ไทยยังเรียนยังสอนไม่เป็น อย่างไรคือตำรานอกห้องเรียน

ไทยยังเรียนยังสอนไม่เป็น อย่างไรคือตำรานอกห้องเรียน

จากงาน “บุ๊ค ทอล์ค” เปิดตัวหนังสือใหม่ ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ ของอาจารย์ ผาสุก พงษ์ไพจิตร กับ คริส เบเคอร์ ซึ่งมาสนทนาโดยมี เอกภัทร์ เชิดธรรมธร ดำเนินรายการ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 25 ที่อิมแพค เมืองทอง เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งมติชนออนไลน์ วันที่ 20 ตุลาคม ถ่ายทอดรายละเอียดประเด็นสำคัญๆไปแล้วนั้น

มีคำถามสุดท้ายจากครูอาจารย์ว่า หนังสือเล่มนี้ใช้เป็นหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ได้หรือไม่

คำถามนี้เข้าใจได้เลยทันทีว่า เป็นคำถามที่การเรียนการสอนในระบบสมควรถาม แต่การเรียนนอกระบบ (ในบ้านเราหรือการเรียนตลอดชีวิต) ไม่ต้องถาม

ที่จริง ระบบการศึกษาของบ้านเมืองอารยะ ก็ไม่ต้องถาม เพราะมีวิธีการศึกษาที่เปิดกว้างมากกว่าการใช้เพียงตำราหลักเล่มสองเล่มมาสอนในห้องเรียน แต่นักเรียนนักศึกษายังต้องทำการบ้านอ่านหนังสือนอกเหนือตำราหลักอีกมาก และที่จริง การที่เรามี “หนังสืออ่านนอกเวลา” ก็ก้าวสู่ระบบการเรียนการสอนที่เปิดกว้างเข้าไปแล้ว

Advertisement

เพียงการสอบวัดผลหรือวัดความรู้ของเรา ยังต้องถือตำราจากกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ เป็นเกณฑ์ และในระดับมัธยมศึกษาแล้ว ต่อให้ครูทันสมัยใจกว้างก็เหน็ดเหนื่อยกับการแข็งขืนระบบ ที่ครูยังทันสมัยไม่พร้อมกันอย่างมีเอกภาพ อันจะยังประโยชน์แก่นักเรียนนักศึกษาอย่างทั่วถึง

ถ้าเจอครูหัวก้าวหน้า เด็กก็มีความรู้และความคิด แต่หากได้ครูเกาะตำราของกระทรวง เด็กอาจได้ความรู้บ้าง และอาจไม่ได้ความคิด ถ้าท่องตำราไม่เก่งก็ไปต่อไม่เป็น

คำถามข้างต้น จึงยังต้องเป็นคำถาม ซึ่งอาจารย์ผาสุกก็ให้คำตอบควรแก่การปฏิบัติไปแล้ว

Advertisement

และที่จริง (อีกที) จะกอดตำราหลักไปก็ไม่เห็นเป็นไร เพียงแต่ (ขอโอกาส) ให้เด็กได้รู้บ้างว่าโลกนอกตำรานั้นกระโจนไปถึงไหนกันแล้ว เพราะแม้แต่ตำราก็ยังต้องเปลี่ยนไปตามโลก นายกรัฐมนตรีวางมุขเรื่องไทยมาจากเทือกเขาอัลไต ก็ยังถูกแซะเสียแท่นพูด (โพเดียม) กระเพื่อม

วันนี้ สุโขทัยก็ไม่ได้เป็นอาณาจักรแล้ว และยิ่งนักเรียนนักศึกษาเห็นภาพภูมิภาคอุษาคเนย์ กับสุวรรณภูมิชัดเจนขึ้น ก็เข้าใจได้ว่า สุโขทัยมิใช่ราชธานีแรกของไทยอีกต่อไป

