เรือจมน้ำ! โดย ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

นับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เป็นต้นมา เห็นได้ชัดเจนประการหนึ่งว่า รัฐบาลไทยมีโครงการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์เป็นจำนวนมาก และยุทโธปกรณ์จำนวนมากเหล่านี้ถูกจัดหาจากจีน จนอาจกล่าวได้ว่า รัฐประหารของกลุ่มทหารที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่เพียงต้องการเปลี่ยนทิศทางของระบบพันธมิตรทางทหารของไทยที่แต่เดิมมีความใกล้ชิดกับตะวันตก ไปสู่การใกล้ชิดกับจีนแทนเท่านั้น หากยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแบบแผนของระบบอาวุธในกองทัพไทย ที่เป็นการพึ่งพาระบบอาวุธหลักจากจีนเป็นสำคัญ ดังจะเห็นได้ว่า การจัดตั้งกองพลรถถังใหม่ของไทยนั้น เป็นรถถังจากจีน

นอกจากรถถังที่มีการวิจารณ์อย่างมากแล้ว ระบบอาวุธจากจีนอีกส่วนที่กลายเป็นประเด็นสาธารณะอย่างมากในสังคมไทย คือ เรื่อง “เรือดำน้ำ” จนอาจเปรียบเปรยได้ว่า ไม่มีการจัดหายุทโธปกรณ์ชุดใดจะถูกทำให้กลายเป็นเรื่องตลกชวนหัวในเวทีสาธารณะได้มากเท่ากับเรือดำน้ำอีกแล้ว (บางทีอดคิดไม่ได้ว่า น่าจะหาใครสักคนรวบรวมภาพชุด “ขำขันเรือดำน้ำ” ที่ปรากฎอยู่ในเว็บไซต์ต่างๆ มารวมเล่ม!)

คตินิยมทางการเมืองของทหาร

1) ทหารเป็นใหญ่ในสังคมไทย?

ในอีกด้านผู้นำทหารเรือ และอาจต้องนับรวมถึงผู้นำทหารไทยในเหล่าทัพอื่นด้วย มีความเชื่อว่า “ทหารคือผู้เป็นใหญ่ในสังคมไทย” ดังนั้นผู้นำทหารเหล่านี้จึงเชื่อเสมอว่า พวกเขาสามารถตัดสินใจทำอะไรตามที่ตนต้องการก็ได้ โดยไม่มีความจำเป็นใดๆ ในการฟังเสียงทักท้วงจากภาคสังคม อีกทั้งสังคมนี้ก็ถูกควบคุมโดยทหารมาอย่างยาวนาน จนอาจกล่าวในทางรัฐศาสตร์ได้ว่า สังคมไทยในมุมมองของผู้นำทหาร เป็นสังคม “ทหารเป็นใหญ่” (military supremacy) ไม่ใช่การสร้างสังคมประชาธิปไตย ที่ยืนอยู่บนหลักการสำคัญคือ “พลเรือนเป็นใหญ่” (civilian supremacy) ประชาธิปไตยในมุมมองเช่นนี้จึงกลายเป็น “ศัตรูตัวร้าย” ที่ทหารจะต้องทำลายลงให้ได้

ภาพสะท้อนที่ขัดเจนเห็นได้จากท่าทีการแถลงของผู้แทนกองทัพเรือเรื่องเรือดำน้ำเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่การชี้แจงที่ต้องการชักชวนให้สังคมสนับสนุนต่อความต้องการด้านยุทโธปกรณ์นี้ หากเป็นแต่เพียงการออกมาเพื่อยืนยัน “ประกาศศักดา” ถึงความเป็นใหญ่ของทหารอีกครั้ง ว่า ทหารทำอะไรก็ได้ คนอื่นที่เห็นต่างอย่ามายุ่ง… อย่ามาค้าน และอาจต้องถือว่า การออกมาแถลงข่าวในวันดังกล่าวเป็นเสมือนกับ “การประกาศสงคราม” กับพรรคฝ่ายค้านโดยตรง หรืออาจจะต้องถือการแถลงของผู้แทน ทร. คือ การตั้งเวที “ตอบโต้” ทางการเมือง ที่มิได้มีจุดประสงค์หลักในการชี้แจงเพื่อให้ข้อมูลแก่ประชาชน

Advertisement

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทัศนะคติชุดนี้ถูกสร้างขึ้นและเป็นผลพวงอย่างชัดเจนจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสังคมการเมืองไทย แน่นอนว่า ทัศนคติเช่นนี้ส่งผลอย่างมากต่อกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของไทย ดังจะเห็นได้ว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองหลายครั้ง แต่สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนผ่านก็ไม่อาจเดินไปสู่จุดที่ประชาธิปไตยถูกทำให้เกิดความเข้มแข็งได้จริง หากกลับกลายเป็นวงจรที่จบลงด้วยการรัฐประหารอีกครั้ง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผู้นำทหารไม่อาจอดทนยอมรับระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยได้เลย เนื่องจากเสียงค้านและความเห็นต่างที่เกิดขึ้นกับการเมืองในระบบรัฐสภานั้น มีส่วนโดยตรงในการลดทอน “ความเป็นใหญ่ของทหาร” ลงทั้งสิ้น โดยเฉพาะการซื้ออาวุธจะถูกตรวจสอบโดยกระบวนการทางรัฐสภา และจากสังคมด้วย

2) ความมั่นคงเป็นเรื่องของทหารเท่านั้น?

