จับตา ‘โจ ไบเดน’ นำมะกันคืนสู่ ‘อารยะ’ จัดระเบียบโลกใหม่

ลุ้น ‘วาระโลก’ ใหม่กับปธน.มะกัน

ชัยชนะของ โจ ไบเดน ตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ไม่เพียงเป็น “ข่าวดี” ไม่กี่ชิ้นในห้วงปี 2020 ที่ครอบงำด้วยข่าวร้ายสารพัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เป็นเงาทะมึนครอบงำไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของทั้งโลกทรุดตัวลงอย่างหนักชนิดไม่เคยเป็นมาก่อนเท่านั้น

ชัยชนะของ ไบเดน ยังเป็นเรื่องที่ทำให้หลายๆ ส่วนของโลก ถอนหายใจด้วยความโล่งอกด้วยอีกต่างหาก

ชัยชนะของ โจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งกำหนดจะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมนี้ ช่วยให้โลกมีโอกาสที่จะปรับปรุงแก้ไข “วาระโลก” ในหลายประเด็นที่เคยตกอยู่ในสภาพผิดที่ผิดทาง ตั้งแต่ความร่วมมือว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เรื่อยไปจนถึงระบบการค้าระหว่างประเทศ ที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในวาระของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

Advertisement

ระเบียบโลกที่เคยตกอยู่ในภาวะวุ่นวาย สับสน และตึงเครียดรุนแรงมีโอกาสได้รับการสะสาง แก้ไขปรับปรุงใหม่ ให้เป็นระบบ ระเบียบ และอยู่ภายใต้การควบคุมมากขึ้นกว่าเดิม

เปิดโอกาสให้เศรษฐกิจของทั้งโลก ที่อยู่ในสภาพขาดวิ่น อ่อนล้า พะว้าพะวง เพราะพิษของโควิด-19 ได้มีช่องว่างให้หอบหายใจ และมีเรี่ยวแรงพอที่จะหยัดยืนขึ้นบนลำแข้งของแต่ละประเทศอีกครั้งหนึ่ง

นั่นคือความคาดหวังของนานาประเทศที่หวังว่า ผู้นำใหม่ของสหรัฐอเมริกาอย่างน้อยก็สามารถเอื้ออำนวยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

Advertisement

พลิกฟื้นชื่อเสียงสหรัฐอเมริกา

เอลิซาเบธ ซิดิโรพูลอส ผู้อำนวยการบริหารสถาบันกิจการระหว่างประเทศแห่งแอฟริกาใต้ ชี้ให้เห็นว่า ชัยชนะของ โจ ไบเดน ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงการกลับคืนสู่ความมีอารยะ ลดการกรีดร้องโวยวาย ชี้หน้าปรามาสผู้อื่นของสหรัฐอเมริกา แม้ว่าความวุ่นวายสับสน คาดการณ์ใดๆ ไม่ได้ ในช่วงหลายปีภายใต้ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ไม่ใช่เรื่องที่จะหายไปง่ายๆ ในชั่วเวลาข้ามคืนก็ตามที

4 ปีที่ผ่านมา ชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาเสียหายอย่างร้ายแรง ความไว้วางใจในชาติที่ได้ชื่อว่าเป็น “เอกมหาอำนาจ” ถูกทำลายลงยับเยิน สหรัฐกลายเป็นชาติที่คาดเดาไม่ได้ การดำเนินนโยบายต่างประเทศทุกอย่าง ถูกผูกโยงเข้ากับผลประโยชน์และทรรศนะพิลึกพิลั่น ไม่อยู่กับร่องกับรอย ของผู้นำอย่างทรัมป์เท่านั้น

ภารกิจพลิกฟื้นชื่อเสียงสหรัฐอเมริกาใหญ่หลวงไม่น้อย ไม่เพียงต้องฟื้นฟู “ต้นทุน” ที่เป็นชื่อเสียงกลับคืนมาเท่านั้น ไบเดน จำเป็นต้องหาวิธีสร้างสมชาติพันธมิตรขึ้นมาใหม่ สร้างเสริมสถานะของการเป็น “ผู้ค้ำประกัน” ระบบพหุภาคีในระดับนานาชาติขึ้นมาใหม่อีกด้วย

ที่สำคัญก็คือ ไบเดน จำเป็นต้องรังสรรค์สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาควบคู่ไปกับการบริหารจัดการภายในประเทศตั้งแต่แรกเริ่มทำหน้าที่ประธานาธิบดี