ดังนั้น ต่อให้กำหนดตำราหลักไว้สอน แต่การรู้โลกและหลักฐานกับข้อสันนิษฐานใหม่ๆ เพิ่มเติม ในวิชานั้นๆ จากแหล่งอื่นๆ ย่อมเป็นคุณต่อความรู้และความคิดของนักเรียนนักศึกษาแต่ประการเดียว จะติดข้องไปแต่ตำราหลักทำไม โดยเฉพาะในการวัดผลการเรียน

เพราะถึงอย่างไร เมื่อจบการศึกษาแล้ว หากมีความสนใจต่อโลกและรักการอ่าน เขาย่อมรู้เรื่องนอกตำราในห้องเรียนอยู่ดี ก็ให้เขารู้เสียตั้งแต่อยู่ในห้องเรียนมิดีและเร็วกว่าหรือ

การวัดผลการเรียน ควรมุ่งความคิดที่มีต่อความรู้ มากกว่าจะมุ่งความรู้โดยไม่เอาความคิด

ทำให้นักเรียนนักศึกษาต้องท่องตำรา แทนที่จะ “วิพากษ์วิจารณ์” หรือคิดเห็นต่อความรู้ในตำรา โดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์

เนื่องจากประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีต ต้องเรียนรู้จากหลักฐานที่ปรากฏ ไม่ว่าศิลาจารึก บันทึก พงศาวดาร เรื่อยไปจนต้องแกะจากตำนาน แม้แต่จากวรรณคดี อาศัยหลักฐานทางศิลป โบราณคดี เพื่อหาพยานยืนยันข้อเท็จจริงหรือความจริง ให้ได้ใกล้เคียงความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะการอ่านพยานหลักฐานเหล่านั้น ยังต้องคำนึงถีงความเป็นไปได้อื่นๆ อีกนานาประการ เพียงข้อคิดที่ว่า “ผู้ชนะเขียนประวัติศาสตร์” ก็สร้างประเด็นขัดแย้งให้ถกเถียงกันได้มากมาย หาจุดยุติได้ยากแล้ว

ดังนั้น การเรียนประวัติศาสตร์ที่แม้ปรากฏหลักฐานตัวหนังสือชัดเจนว่าเกิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ขึ้น ก็ยังมีคำถามตามมาได้ว่า ทำไมถึงเกิด เป็นอย่างที่บันทึกไว้จริงแท้แน่หรือ เกิดอะไรขึ้นระหว่างบรรทัด

แน่นอน เราต้องฟังตามที่ตัวอักษรในอดีตบันทึกไว้ก่อน แต่เมื่อติดตามเรื่องราวแล้ว เราตั้งคำถามได้ไหม หรือประวัติศาสตร์ก็เหมือนเรื่องไสยศาสตร์อื่นๆ ในบ้านเราที่ปรามผู้คนไว้ก่อนว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เพื่อจะได้ไม่ต้องค้นคว้าหาคำตอบ หรือเพื่อไม่ต้องการฟังคำตอบที่ไม่อยากฟังกัน

อย่างเช่นเจดีย์ยุทธหัตถีที่ปัจจุบันมีอนุสรณ์สถานอยู่ถึง 2 แห่ง คือ องค์แรกที่ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี องค์หลังที่พนมทวน กาญจนบุรี แต่องค์แรกมีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการศิลปว่า เป็นเจดีย์สมัยทวารวดี ส่วนองค์หลังมีรูปศิลปคล้ายสมัยอยุธยาตอนปลาย

นอกจากนี้ ปี 2557 ยังมีหนังสือ เจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่อยุธยา ไม่ใช่สุพรรณบุรี ของ เทพมนตรี ลิมปพยอม พิมพ์แล้ว 5 ครั้ง เสนอหลักฐานและข้อสันนิษฐานใหม่ ว่าจุดการทำยุทธหัตถีอยู่นอกกำแพงพระนครอยุธยา ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 5 กิโลเมตร แต่จะเป็นเจดีย์ภูเขาทองหรือไม่ ยังไม่ยุติ

