มองเกม‘ส.ว.มะกัน’ จี้รบ.ฟัง‘ม็อบราษฎร’

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการกรณีคณะกรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภา ประเทศสหรัฐอเมริกา มีมติในนามของ นายบ็อบ เมเนนเดซ และนายดิก เดอร์บิน กรรมาธิการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วุฒิสภา พร้อมด้วย ส.ว.อีก 7 คน จากพรรคเดโมแครต รวมถึง นางลัดดา แทมมี่ ดักเวิร์ธ ส.ว.อเมริกัน เชื้อสายไทย เพื่อแสดงจุดยืนสนับสนุนขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศไทย ซึ่งต้องเผชิญกับความรุนแรงและการควบคุมจากสถาบันและรัฐบาล โดยย้ำพันธกรณีของสหรัฐต่อสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และหลักนิติธรรมในประเทศไทย

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

Advertisement

เรื่องนี้ส่วนตัวรู้สึกแปลกใจเมื่อเห็นคนโพสต์ถึง จึงไปค้นดูตามหนังสือพิมพ์ที่น่าเชื่อถือ แต่ไม่มีรายงานข่าวนี้ เพิ่งไปเจอว่า Diplomat ของอังกฤษมีคนเขียนบทความลง ก็ไม่ใช่ผู้สื่อข่าวของเขาอีก เหมือนเป็นคนที่จบปริญญาโท รู้เรื่องเมืองไทย เลยเปิดดู resolution หรือมติ ก็ไม่มีวันที่ระบุว่าลงมติในวันที่เท่าไหร่ ลงกี่เสียง ใครลงบ้าง มีแต่คนนำเสนอ คือ ส.ว. และ 5 ประเด็นหลักอย่างที่เราเห็น

ที่สงสัยคือ มติพวกนี้คงอยู่ในระดับกรรมาธิการต่างประเทศ ถ้าจะผ่านต้องเข้าที่ประชุมใหญ่ แล้วลงคะแนนเสียง เสียงข้างมากรับ เสียงข้างน้อยไม่รับ ก็ว่ากันไป แต่ยังไม่มีการลงคะแนนเสียง แสดงว่ายังเป็นแค่ญัตติที่อยู่ในกรรมาธิการ ดูจากรูปการณ์แล้วเป็นเช่นนี้ ดังนั้นจึงยังไม่เป็นนโยบายของใคร ยังลอยๆ อยู่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาชื่อ ส.ว.แล้ว ปนๆ กันทั้งรีพับลิกันและเดโมแครต ซึ่งไม่รู้ว่าเขามีความสนใจในเรื่องไทยมากน้อยแค่ไหน ไม่เคยได้ยินข่าวเลย จึงแปลกใจว่าอยู่ๆ ทำไมมีการยกประเด็นนี้ขึ้นมา แสดงว่าต้องมีคนไปชงเรื่องให้ ต้องมีเจ้าหน้าที่ มีล็อบบี้ยิสต์ ต้องมีคนทำให้ เพราะเรื่องเยอะ ต้องเลือก หากเป็นจีน ฮ่องกง ก็พอเดาได้ แต่ประเทศไทยสำคัญขนาดนั้นหรือไม่ ถึงขนาดที่เขาต้องออกมา

ในไทยการชุมนุมเป็นข่าวใหญ่ แต่ใหญ่เฉพาะในไทย ในต่างประเทศรายงานน้อยมาก นานๆ จึงกล่าวถึงสักครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ข่าวใหญ่เหมือนกรณีฮ่องกง เลยงงๆ อยู่ว่า ตกลง ส.ว.อเมริกันเดินเกมอะไร ดังนั้น 1.ไม่แน่ใจว่าเป็นมติจริงๆ ถ้าจริง ก็มีผล จะไปผลักดันรัฐบาล หน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม แค่เป็นข่าวก็ส่งสัญญาณให้กับประเทศไทยในการเตรียมรับมือว่าเรื่องนี้เข้าไปถึงรัฐสภาคองเกรสของอเมริกาแล้ว ซึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้ทำท่าจะใหญ่ แต่ไม่รู้ว่าใหญ่จริงไหม 2.เนื้อหา เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐยาวเหยียด ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 สรุปคือ ไทย-อเมริกา สัมพันธ์ยาวนานมากจนถึงปัจจุบัน ต้องรักษาความสัมพันธ์ไว้ กล่าวคือเขียนเหมือนประวัติศาสตร์ฉบับย่อ ใช้ในการเรียนการสอนได้เลย แสดงว่าเขามีทีมทำงาน ทีมวิจัยเขียนสรุปมา และมีมติ 5 ข้อ เรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกันพยายามส่งเสริมเสรีภาพ ประชาธิปไตย มีการเรียกปนๆ ระหว่างรัฐบาลทหาร รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ไม่สมบูรณ์ซึ่งเป็นจุดอ่อนให้อเมริกาจับตาดูว่ามีการปราบปรามเยาวชน กระบวนการเรียกร้องเสรีภาพ และอนาคตของตัวเองอย่างก้าวหน้า ในขณะที่รัฐบาลประยุทธ์ มาจากการเลือกตั้งก็จริง แต่รัฐธรรมนูญ ไม่เสรีและเป็นธรรม แปลว่า ไม่ชอบธรรม 100%

