ปีศาจยังหลอกหลอน ทุกทศวรรษรัฐประหาร

ปีศาจยังหลอกหลอน ทุกทศวรรษรัฐประหาร
ภาพโดย Lubos Houska จาก Pixabay

ยุคสมัยที่ชนชั้นไพร่ผู้ดียังปรากฏชัดเจน ศักดินาและยศถาบรรดาศักดิ์ยังค้ำคอผู้คน ปีศาจก็อุบัติขึ้นเบื้องหน้าความแตกต่างเหลื่อมล้ำนั้นแล้ว สร้างความหวาดผวาหวั่นเกรงแก่ผู้ยังติดข้องกับอดีต ไม่ยอมรับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป คนเดินดินกินข้าวแกงสามัญที่มีปัญญาเลี้ยงตัว ยังถูกเหยียดจากเชื้อรากความคิดเก่า เหมือนไม่เห็นคนเป็นคน แต่ยิ่งเห็นกันเช่นนั้น ภาพปีศาจก็ยิ่งน่ากลัว

ครั้นเวลาผ่านไป เชื้อรากชนชั้นในอดีตค่อยๆ เหี่ยวฝ่อไปทีละน้อย เปลี่ยนรูปอาภรณ์ยศถาบรรดาศักดิ์เป็นเงินทองมาห่มคลุม ชนชั้นศักดินาถูกแทนที่ด้วยอำนาจฐานะ ซึ่งในที่สุดก็ยึดโยงกับอำนาจปกครองบังคับผู้คน แผ่เชื้อรากใหม่ขยายออกไป กินขอบเขตบริเวณกว้างและลึกลงกว่าดิม

แต่ที่อำนาจเหล่านั้นหวั่นเกรง ก็ยังเป็นปีศาจตนเดิม ปีศาจสามัญที่เป็นคนเดินดินกินข้าวแกง

วรรณกรรมไทยอมตะที่กลับมาให้ลูกหลานรุ่นใหม่ ซึ่งถูกเห็นเป็นปีศาจหลอกหลอนกำลังอำนาจ เพื่อเห็นภาพความหวาดเกรงการเปลี่ยนแปลงของผู้ไม่อยู่ในธรรม ยืนยันบทบาทที่แท้ของลูกหลานแผ่นดิน

Advertisement

สาย สีมา กล่าว “…ผมเป็นปีศาจที่กาลเวลาได้สร้างขึ้นมาหลอกหลอนคนที่อยู่ในโลกเก่า ความคิดเก่า ทำให้เกิดความละเมอหวาดกลัว และไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องปลอบใจท่านเหล่านี้ได้ เท่ากับไม่มีอะไรหยุดยั้งความรุดหน้าของกาลเวลาที่สร้างปีศาจเหล่านี้ให้มากขึ้นทุกที

“ท่านคิดจะทำลายปีศาจตัวนี้ในคืนวันนี้ ต่อหน้าสมาคมชั้นสูงเช่นนี้ แต่ไม่มีทางจะเป็นไปได้ เพราะเขาอยู่ยงคงกระพันยิ่งกว่าอาคิลลิสหรือซิกฟรีด เพราะเขาอยู่ในเกราะกำบังแห่งกาลเวลา ท่านอาจจะเหนี่ยวรั้งอะไรไว้ได้บางสิ่งบางอย่างชั่วครั้งชั่วคราว แต่ท่านไม่สามารถจะรักษาทุกสิ่งทุกอย่าง ไว้ได้ตลอดไป โลกของเราเป็นคนละโลก โลกของผมเป็นโลกธรรมดาสามัญชน…”

นั่นคือคำประกาศซึ่งสาย สีมา แห่ง ปีศาจ จำหลักไว้ในโสตชนชั้นสูง และจารไว้บนเส้นทางสัจจะของสังคมกับโลกวรรณกรรมไทย ซึ่งแม้ผู้เขียน เสนีย์ เสาวพงศ์ ศิลปินแห่งชาติจะล่วงลับไปแล้ว แต่ปีศาจตนนี้ยังผงาดง้ำหลอกหลอนกำลังอำนาจอยุติธรรมต่อสามัญชน เสมอมา

