ข้ออ้างการปฏิวัติ รัฐประหารการเมืองไทยสมัยใหม่

ข้ออ้างการปฏิวัติ รัฐประหารการเมืองไทยสมัยใหม่

ข้ออ้างการปฏิวัติ รัฐประหารการเมืองไทยสมัยใหม่จากฉบับพิมพ์ครั้งแรกปี 2550 ในชื่อเดิมคือ “ข้ออ้าง-รัฐประหาร-กบฏในการเมืองไทยปัจจุบัน : บทวิเคราะห์และเอกสาร” กลับมาแบบสมบูรณ์ด้วยฉบับปรับปรุงแก้ไขชื่อ “ข้ออ้าง” การปฏิวัติ-รัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ โดยเฉพาะบทวิเคราะห์ได้ปรับปรุงแก้ไขให้ทันยุคอย่างสำคัญ ส่วนลำดับเหตุการณ์ ได้เพิ่มให้กินเวลามาถึงปี 2561 อันเป็นปัจจุบันในการพิมพ์ครั้งนี้ ส่วนภาคเอกสาร ได้เพิ่มคำสั่งฉบับที่ 1 ของคณะรัฐประหาร 2557 ดังนั้น การพิมพ์ครั้งนี้นับว่าครบถ้วน

 

ข้ออ้างการปฏิวัติ รัฐประหารการเมืองไทยสมัยใหม่หนังสือ “ข้ออ้าง” เล่มนี้คือ การศึกษาการเมืองไทยแบบภาพรวมยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษ แสดงให้เห็นว่ากระแสประชาธิปไตยสากลยังเป็นกระแสสำคัญของโลกและไทย แม้จะถูกเหนี่ยวรั้งให้กลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และรัฐทหารหรือพลังราชาชาตินิยมเป็นระยะๆ ก็ตาม หนังสือเล่มนี้เป็นการศึกษาวิเคราะห์การเมืองไทย แบบประวัติศาสตร์ช่วงยาว ซึ่งช่วยให้เห็นความต่อเนื่องอย่างมีพลวัตในการเมืองไทย หาได้มองเหตุการณ์ปฏิวัติและรัฐประหารอย่างแยกส่วนแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งจะทำให้เราไม่เห็นพลังและปัจจัยสำคัญ ที่ผลักดันเหตุการณ์ต่างๆ อย่างแท้จริง

ดูลำดับเหตุการณ์ศตวรรษการเมืองไทยสมัยใหม่ อ่านวิเคราะห์ข้ออ้างการปฏิวัติและรัฐประหารในการเมืองไทยสมัยใหม่ พร้อมเอกสารข้ออ้างการปฏิวัติรัฐประหาร และติดตามภาคสมัยประชาธิปไตย ก็จะเห็นเส้นทางบ้านเมืองมากระจ่าง

Advertisement

อาจารย์ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ค้นคว้าข้อมูลมาเป็นเขียนให้เห็นภาพเต็มครบถ้วนเป็นอย่างดี

  การเมืองไทยยังเป็นเรื่องที่คนไทยละเลย ไม่สนใจ ไม่ได้ โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาประชาชนคนรุ่นใหม่ ที่ยังมีเวลาของตนเองยืนยาวไปข้างหน้า ในศตรรษดิจิทัล ศตวรรษเทคโนโลยีวิทยาการ ที่ทิ้งรูปอดีตซึ่งคุ้นเคยมาไกล หากมิได้ทำความเข้าใจกับรากเหง้าที่ผ่านมาแล้ว ย่อมเดินก้าวไปข้างหน้าอย่างขัดเขิน ยากลำบาก ไม่เข้าใจโลก ทั้งมึนงงและไม่เข้าใจตัวเองที่ตัวเองคิดว่าเข้าใจดีแล้ว