เมื่อใดก็ตามมีประเด็นปัญหาที่เป็นเรื่องความมั่นคงแล้ว เมื่อนั้นก็มีความคิดในมุมมองทหารว่า “ทหารเท่านั้นที่รู้เรื่องความมั่นคง” ฉะนั้นการตัดสินใจในเรื่องความมั่นคงจึงเป็น “เรื่องเฉพาะของทหาร” กล่าวคือเป็นพื้นที่แบบ “exclusive” ที่ถูกสงวนไว้สำหรับผู้นำทหารเท่านั้น (ใช้ในความหมายในระดับของ “ผู้นำทหาร” เพราะพื้นที่นี้ก็มิได้มีนัยกับทหารโดยทั่วไปแต่อย่างใด) พื้นที่ของประเด็นปัญหาด้านความมั่นคงในเวทีสาธารณะจึงถูกสร้างด้วยจินตนาการแบบทหารให้เป็นดังป้ายประกาศที่มักจะพบเห็นในอาณาบริเวณของกองทัพว่า “เขตทหารห้ามเข้า”

Advertisement

ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผู้นำทหารจะรู้สึก “เสียหน้า” อย่างมากเมื่อเกิดเสียงคัดค้านการจัดหาเรือดำน้ำ เพราะไม่เพียงจะเกิดการแทรกเข้ามาในพื้นที่ที่ทหารเชื่อว่า ทหารเท่านั้นที่รู้ดีที่สุด และทหารเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินเรื่องนี้ หากแต่ยังชี้ให้เห็นในอีกมุมว่า คำกล่าวอ้างของทหารในการซื้ออาวุธครั้งนี้ กำลังถูกท้าทายอย่าง “ไม่ไว้หน้า” เพราะสังคมไม่เชื่อทหาร และมองต่างจากสิ่งที่ผู้นำทหารพยายามขายให้กับสังคมไทย แต่ผู้นำทหารอาจลืมไปโดยไม่ใส่ใจว่า ผู้คนในสังคมไทยในสถานการณ์โควิด-19 นั้น อยากได้ความช่วยเหลือแบบสวัสดิการจากภาครัฐ ไม่ได้อยากได้เรือดำน้ำ ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อมีเรื่องดำน้ำแล้วจะช่วยในการแก้ไขปัญหาของประเทศในยามที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในยุคโควิดอย่างไร

การห้ามเข้าเขตพื้นที่เช่นนี้จึงมีนัยโดยตรงว่า ผู้นำกองทัพไทยสามารถตัดสินใจอะไรก็ได้ในเรื่องความมั่งคั่ง เพราะเชื่อเป็นพื้นฐานอยู่แล้วว่า “ความมั่นคงเป็นเรื่องของทหาร พลเรือนไม่เกี่ยว” แต่พลเรือนจะถูกนำเข้ามาเป็นตัวประกอบเกี่ยวข้องด้วยก็ต่อเมื่อทหารต้องการ “สร้างภาพ” ผ่านงานปฎิบัติการจิตวิทยา เพื่อแสดงให้เห็นถึงการสนับสนุนจากมวลชน หรือหากพลเรือนจะเกี่ยวในภาพเหล่านี้ ก็มักจะเป็นกลุ่มพลเรือนที่ถูก “จัดตั้ง” จากฝ่ายทหาร เช่นที่เห็นในยุคสงครามคอมมิวนิสต์มาแล้ว

หรือมิฉะนั้นก็เป็นพลเรือนที่ในกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่มีท่าทีชัดในการสนับสนุน “นโยบายแบบลัทธิเสนานิยม” ดังจะเห็นได้จากการแถลงในวันดังกล่าว ผู้แทน ทร. ได้อ้างถึงเสียงสนับสนุนให้ซื้อเรือดำน้ำที่ปรากฎในสื่อสายอนุรักษ์นิยม ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาอย่างมากว่า ผู้นำทหารเลือกรับรู้ “ความรู้สึกของสังคม” ต่อกรณีเรือดำน้ำผ่านสื่อฉบับนี้ฉบับเดียวหรือ?

3) ทหารจะใช้งบทหารจัดซื้ออาวุธอะไรก็ได้?