หนังสือเล่มที่ต้องอ่าน เพื่อเข้าใจวันนี้ จากที่มาในอดีตซึ่งคบเพลิงแห่งการเปลี่ยนแปลงยังพลุ่งโพลง

สั่งซื้อได้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันนี้ โดยจะเริ่มส่งหนังสือฉบับพิมพ์ใหม่งามงด 12 พฤศจิกายน เป็นต้นไป

– นิยายอิงประวัติศาสตร์โฉมใหม่ ที่ยังไม่มีผู้ใดลงลึกในจินตนาการด้านนี้มาก่อน นั่นคือเรื่องของเหล่าจารชนในสงครามสามก๊ก ที่เล่มแรก จารชนสามก๊ก ตอนการศึกที่เขาเตงกุนสันของ เหอมู่ แปลโดย ชาญ ธนประกอบ อันเร้าใจ เพิ่งผ่านสายตานักอ่านจำนวนมากไปไม่นาน

และวันนี้ จารชนสามก๊ก เล่ม 2 เมฆหมอกเกงจิ๋วในยุทธการ “เสียเมืองเกงจิ๋ว” อันลือลั่นก็ตามมา

 

เสน่ห์ของสามก๊กที่นักอ่านและโลกคุ้นเคย ก็คือการศึกอันเข้มข้น ดุเดือด กลยุทธ์ที่ต่อตีหักเหลี่ยมกันลึกซึ้ง แพรวพราว บรรดาเหล่ากุนซือที่ปรึกษาและขุนศึกนักรบแต่ละรูปนาม ซึ่งเป็นที่จดจำชื่นชอบ ล้วนถูกกล่าวขวัญอยู่ไม่แล้ว แต่ผู้ใดจะนึกถึงว่า การศึกเหล่านั้นต้องอาศัยกำลังจารชนไส้ศึกเป็นตัวแปรสำคัญของสงคราม ไม่ว่ายุคไหนสมัยใด

จินตนาการในแง่มุมใหม่ของสามก๊ก จึงเป็นรสชาติใหม่ที่นักอ่านต้องไม่พลาดในการแสวงมาลิ้มรส

– หนังสือสำหรับนักอ่าน เสียงพูดสุดท้าย ’รงค์ วงษ์สวรรค์ โดย วรพจน์ พันธุ์พงศ์ เพื่อผู้คิดถึงได้ชุ่มชื่นหัวใจ จะร้อยเรียงสารบัญให้ชมว่าน่าอ่านขนาดไหน-ระหว่างดินสอกับกระดาษ, จากนักเลงบางลำพูสู่ชีวิตนักเขียนนักหนังสือพิมพ์, อเมริกาในเงาเวลาของ ’รงค์, มาดามวารินชำราบ,

ในฐานะพ่อ, การเดินทางเป็นสายตาของนักเขียน, สงครามโลก การศึกษา ประชาธิปไตย (บทนี้ต้องสนใจพิเศษ), บ้านคือความสุขของมนุษย์ สุราเป็นปรัชญาของการพักผ่อน, กิน ดื่ม เซ็กส์ สปา,

ตัวละครของเรามันเสเพล, แสงแดดและสายฝนบนสวนทูนอิน, กรรมกรทางศิลปะ, เราเป็นคนตกปลา อย่าคิดไปยิงกระทิง, โบยบิน และภาคผนวกเป็นการเดินทางกับภาพถ่าย
อาจจะหายคิดถึงไปบ้าง หรืออาจจะยิ่งคิดถึง โดยเฉพาะผู้เคยขึ้นสวนไปกินข้าวแกงสนทนา

– งานของนักเขียนระดับโลกที่ผู้อ่านอาจร่วมความเจ็บปวดใจลึกซึ้งได้ไม่ยาก โหยหานิทรารมณ์ และเรื่องสั้นยามราตรีอื่นๆ ของ อันโตน เชคอฟ แปลโดย วริศา กิตติคุณเสรี

