ตู้หนังสือ : เมื่อโลกไม่มีเรา ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย

ตู้หนังสือ : เมื่อโลกไม่มีเรา ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย

สอง พส. ใช้เครื่องเทคโนโลยีเผยแผ่พระธรรมในรูปใหม่ เรียกผู้ชมผู้ฟังได้เป็นแสน ร้อนถึงบรรดาผู้กำกับศีลธรรมและบรรดาผู้ถือไม้บรรทัดคอยวัดสติปัญญาชาวบ้านในสังคม ต้องออกมาอบรมพระว่าไม่สำรวม พูดไปหัวเราะเอี๊กอ๊ากไป ถึงขนาดจะเปลื้องจีวรสึก แต่ไม่เคยวัดหรืออบรมตัวเองว่าความคิด ทรรศนะ สติปัญญา ยังประโยชน์อะไรในสังคมบ้าง นอกจากสวมมายาตำรวจศีลธรรมตำรวจวัฒนธรรมคอยสอดส่องผู้อื่น จะว่าไป นี่เป็นพฤติกรรมพื้นฐานส่วนหนึ่งของคน ที่มักใช้สายเข็มขัดตัวเองวัดรอบเอวคนผู้อื่น แล้วบอกว่าอ้วนไปผอมไป

อย่ากระนั้นเลย อ่านหนังสือสักเล่มที่มีมาให้อ่านพักหนึ่งแล้วท่าจะดี ผี พราหมณ์ พุทธ ในศาสนาไทย โดยสามประสาน คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ผู้รอบรู้ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู แห่งภาควิชาปรัชญา อักษรศาสตร์ ศิลปากร ซึ่งประทับความคิดด้วยข้อเขียน 8 ชิ้นในหนังสือเล่มนี้ ที่แสดงให้เห็นความต่างระหว่างศาสนาพราหมณ์ ฮินดูในไทยกับในชมพูทวีป

ผู้เขียนคนที่สองคือ วิจักขณ์ พานิช แห่งสถาบันวัชรสิทธา ผู้จบการศึกษาด้านพุทธศาสนาจากมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโดยตรงคือ มหาวิทยาลัยนาโรปะในสหรัฐ งานเขียนทั้ง 8 ชิ้นที่เลือกมาประทับในหนังสือเล่มนี้ เป็นมุมมองศีลธรรมและมนุษยธรรม ต่อเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นแต่ละช่วงเวลาที่ผิดแผก เช่น เรื่องการส่ง เอสเอ็มเอส ของอากง ถึงการสำรวจภายในตัวเอง

Advertisement

และท้ายสุดคือบทความอีก 8 ชิ้นของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ อาจารย์ประวัติศาสตร์และโบราณคดี กล่าวถึงศาสนาผีที่กลมกลืนอยู่กับศาสนาพราหมณ์ ฮินดู และพุทธ ผ่านการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่ชำนิชำนาญ

และเนื่องจากหนังสือเล่มนี้เสนอเนื่องในวาระโอกาสที่อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ มีอายุครบรอบ 80 ปี ในปี 2563 อาจารย์คมกฤชกับอาจารย์วิจักขณ์ยังมีบทความกล่าวถึงอิทธิพลจากงานของอาจารย์นิธิที่แผ่มาถึงตน อีกคนละข้อเขียน คือพุทธศาสนาในฐานะปรากฏการณ์ กับงานเชิงอรรถเล็กๆ ของอาจารย์นิธิ ที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วยแล้ว

ดังนั้น ผู้สนใจพุทธศาสนาในไทย ไม่ว่าจะถือพุทธเป็นสรณะหรือไม่ก็ตาม หรือผู้อยากมีส่วนร่วมคิดร่วมวิพากษ์วิจารณ์พุทธศาสนาตามกาลสมัย ควรอ่านหนังสือเล่มนี้ประกอบด้วย

