โคทม อารียา : หน้าที่และนโยบายของรัฐคือการจัดสวัสดิการสังคม

Reuters

โคทม อารียา : หน้าที่และนโยบายของรัฐคือการจัดสวัสดิการสังคม

นางอังเกลา แมร์เคิล ดำรงตำแหน่ง chancellor หรือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศเยอรมันมาเป็นเวลา 16 ปี ในฐานะที่เธอเป็นหัวหน้าพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน หรือพรรค CDU เมื่อปลายปี 2561 นางแมร์เคิลประกาศว่าจะไม่ลงสมัครชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 พรรค CDU จึงเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งได้ประมาณ 2 ปีก็ลาออกไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 สุดท้ายเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 พรรค CDU จึงเลือกนายอาร์มิน ลาสเซ็ตเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อนำพาพรรคลงเลือกตั้งทั่วไปที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กันยายนที่ผ่านมา

เขาหวังว่าพรรค CDU จะชนะเลือกตั้ง แต่คะแนนนิยมของพรรคลดลงไปประมาณ 9 % คือได้คะแนนเสียง 24.1 % ประเทศเยอรมันใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม มี ส.ส. เขต จำนวนเท่ากับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยจำนวนรวมของ ส.ส. เขต + ส.ส. บัญชีรายชื่อจะเป็นสัดส่วนกับคะแนนของพรรค จึงคาดว่าพรรค CDU ที่มีคะแนน 24.1 % จะมี ส.ส. ประมาณ 194 ที่นั่ง

ขณะที่พรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่งชื่อพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมนี หรือพรรค SPD ซึ่งเป็นพรรคพันธมิตรร่วมกับพรรค CDU จัดตั้งรัฐบาลที่ผ่านมา เป็นผู้ชนะเลือกตั้ง ด้วยคะแนนนำเล็กน้อยคือ 25.7 % และคาดว่าจะมี ส.ส. ประมาณ 205 ที่นั่ง

ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม จะต้องรวบรวมพรรคพันธมิตรให้ได้ ส.ส. รวมกันเกินครึ่งหนึ่งคือ 366 ที่นั่ง พรรคลำดับที่สามคือพรรคเขียว (Green party) ซึ่งคาดว่าจะมี ส.ส. ประมาณ 116 ที่นั่ง และพรรคลำดับที่สี่คือ พรรคเสรีประชาธิปไตย (FDP) ซึ่งคาดว่าจะมี ส.ส. ประมาณ 91 ที่นั่ง สังเกตว่าพรรคที่สามกับพรรคที่สี่ ถ้ารวมตัวกันติด จะมีที่นั่งรวมประมาณ 207 ที่นั่ง ไม่ว่าจะไปรวมกับพรรคที่หนึ่งหรือพรรคที่สอง ก็จะได้เสียงข้างมาก แม้พรรค CDU จะมาที่สอง แต่หัวหน้าพรรค CDU ยั

Advertisement

ประกาศว่าจะพยายามจัดตั้งรัฐบาลโดยรวมกับพรรคอื่น ส่วนหัวหน้าพรรค SPD ประกาศพร้อมจะจับมือกับพรรคเขียวและพรรคเสรีประชาธิปไตยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล ส่วนสูตรเดิมคือรัฐบาลผสม CDU กับ SPD ยังถูกพรรคทั้งสองนี้เมินอยู่

จึงมีข่าวว่า พรรคเขียวกับพรรคเสรีประชาธิปไตยจะเริ่มเจรจาระหว่างกันก่อน โดยมีลำดับการเจรจาดังนี้

1) เจรจาในเชิงยุทธศาสตร์ว่ารวมกันดีหรือไม่ เพื่อประโยชน์อะไร

Advertisement

2) ถ้าจะรวมกัน จะมีนโยบายร่วมอย่างไร ซึ่งเป็นนโยบายที่จะนำไปปฏิบัติในช่วงเวลาที่เป็นรัฐบาลใน 4 ปีข้างหน้า สังเกตว่าโดยพื้นฐานแล้ว นโยบายของทั้งสองพรรคยังห่างไกลกันมาก พรรคเขียวเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการลดก๊าซเรือนกระจก ส่วนพรรคเสรีประชาธิปไตยเน้นเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันอย่างเสรีโดยลดบทบาทการวบคุมของรัฐบาล อย่างไรก็ดี จุดร่วมของทุกพรรคคือ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเข้มแข็งของสหภาพยุโรป และการจัดสวัสดิการสังคมที่ทั่วถึงและเป็นธรรม