ไกลไปกว่านั้นอีก ยังมีความเชื่อว่าไม่มีเจดีย์ยุทธหัตถีในสยาม เพราะความคิดเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์หรืออนุสรณ์สถานในบ้านเรา เพิ่งเกิดสมัยรัชกาลที่ 5 นี่เอง เช่นที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ เคยเสนอไว้เมื่อปี 2539 ในรวมบทความเรื่อง “เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ” โดยระบุว่า ความคิดเรื่องสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีโดย สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ นี้ มาจากอิทธิพลคัมภีร์มหาวงศ์ของลังกา เรื่องการชนช้างระหว่างพระเจ้าทุฏฐคามินีกับพระเจ้าเอฬาระ ในสงครามทมิฬกับสิงหล

เช่นเดียวกับที่อาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่เห็นด้วยว่า เจดีย์องค์หนึ่งในบ้านตาก จังหวัดตาก คือเจดีย์ที่สร้างเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหง ที่ชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด ดังเช่น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงสันนิษฐาน และเจดีย์ก็มิได้สร้างขึ้นโดดๆ ดังสมเด็จฯว่า ยังมีฐานพระวิหารด้านหน้า เพราะหลักฐานตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปก็ไม่เคยมีคติที่ว่า “สร้างเจดีย์โดยไม่มีวัด” และแม้เจดีย์องค์นั้นจะมีรูปศิลปสุโขทัย แต่เป็นศิลปสุโขทัยหลังพระมหาธรรมราชาลิไทหลานพ่อขุนรามลงมา

พูดถึงตรงนี้ ก็มีอีกหลักฐานที่อยากนำมาสมทบ ก็คือ เจดีย์เฉลิมพระเกียรติพระศรีสุริโยทัย ก็สร้างในวัดสวนหลวงสบสวรรค์

อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ก็ระบุเช่นเดียวกันว่า สมัยจารีตของไทย ไม่เคยมีการสร้างอนุสาวรีย์ ความคิดนี้เริ่มมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น ในด้านศรัทธาความเชื่อก็ต้องเคารพศรัทธาความเชื่อของชุมชน ไม่มีความจำเป็นที่ต้องคัดค้านหรือต้องล้มล้างความเชื่อใดๆ อย่างเอาเป็นเอาตายด้วยงานวิชาการ แต่การเรียนรู้และศึกษาหลักฐานกับข้อสันนิษฐานใหม่ๆ ก็ละเลยไม่ได้ ต้องตามความคิดทางวิชาการให้ทัน เพื่อใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์หลักฐานข้อสันนิษฐานเหล่านั้น มิใช่ไม่สนใจเพราะไม่สอดคล้องกับความเชื่อเดิมของตัว การเรียนการสอนการศึกษาจึงก้าวหน้า สติปัญญาผู้คนจึงแหลมคม

และสำหรับนักเรียนมัธยมแล้ว อยู่ในวัยซึ่งมักตื่นเต้นที่สุด กับความรู้ใหม่ๆ ที่ผิดแผกไปจากตำรา หรือขัดแย้งกับตำรา หรือปรากฏหลักฐานข้อคิดที่ตรงกันข้ามกับตำรา ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจสุดสุด

งานเขียนทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ที่เกิดจากการค้นคว้าวิจัย และงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ อันเป็นงานที่ต้องอาศัยการค้นคว้าพยานหลักฐานมากมายเขียนขึ้น จึงล้วนเป็นงานที่ต้องถือเป็นตำรา (ไม่ว่าจะในห้องเรียนหรือนอกห้องเรียน) ได้ทั้งสิ้น

