‘แตกต่าง เข้าใจ’ ศิลปะสร้างความเข้าใจใน ‘Winter Book Fest 2020’

‘แตกต่าง เข้าใจ’ ศิลปะสร้างความเข้าใจใน ‘Winter Book Fest 2020’

เป็นเทศกาลหนังสือที่ฮอตตั้งแต่วันแรก เพราะเพียงแค่ Winter Book Fest 2020 เปิดประตู นักอ่านก็ต่อแถวเพื่อเข้างานแล้ว

นอกจากไฮไลต์น่าสนใจของสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งกิจกรรมเสวนา เวิร์กช็อปศิลปะ ดนตรีจากศิลปิน ฯลฯ ยังมีอีกหนึ่งความพิเศษคือ นิทรรศการ Tolerance Posters Exhibition เพื่อนักอ่านทุกเพศ ทุกวัย และทุกความสนใจของสังคม

นอร์ธ-ดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์

นอร์ธ-ดนัยพันธ์ วัชรีวงศ์ คือเบื้องหลังคนสำคัญที่นำนิทรรศการนี้มาแสดง โดย Tolerance Posters Exhibition เป็นนิทรรศการพิเศษที่จัดแสดงมาแล้วทั่วโลก 31 ประเทศ อาทิ อเมริกา อังกฤษ บอสเนีย สโลวาเกีย ตุรกี โครเอเชีย รัสเซีย เกาหลี ไต้หวัน อินโดนีเซีย จีน ฯลฯ สำหรับการแสดงในไทยครั้งนี้ใช้ชื่อว่า “แตกต่าง เข้าใจ”

ทั้งนี้ นิทรรศการนี้ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ THE TOLERANCE PROJECT ต้องการส่งสารที่ว่าด้วยการยอมรับทางสังคมหรือ Social Acceptance ไปสู่ผู้คนในประเทศต่างๆ ที่มีความหลากหลายในเชิงโครงสร้าง สังคม และวัฒนธรรม ผู้ก่อตั้งโปรเจ็กต์นี้คือ Mirko Ilić ศิลปินนักเคลื่อนไหวชาวบอสเนีย ที่รวบรวมโปสเตอร์ที่ออกแบบโดยศิลปินทั่วโลกกว่า 164 ชิ้น เพื่อนำเสนอแนวคิด “การรวมเป็นหนึ่งเดียว” ที่นำไปสู่ “การเข้าใจความแตกต่างกัน” ในโลกที่การแบ่งแยกชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา เพศสภาพ ต่างทวีความรุนแรงขึ้น นิทรรศการนี้จะใช้พลังของการออกแบบในเชิงศิลปะที่มีความเฉพาะตัว เพื่อย้ำเตือนให้เราเห็นว่า “เราทุกคนไม่ต่างกัน”

Advertisement

“ช่วงปี 2003 ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับคุณ Mirko Ilić เขาเป็นศิลปินชาวบอสเนียที่ย้ายมาอยู่นิวยอร์ก ต่อมาพอผมเห็นนิทรรศการ Tolerance Posters Exhibition ที่จัดแสดงทั่วโลก ก็ส่งข้อความไปว่าสนใจ อยากจะให้มีจัดที่เมืองไทย เพราะเข้ากับสถานการณ์เมืองไทยตอนนี้

รูปแบบงานที่มาแสดงคือเปิดกว้างมาก ไม่มีกรอบกำหนด มีกติกาอย่างเดียวคือขอแค่มีคำว่า Tolerance อยู่ในงาน แรกๆ โปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นจากศิลปิน 40 คน แต่ปัจจุบันคือ 164 คนแล้ว บางคนพูดเรื่องความหลากหลาย บางคนพูดเรื่องความแตกต่างทางเพศ บางคนบอกว่าการที่เราไปเกลียดเขา ก็เหมือนกับเราเกลียดตัวเอง ซึ่งปกติงานกราฟิกมักจะไม่ค่อยถูกรวมเข้าไปอยู่ใน Fine arts แต่งานนี้จะได้เห็นว่ากราฟิกดีไซเนอร์ก็มีการแสดงความคิดเห็นทางสังคมได้ ไม่ได้ทำแต่โฆษณาอย่างเดียว”

