สัพเพเหระคดี 2พ.ย.2563 : หนี้ค่าสินค้าปลอม

คุณสมควรขายส่งสินค้าอะไหล่รถยนต์ราคาถูกแก่คุณจำนวนเพื่อกระจายขายต่อแก่ร้านค้าต่างจังหวัด

คุณจำนวนซื้อสินค้าอะไหล่รถยนต์จากคุณสมควร แล้วออกเช็คธนาคารจ่ายค่าสินค้าให้ไว้

คุณสมควรนำเช็คไปเข้าบัญชีธนาคาร แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน

คุณสมควรแจ้งความดำเนินคดีกับคุณจำนวน

Advertisement

ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษคุณจำนวน ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คุณจำนวนมีความผิด ให้ลงโทษจำคุก

คุณจำนวนอุทธรณ์คดี

ศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษากลับ-ให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สมควรวินิจฉัยในปัญหาว่า หนี้ค่าสินค้าตามฟ้องเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อเท็จจริงที่จะต้องวินิจฉัยประกอบกับข้อกฎหมายที่เป็นองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 4 แจ้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 และ โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังข้อเท็จจริงตามองค์ประกอบความผิดนี้โดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร

ปรากฏว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ยืนยันข้อเท็จจริงว่า สินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่ชอบด้วยกฎหมาย

ขณะที่ทางจำเลยอ้างส่งพยานวัตถุสินค้าไส้กรองที่รับมาจากคุณสมควรผู้เสียหายซึ่งมีเครื่องหมายการค้ารถยนต์ยี่ห้อดัง ที่ให้ขายในราคา 50 บาท กับสินค้าไส้กรองที่มีเครื่องหมายการค้าของแท้ที่ซื้อจากบริษัทรถยนต์ยี่ห้อนั้นซึ่งมีราคา 180 บาทด้วย

แสดงให้เห็นว่า สินค้าของผู้เสียหายอาจเป็นสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าปลอม และการจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้อื่นปลอมนั้น เป็นความผิดที่มีโทษอาญา

จึงย่อมฟังข้อเท็จจริงไม่ได้ว่า สินค้าที่ผู้เสียหายขายให้คุณจำนวน เป็นสินค้าที่ซื้อขายกันโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะมีผลให้การซื้อขายสินค้าอันเป็นมูลหนี้ตามฟ้อง เป็นนิติกรรมที่มิได้ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันจะถือได้ว่าเป็นนิติกรรมที่ไม่ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ซึ่งเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมาย

ดังนี้ จึงไม่อาจฟังได้ว่า หนี้ที่คุณจำนวนออกเช็คให้แก่ผู้เสียหายเป็นหนี้ที่บังคับได้ตามกฎหมายการออกเช็คของคุณจำนวนย่อมไม่ครบองค์ประกอบอันจะเป็นความผิดตามฟ้อง

ศาลฎีกาพิพากษายืน-ยกฟ้อง

สรุปว่า คุณจำนวนสบายไป ไม่ต้องเข้าคุก

(เทียบคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 361/2553)

+++++++++++++++++

พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534

มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1)………

ฯลฯ

(5)………

ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image