คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : 6 ตุลา 19 ครั้งสุดท้าย

คนตกสีที่อยู่อีกฝั่งหนึ่ง : 6 ตุลา 19 ครั้งสุดท้าย โดย กล้า สมุทวณิช 

เมื่อคอลัมน์ตอนนี้ลงในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์ จะเป็นในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 45 ปี ของเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519

ก่อนหน้า เหตุการณ์นี้เคยถูกพยายามทำให้ลืมเลือนเกลื่อนกลืนไป จนช่วงหนึ่งมันถูกไหลปนไปกลายเป็นเหตุการณ์ “16 ตุลา” ก่อนที่จะมีความพยายามร่วมกันของหลายฝ่ายผลักดันชักดึงให้เหตุการณ์นี้ขึ้นมา

ปรากฏเป็นที่จดจำและเล่าต่อในกระแสหลัก จนกระทั่งมีประติมานุสรณ์ 6 ตุลา 2519 เป็นหมุดหมายพื้นที่ทางกายภาพบอกเล่าความทรงจำเรื่องนี้ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ณ จุดที่กองกำลังของรัฐล่วงเข้ามาเข่นฆ่าทารุณกรรมนักศึกษาทางด้านประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฝั่งท้องสนามหลวง

หากหลังจากนั้นประติมานุสรณ์ที่ว่าก็เกือบจะถูกลืมเลือนไปอีก เพราะสถานการณ์ โลกทัศน์ ความเชื่อและอารมณ์บรรยากาศของผู้คนในสังคม การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็เริ่มจะกลายเป็นสิ่งที่มิตรสหายท่านหนึ่งเรียกว่าการ “เช็งเม้ง” ของคนกันเอง

Advertisement

จนกระทั่งมาปีสองปีนี้เอง ที่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยเกิดขึ้น ทั้งจากการลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่ทะลุเพดาน โลกทัศน์และความคิดความเชื่อหลายเรื่องในสังคมนั้นพลิกกลับฉับพลันและรุนแรง การรำลึกถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 กลับมาเป็นกิจกรรมสำคัญทางการเมืองที่สร้างความหนักใจให้ผู้มีอำนาจ จนถึงกับมีความพยายามขัดขวางอย่างผิดปกติจนน่าสงสัย

เชื่อว่าใครก็ตามที่ได้รับรู้เรื่องราวของเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 โดยเฉพาะผู้ที่เกิดและรู้ความหลังยุคสงครามเย็นช่วงปี 2510-2530 แล้ว ก็ต่างขนพองสยองเกล้าด้วยความไม่เชื่อหรือไม่เข้าใจว่า ครั้งหนึ่ง ณมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองหลวงเช่นนี้เคยมีการเข่นฆ่าทารุณกันอย่างนองเลือดป่าเถื่อนอย่างสุดจินตนาการ อย่างที่แค่กล่าวถึงก็สลดใจแล้ว

หลักฐานต่างๆ ที่ยอมรับกันในปัจจุบัน เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั้นเกิดขึ้นจากน้ำมือของรัฐร่วมกับกองกำลังพลเรือนที่จัดตั้งขึ้น และสื่อสารมวลชนที่เป็นพันธมิตรกัน หากความน่าสลดและสยองนั้นเป็นเพราะเหตุการณ์เข่นฆ่าทารุณดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากการกระทำของฝ่ายผู้มีอำนาจรัฐ หรือฝ่ายพลเรือนที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกันเท่านั้น แต่ที่น่าเศร้าที่สุด คือสภาวะที่สังคมไม่ได้รู้สึกหืออืออะไรไปกับการก่อกรรมอันป่าเถื่อน
เช่นว่านั้น

ภาพอันเป็นที่จดจำที่สุดของเหตุการณ์ดังกล่าวคือศพชายคนหนึ่งถูกแขวนไว้กับต้นมะขามแล้วถูกฟาดด้วยเก้าอี้พับ แต่ที่น่ากลัวที่สุดในภาพไม่ใช่ศพที่ถูกแขวน หรือการทารุณกรรม แต่เป็นภาพรอยยิ้มอย่างสะใจไร้เดียงสาของเด็กชายตัวเล็กๆ วัยไม่น่าจะถึงสิบปีคนหนึ่งที่ร่วมมุงดูเหตุการณ์ด้วย