Advertisement

ถ้าจะพูดรวมๆ กับนโยบายรัฐบาลใหม่ของ โจ ไบเดน หมายความว่า อเมริกา กับฝ่ายรัฐบาลต่อไป คงกลับมาใช้นโยบายต่างประเทศที่อเมริกาต้องมีส่วนเป็นคนชี้นำดูแล ต้องไปประกันสิทธิมนุษยชนเรื่องการละเมิดสิทธิผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย เหมือนอย่างที่เคยทำมาในยุคคาร์เตอร์ สมัยบิล คลินตัน และโอบามา แล้วทรัมป์ยกเลิก คือปิดประตูไม่สนใจต่างประเทศ เอาแต่อเมริกาก่อน เพราะฉะนั้นสัญญาณคือ อเมริกาในปีหน้าจะเริ่มนำเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่างๆ เข้ามาประกอบการพิจารณาเรื่องความสัมพันธ์ในการทูต เศรษฐกิจ การค้า การแลกเปลี่ยน คือ ไม่ปล่อยให้เผด็จการมาถ่ายรูปร่วมกับประธานาธิบดีเหมือนแต่ก่อน หรือในการเข้าประเทศ ตอนนี้มีการลดวีซ่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจาก 10 ปี เหลือ 1 เดือน วิธีกีดกันต้องใช้แบบนี้ คือทำให้เท่ากับวีซ่าคนทั่วไปที่จะเข้าประเทศเขา ไม่มีอภิสิทธิ์ ถ้ากระทรวงการต่างประเทศของไทยโดนอย่างนี้บ้าง ผู้นำไทยถ้ายังไม่เลือกตั้งจริงๆ แล้วเข้าอเมริกาได้แค่เดือนเดียว ก็ไม่เลวเหมือนกัน หากมีการประกาศเช่นนี้แสดงว่าไม่เป็นมิตรแล้ว อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น

การแทรกแซงทางการเมืองไทยของสหรัฐไม่เหมือนยุคสงครามเย็น ตอนนี้บทบาทซีไอเอเปลี่ยนไปทำไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ กับรัสเซียและจีน การนั่งหากองทัพมายึดอำนาจมันเชยแล้ว แต่เรื่องข้อมูลต้องมีการเก็บอยู่แล้ว แต่จะทำแบบที่กลุ่มเสื้อเหลืองบอกว่ามาหนุนพรรคอนาคตใหม่ หนุนเยาวชนปลดแอก คงไม่ใช่ (หัวเราะ) มันง่ายเกินไป เขาสนใจว่าใครจะมาบิดเบือนข้อมูลระหว่างประเทศของเขา หรือแทรกแซงล้วงความลับ งานไปอยู่ในโลกดิจิทัลแล้ว

สำหรับการปรับตัวของไทย มองว่าฝ่ายรัฐบาลคงหงุดหงิด คงจะบอกว่าอย่ามาแทรกแซง อย่ามายุ่ง ส่วนตัวคิดว่ารัฐบาลชุดนี้ซึ่งมีที่มาแบบนี้ และอยู่ในกลไกแบบนี้ จะไม่แคร์ ไม่ได้ถือว่านี่เป็นสัญญาณ ในฐานะประชาคมโลก ในสากล รัฐบาลแบบนี้ไม่มีฐานะ 100 เปอร์เซ็นต์ จริงๆ สื่อมวลชนพูดมานานแล้ว ทั้งบีบีซี ทั้งนิวยอร์กไทมส์ บอกเลยว่าการเลือกตั้งของไทยไม่เสรีและเป็นธรรม เป็นการสืบทอดอำนาจเผด็จการ ชัดเสียยิ่งกว่าชัด แต่ทางการไม่มีใครพูด นี่เป็นครั้งแรก ที่ญัตติซึ่งไม่รู้ว่าออกมาแล้วหรือยัง แต่มี เพราะมีชื่อคน แสดงว่า ส.ว.มองเห็นแล้วว่ามันเป็นปัญหาทางการเมืองที่เขาสนใจแล้ว

