สัพเพเหระคดี : ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

คุณสมสวยอายุ 18 ปี สมัครเข้าสอบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (หญิง) ในปีหนึ่ง

ปีนั้น ผู้สอบผ่านข้อเขียนแล้ว เข้ารับการตรวจร่างกาย โดยคณะกรรมการผู้รับผิดชอบได้จัดให้มีการตรวจคราวละ 5-10 คน แต่ละคนต้องถอดเสื้อออก เพื่ออยู่ในสภาพพร้อมตรวจกับแพทย์ทันทีเมื่อถึงคิว และยืนรออยู่ที่ประตูห้อง

ตรวจเสร็จแล้ว คุณสมสวยมาคิดทบทวนว่า การเช่นนั้น น่าจะไม่ชอบ จึงมายื่นฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ต้นสังกัดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจต่อศาลปกครองชั้นต้น เรียกค่าสินไหมทดแทน 5.5 ล้านบาท

ศาลปกครองชั้นต้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการตรวจร่างกาย คณะกรรมการตรวจร่างกายได้กระทำในห้องที่มีผู้รอรับการตรวจคนอื่นอยู่ด้วย แม้ผู้รอรับการตรวจจะเห็นเพียงด้านหลังของผู้เข้ารับการตรวจก็ตาม แต่ถือเป็นการตรวจที่ไม่เหมาะสมเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามแม้การดำเนินการอาจจะไม่เหมาะสมอยู่บ้าง แต่มิได้กระทำจนถึงขนาดก่อให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายต่อร่างกายหรือชื่อเสียงประการใด จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี

Advertisement

พิพากษาให้ยกฟ้อง

คุณสมสวยอุทธรณ์คดี

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า ในการตรวจร่างกายของผู้สมัครสอบคัดเลือก ต้องกระทำเท่าที่จำเป็น เพื่อการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการบรรจุเข้ารับราชการเป็นข้าราชการตำรวจ โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครอง และต้องมีผลเป็นการจำกัด หรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามที่รัฐธรรมนูญรับรองเท่าที่จำเป็น

Advertisement

การที่คณะกรรมการใช้วิธีการตรวจร่างกายโดยการจัดชุดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายเข้าตรวจร่างกายพร้อมกันหลายคน โดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อออกจากตัว และถือไว้ในลักษณะพร้อมตรวจร่างกายเมื่อพบแพทย์ จึงเป็นวิธีการเข้าตรวจร่างกายที่ยังไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้กับผู้เข้ารับการตรวจร่างกายที่เป็นเพศหญิง เพราะก่อให้เกิดภาพที่ไม่สมควร และอาจเป็นการล่วงละเมิดต่อสิทธิส่วนตัวเกินจำเป็น

เมื่อวิธีการจัดการตรวจร่างกายเช่นนั้น ไม่มีกฎหมายระเบียบข้อบังคับของทางราชการ หรือแบบแผนการปฏิบัติราชการให้กระทำได้ ประกอบกับพฤติการณ์แห่งการกระทำดังกล่าว เห็นได้ว่าขาดความระมัดระวังและขาดมาตรการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนแก่ผู้เข้ารับการตรวจร่างกาย

จึงรับฟังได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจร่างกาย มีผลกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีเกินความจำเป็น อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 4 มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 และเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สตช.ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดีในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539

ส่วนค่าสินไหมทดแทนนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า มาตรา 438 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด”

เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า วิธีการเข้าตรวจร่างกายโดยการจัดชุดให้ผู้เข้ารับการตรวจร่างกายเข้าตรวจร่างกายพร้อมกันคราวเดียวหลายคนโดยแต่ละคนต้องถอดเสื้อออกและถือไว้ เพื่อรอรับการตรวจร่างกายกับแพทย์ เป็นการกระทำที่กระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิส่วนตัวของผู้ฟ้องคดีเกินความจำเป็นโดยคำนึงถึง อายุ อาชีพ ฐานานุรูปของผู้ฟ้องคดีในสังคมประกอบความสมเหตุสมผลในการเยียวยา จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีเป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท

พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้ สตช.ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่คุณสมสวยเป็นเงินจำนวน 1 แสนบาท

(เทียบคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1113 /2561)

++++++++++++++++++++++++++++

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

โอภาส เพ็งเจริญ [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image