ถ้าจะให้ทำความเข้าใจได้ว่าภาพน่ากลัวข้างต้นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คำถามที่เราจะต้องตั้งไว้ คือ ทำไมสังคมไทยในยุคนั้น จึงอนุญาตให้เกิดการเข่นฆ่าทารุณและป่าเถื่อนเช่นนั้นได้ ทั้งๆ ที่ผู้คนมักกล่าวว่าประเทศไทยเป็น “เมืองพุทธ” โดยถือเอาจำนวนศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดเป็นตัวชี้วัด

เพราะในความเป็น “เมืองพุทธ” นั้นแหละที่เป็นคำหลักของเรื่องนี้ ด้วยสังคมไทยในยุคนั้นเป็นสังคมที่มีลักษณะเป็นสังคมแบบ “จารีตศาสนา” กำกับอยู่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะการที่มนุษย์เราจะกระทำหรือไม่กระทำอะไร นอกจากเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีอำนาจรัฐกำกับอยู่แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดไม่ยิ่งหย่อนกันหรืออาจจะมากกว่า คือเกณฑ์ทางศีลธรรมหรือ “กฎทางใจ” ที่อยู่ในมโนสำนึกของเราทุกคน

“กฎทางใจ” หรือ “ศีลธรรม” นี้แท้จริงแล้วกำกับพฤติกรรมของมนุษย์ได้ดียิ่งกว่ากฎหมายเสียอีก เพราะการที่เราทำหรือไม่ทำตามกฎหมาย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเพราะการชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสีย ประโยชน์ในการปฏิบัติตาม หรือโทษที่จะได้รับหากฝ่าฝืน “กฎหมาย” จึงเป็นเหมือน “กฎทางสมอง” ที่ทำงานในชั้นตรรกะความคิด ต่างจากกฎทางศีลธรรมนั้นทำงานที่ระดับของ “จิตใจ” ของเรา

ที่เราเลือกจะทำหรือไม่ทำอะไรนั้นไม่ใช่เพราะประโยชน์หรือโทษ แต่เป็นความรู้สึกหลังการทำที่จะทำให้จิตใจของเราเบาฟู หรือหมองเศร้า หรืออาจเรียกด้วยถ้อยคำที่คุ้นเคยคือเรื่องที่ว่านั้นทำแล้วจะรู้สึกว่าเป็น “บุญ” หรือ “บาป” นั่นเอง

ในสังคมแบบจารีตศาสนา “ศีลธรรม” อันเป็นกฎทางใจของผู้คนนั้นจะผูกโยงเข้ากับศาสนา ซึ่งเรื่องนี้จะไม่มีปัญหาใดนัก เพราะศาสนาส่วนใหญ่นั้นมีชุดศีลธรรมที่อย่างน้อยก็จะไม่เบียดเบียนชีวิตของผู้คน หรือสิ่งมีชีวิตอื่นร่วมกันอยู่แล้ว หากก็มีบ้างที่ชุดศีลธรรมนั้นขัดแย้งกันและทำให้เกิดปัญหา เช่น คำถามคาใจที่ชาวพุทธส่วนใหญ่ก็คงเคยถามว่า ในเมื่อศีลข้อแรกห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (เป็นบาป) เช่นนี้การเอาเนื้อสัตว์มาทำอาหาร (ที่ควรจะเป็นบุญ) นั้นตกลงแล้วมันถือเป็น “บุญ” หรือ “บาป”

ส่วนใหญ่ชาวเราได้คำตอบในทางที่ว่า หากผู้ใส่บาตร (ทำบุญ) นั้นไม่ได้มีส่วนในการฆ่าด้วยตนเอง หรือมิได้ไปสั่งชี้นิ้วจำเพาะให้ปลิดชีวิตสัตว์เป็นรายตัว เพียงซื้อเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้วมาทำอาหารเพื่อทำบุญ เราก็จะไม่ติดส่วนในบาปนั้นมาแต่อย่างใด หรือบางคำอธิบายอาจจะล้ำไปอีกว่า หากเป็นการฆ่าสัตว์เพื่อมาทำบุญโดยรู้คุณของชีวิตสัตว์ที่ปลิดลงไปแล้วนั้น ก็ถือว่าการกระทำทั้งหมดนั้นรวมกันเป็นการทำบุญ ดังนั้นสรุปแล้วไม่ว่าทางไหน ชาวพุทธไทยจึงยอมรับการเอาเนื้อสัตว์ที่ฆ่าแล้วโดยใครก็ได้มาทำบุญได้อย่างสบายใจ

