‘ศิลปะคือการเมือง’ เมื่อเสรีถูกกดทับ ก็ถึงวันต้องปลดแอก

“ฉันเบื่อหน่าย ฉันเบื่อหน่าย ฉันเบื่อหน่าย”

วลีสั้นๆ จากเสียงอ่านกวี ดังก้องสี่แยกปทุมวัน อันมีต้นเสียงมาจากลานหน้า หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)

คือเสียงของ “เครือข่ายกวีสามัญสำนึก” ที่เรียกร้องการกลายเป็นบางสิ่ง กลายเป็นจิตวิญญาณแห่งเสรี กลายเป็นพู่กันเพื่อจับวาดระบายสีสัญลักษณ์แห่งการต้านทาน “ความลวง” ที่มารูปแบบของ “ความจริง”

ก่อนจะกู่ก้องร้องหาคำตอบว่า “มือใครปิดตาประชา”? ถามหาผู้ปล้นประชาธิปไตยไปจากมวลชน

Advertisement

เพื่อหลุดพ้นจากพันธนาการ

“พิพิธภัณฑ์สามัญชน” เก็บตัวอย่างภาพวาดติดกำแพง เพื่อสื่อสารความรู้สึกนึกคิดของผู้คนที่มีต่อสถานการณ์บ้านเมือง จากกิจกรรมที่จัดโดย Speedy Grandma

ปรากฏการณ์ ครั้งสำคัญ

เมื่อ ‘ศิลปิน’ ไม่จำนนต่อ ‘แรงกดดัน’

ธงสีขาวสัญลักษณ์ “Son of Anarchy” ที่หมายถึง อนาธิปไตย การไร้ซึ่งอำนาจการปกครอง พร้อมข้อความ “Autonomy” ที่ถูกขีดฆ่า ถูกเชิญมาหน้าเวทีที่ตกแต่งด้วยนกพิราบขาวถูกจับวางเฉียง ก่อนสหายชายอีกรายจะอ่านบทกวีชี้ชวนมวลชนร่วมใฝ่หา “ท้องฟ้าที่กว้างกว่านี้”

เพราะช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบกับคนส่วนมากจากการเมืองที่หยั่งรากลึก ขยายตัวและแทรกซึมไปทุกวงการ ไม่เว้น ศิลปวัฒนธรรม ที่นักกิจกรรมได้รับผลกระทบจำนวนมาก จากการ คุกคาม จับกุม สั่งปลดผลงาน หรือทำลาย คนทำงานศิลปะจำนวนมากต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัย บ้างถูกบังคับให้สูญหาย กลายเป็นเส้นเรื่องต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนี้ ที่ล่าสุดมีการจับกุม HOCKHACKER ออกหมายจับ Jacoboi แร็พเปอร์จากกลุ่ม R.A.D. ประเทศกูมี ไปจนถึง ‘แอมมี่’ แห่ง The Bottom Blues ผู้กระทำการสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ

Advertisement
ผลงานโดยศิลปิน กลุ่ม Unmuted project

12 กันยายนที่ผ่านมา เกิดปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของแวดวงอาร์ติสต์ มีการรวมตัวของศิลปินหลากแขนงที่มีจุดยืนร่วมกันว่า “จะไม่ยอมจำนนต่อการใช้อำนาจของรัฐทุกรูปแบบ” ยึดชายคาหน้าหอศิลป์เป็นตลาด

เปิดเทศกาลศิลปะ ActสิArt จัดนิทรรศการ เปิดเวทีบรรเลงดนตรี อ่านบทกวี แสดงละคร มีผู้คนหลากหลายที่ยึดจุดยืน “ประชาธิปไตยเต็มใบ” มารวมตัวกันในนาม FreeArts ยึด ‘ศิลปะเสรี’ เป็นปณิธานในการสร้างสรรค์ผลงานศิลป์ หวังกระทบตารัฐเผด็จการ ว่าศิลปินจะไม่ทนกับการคุกคามทุกรูปแบบ

ไม่ว่า “กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวการละคร”, B-Floor, “เฮา มา” แสดงเรื่องราวเสียดสี ชวนให้ขบคิดผ่านความเงียบ ใช้ร่างกายล้อเลียนเจ้าของวลี “ไม่รู้” และผู้มีอำนาจอีกหลายชีวิต สะท้อนสังคมให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง สับเปลี่ยนกับการอ่านบกวี และวงดนตรี จาก Taitosmith, แอมมี่ The Bottom Blues, Yellow Fang, R.A.D., The Shock Shuck, Drunk All Day และอื่นๆ อีกมากมาย ทยอยกันมาโชว์สำเนียงเสียงสุดอัดอั้นตั้งแต่บ่ายจรดค่ำ

