เล่าเรื่องหนัง : The Chair ซีรีส์สะท้อนความเหลื่อมล้ำในรั้วมหาวิทยาลัย

เล่าเรื่องหนัง : The Chair ซีรีส์สะท้อนความเหลื่อมล้ำในรั้วมหาวิทยาลัย

เมื่อความอยู่รอดของมหาวิทยาลัยเป็นวาระสำคัญของมหาวิทยาลัยหลายแห่งทั่วโลก แน่นอนว่าแม้จะเป็นสถาบันการศึกษา แต่การมีรายได้ของมหาวิทยาลัยก็เป็นตัวแปรสำคัญในสมการการศึกษาเช่นกัน ยิ่งถ้าหากมหาวิทยาลัยนั้นๆ ไม่ได้ติดอันดับเป็นมหาวิทยาลัยยอดนิยมความยากก็ทวีขึ้นไปอีก จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันอุดมศึกษาที่มั่งคั่งต้นๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค ไปจนถึงมีชื่อเสียงระดับโลกต่างก็มีการบริหารจัดการทรัพย์สินในการหารายได้ที่ไม่ต่างจากบริษัทขนาดใหญ่

ขณะเดียวกันบางมหาวิทยาลัยก็ต้องพยายามสร้างจุดเด่นและจุดขายของตัวเองขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณนักศึกษาโดยเฉพาะในสาขาวิชาที่ไม่ได้อยู่ในกระแสของคนเรียน ซึ่งนำมาสู่เรื่องราวในซีรีส์ “The Chair” ที่พาคนดูย้อนกลับไปดูสังคมและการเมืองในรั้วมหาวิทยาลัยผ่านกลุ่มอาจารย์ภาควิชาภาษาอังกฤษของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา นำโดย “ดร.คิม จียุน” อาจารย์มหาวิทยาลัยหญิงวัย 51 ปี เชื้อชาติเกาหลีที่เพิ่งได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษสดๆ ร้อนๆ ท่ามกลางการถูกคาดหวังและกดดันจากทั้งคณบดี นักศึกษา และอาจารย์ในภาควิชาด้วยกัน

เส้นเรื่องใน “The Chair” นั้น มีหลายมิติเอามากๆ เริ่มตั้งแต่ที่ “คิม จียุน” จะต้องเผชิญหน้ากับการทำหน้าที่ที่ท้าทายในฐานะหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษคนใหม่ที่เป็นคนเอเชียคนแรกของมหาวิทยาลัยจนดูเหมือนเป็นหน้าเป็นตาให้สถาบันการศึกษาในแง่ที่เปิดกว้างและมีความหลากหลายเพื่อดึงดูดเด็กรุ่นใหม่ให้สนใจเข้ามาเรียนมากขึ้น

Advertisement

แต่ในอีกมุมหนึ่งเธอก็ถูกวางตัวจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยให้เสมือนเป็นตัวแทน “ทูตวัฒนธรรมด้านการศึกษา” มากกว่าที่จะพิจารณาถึงความสามารถกันจริงๆ พร้อมกับที่ผู้บริหารก็หวังจะใช้อำนาจผ่านเธอเพื่อบีบบรรดาอาจารย์อาวุโสทั้งหลายให้เกษียณตัวเอง เป้าหมายประหยัดงบประมาณ เท่านั้นไม่พอผู้บริหารมหาวิทยาลัยเองก็ดูจะให้ความสำคัญกับภาควิชาภาษาอังกฤษน้อยเกินไป ด้วยความคิดว่ามีต้นทุนที่เป็นภาระ และเทรนด์ของการเลือกเรียนของคนรุ่นใหม่ก็เปลี่ยนแปลงไป

ตัวซีรีส์ยังเปิดประเด็นเล่าเรื่อง “ความเหลื่อมล้ำ” และ “ความแตกต่าง” ในรั้วมหาวิทยาลัยได้น่าสนใจ อย่างน้อยๆ ที่ชัดเจนใน 4 กรณี คือ 1.ความเหลื่อมล้ำทางเพศระหว่างอาจารย์ผู้หญิงกับอาจารย์ผู้ชายที่นำมาสู่รายได้และสถานะบทบาทความก้าวหน้าในหน้าที่การงานในมหาวิทยาลัยที่แตกต่างกัน 2.ความเหลื่อมล้ำด้านชาติพันธุ์ของอาจารย์และนักเรียนในสถาบัน 3.ความเหลื่อมล้ำและทัศนคติที่แตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่นของอาจารย์รุ่นใหม่กับอาจารย์อาวุโสที่สะท้อนผ่านหลักสูตรการเรียนและวิธีสอนที่แตกต่างกัน และ 4.บทบาทที่ทับซ้อนระหว่างการเป็นครูอาจารย์ที่ต้องสวมหมวกนักบริหาร

ขณะที่เส้นเรื่องย่อยๆ ที่เคล้าไปในเรื่องคือความดราม่าและเหตุการณ์ต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัยยุคนี้ที่ต้องสอนด้วยการวางตัวและระมัดระวังตัวอย่างหนัก เมื่อโซเชียลมีเดียทำให้เกิดเรื่องเกิดราวที่ทำให้สังคมตัดสินและเข้าใจผิดกันได้ ขณะเดียวกันสังคมในมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างในการแสดงออกทางความคิดเห็นของนักศึกษาคนรุ่นใหม่ที่มากขึ้นจนผู้บริหารก็ไม่สามารถที่จะละเลยไปได้ นอกจากนี้ยังแตะไปถึงประเด็นที่สถาบันการศึกษาใช้กลยุทธ์การตลาดเข้ามาดึงดูดเพื่อหวังเรียกความสนใจให้นักศึกษาลงทะเบียนเรียนในวิชานั้นๆ เพิ่มขึ้น