3) ถ้าตกลงกันได้ในเรื่องนโยบายการบริหารประเทศในช่วงเวลา 4 ปีข้างหน้า โดยยังไม่ลงรายละเอียดมากนัก พรรคทั้งสองจึงจะถือไพ่ในมือเพื่อเริ่มการเจรจากับพรรคใหญ่ สังเกตว่าถ้าเป็นแบบ ไทย -ไทย คำถามแรกคือใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี โดยผู้ที่กำไพ่นายกฯไว้ในมือจะดึงดูดให้พรรคอื่น ๆ อีกหลายพรรควิ่งมาหาเอง อันที่จริง ไม่ใช่ว่านักการเมืองเยอรมันจะไม่แอบคุยกันถึงผู้ที่เหมาะสมจะเป็นายกรัฐมนตรี แต่จะเก็บไว้เป็นประเด็นทีหลัง คล้ายกับว่าไม่ชิงสุกก่อนห่าม ไม่แสดงความอยากเป็นจนออกหน้า อย่างไรก็ดี ก็พอมีประเพณีปฏิบัติว่าหัวหน้าพรรคที่มี ส.ส. มากกว่า จะมีโอกาสสูงกว่าที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งในกรณีนี้ก็คือนายโอลาฟ โชลซ์ หัวหน้าพรรค SPD แต่ในทางการเมืองก็ไม่แน่ ข้อน่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ รัฐบาลจะบริหารตามนโยบายร่วมที่จะตกลงกัน ไม่ใช่ว่าจะบริหารตามนโยบายของหัวหน้ารัฐบาล ประเทศเยอรมันอาจใช้เวลานับเดือน กว่าจะตกลงกันว่าพรรคใดจะร่วมรัฐบาล นโยบายร่วมจะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

Reuters

ผมอยากเห็นความจริงใจของรัฐบาลไทยที่มีต่อนโยบายของตนเองที่ได้ประกาศต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ว่าจะดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ต่อมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 รัฐสภาได้มีมติในวาระที่สอง เห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 256 รวมทั้งหมวดการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่สมาชิก (สสร.) จำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้งโดยตรง แต่ร่างดังกล่าวได้ตกไปในวาระที่สาม เนื่องด้วยการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ขอความเห็นชอบจากประชาชนก่อน ในเรื่องนี้ คณะรัฐมนตรีน่าจะอนุมัติให้มีการลงประชามติถามประชาชนด้วยคำถามทำนองว่า “ท่านเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีสมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่สองแล้วหรือไม่”

ในขณะนี้ ประชาชนคนไทยแบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นสองพวก พวกหนึ่งสนับสนุนรัฐบาลและรัฐธรรมนูญปัจจุบัน อีกพวกหนึ่งไม่สนับสนุนรัฐบาลและอยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นฉบับที่ได้รับความเห็นพ้องจากประชาชนจำนวนมาก โดยมีกระบวนการจัดทำร่างที่เปิดกว้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ผมจัดอยู่ในพวกที่สอง โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้

รัฐธรรมนูญคือกติกาของรัฐ ผมอยากยกหมวดของรัฐธรรมนูญปัจจุบันเพียงหมวดเดียวมาวิจารณ์ในที่นี้ นั่นคือหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ซึ่งมี 13 มาตรา (มาตรา 51 ถึงมาตรา 63) หมวดนี้แสดงมุมมองของผู้ร่างที่มีต่อรัฐว่ารัฐมีหน้าที่หลักในด้านใด

แน่นอนว่าด้านความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมมาก่อน (มาตรา 52) รองลงไปเป็นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด (มาตรา 53) จากนั้น รัฐธรรมนูญจึงกล่าวถึงเรื่องคุณภาพชีวิตและสวัสดิการสังคม โดยมาตรา 54 ที่กล่าวถึงการศึกษาให้เปล่าเป็นเวลา 12 ปี ตลอดจนการสนับสนุนการศึกษาแก่ประชาชน มาตรา 55 กล่าวถึงหน้าที่ของรัฐในการให้บริการสาธารณสุขอย่างมีคุณภาพและทั่วถึงแก่ประชาชน มาตราที่เหลือของหมวดนี้ (มาตรา 56 ถึง 63) ไม่กล่าวถึงประชาชนโดยตรง หากกล่าวถึงกิจการอื่น ๆ ของรัฐ ได้แก่การมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็น การฟื้นฟูศิลปะและวัฒนธรรม การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คุณภาพสิ่งแวดล้อม การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารสาธารณะ การใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค การรักษาวินัยการเงินการคลัง และการขจัดการคอร์รัปชั่น

ผมคิดว่าหน้าที่สำคัญของรัฐน่าจะอยู่ที่การเอื้อให้ทุกคนมีสัมมาชีพ และการช่วยให้คนทุกคนมีความรู้ความสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ ถ้ามีรัฐที่ปล่อยปละละเลย คือปล่อยให้คนที่แข็งแรงกว่าหาประโยชน์อย่างเอารัดเอาเปรียบ อย่างที่เรียกว่ามือใครยาวกว่าสาวได้สาวเอา การมีรัฐที่เข้มแข็งหมายถึงระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นวิชาชีพ และรัฐบาลมีนโยบายที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง

พรรค SPD ก็ดี พรรคสังคมประชาธิปไตยของสวีเดน รวมถึงพรรคที่มีนโยบายด้านสวัสดิการสังคมของประเทศสแกนดิเนเวีย และพรรคแรงงานของอังกฤษ พรรคสังคมนิยมของฝรั่งเศส ของสเปน ฯลฯ ได้มีส่วนช่วยให้ประเทศในยุโรปเจริญก้าวหน้าทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม และลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างมีนัยสำคัญในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนถึงประมาณปี พ.ศ. 2533

