ปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ กร้าวแกร่งดุดัน

รายงานข่าวจากเมืองสตุ๊ทการ์ท เยอรมนี แจ้งว่า ปอร์เช่เผยโฉม เจเนอเรชั่นล่าสุดของรถแข่งที่มียอดจำหน่ายสูงที่สุดในโลก ปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ พร้อมแล้วสำหรับการออกสตาร์ต ประลองความเร็วในฤดูกาล 2021 รถแข่งรุ่นนี้คือ ส่วนหนึ่งของแคมเปญพิเศษในรายการ ปอร์เช่ โมบิล วัน ซุปเปอร์คัพ (Porsche Mobil 1 Supercup) เช่นเดียวกับการแข่งขันระดับนานาชาติอย่าง ปอร์เช่ คาเรร่า คัพส์ (Porsche Carrera Cups) จัดขึ้นในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส ทวีปเอเชีย เบเนลักซ์ และเป็นครั้งแรกในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยรูปทรงตัวถังดุดัน เร้าใจสไตล์รถเเข่งเเบบเต็มพิกัด พัฒนาต่อ
ยอดจากพื้นฐานของรุ่น 992 นับเป็นรุ่นแรกที่ปอร์เช่ดัดแปลง ให้เป็นรถแข่งด้วยตัวถังกว้างแบบ ไวด์-เทอร์โบ สเปก บอดี้ (wide turbo-spec body) พกพาพละกำลังสูงสุดประมาณ 510 แรงม้า หรือ 375 กิโลวัตต์ หรือแรงขึ้นอีกกว่า 25 แรงม้า เมื่อเปรียบเทียบกับตัวแข่งรุ่นก่อนหน้า

ยิ่งไปกว่านั้น รถแข่ง จีที3 คัพ (GT3 Cup) รุ่นใหม่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแบบสังเคราะห์ ให้ผลในการลดมลภาวะจากคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเงื่อนไข ข้อจำกัดของการแข่งขันระยะเวลาต่อรอบที่รถแข่ง 911 คันนี้ทำได้นั้น มีแนวโน้มเร็วกว่าเดิมประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเส้นทางในแต่ละสนาม ตัวรถจะได้รับการส่งมอบถึงมือทีมแข่งต่างๆ ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 เป็นต้นไป

ในอดีตปอร์เช่เคยนำเสนอรถแข่งสายพันธุ์ 911 Cup ครั้งแรกเมื่อปี 1990 เป็นการนำเอาพื้นฐานโครงสร้าง ของรถปอร์เช่ รหัสตัวถัง 964 มาพัฒนาต่อ และนำลงสนามอย่างเป็นทางการฤดูกาลแรกในรายการ ปอร์เช่ คาเรร่า คัพส์ ประเทศเยอรมนี ด้วยพละกำลัง 260 แรงม้าในขณะนั้น จนกระทั่งปี 1993 รถแข่งดังกล่าวได้รับการบรรจุให้ลงสนาม ในรายการใหม่อย่าง ปอร์เช่ ซุปเปอร์คัพ ส่วนหนึ่งของโปรแกรมการแข่งขัน ฟอร์มูล่า วัน

Advertisement

นับจากนั้น เป็นต้นมา ทายาทผู้สืบทอดเกียรติประวัติแห่งความสำเร็จในฐานะรถแข่ง ได้เปิดตัวต่อมาอีก 5 เจเนอเรชั่น บันทึกสถิติรถแข่งที่มียอดการผลิตสูงสุดจำนวนทั้งสิ้น 4,251 คัน

“ปอร์เช่ 911 สร้างประวัติศาสตร์จากการเป็นรถยนต์รุ่นพื้นฐานสำหรับใช้ในการแข่งขัน คาเรร่า คัพส์ และ ปอร์เช่ โมบิล วัน ซุปเปอร์คัพ ไม่มีรถแข่งคันไหนสามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าได้ดีเท่ากับ 911 นับตั้งแต่ปี 1990” ไมเคิล ดรีสเซอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายขายของ ปอร์เช่ มอเตอร์สปอร์ต กล่าวและว่า รถแข่งปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ รุ่นล่าสุด คือการเริ่มต้นตำนานบทใหม่ เป้าหมายของเราคือการบรรลุยอดการผลิตมากกว่า 5,000 คัน ในปี 2021 เช่นเดียวกันกับรุ่นบรรพบุรุษของ 911 จีที3 คัพ รถยนต์คันนี้ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการช่วยยกระดับฝีมือแก่นักแข่งดาวรุ่งมากความสามารถ ให้ก้าวขึ้นสู่เส้นทางความเป็นมืออาชีพในวงการ มอเตอร์สปอร์ตรวมทั้งเป็นการรักษาพันธสัญญาที่ปอร์เช่ยึดมั่นในแนวทางการทำงานเพื่อตอบสนอง แฟนมอเตอร์สปอร์ตจากทั่วทุกมุมโลก