Advertisement

อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ได้เขียนคำนำบางส่วนในหนังสือ 2475 อภิวัฒน์สยาม เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ยังไม่เสร็จ ไว้ว่า ในวัยที่กำลังย่างเข้า 88 ปีของสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หนังสือเล่มนี้ เป็นหมุดหมายบั้นปลายที่ถูกปักลงไว้ให้สังคมและประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับชนชั้นบนๆ เพื่อจักได้ตระหนักว่า “อะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็นกันแล้ว และอะไรที่เคยเห็นๆ กันมาชั่วชีวิต ก็อาจไม่ได้เห็นอีกต่อไป” ถ้าหากไม่ปฏิรูป ไม่ปรองดอง ไม่สมานฉันท์กันและกัน เพราะอย่างไรเสีย “ความเปลี่ยนแปลง” ได้เดินทางมาถึงสยามประเทศไทยแล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นผลงานการคิด การเขียน การอ่าน และเป็น “มุขปาฐะ” ที่ไม่ใช่หนังสือวิชาการ หรือวิทยานิพนธ์ นี่เป็นเสมือน “พงศาวดารกระซิบ” ที่คนซึ่งอยู่วงใน ในแวดวงของสังคมระดับบนๆ ที่เป็น “กากีนั้ง” กันและกัน แต่ถูกนำมาเปิดเผยในวงกว้าง ที่สาธารณชนทั่วไปจะได้เปิดหูเปิดตา และนักวิชาการรุ่นนี้และรุ่นหน้า จะต้องทำงานหนัก โดยจะต้องค้นคว้าหาหลักฐานมาพิสูจน์ ว่าเรื่องที่สุลักษณ์เล่าให้เราฟังนี้จริงหรือเท็จทางประวัติศาสตร์มากน้อยแค่ไหน

บทบาทในการเป็น “ห้ามล้อหรือกันชน” หรือ “ปัญญาชนสาธารณะ” ของสุลักษณ์ จะเป็นที่ตระหนักของสังคมไทยหรือไม่ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ กระแสธารประวัติศาสตร์และเวลาเท่านั้นที่จะตอบเราได้

แต่ในสภาพการณ์ของความเคลือบแคลงไปกับโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจเสรีนิยม ลัทธิการพัฒนาสุดขั้วกับอวิชชาและการบูชาอำนาจและเงินตราเป็นพระเจ้า รวมทั้งความแตกแยกในสังคมไทย กับวิกฤตศรัทธาอย่างไม่เคยปรากฏรุนแรงอย่างมากใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี้น่าเชื่อว่า ความฝันความต้องการของสุลักษณ์ ที่จะให้สังคมนี้ฝ่าข้าม “วิกฤตและความรุนแรง” ไปได้ด้วยดี และด้วย “สันติประชาธรรม” ก็ยังอยู่ไกลแสนไกล

นี่จึงเป็นหนังสืออีกเล่มในยามนี้ ที่จะต้องหาอ่าน

  แน่นอน การอยู่กับปัจจุบันให้ถูกต้องเหมาะสม จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเข้าใจที่มาหรือรากฐานของอดีตก่อนหน้า ยามนี้สังคมจึงได้ยินชื่อคณะราษฎรถี่ขึ้นหลังจากถูกละเลยไปเกือบร้อยปี กระทั่งราชบัณฑิตก็ต้องเขียนหนังสือขึ้นเพื่อให้สังคมเข้าใจ คณะราษฎร ผู้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญ ของ วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่พูดถึง “คณะราษฎร” กลุ่มคณะบุคคลผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทยให้ก้าวหน้า แต่กลับไม่เป็นที่จดจำ

 

เมื่อช่วงสองสามปีที่ผ่านมา การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง ทำให้ “กระแสประวัติศาสตร์คณะราษฎร” กลับเป็นที่สนใจขึ้นในสังคมไทยโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เป็นไปได้ไหมว่า พื้นที่เกี่ยวกับความทรงจำ “คณะราษฎร” ถูกครอบงำไว้ หรือถูกตัดตอน จากกลุ่มคนที่ไม่ต้องการให้ความรู้เกี่ยวกับคณะราษฎร โดยใช้ประวัติศาสตร์อีกแบบมาควบคุมไว้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ใดกับสังคม แทนที่จะใช้ความรู้ดังกล่าวมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้อดีต ให้เท่าทันปัจจุบัน และมองไปในอนาคต