ขอยกตัวอย่างสวัสดิการสังคมของประเทศสวีเดนมาเล่าสู่กันฟังโดยสังเขป ซึ่งรายละเอียดเขียนไว้ในหนังสือ “สวีเดน : ต้นแบบรัฐสวัสดิการ” ที่เขียนโดย บุญส่ง ชเลธร

บุญส่ง เล่าว่า สวีเดนเคยเป็นประเทศที่ยากจน มีแต่คนสี่กลุ่มที่มีตัวแทนในรัฐสภา คือ กลุ่มขุนนาง กลุ่มพระ กลุ่มพ่อค้าที่อาศัยในเมือง และกลุ่มชาวนาเจ้าของที่ดิน พอถึงปลายศตวรรษที่ 19 คนงานจึงรวมตัวเป็นสหภาพแรงงานและเป็นพรรคสังคมประชาธิปไตย อย่างไรก็ดี คนที่เสียภาษีหรือถูกเกณฑ์ทหาร แต่ถ้าไม่อยู่ในสี่กลุ่มดังกล่าวก็ยังไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ต้องรอจนเกิด “วิกฤต” ใหญ่ 2 วิกฤตซ้อน คือการยึดอำนาจโดยกลุ่มบอลเชวิคในรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 และสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ล้วนสร้างความวิตกกังวลแก่ชนชั้นสูงมากพอ จนยอมให้มีการปฏิรูปให้คนยากจนและผู้หญิงได้มีสิทธิ์เลือกตั้งเป็นครั้งแรก ในปี ค.ศ. 1921 คือก่อนประเทศไทยเพียง 11 ปี แต่การปลดปล่อยให้ทุกคนสามารถใช้พลังสร้างสรรค์ทางการเมืองครั้งนั้น ได้ทำให้เกิดพลังทางเศรษฐกิจและสังคม จนสวีเดนกลายมาเป็นประเทศที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดประเทศหนึ่ง

ขอยกประเด็นที่น่าสนใจประเด็นเดียวมาเล่าต่อคือเรื่องนโยบายสังคม นโยบายนี้มีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือผู้คนที่ประสบปัญหาในการดำเนินชีวิต ในยามที่เกิดความผันผวนทางเศรษฐกิจ อาชีพการงาน สุขภาพ ฯลฯ เพื่อให้โอกาสแก่ชีวิตที่พึงดำเนินไปได้อย่างปกติสุข นโยบายหลักคือการจัดให้มี “การประกันสังคม” แบ่งเป็น “การประกันสังคมสำหรับผู้อยู่อาศัย” และ “การประกันสังคมสำหรับการทำงาน” เราได้เริ่มมีการประกันสังคมสำหรับการทำงานไปบ้างแล้ว แม้จะยังไม่ครอบคลุมมากนัก จึงขอแบ่งปันเฉพาะเรื่องการประกันสังคมสำหรับผู้อยู่อาศัยพอสังเขปดังนี้

ผู้อยู่อาศัยหมายถึงคนที่มีถิ่นฐานหลักแหล่งอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศ ไม่ว่าคนคนนั้นจะมีงานทำหรือไม่ ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ว่าหญิงหรือชาย คนพิการหรือไม่พิการ คนโสดหรือคนมีครอบครัว คนสวีเดนหรือคนต่างชาติ ล้วนได้รับการประกันสิทธิประโยชน์อย่างเสมอภาค เช่น สิทธิด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล การทำงาน การสร้างครอบครัว การช่วยเหลือที่ได้รับมี อาทิ เงินค้ำประกันบำนาญ เงินชดเชยยามป่วยไข้และในการทำกิจกรรมบำบัด เงินช่วยเหลือเด็ก เงินสนับสนุนรถสำหรับคนพิการ เงินช่วยเหลือในการรับเด็กต่างชาติมาเป็นบุตรบุญธรรม เงินช่วยเหลือที่อยู่อาศัย เงินสนับสนุนการดูแลบุตร เงินสนับสนุนการเลี้ยงดูผู้สูงอายุ เงินสนับสนุนเด็กหลังผู้ปกครอ

ถึงแก่กรรม เป็นต้น

ในรัฐธรรมนูญ 2560 มีการกล่าวถึงการประกันสังคมไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 74 ความโดยย่อว่า รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีงานทำ … สวัสดิการ การประกันสังคม … และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำร

ชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน

ผมอยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยพยายามให้เกิดความเห็นพ้องว่า คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินนี้ จะได้รับการดูแลจากรัฐให้ดำเนินชีวิตอย่างปกติสุขและอย่างมีศักดิ์ศรี แม้จะมีการผันผวนใดๆ ในชีวิต ผู้อ่านอยากเห็นการประกันสังคมถ้วนหน้าเช่นนี้หรือไม่ ประเทศอื่นๆ หลายๆ ประเทศได้ดำเนินนโยบายสังคมในทิศทางนี้ เพื่อประโยชน์สุขของผู้ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย ที่อยู่ในแผ่นดินเดียวกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image