ที่ต้องเล่ากลไกของ “กฎทางใจ” เช่นนี้อย่างละเอียดยืดยาวก็เพื่อจะนำไปอธิบายวิธีการที่รัฐไทยในยุคนั้นใช้เพื่อเข้าไปปิดกลไกการทำงานของ “กฎทางใจ” ของคนส่วนใหญ่ จนสามารถเห็นการฆ่าฟันกันอย่างทารุณโหดเหี้ยมเป็นเรื่องที่ดีงาม หรืออย่างน้อยก็พอยอมรับได้นี่เอง

การทำลายชีวิตของมนุษย์อาจเหมือนเป็น “ศีลธรรม” ร่วมของมนุษยชาติ เห็นได้จากการที่เรื่องนี้เป็นข้อห้ามตรงกันในทุกศาสนาและวัฒนธรรม เว้นแต่การฆ่านั้นมีเหตุผลอื่นที่อธิบายได้สูงกว่าในทางศีลธรรมว่ามันเป็นการกระทำที่ทำได้เพื่อปกป้องคุณธรรมที่เหนือกว่า คือช่องทางที่ทำให้รัฐเข้าไปปิดกลไกนี้ เพื่อให้ผู้คนยอมรับการฆ่าฟันโดยอำนาจรัฐ หรือเพื่อประโยชน์ของรัฐได้

นี่คือคำอธิบายว่า ทำไมก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 จึงเกิดวาทกรรมว่า “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” พร้อมคำอธิบายตามมาว่า “ก็เหมือนเชือดปลาฆ่าไก่มาแกงใส่บาตรพระนั่นแหละ”

อีกทั้งก่อนหน้านั้น รัฐไทยได้ก่อสร้างสั่งสมคุณค่าทางจิตใจบางอย่างขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการสั่งสอนและโฆษณาชวนเชื่อ จนกระทั่งสังคมไทยรับเอาคุณค่านั้นเป็นคุณค่าอันสูงส่งยิ่ง สูงเสียจนไม่มีคุณค่าใดสำคัญทัดเทียมได้ แม้แต่ชีวิตของมนุษย์ด้วยกันก็ตาม

ทั้งหมดนี้ เมื่อรัฐเข้าไปปิดกลไกความรู้สึกผิดบาปและเปิดใช้งานคุณค่าอันสูงส่งนั้นอย่างเต็มที่ นั่นเป็นเหตุให้การฆ่าคนมากมายอย่างทารุณในระดับนั้นกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และถึงกับเป็นเรื่องน่าพึงใจ หรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่เรื่องที่ควรต้องเสียใจ หรือรู้สึกผิด การเอาศพผู้ที่ถูกฆ่าอย่างทารุณมาแล้วมาทำร้ายซ้ำ ก็กลายเป็นนาฏกรรมที่ทำให้เด็กชายคนหนึ่งยิ้มหัวได้

ดังนั้นหากจะมีใครถามว่า เหตุการณ์เช่นเดียวกับ 6 ตุลา 19 จะเกิดขึ้นได้อีกในสังคมไทยหรือไม่
โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่าน่าจะยาก ด้วยปัจจัยสำคัญของประการเปลี่ยนไปอย่างสำคัญ

แม้ก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีที่แล้ว จะมีสถานการณ์ หรืออารมณ์ของผู้คนที่อาจกล่าวได้ว่าใกล้กับอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนช่วงก่อน 6 ตุลา จนหลายคนสะพรึงถึงการกลับมาอีกครั้งของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ฝันร้าย แต่ในที่สุดแล้ว ความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของโลกทัศน์ ความคิด และความเชื่อในสังคมไทยก็เกิดขึ้น

สิ่งที่เข้ามาแทนที่คุณค่าอันสูงส่งยิ่งของดำรงอยู่แห่งรัฐประเทศ กลายเป็นคุณค่าของการปกครองระบอบประชาธิปไตย และศีลธรรมอันเป็นกฎทางใจของผู้คนในปัจจุบัน ก็พลันเปลี่ยนเป็นสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมเป็น “กฎทางใจ” ที่จะเหนี่ยวรั้งไม่ให้เรายินยอมให้มีคุณค่าใดๆ สูงส่งเหนือกว่าเสียจนใช้เป็นข้ออ้างในการละเมิดต่อชีวิต หรือเนื้อตัวร่างกายของมนุษย์ด้วยกัน

หลัง 6 ตุลา 19 เราได้ผ่านบทเรียนที่สังคมเคยยอมรับง่ายๆ ว่าคนบางคน หรือบางกลุ่มตายเสียได้ก็ดี