รวมเรื่องสั้นบาดใจ 7 เรื่อง ที่เป็น 6 เรื่องยามราตรีและ 1 เรื่องฝัน ซึ่งจะพาผู้อ่านล่วงแดนที่น่าพรั่นพรึง ระทมทุกข์ และความเวทนาอันอาจเสียน้ำตากับความตรมตรอมของตัวละคร รวมเรื่องสั้นที่ย้อมใจคนละเอียดอ่อนได้พบเพื่อนร่วมทุกข์ และเห็นสุขในความอ้างว้างเดียวดายของชีวิต

ลองอ่าน-กระจกวิเศษ, ชู่ว์, แอบหนี, โหยหานิทรารมณ์, วานก้า, ความระทม, ฝัน
และรู้จักเชคอฟในเบื้องท้าย เพื่อเห็นอีกตัวอย่างว่า ชีวิตคนทำงานแบบไหน ที่รังสรรค์งานได้เช่นนี้

– โลกทุกวันนี้ รูปที่พ่อแม่ให้มามิใช่ธรรมชาติที่เห็นแต่อ้อนแต่ออกเสียแล้ว เพราะเมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่อาจจำลูกไม่ได้เลยแม้แต่น้อย ทั้งที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ ว่าคนที่เพิ่งเดินเข้าบ้านมาคือลูกของตัว

เกิดอะไรขึ้นกับโลกวันนี้ ที่มิได้เป็นความลับคับทรวงของคนในยุคดิจิตัลอีกต่อไป

อ่าน เรื่องสั้น เรื่องศัลย์ ของหมอ ธนัญชัย อัศดามงคล ที่รวบรวมเรื่องเล่า แง่คิด ความรู้ กับเทคนิคการทำศัลยกรรมความงามจากชีวิตการทำงานจริง ในสมัยที่งานศัลยกรรมไม่เพียงช่วยผู้บกพร่องทางกายหรืออวัยวะให้กลับปกติได้มากที่สุดอีกต่อไปแล้ว

รู้เรื่องจากประสบการณ์ตรงของการทำหน้า คอ จมูก ปาก ตา หน้าอก หน้าท้อง สะโพก

ที่คุณหมอผู้เขียนต้องการให้รู้และเข้าใจจากการผ่าตัดได้เรียนอย่างตรงไปตรงมา อย่างน้อย หากพูดกันแบบชาตินิยมหน่อยๆ ก็ให้รู้ว่า หมอไทยก็มีฝีมือพอที่จะไม่ต้องเดินทางไกลไปเกาหลีใต้ก็ได้

– บางทีถ้อยคำสั้นๆ ประโยคเดียวหรือสองประโยค ก็อาจพลิกชีวิตเปลี่ยนจิตใจผู้คนได้ ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น มักมีหนังสือจำนวนหนึ่งที่นำถ้อยคำเหล่านั้นมาบำรุงจิตใจผู้คน

ปรัชญาสุภาษิตแห่งชีวิต ที่รวบรวมโดยอาจารย์ ฟื้น ดอกบัว อาจารย์ผู้ค้นคว้าเรื่องศาสนา ปรัชญา ปรัชญาเปรียบเทียบ ฯลฯ ได้นำมาเสนอเพื่อจุดประกายชีวิตให้สว่างไสว มีหลักให้เหนี่ยวรั้งความคิด ไม่ว่ากำลังมีทุกข์ หรือระหว่างแสวงความจริงในเรื่องต่างๆ สุภาษิตเหล่านี้จะเหมือนประทีปที่ส่องทางเหมาะสมแก่สาธุชนวิญญูชน ให้เดินต่อไปได้อย่างมั่นคง

สุภาษิตเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับกาลเวลา กรรม ความเพียร จิตใจ ศาสนา ธรรม อธรรม สุขทุกข์ การศึกษา กระทั่งความรักแบบกามราคะ ฯลฯ ให้คิด ไตร่ตรอง ทั้งท้าทายความมุ่งมั่น มิให้ลดละมานะ

เพื่อเดินหนทางที่ถูกต้อง มิให้สุ่มเสี่ยงกับหนทางมายา

– ไหนๆ ก็ไหนๆ เมื่อพูดถึงหนังสือสุภาษิตอันเป็นกำลังชีวิตแล้ว ก็ควรพูดถึงงานที่เป็นมรดกอันเป็นวรรณกรรมสังคมที่ตกทอดอย่างล้ำค่ามาด้วยอีกเล่ม นั่นคือ หิโตปเทศ โดยสองปราชญ์ เสฐียรโกเศศ และ นาคะประทีป ซึ่งเป็นปูชนียบรรณ ไม่ให้ลูกหลานเหลนได้ลืมเลือนมรดกชิ้นนี้ไป

หิโตปเทศเป็นสุภาษิตโบราณที่จับใจ น่าอ่าน มีข้อความเปรียบเทียบที่ชักอ้างอย่างถูกแท้ ฟังได้ทุกกาลสมัย และใช้ได้ไม่เพียงในบ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่ง เนื้อหาเป็นสากล ถือเป็นสมบัติของโลกได้

ทั้งนี้ มีเรื่องการผูกมิตร การแตกมิตร การสงคราม ความสงบ ซึ่งว่าเฉพาะคนในรัฐสภาทุกรัฐสภาอันมีหน้าที่บริหารบ้านเมือง ต้องใคร่ครวญตระหนักยิ่งในเรื่องเหล่านั้น

น่าเสียดายยย… แม้ยังไม่ตายก็ยังไม่ได้อ่าน

– นิตยสาร แพรว ฉบับพิเศษ “ตุลามหาราช 2 ราชันสถิตนิจนิรันดร์” เสนอเนื้อหาเนื่องในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 9 อันละม้ายกันหลายด้านอย่างน่าอัศจรรย์ เช่น การครองราชย์แต่ยังทรงพระเยาว์, พระราชดำรัสที่ไปในทิศทางเดียวกัน, เสด็จฯต่างประเทศเพื่อให้บ้านเมืองพ้นภัย, ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา, เสด็จสวรรคตในเดือนเดียวกัน ฉบับพิเศษนี้ ได้รวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมได้ยากไว้อีกด้วย

ปกพิมพ์ 5 สีด้วยเทคนิคพิเศษ และเนื้อในพิมพ์ 4 สี ประณีต งามตา

– นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับพากย์อังกฤษ Do You Hear The People Sing ? ได้ยินชาวบ้านร้องเพลงไหม? อาจารย์เกษียรจบบทจะโค่นจอมเผด็จการอย่างไร หนุ่มเมืองจันท์ก็ว่า ต้องเปลี่ยนแปลง มนัส สัตยารักษ์ ว่า ตุลามหาปีติ หรือตุลามหาวิปโยค ส่วนอีดวงพูดถึง จังหวะ การเมือง พลังประชารัฐ จากสมองประวิตร วงษ์สุวรรณ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ว่า “ฆ่าไม่บาป” กิตติวุฑโฒไม่ใช่คนแรก, อ่านทางออกที่เดินยาก, คุณหมอขอร้อง, สังคมเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้ 22 ปีมลพิษคลิตี้, ยอดติดโควิดทั่วโลกจะ 42 ล้านรายแล้ว วันเดียวป่วยพุ่งเกือบครึ่งล้าน, ฝรั่งเศสขยายพื้นที่เคอร์ฟิว เพราะยอดผู้ติดเชื้อพุ่งต่อเนื่อง ฯลฯ

ปัญหายิ่งรุมสุม ยิ่งต้องคุมสติ โลกกำลังป่วย ไทยกำลังเปื่อย ตุ๋นแค่ไหนชาวบ้านจะกลืนได้ง่ายๆ บ้าง

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image