นักเรียนมัธยมคนไหน หรือแม้แต่ใคร จะไม่ตื่นเต้น เมื่อเรียนหนังสือมาตั้งแต่เด็กว่า พระเจ้าตากสินเสียพระสติในบั้นปลายพระชนม์ชีพ แต่เมื่อได้ยินว่าอาจารย์นิธิคัดค้านด้วยข้อสันนิษฐานโต้แย้งว่า ไม่ใช่! ในหนังสือเล่มโต การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ก็จะไม่เร่งหาอ่านได้อย่างไร

โดยเฉพาะหากมีครูอาจารย์รักอ่านรักเรียน ช่วยสนับสนุนกระตุ้นให้ศึกษา ช่วยลับสมองประลองความคิดเด็กๆ นักเรียน วิชาประวัติศาสตร์ย่อมยิ่งสนุกสนานเพลิดเพลิน

ประวัติศาสตร์มิใช่วิชาวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์หรือเรขาคณิตที่ ซตพ.ได้

ประวัติศาสตร์ต้องการความคิดและจินตนาการประกอบหลักฐาน ไม่เช่นนั้น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้กล่าวคำ “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” อยู่เมืองไทยคงทำมาหากินไม่ได้ คงไม่มีใครรับซื้อสูตร “อี เท่ากับ เอ็มซี สแควร์” ต้องไปหาลู่ทางคิดสูตรอาหารไทยใหม่ๆ ทำกินแน่ๆ

เพราะหากเห็นปราสาทขอมหรือปราสาทเมืองสิงห์ ที่อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี ที่ใช้เป็นพุทธศาสนสถานแห่งเดียวโดดๆ ที่ข้ามประเทศจากภาคอีสานไปปรากฏอยู่เมืองกาญจน์ ก็ตกใจว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แผ่อิทธิพลทางการเมืองข้ามลุ่มน้ำเจ้าพระยามาถึงแควน้อยเชียวหรือ

ยิ่งอ่านจารึกปราสาทพระขรรค์ กัมพูชา ว่า พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างเมือง 23 เมือง มีชื่อเมืองศรีชัยสิงห์บุรีอยู่ด้วย ก็ยิ่งปักใจเชื่อว่าอำนาจการเมืองเขมรแผ่มาไกลถึงละแวกนี้แน่นอน เหมือนกับที่เคยเชื่อว่าสุโขทัยมีอำนาจทางการเมืองไกลไปถึงนครศรีธรรมราชอย่างนั้น (นี่ว่าเอาเอง)

โดยไม่แอบคิดว่า อิทธิพลทางศิลปสามารถลอกเลียนกันได้ เหมือนไทยปัจจุบันที่มีหมู่บ้านสเปน หมู่บ้านกรีซ ซานโตรินี่ ไว้ขาย โดยไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นสเปนกับกรีซ ถ้าเรียนหนังสือแบบนั้นก็คงเหนื่อย

คือจะเชื่ออย่างนั้นก็ได้ ย่อมไม่มีผู้ใดปิดห้าม และปิดห้ามไม่ได้ ทั้งไม่ควรต้องปิดห้ามด้วย แต่ต้องเรียนรู้แง่มุมอื่นๆ ประกอบความเป็นไปได้ในทุกๆ ทางด้วย เพราะนั่นคือการศึกษาหาความรู้

มาถึงตรงนี้ อย่าว่าจะเป็นเพียงหนังสือหรือตำราวิชาการเลย หากอยากเรียนรู้ว่าผู้คนคิดได้กว้างเท่าไหร่ แม้แต่นิยายอิงประวัติศาสตร์ก็ต้องพิจารณา เพราะได้รู้แนวคิดต่างๆ ที่มีเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ในสังคม เป็นสังคมศึกษาประกอบประวัติศาสตร์

