สุรชาติ บำรุงสุข : จาก ‘ทะลุฟ้า’ สู่ ‘ทะลุแก๊ซ’!

สถานการณ์การประท้วงรัฐบาลที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยกำลังสะท้อนให้เห็นถึงคุณลักษณะใหม่ จากเดิมเราเห็นถึงการต่อต้านรัฐบาลเกิดขึ้นในหมู่นิสิตนักศึกษา ซึ่ง “กลุ่มทะลุฟ้า” และกลุ่มอื่นที่มีทิศทางเดียวกันเป็นตัวแทนที่ชัดเจน อันเป็นเสมือนการประท้วงของชนชั้นกลางที่ไม่สนับสนุนรัฐบาล หรือบางคนอาจจะเรียกปรากฎการณ์ดังกล่าวว่าเป็นการประท้วงของ “ลูกหลานชนชั้นกลาง” ที่ไม่พอใจต่อรัฐบาล

ปรากฎการณ์ใหม่ของการประท้วงคือ กำลังหลักของผู้ประท้วงไม่ใช่นิสิตนักศึกษา แต่กลับเป็นนักเรียนอาชีวะ ซึ่ง “กลุ่มทะลุแก๊ซ” เป็นตัวแทนที่ดีในกรณีนี้ จนอาจกล่าวเป็นข้อพิจารณาได้ว่า การประท้วงบนถนนในกรุงเทพฯ กำลังเคลื่อนตัวลงไปสู่ “ชนชั้นกลางในระดับล่าง” มากขึ้น (หรือที่เรียกในทางทฤษฎีว่า “lower middle class”) ในสภาพเช่นนี้ อายุของผู้ประท้วงก็ลดลงตามไปด้วย จนการประท้วงของกลุ่มนี้มีลักษณะเป็น “ม็อบเยาวชน”

การประท้วงของเยาวชนหนุ่มสาวทั่วโลกมักจะมีความ “ร้อนแรง” ของอารมณ์เป็นส่วนประกอบเสมอ จะคาดหวังว่า เยาวชนคนหนุ่มสาวจะต้องเดินขบวนประท้วงด้วยความเรียบร้อย หรือนั่งลงบนถนนอย่างสงบเสงี่ยมนั้น ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน ความใจร้อนและความรุนแรงในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องของพวกเขาจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ผู้นำรัฐบาลและฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลอาจจะมองด้วยทัศนะด้านความมั่นคงว่า เยาวชนเหล่านี้เป็น “ภัยคุกคาม” และต้องตอบโต้การประท้วงด้วยความรุนแรงที่มากกว่า อีกทั้งเชื่อว่า ความรุนแรงที่มากกว่าด้วย “มาตรการควบคุมฝูงชน” ของฝ่ายรัฐจะเอาชนะ “สงครามการเมืองบนถนน” ได้ ซึ่งผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารต้องตระหนักเสมอว่า สงครามการเมืองไม่เคยสามารถเอาชนะได้ด้วยกำลังที่เหนือกว่า

ปรากฎการณ์ใหม่ของการประท้วงที่ขยับจากนิสิตนักศึกษา ลงไปสู่นักเรียนอาชีวะ ซึ่งอาจถือว่า พวกเขามีสถานะเป็น “ชนชั้นกลางล่าง” หรืออย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นจากพาหนะหลักของพวกเขาที่เป็นมอเตอร์ไซค์ แต่นิสิตนักศึกษาโดยทั่วไปไม่ได้ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นพาหะในการเดินทาง ด้วยความเป็นชนชั้นกลาง พวกเขามักเดินทางด้วยรถใต้ดินหรือรถลอยฟ้า แต่สำหรับชนชั้นกลางล่างแล้ว มอเตอร์ไซค์เป็นยานพาหนะที่ตอบโจทย์ในชีวิตของพวกเขาในกรุงเทพฯ… บีทีเอสและเอ็มอาร์ทีแพงเกินไปในชีวิตประจำวันของพวกเขาเหล่านี้ ผลเช่นนี้ทำให้การประท้วงของกลุ่มมีลักษณะอีกด้านเป็น “ม็อบมอเตอร์ไซค์” ไปด้วย และส่งผลให้มอเตอร์ไซค์เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการต่อสู้กับรัฐบาล ซึ่งภาพจากพื้นที่การต่อสู้ที่ดินแดงสะท้อนให้เห็นสภาวะเช่นนี้