ดังนั้นในขณะที่ ไบเดน ต้องบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกา ฟื้นฟูศรัทธาต่อสถาบันต่างๆ ของประเทศ และแก้ปัญหาความขัดแย้งเชิงชาติพันธุ์ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงระเบียบและความมั่นคงภายใน ที่จะสะท้อนอิทธิพลออกไปสู่ภายนอกประเทศแล้ว ยังจำเป็นต้องเข้าร่วมในองค์กรพหุภาคีระหว่างประเทศ ตั้งแต่องค์การอนามัยโลก องค์การการค้าโลก และความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกรุงปารีส อีกครั้ง

พร้อมกับเริ่มต้นสานสัมพันธ์กับนานาประเทศเสียใหม่ ไม่เพียงต่อพันธมิตรในยุโรปและเอเชียตะวันออกเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเข้าถึง “หุ้นส่วน” ของสหรัฐอเมริกาที่สำคัญในภูมิภาคต่างๆ ทั้งในแอฟริกา เอเชียและอเมริกาใต้พร้อมกันไปด้วย

เป้าหมายสำคัญสูงสุดก็คือ การฟื้นฟูความไว้วางใจ ทำให้สหรัฐอเมริกากลับมาน่าเชื่อถือและเชื่อถือได้ ทั้งยังเป็นชาติที่มีเสถียรภาพและความมั่นคงในนโยบาย จนสามารถคาดการณ์ได้อีกครั้งหนึ่งนั่นเอง

ควบคุมการแข่งขันจีน-สหรัฐ

ภายใต้การบริหารของทรัมป์ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน รูดลงสู่ระดับที่ย่ำแย่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา หลังจากทรัมป์พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้ โจ ไบเดน จะทำอย่างไรกับความสัมพันธ์กับจีน

ว่าที่ประธานาธิบดี ไบเดน เคยเน้นย้ำไว้หลายครั้งว่า วาระทางด้านการระหว่างประเทศ ไม่ได้จัดเป็นนโยบายที่มีลำดับความสำคัญสูงสุด ด้วยเหตุที่ว่า ภายในประเทศเองยังคงมีปัญหาใหญ่หลวงให้ทำอยู่เต็มมือ ตั้งแต่การจัดการความแตกแยกทั้งทางการเมือง และในเชิงชาติพันธุ์ในสังคม การยับยั้งการระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกัน สมาชิกสภาคองเกรส ทั้งเดโมแครตและรีพับลิกัน เริ่มมีความคิดเห็นต่อจีนไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า จีนคือ “คู่แข่งขันที่สำคัญที่สุด” ในเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา

ด้วยเหตุผลเหล่านั้น การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อจีนของฝ่ายบริหารในสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของไบเดน ก็คงมีจำกัด ไม่ว่าจะด้วยเหตุ ทั้งที่ไม่มีแรงจูงใจให้เปลี่ยนแปลง หรือไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ก็ตามที

อย่างไรก็ตาม การก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาของ โจ ไบเดน ก็ทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่มีโอกาสดีในการปรับปรุงความสัมพันธ์กับจีนให้ดีขึ้นหรืออย่างน้อยก็ไม่อยู่ในสภาพเสื่อมทรุดลงตลอดเวลาเหมือนที่ผ่านมาได้ หากต้องการทำ

ยู่ เถียจุ้น รองประธานสถาบันศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ให้เห็นว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐอเมริกาที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นมา ไม่เพียงเป็น “สิ่งจำเป็น” ของประเทศทั้งสองเท่านั้น หากยังจำเป็นสำหรับทั้งโลกอีกด้วย

หากขาดความร่วมมือซึ่งกันและกันของจีนกับสหรัฐอเมริกา สถาบันระหว่างประเทศสำคัญๆ อย่าง สหประชาชาติ องค์การการค้าโลก และองค์การอนามัยโลก ไม่สามารถทำงานได้เต็มสมรรถนะอย่างที่ควรจะเป็น

ความท้าทายที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศหนึ่งประเทศใด อย่างปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 เสถียรภาพของระบบการเงินโลก หรือแม้แต่กระทั่งการดำเนินความพยายามเพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์ ก็ยากที่จะบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่เว้นแม้แต่ปัญหาในระดับภูมิภาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในทะเลจีนใต้, อิหร่าน, อัฟกานิสถาน หรือเกาหลีเหนือก็ตาม ก็ยากที่จะเกิดการประสานงานขึ้นได้