ใช่ว่าสักแต่เรื่องเคลื่อนไหวและสัมผัสของสระและอักษร ทว่ายังมีความหมายเบื้องลึกที่ทำงานกับวิธีคิด ความรู้สึก ตีความได้อย่างอิสระเสรี จากภาพวาด ภาพถ่าย ที่ Unmuted project ขนมาร่วมแจม ให้ผู้ชมได้วางประสบการณ์ในอดีต อยู่กับปัจจุบันขณะ แล้วตีความตามอัธยาศัย

อย่างไรก็ดี งานนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้น หากเรามีรัฐบาลที่เป็นธรรม ฟังเสียงที่เห็นต่าง เข้าท่า-เข้าที มวลชนจะไม่ต้องมาร่วมยืนชู 3 นิ้ว ขับร้อง “Do you hear the people sing” ด้วยอารมณ์เกรี้ยวโกรธ กับความอยุติธรรมในเมืองพุทธ เช่นนี้

เสวนา 15ปี แห่งเสรีภาพและศิลปะร่วมสมัยหลังรัฐประหาร โดย กลุ่ม “ศิลปะปลดแอก”

จี้ กำจัดวัฒนธรรม ‘ลอยนวล-พ้นผิด’

‘ชำระ’ หายนะ ประชาธิปไตย

ก่อนจะเริ่มกิจกรรมข้างท้องถนน ช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ มีการเสวนาเรื่อง “15 ปี แห่งเสรีภาพและศิลปะร่วมสมัยหลังรัฐประหาร”

สมรัก ศิลา จาก WTF GALLERY ร่วมเผยมุมมองในด้านปฏิบัติการของศิลปะ โดยเล่าว่า ก่อตั้ง WTF แกลเลอรี่ ขึ้น เมื่อปี 2553 หวังเปิดพื้นที่ให้ความคิดปะทะกันภายในแทนพื้นที่สาธารณะ แต่ก็มีเหตุการณ์สลายชุมนุม ที่ วัดปทุมวนาราม ทันที!

“หน้าที่ของคนทำศิลปะ คือ (Early warning system) เป็นระบบเตือนภัยว่าวัฒนธรรมทำเก่ามันกำลังจะเปลี่ยนไป ในฐานะคนทำศิลปะร่วมสมัย จึงเปิดให้ศิลปินที่ต้องการแสดงออกทางการเมือง ไม่สามารถแสดงออกในที่อื่นๆ ได้ ซึ่งต้องทำงานภายใต้การเซ็นเซอร์ตลอดเวลา เกิดเป็นความอัดอั้นที่ไม่สามารถส่งสารจากงานศิลปะอันต้องการจะสื่อได้”

สมรักเล่าอีกว่า ต่อมาปี พ.ศ.2557 ศิลปินแบ่งข้างชัดเจน ด้วยความหงุดหงิดของตัวเอง จึงจัดนิทรรศการชื่อว่า “Conflicted Visions AGAIN” ด้วยอัดอั้นที่มองเห็นวงการศิลปะไม่ได้รับฟังกันด้วยเหตุและผล ซึ่งหลังจากนั้นเจอรัฐประหาร หาศิลปินมาแสดงเรื่องการเมืองไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ยกธงขาว สมรักยังคงเดินหน้าต่อไป หวังการฟังอย่างเห็นอกเห็นใจ โดยไม่ตัดสินล่วงหน้า

ถามว่า การเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา หันหลังยูเทิร์น ของศิลปินบางราย มีนัยยะอะไร ?

ดร.ธนาวิ โชติประดิษฐ จาก คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร เล่าถึงศิลปินที่เข้าไปสนับสนุนกระบวนการปฏิเสธการเลือกตั้ง ซึ่งบางคนได้พยายามที่จะแสดงออกอีกด้าน ทำราวกับว่าสิ่งที่เคยเกิดนั้นไม่เคยเกิดขึ้น แต่อย่างไร ประวัติศาสตร์ก็ต้องถูกชำระ ก่อนจะเริ่มต้นใหม่

บรรยากาศกิจกรรมบนเวที ภาพจาก “ศิลปะปลดแอก”

เคลื่อนไหว ใต้ ‘ชายคา’ หอศิลป์

ลั่น ศิลปิน เดินทางเคียงข้าง น.ศ.

