุณโผงฎีกาคดีอีก

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การกระทำใดจะมีมูลความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 จะต้องพิจารณาได้ความว่า มีหนี้ที่จะต้องชำระก่อน และหนี้นั้นจะต้องบังคับได้ตามกฎหมาย และได้มีการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ดังกล่าวนั้น

สำหรับกรณีนี้ได้ความว่า คุณจำนูญยืมเงินคุณโผงไป 1 แสนบาท โดยไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือแต่อย่างใด ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน 2535 จึงได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 1 แสนบาท ลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 27 มกราคม 2536 เพื่อชำระหนี้ให้แก่คุณโผง โดยในวันออกเช็คคุณจำนูญได้บันทึกไว้ด้วยว่า “ได้ออกเช็คนี้เพื่อชำระหนี้ ที่กู้ยืมเงินจากคุณโผงไว้แล้ว” คุณโผงมีเฉพาะเอกสารนี้ฉบับเดียวอ้างเป็นหลักฐานว่าคุณจำนูญกู้เงินไป 1 แสนบาท

เห็นได้ว่าบันทึกนี้ ได้ทำขึ้นภายหลังที่ออกเช็คแล้ว แม้จะได้ทำในวันเดียวกันก็ตาม

ถือได้ว่า ขณะที่คุณจำนูญออกเช็คให้คุณโผงนั้น แม้จะฟังว่าคุณจำนูญเป็นหนี้คุณโผงอยู่จริง แต่หนี้นั้นก็ไม่อาจบังคับได้ตามกฎหมาย

การกระทำของคุณจำนูญจึงขาดองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

การกระทำของคุณจำนูญจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง

ฎีกาของคุณโผงฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

คือ คุณจำนูญไม่ต้องจ่าย-สบายไป

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7322/2538)

++++++++++++++++++

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534

มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image