ที่น่าสนใจก็คือ แม้ว่าหลายๆ เรื่องหลายๆ ประเด็นเหล่านี้ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกามีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ ภายใต้สภาวการณ์ที่เป็นอยู่ ก็ไม่ง่ายนักที่จีนและสหรัฐอเมริกาที่จะร่วมมือกัน ทั้งสืบเนื่องจากสัญญาณการเปลี่ยนขั้วอำนาจในช่วงที่ผ่านมา การแข่งขันช่วงชิงเชิงอุดมการณ์ที่ถูกกระพือขึ้นจนเกินจริง การพยายามแยกเศรษฐกิจที่พึ่งพาซึ่งกันและกันออกจากกัน การชิงชัยกันเป็นผู้นำในเชิงนวัตกรรม ซึ่งในที่สุดก็ส่งผลให้มติมหาชนในสองประเทศเรียวรูดลงตามลำดับ กลายเป็นผลในเชิงจิตวิทยาที่สร้างความอึดอัด กระวนกระวายขึ้นในทุกๆ เรื่อง ที่ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาเข้าไปเกี่ยวข้อง

ลงเอยด้วยการทำให้การเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เข้มข้นขึ้นตามเวลาผ่านไป

ข่าวดีของความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ก็คือ ไบเดน อยู่กับร่องกับรอยมากกว่าและมีเหตุมีผลมากกว่า ทั้งยังถูกคาดหวังว่าทีมงานที่เขาเลือกเข้ามาก็ควรเป็น “มืออาชีพ” มากกว่าทีมงานของทรัมป์

ข่าวที่ไม่ค่อยดีนักก็คือ การยึดติดกับแนวนโยบายที่อิงอยู่กับการ “ส่งออก” อุดมการณ์เสรีนิยม สิทธิมนุษยชน และทฤษฎีสันติประชาธิปไตยของเดโมแครตก็อาจทำให้เกิดอาการกระพือ แกว่งขึ้นๆ ลงๆ ของความสัมพันธ์ทวิภาคีได้ในอนาคตเช่นเดียวกัน

ความท้าทายสำคัญไม่เพียงเฉพาะต่อ ไบเดน แต่ยังรวมถึง สี จิ้นผิง ก็คือ ในเมื่อการเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์ซึ่งกันและกัน หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็จำเป็นต้องทำให้การแข่งขันดังกล่าวให้อยู่ในความควบคุมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คุมให้เป็นการแข่งขันในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นธรรม

ในขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมที่จะร่วมมือซึ่งกันและกันได้ในวาระและโอกาสที่เหมาะสมเช่นเดียวกัน

การให้ความสำคัญกับ‘อาเซียน’

ข้อเท็จจริงที่ชวนขมขื่นสำหรับอาเซียนในแง่ของความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมา ก็คือ อาเซียนทั้งภูมิภาคไม่เคยอยู่ในความใส่ใจของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เลยแม้แต่น้อย

ไม่เพียงเท่านั้น ทรัมป์ เองก็ไม่เคยได้รับแรงกดดันจากภายในประเทศให้หันเหความสนใจมายังภูมิภาคนี้ หรือใส่ใจในประเด็นที่เกี่ยวกับภูมิภาคนี้ ไม่แม้แต่กระทั่งจะเปิดวิวาทะ ขัดแย้งกับชาติสมาชิกด้วยซ้ำไป

อาเซียน เพียงแค่ไม่มีความหมาย ไม่มีความสำคัญใดๆ ต่อทรัมป์เอาเลย เท่านั้นเอง

อย่างไรก็ตาม ชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของ โจ ไบเดน ก็ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่า สหรัฐอเมริกาจะหันเหยุทธศาสตร์มาสนใจในอาเซียนมากขึ้นกว่าเดิม หรือตัวไบเดนเองจะผูกสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบรรดาผู้นำอาเซียนมากกว่าเดิมแต่อย่างใดทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม บุคลิกส่วนตัวของไบเดน เป็นที่ชื่นชอบของบรรดาผู้นำในกลุ่มอาเซียนมากกว่าทรัมป์ ในเวลาเดียวกันก็ว่ากันว่า ไบเดนนิยมการขับเคลื่อน หรือผลักดันวาระใดๆ ในเชิงสถาบัน และไม่ต้องการกระทบกระเทือนความตกลงเดิม หรือความเป็นมิตรประเทศที่ยืนยงมายาวนานกับพันธมิตรสำคัญทั้งหลายในภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ออง เกง ยอง รองประธานบริหารของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ เอส. ราชารัตนัม ในสิงคโปร์ ชี้ไว้ว่าสภาวะแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ยังคงเป็นไปเหมือนที่
ผ่านมา คือ สหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะมองกลับเข้าข้างใน ในขณะที่จีนยังคงเปิดฉากรุกในทุกด้าน

ตราบนั้น การขับเคลื่อนให้ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียน รุดหน้าต่อไปอย่างมีความหมาย

ก็ยังเป็น “ความท้าทายอย่างใหญ่หลวง” อยู่ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image