“คิม จียุน” นั้นหมายมั่นว่าจะใช้ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษคนใหม่ในการปฏิรูปและบริหารหลักสูตรการเรียนการสอนที่ดีขึ้น แม้จะรู้ตัวว่าภาควิชาของเธอไม่ได้ฮอตฮิต โดยเฉพาะกับคณะวิชาที่อาจถูกตีตราว่าไม่ได้สร้างบัณฑิตเพื่อเรียนจบออกไปทำงานหาเงินเลี้ยงชีพได้เทียบเท่าคณะด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์ หรือด้านเทคโนโลยีที่เป็นเทรนด์โลก แต่ซีรีส์ก็มีช่วงที่ทำให้เห็นว่าวิชาด้านอักษรศาสตร์ วรรณกรรม วรรณคดีเหล่านี้ก็ล้วนช่วยพยุงจิตใจและเยียวยาความรู้สึกนึกคิด มุมมองต่อผู้คน และเพิ่มสุนทรียศาสตร์ในการเข้าใจโลกในมิติภายในเช่นกัน

บทบาท “คิม จียุน” แสดงโดย “ซานดร้า โอ” นักแสดงอเมริกัน-แคนาเดียนเชื้อชาติเกาหลีที่คุ้นหน้ากันดีในบทคุณหมอคริสติน่า หยาง ในซีรีส์ดัง “Grey’s anatomy” และเธอยังเจิดจรัสในบทนักสืบ MI6 จากซีรีส์อังกฤษขวัญใจนักวิจารณ์ “Killing Eve” ซึ่ง “ซานดร้า โอ” ได้ถ่ายทอดบทบาทอาจารย์หญิงวัย 50 ปี ที่ชีวิตส่วนตัวนอกจากจะยังไม่ลงตัว เธอยังต้องรับหน้าที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวจูนตัวเองกับลูกสาวตัวน้อยเชื้อชาติละตินที่เธออุปการะเข้ามาในครอบครัวที่มีภูมิหลังญาติพี่น้องที่ยังคงยึดถือวัฒนธรรมเกาหลีใต้แบบแน่นแฟ้น

เรื่องราวของ “คิม จียุน” จึงมีทั้งความเป็นมนุษย์ อาจารย์ และบทบาทของแม่ ที่เธอพยายามจะสร้างสมดุลที่ดีที่สุดให้กับทุกฝ่าย ตั้งแต่ครอบครัวเกาหลีใต้ เหล่าอาจารย์ในภาควิชา ผู้บริหารมหาวิทยาลัย และเพื่อนอาจารย์สุดซี้ที่ดันนอตหลุดจนถูกมหาวิทยาลัยตรวจสอบวินัย แต่ดูเหมือนยิ่งพยายามเท่าไหร่ เก้าอี้หัวหน้าภาควิชาภาษาอังกฤษของเธอก็ดูจะร่อแร่สั่นคลอนและอลวนไปทุกที

ซีรีส์ “The Chair” ได้นำเสนอโลกวิชาการของฝั่งศิลปศาสตร์ได้สนุกสนานตลอด 6 ตอน มีโครงเรื่องที่พูดถึงปัญหาด้านการศึกษาที่ใกล้ตัว และหลายเรื่องก็ถูกพูดถึงในบ้านเรา ซึ่งพูดกันตรงๆ ว่าประเด็นที่หยิบจับมานั้นมีหลายมิติและจับมาเขย่าเล่าได้มากมาย แต่ซีรีส์ใช้วิธีเล่าแบบกระชับและรีบจบไปใน 6 ตอนเกินไป ข้อดีคือ ความที่แต่ละเอพิโซดยาวแค่ 30 นาที และมีเพียง 6 ตอน ทำให้คนดูไม่เบื่อดูได้เพลิดเพลิน แต่ก็น่าเสียดายว่าประเด็นแวดวงการศึกษาที่วางไว้ในหลายเรื่องน่าจะได้มีการขยี้และกระจายมาเล่าได้ในสไตล์จิกกัดตลกร้ายที่เป็นกลิ่นอายของซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งก็หวังว่าหากเน็ตฟลิกซ์มองเห็นสัญญาณดีก็อาจจะไฟเขียวให้มีซีซั่น 2 ตามมา ถึงตอนนั้นก็น่าเชื่อว่าตัวซีรีส์จะเล่าเรื่องได้ลึกและไปได้อีกไกล ด้วยจุดเด่นที่ทีมนักแสดงในเรื่อง โดยเฉพาะบรรดาเหล่าอาจารย์ต่างๆ ในภาควิชา ที่คอยขโมยซีนกันได้เป็นระยะ

ถือเป็นซีรีส์แนะนำอีกเรื่องของเน็ตฟลิกซ์ที่สามารถดูได้จนจบ 6 ตอน โดยไม่ต้องกดรีโมตหนีออกไปกลางทาง ด้วยสไตล์การเล่าเรื่องที่มีความฟีลกู้ดผสมตลกร้ายและดราม่านิดๆ ทำให้ “The Chair” เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่ได้คะแนนบวกค่อนไปทางสูงจากนักวิจารณ์เลยทีเดียว

(ภาพประกอบจาก Youtube Video / Netflix)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image