หรือ 2021 จะเป็นปีทองของหนังสือเล่ม?

หรือ 2021 จะเป็นปีทองของหนังสือเล่ม?

ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ธุรกิจหนังสือทั่วโลกเหมือนจะอยู่ในสภาวะซบเซา ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย

แต่ท่ามกลางความอึมครึมทางธุรกิจ กลับมีสัญญาณบางอย่างในธุรกิจหนังสือเล่มที่น่าสนใจมาก เป็นสัญญาณที่ดีซึ่งมาพร้อมกับสภาวะวิกฤตทางสังคมโดยรวม ทั้งจากโคโรนาไวรัส และการแสวงหาความรู้แบบรีเช็กข้อเท็จจริงได้ ยอดขายออนไลน์ของหนังสือ ทั้งหนังสือเล่ม และอีบุ๊กเติบโตอย่างน่าสนใจ ในขณะเดียวกันหนังสือแนวสารคดีความรู้ประเภทต่างๆ ก็ยึดครองตลาดหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ

อเล็กซานดร้า จาก www.economist.com เปิดเผยตัวเลขทางการตลาดของธุรกิจหนังสือในสหรัฐอเมริกา ในบทความของเธอ และฟันธงว่าปีที่ผ่านมาและปีนี้ น่าจะเป็นปีทองของการซื้อขายหนังสือเล่ม เพราะวิกฤตไวรัสโควิด-19 หลังจากอีบุ๊กเติบโตแบบพุ่งพรวดระดับตัวเลข 2 หลักในตลาดหนังสือของอเมริกามาตั้งแต่ปี 2004

เป็นการกลับมาของอนาล็อก ท่ามกลางความเคลื่อนไหวรุนแรงรวดเร็วของดิจิทัล

Advertisement

ปีแห่งโควิด-19 ยอดขายของหนังสือเล่มเพิ่มขึ้นเกือบ 7% ทั้งที่ร้านหนังสือมากมายต้องปิดตัวลงทั้งถาวรและชั่วคราว สำนักพิมพ์ออกหนังสือล่าช้ากว่าแพลนที่วางไว้ และอเมซอนให้ความสำคัญกับการขายเจลล้างมือมากกว่าอย่างอื่น

หนังสือเล่มและหนังสือเสียง กลายเป็นจุดผ่อนคลายของผู้คนที่เบื่อหน่ายหน้าจอคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ในวันที่โลกของการทำงานและชีวิตส่วนตัวเบลนด์เข้าเป็นเนื้อเดียวกันจากการ Work From Home

เมื่อคนอ่านหันมาซื้อหนังสือออนไลน์มากขึ้น เลยทำให้วงการหนังสือเล่มเติบโตขึ้นกว่า 27% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจมากคือ ประเภทของหนังสือที่ได้รับความนิยมลำดับต้นๆ คืองานเขียนแนวสารคดี (Non Fiction) ประเภทต่างๆ หรืองานแนวความรู้นั่นเอง

ที่รู้สึกว่าน่าสนใจ เป็นเพราะเมื่อประเมินจากสถานการณ์สังคมโลกแล้ว แทนที่งานเขียนแนว Non Fiction จะมาแรง เพราะผู้คนต้องการการปลอบประโลมใจ แต่กลับกลายเป็นว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องการยามชีวิตคับขันจริงๆ คือความรู้ และความคิด

ที่อเมริกา หนังสือเกี่ยวกับการเมืองหลายเล่ม รวมถึงหนังสือบันทึกความทรงจำของ บารัค โอบามา เล่มแรก กลายเป็นหนังสือที่ขายดี และการประท้วงทั่วประเทศเพื่อทวงความยุติธรรมทางเชื้อชาติ กระตุ้นให้ผู้คนอยากอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องสิทธิพลเมืองและเชื้อชาติต่างๆ โดยมีการแนะนำรีวิวมากมายทั้งในโลกออนไลน์และออฟไลน์

หันกลับมาดูธุรกิจหนังสือไทยปี 2021

เมื่อปลายปีที่แล้ว เพจลงทุนแมน เคยเปิดตัวเลขรายได้ร้านหนังสือออนไลน์ Readery ว่าอยู่ที่หลักสิบกว่าล้านบาทต่อปี

ใช่แล้ว ร้านหนังสือออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีค่าเช่าร้านนี่ล่ะ

ในช่วงโควิด-19 รอบก่อนหน้า ร้านหนังสือออฟไลน์ที่มีหน้าร้านโดยเฉพาะในห้างสรรพสินค้าต้องปิดตัว ร้านสแตนด์อโลนหลายร้าน ปรับตัวมาขายออนไลน์อย่างชัดเจน รวมถึงสำนักพิมพ์ต่างๆ ด้วย ที่ทำธุรกิจซื้อขายกับนักอ่านโดยตรงผ่านออนไลน์ เมื่อไม่กี่วันก่อนร้านหนังสือซีเอ็ด ที่ต้องปิดสาขาชั่วคราวถึง 95% ระหว่างที่โควิด-19 ระบาดรอบแรกเมื่อปีก่อน ก็เปิดเผยว่าช่องทางการซื้อหนังสือผ่านออนไลน์ของซีเอ็ด เติบโตขึ้นกว่า 200% ในปีที่ผ่านมา

เป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างสอดคล้องกับหลายประเทศทั่วโลก ไม่ใช่แค่อเมริกา ที่การซื้อขายหนังสือเล่มในออนไลน์เติบโตอย่างน่าสนใจ

อีกประเด็นที่สอดคล้องอย่างน่าสนใจคือการเติบโตของหนังสือแนวความรู้ในไทย โดยเฉพาะช่วงไหนที่มีม็อบรัวๆ โดยกลุ่มคนอ่านหลักๆ คือเด็ก เยาวชน วัยทำงานที่ต้องการรู้ว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทยในวันนี้

หนังสือหนักๆ อย่างการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ จึงท็อปฟอร์มไม่แพ้อเมริกา ในขณะเดียวกัน หนังสือแนวนวนิยายไทยที่เป็นเล่มก็ยอดตกลงอย่างน่าใจหาย แต่ก็ไปเติบโตอย่างมากในออนไลน์ ทั้งในแง่ของอีบุ๊ก และการจ่ายเงินอ่านเป็นตอนๆ ในแพลตฟอร์มต่างๆ

น่าสนใจว่า ท่ามกลางสถานการณ์โลกเช่นนี้ สังคมแบบนี้ หนังสือเล่มจะเติบโตไปได้ขนาดไหน

และหนังสือแนวความรู้ที่กำลังมาแรงในส่วนต่างๆ ของสังคมโลก จะมีพลังมากขนาดไหน ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกหลังโควิด-19

สิรนันท์ ห่อหุ้ม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image