Advertisement

การสร้างรถแข่งรุ่นล่าสุด เริ่มเป็นรูปเป็นร่างในปี 2018 แผนการพัฒนาถูกกำหนดขึ้นในช่วงต้นปี 2019 โดยมี แจน เฟลด์แมนน์ ผู้จัดการโครงการหัวเรือใหญ่นำพาทีมปรับปรุง ด้านสมรรถนะ งานออกแบบเน้นความกร้าวแกร่งดุดัน การควบคุมง่ายขึ้น ทนทานสูงสุดมาพร้อมกับระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลดลง ผลลัพธ์ที่ออกมาปรากฏให้เห็นรถแข่งคันใหม่ สานต่อความสำเร็จเช่นเดียวกับกับรถเเข่งรุ่นพี่ ก่อกำเนิดขึ้นจากสายการผลิต จากโรงงาน สตุ๊ทการ์ท-ซุฟเฟนเฮาเซน เคียงข้างกับปอร์เช่ 911 คันอื่น

“เราต้องการวางตำแหน่งของ 911 จีที3 คัพ ใหม่ ให้เป็นรถแข่งใกล้เคียงคำว่ามืออาชีพ พร้อมกับการเพิ่มความคุ้มค่าต่อเงินลงทุนสำหรับทีมแข่งที่นำไปลงสนาม จนถึงจุดนี้เราถือ ว่าประสบความสำเร็จมาได้ในระดับหนึ่ง ยกประโยชน์ให้รูปทรงภายนอกโดดเด่น ระบบช่วงล่างปรับปรุงใหม่ และระบบไฟฟ้าอันชาญฉลาดการควบคุม 911 จีที3 คัพ รู้สึกได้ถึงความแม่นยำ และประสบการณ์ในการขับขี่สนุกมากขึ้น จากสมรรถนะยอดเยี่ยม และห้องโดยสารปรับแต่งใหม่ 911 จีที3 คัพ จึงเป็นรถแข่งที่ดีที่สุดเท่าที่ปอร์เช่เคยสร้างขึ้นมา” เฟลด์แมนน์กล่าว

หนึ่งในอุปกรณ์ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดของ 911 จีที3 คัพ ใหม่ คือระบบอากาศพลศาสตร์ ที่เหมาะสมและรูปทรงตัวถังภายนอกให้ภาพลักษณ์กร้าวแกร่งดุดัน ต้องยกความดีให้เเก่ตัวถังกว้าง เทอร์โบ-สเปก บอดี้และน้ำหนักเบา ถูกนำมาใช้เป็นครั้งเเรก ในรถแข่ง มิติความกว้างรวม 1,902 มิลลิเมตร มากกว่าความกว้างช่วงตัวถังด้านหลังของรุ่นก่อนหน้าถึง 28 มิลลิเมตร และแตกต่างด้วยการเพิ่มช่องรับอากาศ คูลลิ่ง แอร์ อินเลตส์ (cooling air inlets) บริเวณด้านหน้าของซุ้มล้อ

นอกจากนี้ ช่วงหน้าของรถสปอร์ต 911 ในรหัสตัวถังเจเนอเรชั่น 992 ถูกปรับให้กว้างขึ้นอย่างชัดเจนจากโป่งล้อขยายใหญ่ขึ้น รถแข่งปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ มีความกว้างของช่วงล้อหน้าถึง 1,920 มิลลิเมตร เปิดโอกาสให้สามารถติดตั้งล้อคู่หน้าขนาด 12 นิ้ว และล้อคู่หลังขนาด 13 นิ้ว ได้อย่างลงตัวสิ่งเหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับรถแข่งในรุ่น GT ส่งผลดีต่อการขับขี่ และประสิทธิภาพของตัวรถ

