‘บึงกาฬ’กับยุทธศาสตร์ป้องกันภัยคุกคาม สู่เมืองเศรษฐกิจมั่นคง-ท่องเที่ยวปลอดภัย

จังหวัดบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2554 นับวันนี้ก็ประมาณ 9 ปีแล้ว เป็นจังหวัดที่อยู่เหนือสุดของภาคอีสาน มี 8 อำเภอเล็กๆ และมีพื้นที่ติดกับหนองคายและนครพนม ชายแดนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ระยะทาง 120 กม. แท้จริงแล้วที่นี่มีศักยภาพในการพัฒนาในด้านต่างๆ มากมาย มีหลายโครงการที่จะยกระดับให้ที่นี่ยั่งยืนได้ เช่น โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าภาคการเกษตรไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ โครงการพัฒนาตามผังเมืองรวมจังหวัดบึงกาฬ และโครงการพัฒนาโครงข่ายและเชื่อมโยงจากจังหวัดอุดรธานี-จังหวัดบึงกาฬ ด้วยระยะทาง 139 กิโลเมตร ซึ่งแม้จะอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่ก็เป็นโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยภูมิประเทศที่เป็นจังหวัดเขตชายแดน “บึงกาฬ” จึงเป็นเหมือนด่านแรกของปัญหาภัยคุกคาม ประเด็นที่อ่อนไหว เช่น ยาเสพติด และปัญหาคนเข้าเมือง

โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมช.มท.3) ได้ลงพื้นที่มอบนโยบายที่ จ.บึงกาฬ พร้อมกล่าวถึงนโยบายความมั่นคงของภาครัฐว่า ปัญหาการค้ามนุษย์หรือตามชายแดนเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และประชาชนต้องมีส่วนร่วม บึงกาฬมีแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขต ก็จะมีโอกาสเรื่องการลักลอบเรื่องช่องทางเข้ามาของแรงงานหนีเข้าเมืองเพื่อมาทำงานในประเทศไทย ถ้าทุกคนมีส่วนร่วม ช่วยกันดูแล กวดขันและเก็บข้อมูล ก็จะช่วยป้องกันปัญหาได้เหมือนในช่วงโควิด-19 ที่มีผลกระทบ ทุกคนเห็นผลกระทบร่วมกันและทำให้ผ่านปัญหามาได้

ทางหลวง

“วันนี้โควิด-19 ที่บึงกาฬยังไม่มีเรื่องของการแพร่ระบาดและยังเป็นศูนย์อย่างต่อเนื่องในหลายเดือนที่ผ่านมา ภาคประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาเรื่องของโควิด-19 สำเร็จได้เพราะภาคประชาชน มีผู้นำท้องถิ่นและ อสม.ทั้งหลาย ช่วยกันทำงานร่วมกัน โดยเฉพาะการทำเรื่องของข้อมูลประชาชนให้แก่ภาครัฐ ตัวแทนช่วยเป็นหูเป็นตา ดังนั้น เรื่องภัยคุกคามและความมั่นคง เราถือว่าเป็นสิ่งสำคัญต่อสังคม และประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างไม่เป็นสุข ซึ่งกระทบต่อทั้งสังคมและประชาชน โดยเฉพาะในเรื่องของการค้ามนุษย์ ยาเสพติด ฉะนั้น ทุกคนต้องตระหนัก ถ้าเรามีโอกาสได้ร่วมด้วยช่วยกันให้ข้อมูล ติดตาม แจ้งข่าวสารต่างๆ ให้กับทางราชการ ก็เป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภัยคุกคามต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย”

Advertisement
ดร.ทรงศักดิ์ ทองศรี

ศาสตร์พระราชา เกราะสร้างความมั่นคง

นับจากมารับราชการที่บึงกาฬ ได้เกือบ 1 ปี สนิท ขาวสอาด ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ยอมรับว่า บึงกาฬมีภัยคุกคามที่จะพอเห็นได้อย่างชัดเจน ก็คือ “ยาเสพติด” เพราะว่าแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแม่น้ำสายนานาชาติที่ จ.บึงกาฬ สามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งระยะทางพรมแดน 120 กม.นั้น สามารถเป็นเส้นทางลำเลียง ขนส่งสิ่งของผิดกฎหมายได้ จึงจำเป็นต้องจับตาภัยคุกคามด้านยาเสพติด การลักลอบค้าของผิดกฎหมาย แรงงานผิดกฎหมาย รวมถึงโรคติดต่อที่ขณะนี้ก็เป็นภัยคุกคามทางหนึ่งเช่นกัน

“เรามีการดูแลประเด็นอ่อนไหว ปกติยาเสพติดจะมีการดำเนินการ 3 ประการ คือ ป้องกัน ปราบปราม และ การบำบัด ด้านของการป้องกันปราบปรามตามแนวชายแดนก็มีการบูรณาการจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นทหารและฝ่ายพลเรือน และที่สำคัญที่สุดก็คือ ผู้นำชุมชนและประชาชนตามแนวชายแดน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในการที่จะช่วยกันสอดส่องดูแล ผมเชื่อว่าผู้นำชุมชนจะเป็นผู้ที่ได้รับการเรียนรู้ และมีเครือข่ายในการช่วยป้องกันและเฝ้าระวัง ไม่ให้ภัยคุกคามด้านยาเสพติดนั้น เข้ามาในเมืองของตัวเอง