ตัดภาพกลับมา ณ เวที ธีระวัฒน์ มุลวิไล ศิลปินรางวัลศิลปาธร หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่มละคร B-Floor เล่าประสบการณ์ทำงานสายศิลปวัฒนธรรมกว่า 20 ปี ว่า หลังจบการศึกษาจาก ม.เชียงใหม่ ตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำละครเวที เพราะที่เชียงใหม่ละครจำกัดในมหาวิทยาลัย มีห้างเพียงแห่งเดียว พื้นที่ละครเวที และศิลปร่วมสมัยยังเข้าไปไม่ถึง จึงเริ่มทำงานไปพร้อมๆ กับคำพูดที่บอกว่า

“ศิลปะจะได้รับความสนใจและสนับสนุนเมื่อคนอิ่มทอง”

“แต่ 20 ปีแล้ว ความยากจนก็ยังไม่เคยหมดไป นั่นหมายความว่างานที่ผมทำจะไม่ได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ ในขณะเดียวกัน ทำงานอาร์ตเวิร์กเกอร์ได้ไม่นาน มีโอกาสเดินทางไปทำงานกับศิลปินทางเกาหลีใต้ และไต้หวัน ทำให้ผมได้เห็นว่า การสนับสนุนงานศิลปะร่วมสมัยของภาครัฐ เขาทำไปพร้อมๆ กับการพัฒนาประเทศ ทุกวันนี้ สองประเทศนั้นจึงแข่งขันกันสร้างหอศิลป์ สี่มุมเมือง แต่บ้านเราอย่างที่เห็น ผมเริ่มชินกับการได้รับสนับสนุนตามวิถีทางพอเพียง ผมเคยฝันที่จะได้มีอุปกรณ์ทดลอง มีเวทีขนาดใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยทำได้อย่างที่ฝัน การประนีประนอมกับอาร์ตเวิร์กเกอร์ ทุกคนเคยเจอ ในท้ายที่สุด ผมก็เลยเลิกนึกถึงการสนับสนุนจากภาครัฐ ข้อเรียกร้องของผมลดต่ำลงมา เหลือเพียงภาวนาว่าอย่าให้มีฝนตกระหว่างการแสดง นั่นคือคำขอมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในประเทศนี้เท่าที่จะทำได้”

“สิ่งที่พวกเราทำอาจเป็นเพียงการย่อตัวให้ต่ำลง เพื่อไม่ให้ใบมีดโกนนั้นได้บาดตัวเรา และหลีกเลี่ยงเนื้อหา การนำเสนอด้วยชั้นเชิงของศิลปะ นั่นเป็นเพียงการกระทำเยี่ยง ‘ศรีธนญชัย’ หรือเปล่า” ธีระวัฒน์ตั้งคำถาม ก่อนจะกล่าวต่อว่า

ผมไม่ได้บอกว่าการทำงานเสียดสี ยั่วล้อกับอำนาจ เป็นสิ่งที่ผิด ไม่ดี หรือไม่มีคุณค่า ผมเองเป็นคนหนึ่งที่สร้างงานแบบนั้น เพียงแต่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ต้องเป็นแบบนี้นานแค่ไหน มองสาขาอื่น หลายคนก็เป็นเหมือนผม และเมื่อวิพากษ์วิจารณ์รัฐอย่างตรงไปตรงมา ศิลปินก็ถูกข่มขู่คุกคามในรูปแบบต่างๆ เพื่อกำราบให้เราย่อตัวในการทำงาน

“ถ้าการเมืองดี การจัดสรรงบประมาณก็จะดีไปด้วย และงบประมาณเหล่านี้จะกลายเป็นโรงหนังดีๆ โรงละครดีๆ หอศิลป์ดีๆ ห้องสมุดดีๆ สวนสาธารณะดีๆ ศูนย์การค้า การเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์บ้าง โบราณคดีบ้าง ธรรมชาติบ้าง มันก็ดี เข้าถึงง่าย และการกระจายตัวอยู่ไปทั่วประเทศ ไมใช่แต่กรุงเทพฯ ควรมีทางเลือกให้กับประชาชน และทุกคนจะได้เห็นชีวิตในวันว่างอย่างมีคุณภาพ ตามที่เขาสนใจ ตามความชอบ นอกเหนือจากเดินห้างสรรพสินค้า ที่มีอยู่มากมายเพียงไม่กี่เจ้า” ธีระวัฒน์กล่าวทิ้งท้าย

ภาพจาก พิพิธภัณฑ์สามัญชน

ด้าน ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะชื่อดัง เว่าจากภาษาอีสาน

“ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย ถ้าบ้านเมืองมีเสรีภาพ เราคงไม่มามานั่งตากแดด ถ้าบ้านเมืองมีประชาธิปไตย การเมืองดี ศิลปะก็ไปแสดงทุกที่ ถ้าบ้านเมืองดี เราก็ได้แสดงหอศิลป์”

