เล่าเรื่องหนัง : Nomadland โดดเดี่ยวอย่างเด็ดเดี่ยว

เล่าเรื่องหนัง : Nomadland โดดเดี่ยวอย่างเด็ดเดี่ยว
ภาพประกอบ Youtube Video/ SearchlightPictures

ภาพยนตร์ดราม่า “Nomadland” ได้รับการพูดถึงมากมายทั้งในแง่ศิลปะ สังคม และความอ่อนไหวทางการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกาจากตัวผู้กำกับภาพยนตร์หญิงชาวจีนโดยกำเนิดที่เป็นผู้หญิงเอเชียคนแรกในสาขารางวัลนี้ “โคลอี้ เจา” ที่มีมุมมองแนวคิดทางสังคมการเมืองตรงข้ามกับแนวคิดแบบจีนมากมาย ยิ่งเมื่อหนังเรื่องนี้กลายเป็นดาวเด่นคว้า 3 รางวัลออสการ์ของสหรัฐอเมริกา ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผู้กำกับยอดเยี่ยม และนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม ทำให้หนังถูกขยายประเด็นไปในบริบทการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“Nomadland” เป็นหนังที่สะท้อนตัวตนความเป็นหนังอเมริกันอย่างสูงด้วยการหยิบยกวัฒนธรรม “รถบ้าน” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมย่อยของสังคมอเมริกันมายาวนานมาถ่ายทอดถึงกลุ่มคนเร่ร่อนที่ระบุว่า พวกเขาไม่ใช่ “Homeless” หรือ “คนไร้บ้าน” แต่พวกเขาเป็น “Houseless” คือ “คนที่ไม่จำเป็นต้องมีบ้าน”

คำว่า “Nomad” หรือ “เร่ร่อน” ถูกใช้อย่างแพร่หลายในยุคนี้กับคนที่เป็นทั้งนักเดินทางและทำงานตะลอนไปทั่ว เช่นที่เราคุ้นหูกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานประเภทที่เรียกว่า “Digital Nomad” นั่นคือการจะไปใช้ชีวิตนั่งทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ขอให้มีเพียงความสามารถที่จะเข้าถึงเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและออนไลน์ต่างๆ ด้วยโน้ตบุ๊กหรืออุปกรณ์ดิจิทัลพกพาที่จะทำให้ทำงานระยะไกลได้จากทุกหนแห่ง ซึ่งก็เป็นหนึ่งในอาชีพเทรนด์ฮิตของหนุ่มสาวสมัยใหม่เช่นกัน

Advertisement

แต่กับกลุ่ม Nomad ในหนัง “Nomadland” ไม่ได้ฟังดูชิคๆ คูลๆ อย่างนั้น เพราะกลุ่มคน Nomad ที่หนังเรื่องนี้ถ่ายทอดให้เราเห็นนั้นโดยมากเป็นกลุ่มผู้สูงวัย ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่ทอดทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง บ้างก็เป็นพวกเขาเองที่เลือกจะปฏิเสธเดินจากมาจากระบบ และเข้าๆ ออกๆ กับระบบทุนนิยมตามความจำเป็นเท่านั้น

“โคลอี้ เจา” ผู้กำกับได้ดัดแปลงหนังเรื่องนี้จากหนังสือสารคดีเรื่อง “Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century” โดยหนังเล่าเรื่องผ่านชีวิต “เฟิร์น” หญิงวัยใกล้เกษียณ ตกงาน สามีเสียชีวิต ตัวคนเดียวไม่มีลูก ต้องเผชิญชะตากรรมจากพิษเศรษฐกิจที่ส่งผลให้โรงงานเหมืองยิปซัม “The Empire” ที่ถือเป็นโรงงานใหญ่ในระดับมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจทำให้เกิดเมืองและชุมชนขึ้นมาหลายสิบปีเป็นอันต้องจบลง เมืองล่มสลาย ในเมื่อศูนย์กลางของระบบทุนอย่างโรงงานปิดตัวลง แรงสะเทือนส่งผลต่อทั้งเมือง ไม่มีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ผู้คนย้ายออกจากเมืองที่อยู่มายาวนานหลายสิบปี

โรงงาน The Empire คือตัวแทนทุนนิยมแบบเก่าที่อยู่ไม่รอดในโลกเศรษฐกิจยุคใหม่ และ “เฟิร์น” คือภาพแทนจากคนที่ไม่รอดจากผลกระทบของโครงสร้างนี้ เธอเลือกไปใช้ชีวิตเป็นชาว Nomad พร้อมกับผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกลงถนนและถูกจำกัดความว่าเป็น “คนเร่ร่อนแบบใหม่” ใช้ชีวิตเป็น “แรงงานชั่วคราว” อาศัยอยู่ในรถแทนบ้าน ใช้ยานพาหนะของตัวเองเท่าที่มีมาดัดแปลงเป็นที่พักอาศัยที่ถูกกว่าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถปิกอัพ รถพ่วงเทรลเลอร์ ไปจนถึงรถยนต์ 4 ประตูซีดาน ใช้ชีวิตด้วยการตระเวนทำงานรับจ้างทั่วฝั่งตะวันตกของอเมริกาตามแต่ฤดูกาลทำงาน

