เกรท วอลล์ เดินหน้า รถไฟฟ้าวิ่งได้ 600 กม.

หลังจากเข้ามาซืัอโรงงานจีเอ็ม ที่ระยอง เคยใช้ผลิตเชฟโรเลต เกรทวอลล์ มอเตอร์ จากจีน ก็เริ่มเดินหน้าบุกตลาดยานยนต์ในเมืองไทย

ประเดิมเปิดตัวรถยนต์อเนกประสงค์รุ่นแรก ฮาวาล เอช6 เป็นรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย อุปกรณ์มากมาย ในราคาน่าสนใจ

พร้อมกับการปรับแนวทางการทำตลาด และเพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ เปิดพื้นที่ในห้างเพื่อให้ลูกค้ามีโอกาสได้สัมผัสและเห็นรถยนต์ของเกรทวอลล์ได้ง่ายขึ้น ทำให้ชื่อเกรทวอลล์เริ่มเป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยมากขึ้น

ล่าสุด เกรทวอลล์โชว์วิสัยทัศน์ด้านยานยนต์ไฟฟ้า (xEV Leader) ของไทย ในงานสัมมนา ZEV Thailand Policy: Road to EV ASEAN Production Hub งานสัมมนาจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ในรูปแบบออนไลน์โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ทำให้เห็นภาพการรุกคืบของเกรทวอลล์ชัดขึ้น

Advertisement
ครรชิต ไชยสุโพธิ์

นายครรชิต ไชยสุโพธิ์ รองประธานฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เกรทวอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย ตัวแทนเกรทวอลล์ กล่าวในหัวข้อ Game changing “Future Directions of Thailand’s Future Mobility” ในงานสัมมนาออนไลน์ ZEV Thailand Policy: Road to EV ASEAN Production Hub ระบุว่า ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตยานยนต์ที่ดีที่สุดของโลก ประกอบกับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน พร้อมเตรียมผลักดันมาตรการต่างๆ เพื่อการผลิตยานยนต์ภายในประเทศให้เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือซีโร่ อีมิสชั่น วีฮิเคิล (Zero Emission Vehicle-ZEV) ในสัดส่วน 30% ภายในปี พ.ศ.2573 แนวทางนี้ สอดคล้องกับหนึ่งในกลยุทธ์การลงทุนสร้างฐานการผลิตและดำเนินธุรกิจในไทยของเกรทวอลล์ มอเตอร์ พร้อมยกระดับขีดความสามารถการผลิต นำเสนอเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (New Energy Technology) เพื่อนำเสนอผู้บริโภคและอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปสู่ความยั่งยืนควบคู่กับการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากการตั้งฐานการผลิตเต็มรูปแบบในประเทศไทยและอีกหลายแห่งทั่วโลกแล้ว เกรทวอลล์ มอเตอร์ จัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนากว่า 10 แห่ง ใน 7 ประเทศทั่วโลก เพื่อพัฒนารถยนต์เทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (New Energy Technology) ต่างๆ ในตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา

Advertisement

ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle) ยานยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) ยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ (Battery Electric Vehicle) ตลอดจนยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงพลังงานไฮโดรเจน (Hydrogen Energy Fuel Cell Electric Vehicle) เป็นต้น

รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องได้แก่ GWM Electrification Technology ครอบคลุม 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ แบตเตอรี่ มอเตอร์ และระบบควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ โดยการรวมโมดูลถูกออกแบบมาโดยเฉพาะ เพื่อให้แบตเตอรี่มีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา และมีประสิทธิภาพสูง ใช้พลังงานต่ำ มีอายุการใช้งานแบตเตอรี่ยาวนาน ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า 12.5 กิโลวัตต์ ต่อระยะการขับขี่ 100 กิโลเมตรได้ จะทำให้รถไฟฟ้าสามารถวิ่งได้ไกลถึง 600 กิโลเมตรต่อหนึ่งการชาร์จ

นอกจากนี้ เกรทวอลล์ มอเตอร์ ยังพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่รองรับยานยนต์ไฟฟ้า (xEV) อย่างแพลตฟอร์ม GWM LEMON เป็นแพลตฟอร์มโมดูลาร์อัจฉริยะระดับโลก มีคุณสมบัติเด่น 5 ประการ ได้แก่ 1.น้ำหนักเบา (Lightweight) 2.ใช้พลังงานจากไฟฟ้า (Electrification) 3.สามารถใช้งานได้หลายหลายรูปแบบ (Multi-purpose) 4.มีระบบการปกป้องรอบด้าน (Omni-protection) และ 5.มีความสามารถในการเชื่อมโยงเครือข่าย (Network) แพลตฟอร์ม GWM LEMON จะสนับสนุนระบบส่งกำลังได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสำหรับรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal combustion engine : ICE) เครื่องยนต์ไฮบริดแบบ Dual Hybrid Transmission แบบ P2 P2+ หรือ P4 รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) หรือรถยนต์ประเภทเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell Electric Vehicle : FCEV)

ก่อนหน้านี้ เกรทวอลล์ มอเตอร์ ได้ประกาศยุทธศาสตร์หลัก เพื่อก้าวขึ้นสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก ภายในปี 2568 ด้วยเป้าหมายยอดขายรถยนต์ทั่วโลกมากกว่า 4 ล้านคัน คิดเป็นสัดส่วนรถยนต์พลังงานใหม่กว่า 80%

สำหรับประเทศไทย เกรทวอลล์ มอเตอร์ มีแผนนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารุ่นแรกเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยภายในปีนี้ จะนำรถยนต์ไฟฟ้ายอดนิยมจากแบรนด์ออร่า (ORA) อย่าง ออร่า กู๊ด แคท (ORA Good Cat) เข้ามาเป็นรุ่นแรก

และในปี 2566 เป็นต้นไป เกรทวอลล์ มอเตอร์ มีแผนเริ่มสายการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระยะทางวิ่งไกล (Long-range BEV) รุ่นต่างๆ เพื่อจำหน่ายในตลาดประเทศไทยและส่งออก

นายครรชิตยังได้นำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับทิศทางการขับเคลื่อนและการผลักดันมาตรการเพื่อก้าวสู่ยุคแห่งการผลิตยานยนต์ไร้มลพิษของไทยว่า กลไกสำคัญในการผลักดันแผนการปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ หรือซีโร่ อีมิสชั่น วีฮิเคิล (Zero Emission Vehicle-ZEV) ให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ในประเทศไทย คือการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน การเพิ่มพูนทักษะองค์ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ

ตลอดจนการสร้างอุปสงค์และอุปทาน เพื่อสร้างระบบอีโค ซิสเทม (ecosystem) อย่างสมบูรณ์แบบของอุตสาหกรรม ยานยนต์สมัยใหม่และระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ต่างๆ ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ยังรวมถึงการผลักดันผ่านนโยบายจากทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการให้เงินสนับสนุนเพื่อจูงใจให้คนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือการกระตุ้นความต้องการของตลาดด้วยการสร้างความเป็นมิตรต่อผู้ใช้จากภาคเอกชน เช่น การอำนวยความสะดวกให้เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าสามารถค้นหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้ง่ายและสะดวกสบายยิ่งขึ้น

หรือการสื่อสารและให้ความรู้แก่สาธารณชนให้ทราบถึงนวัตกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เป็นต้น นายครรชิตทิ้งท้ายถึงข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการเดินหน้าพัฒนารถยนต์เพื่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยให้สำเร็จ ในฐานะที่เกรทวอลล์มีประสบการณ์การทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนจนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งมาแล้ว

นายพล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image