Advertisement

ผลจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้ลูกหลานชนชั้นกลางล่างและครอบครัวของพวกเขาต้องเผชิญทั้งปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการไม่ได้รับวัคซีน ปัญหาการตกงานและการไม่มีรายได้ ตลอดรวมถึงปัญหาชีวิตที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 อย่างยากลำบาก เงื่อนไขต่างๆ ที่ผสมผสานกันยังรวมถึงปัญหาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวิกฤตของรัฐบาล อันทำให้ผู้คนในสังคมต้องตกอยู่ใน “มหาวิกฤต” ครั้งใหญ่ในชีวิต ในสภาพเช่นนี้ ชนชั้นกลางล่างและชนชั้นล่างหลายครอบครัวประสบปัญหาอย่างหนัก จนชีวิตแทบไม่มีทางออก และหลายคนตัดสินใจจบชีวิตตนเองอย่างน่าเห็นใจ

การประท้วงที่ขยายจากกลุ่มจากชนชั้นกลางโดยทั่วไป ไปสู่ชนชั้นกลางในระดับล่างมากขึ้นนั้น ทำให้เกิดการขยายฐานของมวลชนในการต่อต้านรัฐบาล ขณะเดียวกัน การต่อสู้ที่เกิดขึ้นบนท้องถนนในด้านหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “วิกฤตศรัทธา” ที่เกิดขึ้นกับรัฐบาล และสำหรับผู้ประท้วงนั้น การดำรงอยู่ของรัฐบาลปัจจุบันเป็น “ใจกลาง” ของปัญหา จึงทำให้เชื่อว่า จุดเริ่มต้นของแก้ปัญหาวิกฤตชุดนี้คือ การเปลี่ยนตัวผู้นำรัฐบาล

ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะเรียกร้องหา “วัคซีนที่ดีกว่า” พร้อมกับแสวงหา “รัฐบาลที่ดีกว่า” ซึ่งเงื่อนไขข้อเรียกร้องในเบื้องต้นคือ การลาออกของนายกรัฐมนตรี และมีความหวังว่า รัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากกว่าจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างชีวิตในอนาคต ดังนั้น จึงไม่แปลกที่เยาวชนเหล่านี้และรวมทั้งนิสิตนักศึกษาจะมีความเห็นไม่แตกต่างกันว่า พวกเขาสู้เพื่ออนาคตของตนเอง และมองว่ารัฐบาลปัจจุบันไม่ตอบสนองต่อชีวิตในวันข้างหน้า

Advertisement

หากเปรียบเทียบในช่วงที่ผ่านมาแล้ว จะเห็นได้ว่านับจากรัฐประหาร 2549 ต่อเนื่องเข้าสู่รัฐประหาร 2557 ฐานสนับสนุนที่เข้มแข็งต่อรัฐบาลทหารคือ เสียงของ “ชนชั้นกลางฝ่ายอนุรักษนิยม” หรืออาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า “ชนชั้นกลางปีกขวา” (หรือที่ในทางทฤษฎีเรียกว่า right-wing middle class) ซึ่งมีทัศนคติเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตย ได้ทำหน้าที่ในการเป็นฐานทางการเมืองที่สำคัญให้แก่การจัดตั้งระบอบทหารไทย และกลุ่มการเมืองนี้ยังทำหน้าที่ในการปกป้องรัฐประหารและผลพวงที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ในปัจจุบันชนชั้นกลางปีกขวาเหล่านี้ได้ปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น “สลิ่ม” เพื่อทำหน้าที่ในการต่อสู้กับฝ่ายประชาธิปไตย และเป็น “กองเชียร์” สำคัญในการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล แต่ในภาพรวม เสียงต่อต้านและเสียงประท้วงรัฐบาลดังขึ้นไม่หยุด วันนี้ทั้งนิสิตนักศึกษาและนักเรียนอาชีวะล้วนแสดงตนเป็นแนวหน้าของการประท้วงอย่างเข้มแข็ง พร้อมด้วยข้อเรียกร้องง่ายๆ คือ “ขอวัคซีนที่ดีกว่า… ขอรัฐบาลที่ดีกว่า” แต่คำตอบที่ได้รับกลับมาคือ แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

เมื่อรัฐบาลตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยพลังอำนาจของการควบคุมฝูงชนแล้ว รัฐบาลก็ต้องตระหนักในอีกด้านว่า แก๊สน้ำตาและกระสุนยางไม่ได้มีอำนาจมากพอที่จะ “ยับยั้งและยุติ” สงครามการเมืองบนถนนได้เลย!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image