คิดเห็นแชร์ : ปัญหา COVID-19 ยังไม่ซา ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็มาซ้ำ : โดย ดร.ณัฐพล รังสิตพล

สวัสดีแฟนๆ คิด เห็น แชร์ ทุกท่านครับ เมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศไทยเริ่มมีข่าวพบผู้ติดเชื้อโรค COVID-19
จำนวน 10 ราย ซึ่งพบว่าได้ลักลอบเดินทางเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้มีผู้เสี่ยงติดเชื้อจำนวนกว่า 300 คนแล้วนั้น แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะมีมาตรการป้องกันและมีการควบคุมที่ดี จนทำให้มีผู้ป่วยลดน้อยมากจนแทบจะไม่มีแล้วก็ตาม แต่จากการที่ทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านยังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ ทำให้ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุด คือ จำเป็นต้อง “การ์ดอย่าตก” อยู่ตลอดเวลานั่นเอง

ในขณะเดียวกันช่วงเดือนธันวาคม-เมษายนของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะเผชิญปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นวังวนเดิมๆ อีกครั้ง นั่นคือ ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพและระบบทางเดินหายใจของมนุษย์

ทราบหรือไม่ว่า ฝุ่นพิษ PM2.5 มีความสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เก็บตัวอย่าง 3,000 เขตพื้นที่ในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่า การเพิ่มขึ้นของอนุภาคฝุ่นพิษ PM2.5 เพียง 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะทำให้อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 15
ดังนั้น ปัญหา COVID-19 กำลังถูกปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ซ้ำเติมให้ดูทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก จึงทำให้เราต้องดูแลตัวเองให้ดี การ์ดอย่าตกมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ผมเคยเล่าถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่อยากขอแชร์ข้อมูลเพิ่มเติมถึงสาเหตุของการเกิดฝุ่นพิษ PM2.5 ในชุมชนเมือง ซึ่งผลการศึกษาของกรมควบคุมมลพิษ พบว่าแหล่งที่มาของฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เกิดจากการปล่อยมลพิษไอเสียของรถยนต์ที่มีมาตรฐานต่ำ (ยูโร 4) คิดเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 52 อีกทั้งเมื่อเกิดปรากฏการณ์สภาพอากาศนิ่ง (Air stagnation) และมีอุณหภูมิลดต่ำลงร่วมด้วย จึงส่งผลให้ฝุ่นพิษเหล่านี้สะสมในปริมาณมากขึ้นและเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพคนไทย โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 62 ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้าน ฝุ่นละออง” โดยจะบังคับใช้มาตรฐานมลพิษไอเสียจากรถยนต์ยูโร 5 ภายในปี 2564 และยูโร 6 ภายในปี 2565 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยไม่ตกขบวนตามหลังนานาประเทศไปมากกว่าเดิม เนื่องจากในปัจจุบันมาตรฐานการปล่อยมลพิษไอเสียรถยนต์ของไทยเทียบเท่าเพียงมาตรฐานยูโร 4 เท่านั้น ซึ่งรถยนต์ยูโร 4 ปล่อยฝุ่น PM มากกว่ารถยนต์ยูโร 5-6 ถึง 5 เท่า ซึ่งตามหลังหลายประเทศมาแล้วกว่า 12 ปี จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามีปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 มากกว่าหลายๆ ประเทศ ดังนั้น หากประเทศไทยบังคับใช้มาตรฐานมลพิษไอเสียรถยนต์ตามแผนที่ท่านนายกรัฐมนตรีวางไว้ จะช่วยลดปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในเขตชุมชนเมืองได้

อย่างไรก็ตาม มีข้อถกเถียงกันในวงกว้างถึงเรื่องการปรับมาตรฐานมลพิษไอเสียรถยนต์และน้ำมันให้สูงขึ้นจากยูโร 4 เป็นยูโร 5 ว่าใครควรจะเริ่มก่อนกันระหว่างผู้ผลิตรถยนต์หรือโรงกลั่นน้ำมัน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างก็ต้องมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนและยกระดับกระบวนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่ขอเรียนว่าจากข้อมูลในอดีตพบว่า ยานยนต์ไทยมีการพัฒนามาตรฐานมลพิษไอเสียรถยนต์ในระดับสูงกว่าก่อนคุณภาพน้ำมันเสมอ โดยปัจจุบัน มีรถยนต์มาตรฐานยูโร 5-6 วิ่งอยู่บนท้องถนนคิดเป็นร้อยละ 48 ของจำนวนรุ่นรถยนต์นั่งทั้งหมด (จำนวน 261 รุ่น จาก 544 รุ่น) ที่ปัจจุบันก็เติมน้ำมันยูโร 4 บ้าง น้ำมันยูโร 5 บ้าง ซึ่งยังไม่พบว่ามีปัญหาจากการใช้งานแต่อย่างใด

ที่น่าสนใจก็คือ ผลการศึกษาโครงการประเมินอัตราการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการระบายสารมลพิษจากรถยนต์ที่มีมาตรฐานแตกต่างกันของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ถ้ารถยนต์ยูโร 4 เติมน้ำมันยูโร 5 จะสามารถทำให้ฝุ่น PM ลดลงได้กว่าร้อยละ 25 แม้ว่าในปัจจุบันมีผู้ผลิตน้ำมันยูโร 5 ออกมาจำหน่ายในท้องตลาดแล้ว แต่ด้วยการกำหนดราคาที่แพงกว่าน้ำมันยูโร 4 จำนวน 3-5 บาท/ลิตร จึงทำให้กำลังการผลิตน้ำมันยูโร 5 ในประเทศเหลือถึงร้อยละ 99 จากกำลังการผลิตสูงสุดของน้ำมันยูโร 5 ที่โรงกลั่นในประเทศสามารถผลิตได้ทั้งหมด (ข้อมูลปี 2563 จากสถาบันปิโตรเลียม) ดังนั้น ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ผมอยากให้กระทรวงพลังงานช่วยกันดูแลสุขภาพของคนไทย โดยอาจใช้มาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันยูโร 5 เพื่อช่วยพยุงสุขภาพของประชาชน เช่นเดียวกับที่เคยอุดหนุนราคาน้ำมันเอเทนอลและไบโอดีเซล เพื่อพยุงราคาผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร โดยอาจกำหนดกรอบเวลาและจำกัดพื้นที่ในการจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 เฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยเจอปัญหาฝุ่น PM2.5 ก็อาจเป็นแนวทางที่ช่วยทำให้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เบาบางลงได้และทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดีขึ้น

Advertisement

สุดท้ายนี้ จะเห็นว่าปัญหา COVID-19 ยังไม่ซา ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็มาซ้ำ สำหรับวิกฤตการณ์ COVID-19 เราต้องการวัคซีนเพื่อป้องกันปัญหาถาวร แต่ในขณะที่วิกฤตการณ์ฝุ่นพิษ PM2.5 ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมที่วนเวียนมาทุกปีอย่างไม่จบสิ้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาให้หายขาด เพื่อให้ท้องฟ้าที่สดใสกลับคืนสู่ประเทศไทยอีกครั้ง และต้องช่วยกันไม่ให้มีอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรค COVID-19 ที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะฉะนั้น การ์ดอย่าตกครับ

ดร.ณัฐพล รังสิตพล

อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ) กระทรวงอุตสาหกรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image