สนิท ขาวสอาด

อย่างที่สอง คือ ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่กับหน่วยงานอื่นๆ ในการที่จะดูแลชุมชนตัวเองให้เข้มแข็งและปลอดภัยจากภัยคุกคาม ดูแลตัวเองโดยการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ยกตัวอย่างภัยคุกคามด้านโรคติดต่อก็คล้ายๆ กัน เช่น โรคโควิด-19 ผู้นำชุมชนและพี่น้องประชาชนเองก็มีส่วนสำคัญในการที่จะดูแลเรื่องพวกนี้ให้ประสบความสำเร็จ ผมเรียนว่า บึงกาฬเป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่ไม่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 เลย เนื่องจากพี่น้องประชาชน เจ้าหน้าที่ อสม. และเครือข่ายการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ช่วยกันสอดส่องดูแลในเรื่องภัยคุกคามที่เกิดขึ้น

Advertisement

สิ่งที่สำคัญที่สุดในเรื่องของการแก้ไขปัญหา ก็คือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ดูแลชุมชนตัวเองเพื่อไม่ให้มีภัยคุกคามต่างๆ เข้ามา การที่พี่น้องประชาชนทุกคนมีความเสียสละ ความอดทน และไม่ปฏิบัติเสียเองนั้น เช่น ไม่มีส่วนร่วมกับภัยคุกคามเสียเอง ตลอดจนดูแลไม่ให้ขบวนการต่างๆ นำยาเสพติดเข้ามา” ผู้ว่าฯบึงกาฬกล่าว

แลนด์มาร์ค

สนิท กล่าวอีกว่า บึงกาฬหรือพื้นที่อื่นในภาคอีสานส่วนใหญ่มีรายได้ไม่มากนัก ที่เขาจะต้องเสียสละและเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือในสังคมให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งจะเป็นเกราะป้องกันให้สังคมไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นการน้อมนำศาสตร์พระราชามาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น การประกอบอาชีพ การปลูกพืชผักที่ใช้ในการดำรงชีวิต โดยเฉพาะเรื่องของ “โคก หนอง นา โมเดล” เป็นแบบอย่างในการน้อมนำเอาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางปฏิบัติ หมายความว่า เรามีที่ดินอยู่เท่าไหร่ ต้องรู้ว่าเราจะแบ่งไปทำอะไรบ้างให้ครอบครัวเราอยู่ได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น เป็นการลดรายจ่าย จัดสรรที่ดิน ทำนา ปลูกผักสวนครัว ปลูกไม้ยืนต้นบ้าง ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เศรษฐกิจฐานรากดีขึ้น เมื่อเรามีความเป็นอยู่ดี เศรษฐกิจดี ปากท้องดี ก็ส่งผลให้บ้านเมืองมีความมั่นคง”

 

น้ำตกถ้ำพระ

พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ พร้อมรับนักท่องเที่ยว

นอกจากการผลักดันให้ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็งแล้ว หนึ่งแนวทางในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบึงกาฬ คือการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดการพัฒนาในหลายด้าน ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดได้ร่วมกันคิดทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นราชการ ภาคประชาชน ตั้งแต่ระดับอำเภอ หมู่บ้าน โดยดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้บึงกาฬเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีการท่องเที่ยวในลุ่มแม่น้ำ เช่นเดียวกันกับจังหวัดเลย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนั้น คือ “การดึงดูดผู้มาลงทุนในด้านการค้าขายตามแนวชายแดน” ในเรื่องของสินค้าและบริการต่างๆ

ผู้ว่าฯบึงกาฬเผยว่า จังหวัดบึงกาฬกำลังจะมีการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเป็นแห่งที่ 5 ซึ่งจะทำให้การเดินทางข้ามไปสู่ สปป.ลาว และไปเวียดนาม สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นประโยชน์ด้านการค้าขายตามแนวชายแดน ระหว่างพี่น้องประชาชนทั้งสองประเทศ ยิ่งถ้าหากมีการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวแล้ว ก็จะส่งเสริมให้จังหวัดบึงกาฬเป็นเมืองหนึ่งในกลุ่มการท่องเที่ยวลุ่มแม่น้ำโขง

ทุ่งบัวแดงบ้านหนองเลิง

มาตรการที่ภาครัฐดำเนินการอยู่ตอนนี้เพื่อเตรียมความพร้อมให้จังหวัดบึงกาฬพร้อมที่จะรองรับการพัฒนาและการเดินทางมาท่องเที่ยว เพื่อเปิดจังหวัดหลังโควิด-19 ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเพราะเราเป็นจังหวัดที่ไม่มีโควิด-19 ซึ่งยุทธศาสตร์การส่งเสริมพัฒนาด้านการท่องเที่ยวนั้นเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ทั้งจากการจำหน่ายสินค้า OTOP การผลิตสินค้า และการบริการ ตลอดจนมีอาชีพต่างๆ ที่รองรับการมาของนักท่องเที่ยว