หนังสือเล่มนี้จึงอธิบายประเด็นต่างๆ ที่ยังมีความสับสน ให้เกิดความชัดเจนและถูกต้อง

  อ่านเอาเรื่องกันมาสามเล่มแล้ว หากยังเจียดเวลาจากการทำมาหากินในช่วงไวรัสระบาดได้บ้าง อยากให้อ่าน 11 เรื่องสั้นจากญี่ปุ่น ฝีมือนักเขียนสตรีระดับรางวัล ยุกิโกะ โมะโตะยะ เรื่อง นักเพาะกายผู้โดดเดี่ยว แปลโดย มุทิตา พานิช ว่าด้วยงานเขียนสัจนิยมมหัศจรรย์ที่ปะทะเสียดสีความขัดแย้งร่วมสมัย เป็นภาพฝันอันงามหยดที่ผสานกับความจริงอันปวดร้าว

“คงไม่อยากเห็นภรรยาในภาพแบบนี้ล่ะสิ แต่ว่านี่แหละตัวจริงของฉัน” ฉันโพสท่าต่อไปเรื่อยๆ ต่อหน้าเขา แสดงสีหน้าต่างๆนานาอย่างไม่เคยทำมาก่อน สีหน้าหงอยเหงา สีหน้าเศร้าสร้อย สีหน้าตอนที่คิดว่าที่จริงไร้สาระ สีหน้าตอนที่คิดว่าเซ็กซ์ของเธอไม่ได้เรื่อง นี่แหละตัวฉัน ฉันเรียกร้องออกไปอีกครั้ง ฉันไม่ใช่แม่บ้านธรรมดาดาษดื่น ไม่ใช่แม่บ้านน่าเบื่อที่สามีจะอยู่ด้วยโดยไม่สนใจ

หนังสือเล่มนี้มี 8 เรื่องจากเล่ม ปิคนิค อิน เดอะ สตอร์ม ซึ่งได้รับรางวัล “เคนซาบุโร โอเอะ” นักเขียนรางวัลโนเบลซึ่งกล่าวถึงงานเล่มนั้นไว้ว่า “งานชุดนี้แทบถือได้เลยว่า เป็นตัวอย่างแนวคิดและรูปแบบเสนอที่สดใหม่ กระนั้น ก็เรียกร้องผู้อ่านมากกว่าความเพลิดเพลินแล้วพูดเพียงว่า อือ ก็สนุกดีนะ เพราะเป็นเรื่องสั้นที่เต็มไปด้วยการพลิกผันหักมุม ลูกเล่นแพรวพราว ทั้งมีคุณค่าทางวรรณกรรม”

นักอ่านน่าหาอ่านดู ว่านักเขียนญี่ปุ่นไปถึงไหนแล้ว

  ที่จริง พระธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นคู่มือชีวิต เป็น “คโนว์ ฮาว” นำทางให้ใช้ชีวิตได้เหมาะสมดีอยู่ เพียงแต่การเผยแผ่และศึกษาพระศาสนาในบ้านเรา กะปลกกะเปลี้ย เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายของพระพุทธองค์ ทั้งเปี่ยมด้วยอวิชชาหรือความรู้ผิดๆ จึงทำให้ทุกวันนี้ การเรียนรู้ที่จะช่วยตัวเอง ต้องหันไปหาวิธีคิดจากนอกบ้าน

หนังสือจากญี่ปุ่นเล่มนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งทำให้คิดขึ้นมาอย่างนั้น เหมือนกับที่เคยคิดทุกครั้งเมื่อเห็นหนังสือทำนองเดียวกันนี้