ถ้ารัฐบาลฉลาด อยากจะอยู่ต่อ ต้องปรับตัวให้เข้ากับเสียงเรียกร้องจากข้างนอก การปรับตัวอย่างแรกคือ ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เสรีและเป็นธรรม จัดการเลือกตั้งใหม่ที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เท่าเทียม องค์กรอิสระ เลิกการยุบพรรคโน้นพรรคนี้ ตัดสิทธิ ส.ส.ต้องเลิก ต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกระบวนการ ใครชนะก็ต้องให้เขาจัดตั้งรัฐบาลไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็จบ สภาก็จะส่งสารแสดงความยินดีมาให้ในญัตติครั้งต่อไป

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารมวลชน

การแสดงความเห็นของ ส.ว.สหรัฐสะท้อนให้เห็นว่าประชาคมโลกยังมองสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยด้วยความห่วงใยกรณีจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่หรืออาจจะมีการทำรัฐประหาร ถือว่าการแสดงท่าทีครั้งนี้มีความเข้มข้น เพราะที่ผ่านมาออกมาเตือนขององค์กรระดับโลกต่างๆ เช่น สหภาพยุโรปหรือหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของยูเอ็น ก็มีต่อเนื่อง แต่ครั้งนี้มีการเตือนว่าอย่าทำรัฐประหารเพราะจะทำให้ประเทศไทยถึงทางตัน สะท้อนให้เห็นว่าประชาคมโลกมีการยกระดับต่อประเทศไทยมากขึ้น

การออกคำเตือนเรื่องนี้คงไม่ประเมินจากการบริหารสถานการณ์การชุมนุม แต่คงมองในภาพรวมมากกว่าการเมืองไทยมีความตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และจากประสบการณ์ที่เคยเห็นในไทย เมื่อมีปัญหาต่างก็มักจะมีการทำรัฐประหารเพื่อเป็นเครื่องมือที่รัฐบาล หรือกองทัพใช้ในการแก้ปัญหา
เท่าที่ติดตามการชุมนุมในอดีตของ นปช.หรือ กปปส. ยังไม่มีคำเตือนในลักษณะนี้มาก่อน แต่ครั้งนี้มีการระบุชัดว่า ถ้ามีรัฐประหารเกิดขึ้นก็อาจทำให้ความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคีของไทยกับสหรัฐเลวร้ายในด้านความสัมพันธ์ ซึ่งน่าแปลกใจว่ามีสาเหตุใดที่ ส.ว.สหรัฐจึงผลักดันให้มีมตินี้ออกมา ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน

สำหรับรัฐบาลไทยก็คงไม่ต้องตอบในเรื่องนี้ เพราะเป็นการแสดงความเห็นในชั้นกรรมาธิการ แต่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องประเมินว่าหลังจากนี้มิตรประเทศจะมีเรื่องอื่นที่มากกว่านี้หรือไม่ เช่น รัฐบาลสหรัฐชุดใหม่จะจับตามองสถานการณ์ในไทยมากขึ้น หรือมีบทบาทในด้านต่างๆ มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลพอสมควร เพราะการที่ ส.ว.พูดถึงการลดความสัมพันธ์กับไทยถือเป็นสัญญาณอันตรายในอนาคต ส่วนการกีดกันทางการค้าเชื่อว่ายังอีกไกล เพราะเรื่องนี้ยังเป็นเพียงมติของคณะกรรมาธิการ ส.ว.