ขณะเดียวกัน รถแข่งเจเนอเรชั่นที่ 7 คันนี้ ออกแบบให้มีระบบอากาศพลศาสตร์ให้แรงกดมากขึ้น ผสมผสานการทำงานระหว่างสปอยเลอร์หลัง ร่วมกับปีกหลังและชิ้นส่วนตัวถังด้านหน้ามีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งหมดผ่านการปรับแต่งเป็นพิเศษ เพื่อการแข่งขันโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับสปอยเลอร์หน้า รวมทั้งอุปกรณ์อื่นๆ สามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งได้ตามสถานการณ์ ปีกหลังทรงสูงปรับตั้งการทำงานได้ถึง 11 ระดับ จากจุดยึดแบบ สแวน เนค (swan neck) การไหลของกระแสอากาศใต้ปีกไม่ถูกรบกวน คือประสิทธิภาพด้านอากาศพลศาสตร์ปรับปรุง เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพการควบคุมโดยเฉพาะการเข้าโค้งด้วยความเร็วสูง โครงสร้างตัวถังของรถแข่งเจเนอรชั่น 991.2 รุ่นเก่า ประกอบด้วยเหล็กกล้า 70 เปอร์เซ็นต์ และอะลูมิเนียม 30 เปอร์เซ็นต์ อัตราส่วนดังกล่าวถูกสลับที่กันในรถแข่งคันใหม่

แท้จริงแล้วตัวรถมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นประมาณ 35 กิโลกรัม มีน้ำหนักไม่รวมของเหลว 1,260 กิโลกรัม ส่วนที่เพิ่มขึ้นมีที่มาจากจุดยึดสตรัท เพื่อเสริมความแข็งแกร่งภายในพื้นที่นิรภัยหลังคาแบบถอดได้กรณีเกิดอุบัติเหตุตามมาตรฐานล่าสุดของ FIA

หน้าต่างทุกบานได้รับการติดตั้งในรถแข่ง GT3 Cup ผลิตจากวัสดุ โพลีคาร์บอเนต น้ำหนักเบา ทนทาน ต่อรอยขีดข่วน และแรงกระแทก ด้วยการเคลือบแข็ง ประตูรถ ฝากระโปรงท้ายและปีกหลัง ผลิตจากวัสดุ คาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) ฝากระโปรงหน้า รวมทั้งช่องระบายอากาศ และช่องรับอากาศเข้าห้องโดยสาร ยังคงใช้วัสดุพื้นฐานเช่นเดียวกับในปอร์เช่ 911 คาร์เรร่า ชิ้นส่วนดังกล่าวผลิตจากอะลูมิเนียม มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า หากต้องซ่อมแซมกรณีเกิดความเสียหายจากอุบัติเหตุ

การวางตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ นอกจากการปรับเลื่อนเข้าออกแนวราบ เบาะ เรซซิ่ง ซีท ใหม่ ปรับความสูงได้ถึง 2 ระดับ เมื่อผสานกับคอพวงมาลัยปรับระดับได้เช่นเดียวกัน แผ่นรองรับร่างกายมีหลายขนาดความหนา ปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ขับขี่ได้

ออกเเบบเพื่อควบคุมฟังก์ชั่นหลัก อาทิ ระบบแสงสว่าง ระบบระบายอากาศ หรือการปรับตั้งค่าตัวรถเมื่อเปลี่ยนจากยางแห้งเป็นยางเปียก หนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็น ถึงรายละเอียดอันชาญฉลาดคือ การปรับตั้ง เบรก บาลานซ์ (brake balance) ในรถแข่งรุ่นใหม่สามารถตั้งค่าได้ง่ายดาย ผ่านสวิตช์โรตารี่ด้านขวาสุดของปุ่ม RSP ทิศทางการเลื่อนสวิตช์จะขึ้นอยู่กับความต้องการปรับเพิ่มหรือลดแรง ดันเบรกของล้อคู่หน้า

เปลี่ยนแปลงอุปกรณ์บนคอนโซลกลางใหม่แบบยกชุด หน้าจอสีขนาด 10.3 นิ้ว แสดงข้อมูลหลักที่ผู้ขับขี่ จำเป็นต้องได้รับขณะอยู่ในสนาม รอบเครื่องยนต์อุณหภูมิน้ำและน้ำมันหล่อลื่นสัญญาณเตือนฉุกเฉินหรือค่าความผิดปกติต่างๆ ถูกตั้งค่าให้ปรากฏขึ้นทันทีเมื่อจำเป็น อาทิ ข้อความเตือน เวท (wet) เมื่อขับขี่ท่ามกลางสายฝนถนนลื่น การแสดงข้อมูลทุกครั้งได้รับการออกแบบให้ถูกต้องตรงกันทั้งจากหน้าจอบนรถ และหน้าจอคอมพิวเตอร์ควบคุมการแข่งขัน เพื่อให้มั่นใจว่านักแข่งและวิศวกรจะเห็นข้อมูลที่เหมือนกันทุกประการช่วยให้วิเคราะห์ผลการแข่งแต่ละสนาม ได้อย่างตรงประเด็น

การจัดเรียงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายรอบตัวรถ กล่องควบคุม มอเตอร์ สปอร์ต คอนโทรล ยูนิตส์ และระบบบันทึกข้อมูลการขับขี่ ดาต้า ล็อกเกอร์ส ย้ายตำแหน่งจากที่วางเท้าฝั่งผู้โดยสาร ไปยังมุมขวาของห้องเก็บสัมภาระ ท้ายรถ ผลที่ได้คือไม่มีสิ่งใดมาขัดขวางการติดตั้งเบาะนั่งฝั่งผู้โดยสาร เมื่อมีความจำเป็นต้องขับขี่ชั่วคราวในลักษณะ เรซซิ่งแท็กซี่ไดรฟ์ (racingtaxidrives)

ระบบช่วงล่างของรถแข่ง 911 Cup คือ ศูนย์รวมเทคโนโลยีจากสนามความเร็ว ช่วงล่างด้านหลังแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ จากรถสปอร์ตในสายการผลิตปกติ ส่วนช่วงล่างด้านหน้าเป็นแบบปีกนกคู่ ดับเบิล วิชโบนส์ (double wishbones) และลูกปืนแบบ ยูนิบอล แบริ่งส์ (Uniball bearings) เช่นเดียวกับ 911 อาร์เอสอาร์ (RSR) รถแข่งตัวแรงที่สุดของปอร์เช่ในปัจจุบัน ด้วยสิ่งนี้ โช้กอัพไม่มีความจำเป็นต้องรับแรงในแนวราบ มีเพียงแรงในแนวแกนเท่านั้นที่กระทำ ผลลัพธ์คือความเฉียบคมขณะบังคับเลี้ยว และให้ความรู้สึกมั่นคงยิ่งขึ้นเมื่อพิจารณาถึงการทำงานของช่วงล่างด้านหน้า นอกจากนี้ตัวโช้กอัพเองยังติดตั้งเทคโนโลยีวาล์วระดับสุดยอด ถ่ายทอดมาจาก 919 ไฮบริด และ 911 RSR ผสานกับพวงมาลัยเพาเวอร์ อีเลคโทร-แมคคานิคัล (electro-mechanical) ครั้งแรกในรถแข่ง 911 จีที3 คัพ หมายความว่าจะไม่จำเป็นต้องใช้ปั๊มเพาเวอร์ และท่อทางน้ำมันไฮดรอลิกทั้งหลายอีกต่อไป

ขุมพลัง รถแข่งปอร์เช่ 911 จีที3 คัพ ยังคงยึดมั่นกับเครื่องยนต์เบนซิน 6 สูบนอน ไร้ระบบอัดอากาศในเวอร์ชั่นรถเเข่งพันธุ์แท้ ด้วยขนาดความจุ 4 ลิตร ระบายความร้อนด้วยน้ำ พละกำลังสูงสุด 510 แรงม้า (375 กิโลวัตต์) ให้รอบการทำงานสูงเป็นพิเศษ พร้อมระบบน้ำมันหล่อลื่นแบบ ดราย-ซัมพ์ (dry-sump) รีดสมรรถนะเครื่องยนต์ถึงกว่า 8,400 รอบต่อนาที เพิ่มขึ้นจากรุ่นก่อนหน้าที่ทำได้ 7,500 รอบต่อนาที ตัดการทำงาน เรดไลน์ ที่ 8,750 รอบต่อนาที ให้แรงบิดมหาศาล 470 นิวตันเมตร ที่ 6,150 รอบต่อนาที ระบบลิ้นปีกผีเสื้อแบบเดี่ยว พร้อมท่อร่วมไอดีติดตั้ง เรโซแนนซ์ แฟลพส์ (resonance flaps) คู่ มั่นใจได้ในอัตราการตอบสนองต่อเนื่องไม่มีสะดุด เมื่อทำงานร่วมกับระบบระบายไอเสีย พร้อมแคททาไลติด คอนเวอร์เตอร์สำหรับการแข่งขัน ก่อกำเนิดเสียงคำรามจากเครื่องยนต์อันดุดัน เลือกติดตั้งระบบระบายไอเสียได้ 3 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับรายการแข่งขันข้อกำหนดและสนามแต่ละแห่ง ติดตั้งระบบควบคุมเครื่องยนต์ด้วยอิเล็กทรอนิกส์ บอช (Bosch) MS 6.6

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image