ไม่เห็นด้วยก็ลองค่อยๆ ใคร่ครวญดู

ฝึกตัวเองให้เป็นคนที่ทิ้งเป็น ของ ชิฮะระ ทะกะชิ แปลโดย สกล โสภิตอาชาศักดิ์
ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษาด้านความสำเร็จ และเป็นเซียนเกมปาจิงโกะ เรียนจบเพียงมัธยม ผู้เฝ้าสังเกตความสัมพันธ์ระหว่าง “ความสำเร็จ” กับ “ความสุขในใจ” ของผู้คน จนพบว่าคนที่ประสบความสำเร็จมักเป็นคนที่ทิ้งเป็น จึงได้มาเปิดเผยและแนะนำวิธีทิ้งให้กับคนทั้งหลายได้เป็นสุขบ้าง เพื่อรู้จักฝึกฝนจากคนที่ทิ้งไม่เป็นมาเป็นคนที่ทิ้งเป็น จากคนที่ทิ้งยากเพราะกลัว กังวล เสียดาย ที่พร้อมสำหรับวิธีคิดใหม่ ไม่ยึดติดวิธีคิดเดิมวิธีการเดิมอีกต่อไป ให้ปราศจากความกังวลในทุกด้าน ไม่ว่างาน เงิน ความสัมพันธ์ หรือเป้าหมายในชีวิต

การฝึกทิ้งนี้ มิใช่การลด ละ เลิก เว้น ในเรื่องต่างๆ หรือการไม่ยึดมั่นถือมั่น ถึงขนาดไม่มีตัวกู ของกู ทางพุทธมิใช่หรือ

  หนังสือน่ารู้อีกเล่มที่เห็นแล้วอยากชวนมาอ่านด้วยกัน เพราะคงมีคนไม่น้อยที่สนใจหรืออยากรู้เช่นเดียวกันในเรื่องนี้ จากดับสูญสู่นิรันดร์ : ส่องวิถีหลังความตายจากหลากหลายวัฒนธรรม ของสัปเหร่อหญิงซึ่งเป็นนักเขียนขายดี เคทลิน ดัฟตี้ ผู้รณรงค์ให้คนเปิดใจกว้างกับความตาย ด้วยการนำผู้อ่านออกเดินทางสำรวจวิถีหลังความตายทั่วโลก ไปร่วมฉลองเทศกาลวันแห่งผู้ล่วงลับของเม็กซิโก ขอพรกับหัวกะโหลกศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวโบลิเวียศรัทธา ตื่นตากับอาคารเก็บอิฐสุดไฮเทคกลางกรุงโตเกียว ท่องไปในชุมชนอินโดนีเซียที่ครอบครัวคนเป็นยังใช้ชีวิตร่วมกับคนตาย ยังมีเครสโตนในโคโลราโด คัลโลวีในนอร์ธ แคโรไลนา โจชัวทรีในแคลิฟอร์เนีย บาร์เซโลนาในสเปน ที่ล้วนทำให้แตกตื่นใจ

นี่คือหนังสือที่เล่าเรื่องวัฒนธรรมความตายได้อย่างมีชีวิต ทำให้ต้องพินิจความตายในแง่มุมใหม่ ว่าความตายมิใช่ปลายทางของชีวิต แต่เป็นการเดินทางของความระลึกถึงอันเป็นนิรันดร์ กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ แปลให้อ่านอย่างเข้าถึงความตาย

หนังสือที่อาจทำให้ไม่กลัวตายได้ ลองอ่านดู

  ท้ายสุดประจำสัปดาห์ อย่าลืม มติชนสุดสัปดาห์ นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว ว่าด้วย “รักประหาร” อ่านทุกเรื่องร้อนรอบตัว และทุกเรื่องเย็น(ชา)รอบตัว เพื่อให้รู้ว่า วันนี้ ไม่ว่าอยากจะอยู่ร้อนหรืออยู่เย็น ล้วนเลือกไม่ได้ เพราะเย็นร้อนต่างทำให้จุกจนเหน็บเหมือนๆ กัน

อ่านแล้วระวังก่อนที่จะสุ่มเสี่ยงออกจากบ้าน เพราะทุกตารางนิ้วในทุกพื้นที่ล้วนเป็นพื้นที่เสี่ยง อย่าประมาทเด็ดขาด – ขอคุณพระคุ้มครองทุกๆ คน

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image