ผู้นำทหารไม่เคยมีความสำเหนียกว่า งบประมาณของกองทัพมาจากภาษีของประชาชน ยิ่งเป็นในช่วงที่รัฐบาลเผด็จการทหารมีอำนาจแล้ว ยิ่งเห็นได้ชัดถึงทัศนคติชุดนี้ เพราะการใช้งบประมาณของรัฐบาลทหารเป็นเรื่องที่แทบตรวจสอบไม่ได้เลย ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นได้ว่า การจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์หลังการรัฐประหาร 2557 นั้น อยู่ในภาวะที่กลายเป็นเรื่อง “ฉาวโฉ่” (คือเป็น arms scandal) ที่รับรู้กันในสังคมไทย (น่าจะมีการทำแบบสอบถามว่า “คุณเชื่อหรือไม่ว่าการซื้ออาวุธของกองทัพไทยมีความโปร่งใส” เพื่อวัดทัศนคติของสังคมในเรื่องนี้) และว่าที่จริงแล้ว ผู้นำทหารไทยหลังรัฐประหารมีเรื่อง “ฉาวโฉ่” หลายเรื่อง ที่ล้วนสะท้อนถึง “ความไม่โปร่งใส” ในการบริหารราชการทหาร

ภาพประกอบ

อย่างไรก็ตามผู้นำทหารเชื่อว่า ถึงจะมีข้อคัดค้านและท้วงติงเพียงใด พวกเขาก็จะเดินหน้าโครงการจัดหายุทโธปกรณ์ต่อไป … แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้ชลอโครงการ แต่คำตอบที่เห็นได้ชัดก็คือ งบของทหารเรือ กองทัพเรือจะนำไปจัดซื้ออาวุธอะไรก็ได้ ไม่ใช่เรื่องที่สังคม หรือนักการเมืองจะมาโต้แย้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีความชัดเจนว่า ภัยคุกคามทางทะเลที่กองทัพเรือชอบอ้างถึงเสมอนั้น คืออะไร

แต่ไม่ว่าภัยคุกคามจะมีความชัดเจนหรือไม่ก็ตาม ผู้นำทหารก็จะมีคำตอบเป็นสูตรสำเร็จตายตัวว่า งบประมาณที่ใช้ในการจัดซื้อนี้ เป็นงบประมาณของทหาร ฉะนั้นจึงเป็น “เอกสิทธิ์” ที่ผู้นำทหารจะตัดสินใจใช้อย่างไรก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องนำพากับปัจจัยอื่นๆ กล่าวคือ ผู้ทหารไม่เคยมีความใส่ใจต่อสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงไม่เคยเข้าใจ “อารมณ์สังคม” ที่ผู้คนกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจชุดใหญ่ของไทย จึงออกมาต่อต้านการจัดซื้อที่เกิดขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำทหารตัดสิน “ทำร้ายจิตใจ” ประชาชนในยามนี้ด้วยการซื้อเรือดำน้ำที่มีมูลค่ามหาศาล ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศกำลังเผชิญกับความยากจน

ถ้าผู้นำทหารเรือมีสติทางการเมืองฉุกคิดสักนิด คงต้องยอมรับว่า การแถลงข่าวในแบบ “ประกาศศักดาทหาร” เช่นนี้ ไม่เพียงแต่ทำลายความศรัทธาที่ครั้งหนึ่งสังคมไทยเคยเชื่อว่า อย่างน้อยกองทัพเรือน่าจะเป็นสถาบันทหารที่มีความน่าเชื่อถือได้ หากแต่การแถลงในวันนั้นคือภาพสะท้อนที่ทำให้สังคมมี “ความรู้สึกร่วม” อย่างมากว่า ผู้นำทหารไทยไม่เคยมีความใส่ใจกับภาวะของสังคม ซึ่งพวกเขาอาจจะลืมไปว่า สังคมที่อ่อนแอและหิวโหย ไม่เคยสร้างกองทัพที่เข้มแข็งได้

เรือจมแล้ว!

การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ได้กลายเป็นเครื่องสนับสนุนที่ชัดเจนว่า ถึงเวลาจริงๆ แล้วที่หัวข้อ “การปฏิรูปกองทัพ” จะต้องเป็นวาระสำคัญทางการเมืองในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในอนาคตจะไม่มีความหมายเลย หากกระบวนการปฏิรูปกองทัพไม่สามารถขับเคลื่อนได้

วันนี้เรือดำน้ำในมุมมองของประชาชนกลายเป็น “เรือจมน้ำ” ไปแล้ว และในทางการเมืองก็พากองทัพเรือและรัฐบาลจมน้ำตามไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และการจัดซื้อที่ค้านกับความรู้สึกของประชาชนจะยิ่งกลายเป็นการเพิ่มเชื้อไฟให้แก่การต่อต้านรัฐบาลอย่างแน่นอน!

ภาพจากอินสตาแกรม Evgenia Zibrova
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image