หนังพาไปดูสังคมของกลุ่ม Nomad ที่มี “เส้นทางแผนที่” เป็นไกด์ไลน์คล้ายๆ กัน เป็นลูปของเส้นทางที่พาให้กลุ่มคน Nomad ได้มาเจอกัน และรวมตัวตามจุดจอดรถที่เปิดไว้สำหรับพวกเขาโดยเฉพาะ เมื่อรวมตัวกันสังคมเล็กๆ ของ Nomad มีตั้งแต่แลกข้าวของเครื่องใช้ แลกเปลี่ยนคำแนะนำเสมือนเป็นคู่มือชีวิต Nomad ให้แก่กันและกัน ขณะเดียวกันเราไม่อาจเรียกพวกเขาว่าเป็นคนเร่ร่อนไร้บ้านได้เต็มปาก ด้วยด้านหนึ่งก็ดูจะเป็นวัฒนธรรมสไตล์ Nomad คือการ “ไม่อยู่กับที่” ที่ใดที่หนึ่งนานๆ แต่เป็นการตะลอนไปทำงานและใช้ชีวิตในที่ต่างๆ ระยะหนึ่ง และไปที่อื่นๆ ต่อไป อาจจะวนกลับมาที่เดิมในปีถัดมาอีกก็ย่อมได้

ส่วนผู้คนในแบบ Nomad ดูผิวเผินอาจมีส่วนผสมคล้ายคลึงกับผู้คนยุคบุปผาชน แต่เอาเข้าจริงเนื้อในของ Nomadland ได้กะเทาะถึงมิติต่างๆ ของคนที่ตัดสินใจออกมาเป็นคนที่ไม่จำเป็นต้องมีบ้านเป็นหลักแหล่งจากหลายสาเหตุ และโดยมากพวกเขามักจะล่วงเลยเข้าวัยชรากันเป็นส่วนใหญ่

แต่ใช่ว่าทุกคนเลือกเป็น Nomad เพราะพิษเศรษฐกิจ หรือไม่มีทางเลือก บางคนเลือกชีวิตแบบนี้ เพราะต้องการเป็นอิสระจากระบบ เช่นที่ “เฟิร์น” ที่มีเงินเหลือเก็บไม่มากนัก และตกงาน เธอมีทางเลือกที่จะกลับไปพึ่งพิงพี่สาว หรือเพื่อนที่พร้อมจะเปิดบ้านต้อนรับ แต่ “เฟิร์น” ที่เหลือตัวคนเดียว ตัดสินใจดัดแปลงรถตู้เป็นรถบ้านขับตระเวนหางานทำชั่วคราวทำไปเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นวิถีแบบอเมริกันเช่นกันที่จะเปิดรับแรงงานชั่วคราวตามฤดูกาลที่มีตลอดปี นั่นทำให้ชาว Nomad รู้ว่าเป้าหมายของตัวเองจะเลือกไปทำงานชั่วคราวที่ไหนในตอนไหน

ตลอดทั้งเรื่อง “เฟิร์น” ที่เริ่มเป็น Nomad ในปีแรกได้แบกเอาความทรงจำในอดีตมากมายที่เคยมีชีวิตอยู่เป็นหลักแหล่ง มีคู่ชีวิตก่อนที่ทุกอย่างรอบตัวจะล่มสลายไปหมด เธอเลือกหันหลังและเดินจากมาด้วยการใช้ชีวิตแบบ “นักเดินทาง” ที่ดูโดดเดี่ยว เหน็ดเหนื่อย ลำบากไม่สะดวกสบาย เงินทองไม่ได้มีเหลือเก็บมากมาย แต่เฟิร์นก็ได้สัมผัสสัจธรรมชีวิตในที่สุดผ่านผู้คนและเรื่องราวในกลุ่ม Nomad ด้วยกัน

ตัวหนังสอดแทรกความเป็นสารคดีไว้ในบางช่วงด้วยความจงใจที่จะสะท้อนเหล่าคน Nomad ในมิติต่างๆ และอะไรที่นำพาพวกเขามาอยู่จุดนี้ ซึ่งวิถี Nomad ในแบบฉบับสหรัฐอเมริกายังได้สะท้อนในบางแง่มุมของแนวคิด Minimalist เช่นกัน เพียงแต่ Nomad ที่เราเห็นนั้นดูโหดร้ายกว่า เจ็บปวดกว่า ลำบากกว่า ดิ้นรนกว่า เพราะ Nomad จำนวนหนึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกทิ้งจากระบบ เช่น “ลินดา เมย์” เพื่อน NoMad รุ่นพี่ที่ “เฟิร์น” เจออยู่สม่ำเสมอ ซึ่งเกือบจะถอดใจจบชีวิตตัวเองจากความพ่ายแพ้ทำงานมาทั้งชีวิตเกษียณมามีเงินติดกระเป๋าไม่พอประทังชีวิต จนหันเหมาเป็น Nomad

ชะตากรรมผู้คน Nomad ใน “Nomadland” มีทั้งคนที่กลับคืนสู่ระบบ คนที่ตั้งหลักกลับไปมีหลักแหล่ง และคนที่เลือกจะลงถนนต่อไปด้วยความเต็มใจ เช่นเดียวกับที่ “เฟิร์น” ตกผลึกได้ว่า เธอจะพาเอาความทรงจำดีๆ ตลอดชีวิตติดตัวไปได้ และยืนหยัดที่จะเลือกวิถีชีวิตอิสระนี้ ด้วยบริบทและเหตุผลที่เข้าใจความเป็นตัวเองมากขึ้น ปล่อยวางอดีตและเลือกที่จะเป็น Nomad โดยไม่ได้คิดว่าเธอได้สูญเสียอะไรไป…นำไปสู่ความโดดเดี่ยวที่เด็ดเดี่ยวในบทสรุปสุดท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image