หากความตายของเขาเบายิ่งกว่าความเชื่อหรือคุณค่าบางอย่างมาแล้วหลายครั้ง ล่าสุดที่เป็นการเข่นฆ่าผู้คนโดยอำนาจรัฐภายใต้ความรับรู้ หรือยินยอมของผู้คนในสังคมเมืองกรุง คือเหตุการณ์พฤษภาคมปี 2553 ที่สังคมถูกกล่อมเกลาจนเห็นว่าชีวิตของผู้คนมีค่าน้อยกว่าตึกรามบ้านช่อง ปัจจุบันก็ได้รับการถอดบทเรียน และการกล่าวขมาลาโทษและรับผิดแล้ว โดยผู้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมา และคนรุ่นก่อนหน้าที่ยอมรับในสำนึกพลาด

ร่องรอยที่อาจจะพอชี้ได้ว่าบัดนี้ “กฎทางใจ” หรือศีลธรรมของสังคมเราเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ก็ได้แก่การที่ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย หรือเหมือนการใช้ความรุนแรงเพียงใด แต่หากอำนาจรัฐล่วงเข้าไปใช้อำนาจในการทำร้ายผู้คน ไม่ต้องถึงแก่ชีวิตก็ได้ กระแสสังคมก็จะประณามเอาแก่ผู้ถืออำนาจรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจนั้นเต็มที่ น้อยนักที่จะโทษฝ่ายประชาชน เช่นเหตุการณ์การปะทะกันทุกวี่วันที่แยก

ดินแดง ก็แทบไม่ปรากฏ (หรืออย่างน้อยก็ไม่เป็นกระแสหลัก) ว่ามีใครแช่งชัก หรือเรียกร้องให้ใช้ความรุนแรงกับเยาวรุ่นทะลุแก๊ส แม้แต่ผู้เสียหายแท้จริงอย่างชาวแฟลตดินแดงที่เป็นพื้นที่ปะทะ ก็ออกมาเรียกร้องประณามอย่างรุนแรง เอาเฉพาะฝ่าย อคฝ. เท่านั้น

นอกจากศีลธรรม หรือกฎทางใจของประชาสังคมที่เปลี่ยนไปแล้ว ปัจจัยสำคัญที่สุดคือ ด้วยเทคโนโลยีและความรู้ความคิดของผู้คน รัฐในปัจจุบันไม่ใช่ผู้ที่มีอำนาจผูกขาดความคิด ความเชื่อ หรืออารมณ์ของสังคมได้อีกต่อไปแล้ว การโฆษณาชวนเชื่อนั้นไม่อาจได้ผลอีกต่อไป การใช้ปฏิบัติการทางจิตวิทยาหรือ IO ก็ถูกจับได้และมองเป็นเรื่องตลกขบขัน อำนาจรัฐก็ไม่อาจจะทำอะไรได้ถนัดถนี่อย่างเคยทำสำเร็จเมื่อ 40 ปีก่อน

เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เกิดขึ้นได้ เพราะรัฐสามารถทำให้สังคมไทยส่วนใหญ่ยอมรับให้ทำอย่างนั้นได้ ด้วยการควบคุมความคิด ปลูกฝังความเชื่อฝ่ายเดียวจนสามารถเข้าไปปิดสวิตช์ศีลธรรมให้ผู้คนยอมรับการใช้กำลังเข่นฆ่ากันกลางเมืองเช่นนั้นได้ แต่เรื่องดังกล่าวไม่มีวันทำได้อีกแล้วในปัจจุบัน ต่อให้รัฐจะจัดตั้งกองกำลังขึ้นมาใหม่ นั่นก็จะเป็นได้เพียงการบังคับให้ผู้คนที่อยู่ในอำนาจมาแต่งคอสเพลย์เชยเฉิ่ม แต่จะสั่งให้เขาไปจับคนมาลากกลางสนามฟุตบอลนั้นไม่น่าจะทำได้ง่าย

แน่นอนว่า หากรัฐจะหมดท่าและขืนใช้วิธีการดังกล่าวอีก ถ้าผู้คนเห็นภาพทารุณโหดร้ายต่อเพื่อนมนุษย์ระดับนั้นแล้วจะลุกออกจากบ้าน ก็แน่ใจได้เลยว่าไม่ใช่การไปร่วมด้วยช่วยรัฐเหมือนเมื่อ 45 ปีก่อนอย่างแน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image