เช่น การสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก ที่มีความคิดเรื่องตัวตายตัวแทนเกิดขึ้น ทั้งจากนิยายที่ผีจับมือเขียนของ หลวงวิจิตรวาทการ หรือการนั่งทางในสนทนากับดวงพระวิญญาณของภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ เป็นการเรียนรู้มิใช่เพียงเพื่อเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่ได้รับรู้ด้วยว่า มีแนวคิดใดเกิดขึ้นบ้างต่อเรื่องนั้นๆ

เช่นเรื่องอิทธิพลทางการเมืองระหว่างราชสำนักกับสกุลบุนนาค ระว่างช่วงรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ซึ่งอำนาจทางการเมืองของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ขึ้นสูงสุด ด้วยเหตุใดที่ยุวกษัตริย์รัชกาลที่ 5 สามารถเปลื้องอำนาจที่ปรากฏนั้นลงไปได้

คำอธิบายทางประวัติศาสตร์มักใช้หลักฐานด้วยข้อสันนิษฐานที่ประนีประนอมระหว่างสองฝ่าย ดังเช่นนิยาย ผลัดแผ่นดิน ของอาจารย์ สุกิจ สุวานิช ที่เขียนได้สนุก เฉลยว่า ต้นสกุลบุนนาครับปากมารดาไว้แต่ครั้งต้นวงศ์จักรีว่า จะซื่อสัตย์ต่อพระราชวงศ์ตลอดไป

ขณะที่อาจารย์นิธิกล่าวไว้ในการพูดถึงหนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของ ณัฐพล ใจจริง ไม่กี่วันก่อนว่า เพราะมหาอำนาจอังกฤษเลือกข้างพระราชวงศ์ อำนาจของสกุลบุนนาคจึงสลายไป

อ่านหนังสือหลายๆ เล่มเช่นนี้ ไม่สนุกกว่าหรือ ห้องเรียนไม่ครึกครื้นขึ้นหรือ

แม้แต่ ชีวิตของประเทศ หนาปึกสองเล่มของ วิษณุ เครืองาม ก็เพลิดเพลินกับการนำทั้งประวัติศาสตร์พงศาวดาร พงศาวดารกระซิบ และเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยนานา มาร้อยเรียงเข้าเป็นเรื่องมีสีสันเลือดเนื้อ และยังช่วยให้เข้าใจได้ว่า ผู้เขียนมีทรรศนะหรือมองเรื่องราวประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯที่ผ่านมาอย่างไร

ดังนั้น สำหรับนักเรียนนักศึกษาแล้ว (ที่จริง-อีกแล้ว-สำหรับครูอาจารย์ด้วย) หนังสือ ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่ ของอาจารย์ผาสุกกับอาจารย์คริส จึงไม่เพียงแต่เป็นอภิมหาตำราเล่มใหม่ เช่นเดียวกับงาน ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย เล่มก่อนหน้า แต่บรรดาหนังสือประวัติศาสตร์ยุคใกล้ เช่น กบฏบวรเดช เบื้องแรกปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม 2475 ของณัฐพล หรือ เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ ของ ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ เป็นต้น ล้วนเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ที่ต้องอ่าน ต้องถือเป็นตำราได้ทั้งสิ้น

จึงควรเห็นใจบรรดานักเรียนนักศึกษาที่อึดอัดกับความอยากรู้อยากเรียนแต่ไม่ได้รู้ไม่ได้เรียน โดยเฉพาะนอกจากจะไม่สนับสนุนให้เรียนรู้แล้ว ยังพยายามปิดบังเสียอีก อยากรู้เรื่อง “14 ตุลา” ก็ไม่ได้รู้ อยากรู้เรื่อง “6 ตุลา” ก็ไม่ได้รู้ แถมกลับขยันจะให้รู้เรื่องที่ไม่มีใครอยากรู้ ทุกๆ สถานการณ์ศึกษาสถานการณ์บ้านเมืองก็เลยต้องไปกันใหญ่

นี่สิ จึงเป็นเรื่องจริงของ “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” เห็นๆ

พยาธิ เยิรสมุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image