เมื่อติดตามการชุมนุมของมวลชนยังไม่รู้สึกว่าแผ่วลง แต่การชุมนุมมีบ่อยครั้งผู้ร่วมชุมนุมอาจจะเหนื่อยล้าและขึ้นอยู่กับประเด็น รวมทั้งสถานการณ์ทางการเมือง ขณะที่คนมาชุมนุมก็มากขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังไม่เห็นมวลชนกลุ่มอื่นระดมมวลชนได้มากขนาดนี้ สำหรับการชุมนุมปัจจุบันยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะมีการทำรัฐประหาร ขณะที่สหรัฐพูดถึงผู้ชุมนุมในแง่บวก หลังจากนี้รัฐบาลก็คงต้องปรับตัวเพื่อรับฟังเหตุผลจากผู้ชุมนุมให้มากขึ้น เพราะมีรายงานของ ส.ว.มีหลายเรื่องที่มีความเข้มข้น โดยเฉพาะการบอกว่าผู้ชุมนุมมีความกล้าหาญถือว่าเป็นการสื่อสารบางอย่างไปถึงรัฐบาลเพื่อหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงในบางประเด็นอย่างมีนัยยะสำคัญ

โคทม อารียา

ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

ที่ผ่านมารัฐบาลไทยก็ยืนยันตลอดว่าได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและหลักการในระเบียบที่กำหนด สำหรับการตักเตือนของ ส.ว.ก็คงเห็นว่าการชุมนุมในไทยยืดเยื้อมานาน และมีเป้าประสงค์ต้องการให้ยุติลงด้วยดี ส่วนการประคับประคองสถานการณ์มีหลักของสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การประนีประนอม หากนำสิ่งเหล่านี้ไปใช้ก็จะเป็นผลดีกับการคลี่คลายความขัดแย้ง เชื่อว่า ส.ว.คงไม่ได้บอกให้รัฐบาลไทยทำอะไร แต่จะบอกหลักการไว้กว้างๆ และไม่ได้เสียมารยาท เพราะเชื่อว่าเป็นเพียงการแสดงความห่วงใยในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นของตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ถ้าหากเป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศก็คงจะมีคำเตือนหลังจากสถานการณ์มีความรุนแรงแล้ว ก็อาจจะแสดงจุดยืนออกมา

ขณะที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศก็คงจะให้โฆษกออกมาพูดอะไรบางอย่าง ก็เป็นวิธีที่จะแสดงความเห็น หรือมีคำอธิบายตอบกลับไปในแง่มุมของรัฐบาล รัฐบาลอาจจะบอกว่าตั้งใจรับฟังปัญหาของผู้ชุมนุมมาโดยตลอด หรือพร้อมที่จะประนีประนอม แต่เท่าที่ติดตามการบริหารสถานการณ์ ส่วนตัวไม่ต้องการแสดงความเห็นเพื่อผสมโรงกับ ส.ว.เพียงแต่บอกว่าเมื่อมิตรประเทศส่งสัญญาณมา ถ้าตอบกลับไปได้ก็คงจะดี ซึ่งหากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์การชุมนุมในอดีตของ นปช.หรือ กปปส. เท่าที่ติดตามไม่พบว่า ส.ว.จะมีแสดงข้อห่วงใยในลักษณะนี้

ส่วนการชุมนุมใหญ่ที่ฮ่องกงทราบว่ากระทรวงต่างประเทศของสหรัฐออกมาท้วงติงชัดเจนและวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนค่อนข้างหนัก ส่วนในไทยก็มีบางสื่อออนไลน์พยายามเสนอทฤษฎีสมคมคบคิดว่าสหรัฐอยู่เบื้องหลังของคนรุ่นใหม่ มีการพาดพิงถึงตัวบุคคลบางฝ่ายแบบจับแพะชนแกะ และเมื่อมีเสียง ส.ว.ออกมาอีกก็คงทำให้บางฝ่ายที่เชื่อไปแล้ว ก็คงไม่เปลี่ยนความคิดเดิม แต่คนที่ไม่เชื่อก็คงเห็นว่าการแสดงออกแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดา และหลังจาก ส.ว.สหรัฐออกมาแล้ว ต้องรอดูว่าฝ่ายนิติบัญญัติของสหภาพยุโรป หรืออียู จะมีอะไรตามมาอีกหรือไม่ เพื่อแสดงจุดยืนหรือแสดงความห่วงใย

เมื่อ ส.ว.สหรัฐออกมาแสดงความห่วงใย ไม่ได้ถือว่ามีผลกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะมีเรื่องอื่นสำคัญกว่า แต่ถ้ามีเหตุรุนแรง หรือความสูญเสียเกิดขึ้น ก็เชื่อว่าจะมีผลกระทบอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นสถานการณ์ในขณะนี้ทุกฝ่ายก็ต้องประคับประคองอย่าให้มีความรุนแรง และการชุมนุมที่ยืดเยื้อก็ถือว่ายังมีความเสี่ยง ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายเปิดใจรับฟังเหตุผลสถานการณ์ก็จะดีกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image