“เราเริ่มจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในระบบให้ทำงานได้ดีมากขึ้น ส่วนการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว เราก็ใช้การสื่อสารหลายทาง โดยเฉพาะหน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ของจังหวัด และหน่วยงานภาคเอกชน พี่น้องสื่อมวลชน ช่วยกันกระจายข่าวให้สังคมได้รับรู้ เฟซบุ๊ก ก็ทันสมัยมากขึ้น สามารถสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวก็ใช้การสื่อสารในทุกรูปแบบ อาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะพี่น้องประชาชนด้วยกันเอง ที่บอกต่อ สร้างการรับรู้อย่างกว้างขวาง

ลำน้ำโขง

ยกตัวอย่างข่าวการค้นพบถ้ำนาคา สถานที่ท่องเที่ยวน้องใหม่สุดดังแห่งยุค New Normal ที่ผ่านมาไม่กี่เดือนนี้ จะเห็นว่าสามารถที่จะรู้และประชาสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เพราะด้วยสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นต่างๆ เรื่องของความมั่นคง อย่างเช่น เรื่องยาเสพติด ที่เราให้ผู้นำท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ เรามีการใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ หรือว่าอะไรก็ตามที่ติดต่อสื่อสารกันตลอดเวลา แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ มีการสร้างความรับรู้ ความเข้าใจให้กับผู้นำและพี่น้องประชาชน เช่น การส่งเสริมเศรษฐกิจเหมือนกัน เราจะต้องส่งเสริมให้มีการสื่อสารกันระหว่างทุกฝ่ายให้เข้าใจ ก็จะเป็นประโยชน์ สามารถที่จะเป็น Network ในการช่วยกันพัฒนาและแก้ไขปัญหา และสิ่งที่สำคัญที่สุด เป็นการส่งเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยวและด้านเศรษฐกิจของจังหวัด”

หินสามวาฬ-ภูสิงห์

ย้ำยุทธศาสตร์พัฒนาเมือง‘คนต้องมีความสุข’

พ่อเมืองบึงกาฬย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใดทุกสิ่งที่กระทรวงมหาดไทยมอบนโยบาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง ทำมาเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดบึงกาฬมีความสุข “เนื่องจากบึงกาฬเป็นจังหวัดที่ตั้งใหม่ และเราตั้งใจที่จะพัฒนาคนให้มีความรู้ มีการศึกษาที่ดี มีการดำรงชีวิตด้วยหลักคุณธรรม จริยธรรม มีการสร้างอาชีพ สิ่งสำคัญที่สุด เมื่อพี่น้องประชาชน บ้านเมือง มีความปลอดภัย มีการเติบโตมากขึ้น มีการคมนาคมที่สะดวก มีลักษณะของผู้คนที่มีคุณธรรม และมีการส่งเสริมด้านอาชีพ มีรายได้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งสำคัญที่เราจะช่วยกันในการพัฒนาให้กับพี่น้องประชาชนให้อยู่ดี กินดี และมีความสุข ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดในการประชาสัมพันธ์นั้น มาจากสิ่งที่ช่วยกันในภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคเอกชน

ผมคิดว่า ถ้าพี่น้องประชาชนได้มีความเป็นอยู่ มีความกินดี อยู่ดีมากขึ้น ก็สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขอย่างยั่งยืน และสำคัญที่สุดคือการมีเศรษฐกิจพอเพียง มีการอดออมที่ดี มีอาชีพที่มั่นคง ลูกหลานมีครอบครัวที่ดี ก็จะมีความสุขอย่างยั่งยืน เป็นส่วนหนึ่งของสังคมและของประเทศชาติ”

ภูทอกมหัศจรรย์แห่งบึงกาฬ

พ่อเมืองปิดท้ายอย่างมั่นใจด้วยว่า “บึงกาฬปลอดโรคและคนมาเที่ยวปลอดภัย เพราะที่นี่เป็นเมืองในการท่องเที่ยวธรรมชาติ สะอาด ถ้ามาอยู่แล้วก็ได้รับความปลอดภัย มีความสุขอย่างแน่นอน บึงกาฬเป็นจังหวัดที่มีอากาศดีมาก และถ้าเป็นฤดูหนาว หลังจากฤดูฝนหมดในช่วงเดือนตุลาคม ก็จะเป็นช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นสบาย สอดรับกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและการท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เป็นจังหวัดหนึ่งที่อยากให้ผู้คนได้มาเที่ยวกันมากขึ้น”

หินสามวาฬ-ภูสิงห์
วัดอาฮงศิลาวาส
ถ้ำนาคา
สะพานข้ามแม่น้ำโขง

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image