กลยุทธ์ การเมือง กระบวนท่า วิชาก้นหีบ สุเทพ ‘กปปส.’

ท่วงทำนองของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หากมองผ่านกระบวนการเฟซบุ๊กไลฟ์ในวันพฤหัสบดีที่ 4 สิงหาคม ด้วยความจัดเจนแบบยุทธนิยายกำลังภายใน

นี่คือ กระบวนท่าอย่างที่เรียกว่า “วิชาก้นหีบ”

เพราะไม่เพียงแต่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ซึ่งเคยเป็นหมายเลข 1 ใน กปปส.เท่านั้นที่ออกมาประกาศเสียงดังฟังชัด

ไม่สามารถ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญได้

Advertisement

หากแม้กระทั่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ออกมาแสดง “จุดยืน” โดยมี นายชวน หลีกภัย และ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เป็น “หลังพิง”

จะเล่นงาน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตรงๆ ก็ไม่ได้

ยิ่ง นายชวน หลีกภัย และหรือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน หากจะ “เล่นงาน” ก็ยิ่งมากด้วยความยากลำบาก

Advertisement

จำเป็นต้องพุ่งปลายหอกไปยัง นายทักษิณ ชินวัตร

ไม่ว่าจะเป็นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ซึ่งมาพร้อมกับคำประกาศ “พบกับที่สามเสน” ก็มีมูลเชื้อมาจาก นายทักษิณ ชินวัตร เช่นเดียวกัน

ตรงนี้แหละที่เรียกได้ว่า เป็น “วิชาก้นหีบ”

 

สภาพการณ์ในแบบที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เผชิญทั้งจากภายใน“กปปส.” และจากภายใน “พรรคประชาธิปัตย์” มิได้เป็นสภาพการณ์อย่างใหม่

โบราณก็เคยมีมาแล้ว

“ในช่วงที่การต่อสู้จวนเจียนจะถึงขั้นแตกหัก กระบวนการสลายตัวภายในสังคมเก่าทั้งสังคมก็บรรลุถึงระดับที่รุนแรงอย่างยิ่งและแหลมคมอย่างยิ่ง กระทั่งทำให้คนส่วนน้อยส่วนหนึ่งแยกตัวออกและเข้ามาอยู่กับฝ่ายที่กุมอนาคต”

เป็นบทสรุปตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1848

เป็นบทสรุปจากความจัดเจนทางการเมืองภายในสังคมของยุโรปอย่างเป็นด้านหลัก แต่สามารถปรับใช้กับความเป็นจริงของการเมืองภายในพรรคประชาธิปัตย์

และแม้กระทั่งภายใน “สังคมไทย” ได้

เพราะการแยกตัวของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ส่งผลสะเทือน เพราะการแยกตัวของ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ส่งผลสะเทือน

แต่ก็ยากที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ จะฟาดงวงฟาดงาโดยตรงได้

จึงต้องหยิบยกเอากรณีของ นายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นมาแล้วโยงไปยังพรรคเพื่อไทย โยงไปยัง นปช.คนเสื้อแดง

เป็นท่วงทำนองในแบบ “ปลุกผี” เป็นท่วงทำนองในแบบเขียนเสือให้วัวกลัว

 

ถามว่า “วัว” ในที่นี้เป็นใคร หรือเป็น

กลุ่มใด คล้ายกับว่าเป้าหมายจะอยู่ที่ “กปปส.” คล้ายกับว่าเป้าหมายจะอยู่ที่ “พรรคประชาธิปัตย์”

แต่ในความเป็นจริง “ไม่ใช่”

เพราะถึงอย่างไรการแยกตัวภายใน “กปปส.” ก็บังเกิดขึ้นแล้วในกรณีของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ และในกรณีของ นายสมเกียรติ อ่อนวิมล เป็นต้น

นี่ย่อมเป็นเช่นเดียวกับในกรณีของ “พรรคประชาธิปัตย์”

ไม่เพียงแต่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ จะเดินหน้าวิพากษ์ ไม่เพียงแต่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ จะเดินหน้าวิพากษ์

หากกระทั่ง นายธีระชาติ ปางวิรุฬห์รักษ์ อดีต ส.ส.จากชุมพรก็ร้อนแรง

“มีคนบางกลุ่มที่เป็นสมาชิกพรรคและเป็น กปปส. แต่ยังไม่ยอมลาออกจากพรรคมีมติสวนทางกับหัวหน้าพรรค ถือว่าเป็นอุดมการณ์แตกต่างไม่ใช่ความเห็นต่าง จึงไม่ควรอยู่ในพรรคแล้ว”

เท่ากับเป็นการเตือนไปยัง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

เท่ากับเป็นการเตือนไปยัง นายถาวร เสนเนียม เท่ากับเป็นการเตือนไปยัง นายวิทยา แก้วภราดัย เท่ากับเป็นการเตือนไปยัง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม

เท่ากับบ่งบอกว่า “วิชาก้นหีบ” ที่หยิบมาใช้อาจ “ไม่เวิร์ก”

 

ทั้งหมดนี้คือความสลับซับซ้อนของ “สถานการณ์” โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ “ประชามติ”

ยังไม่มีใครสามารถฟันธงได้ว่า ในที่สุด ผลของการประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม จะออกมาด้านใด เป็นในด้าน “รับ” หรือเป็นในด้าน “ไม่รับ”

กระนั้น “อาการ” และ “กระบวนท่า” ของแต่ละคนก็เป็น “คำตอบ”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image