เมื่อถามถึงสถานการณ์ของสังคมไทยที่สอดคล้องกับนิทรรศการนี้ ดนัยพันธ์บอกว่า “โปสเตอร์ชุดนี้เริ่มโปรเจ็กต์เมื่อปี 2017 มีประเด็นเกี่ยวกับการแบ่งแยก การเหยียดสีผิว การเหยียดเพศ มีการเกลียดชังเกิดขึ้นเยอะมาก”

Advertisement

“จริงๆ ผมก็ยังสรุปไม่ได้ว่า Tolerance แปลเป็นภาษาไทยว่าอะไร อย่างเราชอบพูดกันว่าภาษาอังกฤษไม่มีคำว่าเกรงใจใช่ไหม ภาษาไทยก็ไม่มีคำว่า Tolerance เหมือนกัน ถ้าเราเสิร์ชแบบดูบริบททั้งประโยคก็จะเจอคำแปลประมาณว่า การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ยอมรับได้ว่ามีคนที่คิดไม่เหมือนกัน ไม่ได้แปลว่า อดทน อย่างที่ดิกชันนารีแปล

เมื่อเป็นภาษาไทย คุณจรัญ หอมเทียนทอง (ผู้อำนวยการการจัดงาน Winter Book Fest 2020) ก็ตั้งว่า “แตกต่าง เข้าใจ”

อยากให้คนฟังกันมากขึ้น ต่อให้ฟังแล้วยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ถ้าไม่เห็น เราใช้ความ Tolerance เข้ามาช่วยได้ อย่าเพิ่งรีบตัดสิน

ศิลปะทำให้ตัวศิลปินไม่โดดเดี่ยว เพราะได้แสดงออกถึงความรู้สึกของตัวเอง คนที่มาดูก็รู้สึกว่ามีคนคิดเหมือนเรา เขาไม่ได้อึดอัดเรื่องนี้อยู่คนเดียว”

นอกจากนิทรรศการจะน่าสนใจแล้ว วงเสวนาในงานก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะจาก สนพ.มติชน บูธ B123 ที่ขนหนังสือเด็ดๆ มาเพียบ แถมยังมีการเปิดตัวหนังสือใหม่สุดฮอตด้วย

ทั้ง “ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์ในวาระครบรอบ 80 ปี” ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์

“ชาติไทย เมืองไทย แบบเรียนและอนุสาวรีย์” ว่าด้วยเรื่องปัจจัยนานาประการที่อยู่เบื้องหลังการสร้างรัฐชาติและการปกครอง ของประชาชน ด้วยการใช้แบบเรียนเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่แนวคิดว่าด้วยความรักชาติ การสร้างชาติ ชาติไทย ความเป็นไทย นำเสวนาโดย ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล, ฐนพงศ์ ลือขจรชัย และ เอกภัทร เชิดธรรมธร ในวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม เวลา 13.00-14.00 น.

ขณะเดียวกันยังมีงานเปิดตัวหนังสือ “24-7/1” จาก ภู กระดาษ ที่ถ่ายทอดชีวิตของเหล่าตัวละครในครอบครัว “วงศ์คำดี” ครอบครัวชนชั้นกลางระดับสูงจากภาคอีสาน ที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองในเครื่องจักรและสายพานที่ดำเนินไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์การกดขี่ของนายทุน และร่วมหมุนเฟืองของความวิปริตนี้ไปด้วยกันอย่างไม่รู้ตัวและไม่อาจหนีผลลัพธ์จากสิ่งที่ตัวเองมีส่วนสร้างได้พ้น ไปพร้อมๆ กับการฉายภาพสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่กระทำต่อผู้คนชนชั้นข้างล่างที่ไม่เคยถูกบันทึก โดย ภู กระดาษ และ จุฑา สุวรรณมงคล ในวันเสาร์ที่ 19 ธันวาคม เวลา 13.00-14.00 น.

ส่วนแฟน “ปีศาจ” ห้ามพลาดกับ “ปีศาจอมตะนิยายของสามัญชน” โดย ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ และ อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม เวลา 13.00-14.00 น.

พลาดปีนี้ เสียใจไปถึงปีหน้า

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image