“เกือบ 70 ปีแล้ว ไม่เคยมีศิลปะไปแสดงอยู่ทุ่งกุลา ไม่เคยมีศิลปะไปแสดงอยู่ดอยทางภาคเหนือ ไม่เคยมีศิลปะไปแสดงอยู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศิลปะไปกองอยู่ที่กรุงเทพฯ ทำเหมือนว่าคนบ้านอื่น ภาคอื่น ไม่ใช่คน นี่คือปัญหาใหญ่ เพราะบ้านเราไม่มีประชาธิปไตย เพราะบ้านเราปกครองโดยเผด็จการมาตลอด ศิลปะถูกรับใช้ในเรื่องของศาสนา สถาบันหลักๆ มาตลอด ศิลปะไม่ได้ทำให้เราดู ทำให้เราบูชา ทำให้เรากราบไหว้ ทำให้เราไม่สามารถเข้าหาศิลปะได้เลย ตลอดเวลา นี่คือปัญหา นับแต่ 6 ตุลาฯ เป็นต้นมา

และก่อนหน้านั้น ศิลปะเคยถูกบอกว่าเป็นศิลปะเพื่อชีวิต แต่ไม่รู้ว่าเพื่อชีวิตใคร ต่อมาก็มาเป็นอาร์ตเลน (Art Lane) ยุคกลาง ถนนราชดำเนิน ก็ไม่รู้ว่าทำเพื่อใคร จนกระทั่งทุกวันนี้ ฟ้าต่ำลงเรื่อยๆ กดคนให้นังอยู่แบบนี้ ศิลปินแสดงออก กลายเป็นอาชญากร ผลงานศิลปะกลายเป็นอาชญากรรมของรัฐ ไม่ต่างกับสมัยปี 1930-1945 ยุคฮิตเลอร์ศิลปะถูกเซ็นเซอร์ ไม่สามารถที่จะลืมตาอ้าปากได้ ศิลปินถูกฆ่าตาย ต้องอพยพไปอยู่ประเทศอื่นเป็นจำนวนมหาศาล ไม่ต่างกัน นี่คือปัญหาใหญ่ การสถาปนาหอศิลป์แห่งชาติ ปี 2521 การสถาปนาหอศิลป์ กรุงเทพมหานคร ปี 2538 ไม่ได้ต่างกัน พวกเราต้องมานั่งตากแดด แต่ศิลปะของใครแสดงอยู่ข้างใน ทำไมเราต้องมาทนตากแดด ภาษีก็ภาษีของเรา เงินก็เงินของเรา ทำไมเราจึงไม่สามารถใช้หอศิลป์นี้ได้

ผลงานโดยศิลปิน กลุ่ม Unmuted project

ถนอม กล่าวต่อว่า รสนิยม การรับรู้ศิลปะก็รู้แต่อย่างเดียว อย่างอื่นก็ไม่ดี คือปัญหาที่เราถูกเหลามาตลอด ภาษาลาวก็พูดไม่ได้ เขาดูถูก ภาษาภาคอื่นก็พูดไม่ได้ เขาก็ว่า พูดได้แต่ภาษาไทย เขาพยายามแยกศิลปะออกจากการเมืองอยู่ตลอดเวลา

“ความจริงแล้ว ศิลปะคือการเมือง คือลมหายใจของเรา คือการ กิน ขี้ ปี้ นอน ของเราทุกวันนั่นแหละ นี่คือศิลปะ ไม่ได้หนีไปไหน อยู่กับตัวเราแท้ๆ ทำเลย ใครอยากทำ วันที่ 19 กันยานี้ “ไปเฮ็ดโลด”

“เรายืนอยู่ชายคาหอศิลป์ วันนี้ เรายืนอยู่ข้าง หอศิลป์ ตากแดด เหงื่อย้อย ไม่รู้ว่าวันไหนเราจะสามารถใช้หอศิลป์กับเขา นี่คือเจตนารมณ์ของศิลปะ เจตนารมณ์ของเราที่ต้องการแสดงออกอย่างมีเสรีภาพ โดยที่ไม่มีตำรวจ-ทหาร มาคอยดู คอยจับ ไม่ต้องมีใครมาระวาดระแวง อยากทำอะไรก็ทำ เรารู้ว่าเสรีภาพเรามีเท่าไหน เรารู้ว่าความคิดเรามีเท่าไหน

ตอนนี้เราติดดินอยู่ เชื่อว่าอีกไม่นาน เราจะได้ทำอย่างที่เราปรารถนา” ถนอมกล่าวทิ้งท้าย ก่อนทั้ง 2 จะยืนชูสามนิ้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image