Advertisement

● ถ้าให้ดีน่าจะอ่านอีกเล่มที่ว่าด้วยการ เปรียบเทียบการปฏิรูปศาสนาคริสต์-พุทธ และสังคมโลกวิสัย โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ ที่จะตอบปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนา

ทั้งนี้เพื่อศึกษาดูว่า ตัวอย่างเช่น การที่มหาเถรสมาคมซึ่งเป็นศาสนจักรของรัฐ มีมติให้สงฆ์ทุกวัดทั่วประเทศเทศนาสอนประชาชนให้รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันก็มีมติและคำสั่งห้ามภิกษุสามเณรจัดอภิปราย เสวนา แสดงความเห็น หรือร่วมชุมนุมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน อันเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นชัดเจนจนเกิดคำถามว่า พระเณรไม่มีเสรีภาพทางศาสนาใช่หรือไม่ เพราะ “เสรีภาพ” หมายถึงการ “เลือกได้”

เช่น เลือกว่าจะตีความพุทธธรรมสนับสนุนความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ก็ได้ หรือตีความพุทธธรรมสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยก็ได้เช่นกัน

ดังนั้น หากพระเณรมีเสรีภาพทางศาสนาจริง ก็ต้องเลือกตีความพุทธธรรมสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และอุดมการณ์ประชาธิปไตยได้อย่างเท่าเทียมกันด้วย

ปัญหาคือพระเณรมีเสรีภาพทางศาสนาจริงหรือไม่ เช่นเดียวกับ นักการเมืองมีเสรีภาพทางการเมืองจริงหรือไม่เหมือนๆ กัน การอภิปรายวิพากษ์วิจารณ์จึงพูดแต่ฝ่ายเดียวด้านเดียวไม่ได้

ต้องอ่านดูว่า ในเนื้อหา 6 บทนั้น ทำไมต้องเปรียบเทียบศาสนาคริสต์-พุทธ, ปรัชญาการเมืองแบบพุทธและรัฐพุทธศาสนา, การปฏิรูปพุทธศาสนาสมัย ร.4 ร.5 กับคุณค่าพุทธศาสนาของรัฐและสังคมไทยสมัยใหม่, ปัญหาของพุทธศาสนาสมบูรณาญาสิทธิราชย์, ข้อเสนอการปฏิรูปพุทธศาสนาของฝ่ายอนุรักษนิยมและฝ่ายเสรีนิยม, สุดท้าย การสร้างวัฒนธรรมเคารพเสรีภาพที่เท่าเทียมในการรณรงค์ปฏิรูปพุทธศาสนา

น่าอ่าน น่าคิด น่าติดตามความเป็นไปของพุทธศาสนาในไทยไหม เราชาวพุทธไม่ใช่หรือ

● จากนั้น ลองนึกภาพโลกใบนี้ที่จู่ๆ มนุษย์สูญหายไปหมด คงแต่สภาพทุกอย่างอยู่เหมือนเดิมยกเว้นมนุษย์ ลองคิดต่อไปว่า ธรรมชาติและชีวิตที่เคยอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ จะตอบสนองการหายไปของผู้เคยสร้างผลกระทบนานากับธรรมชาติและชีวิตอื่นๆ อย่างไร เมื่อถูกปลดปล่อยหรือปลอดจากแรงกดดันที่มนุษย์เคยทุ่มโถม (ทำลายเสียแหละมาก) ลงมา

หนังสือขายดีอันเป็น “หนังสือยอดเยี่ยมประจำปี 2007(2550)” ของนิตยสารไทม์สกับอีกหลายสถาบัน ที่แม้เวลาจะล่วงผ่านไปนานขนาดไหน แต่ตราบใดที่มนุษย์ การกระทำของมนุษย์ และสิ่งที่สร้างจากน้ำมือมนุษย์ยังส่งผลโดยตรงต่อโลกใบนี้อยู่ หนังสือเล่มนี้จะไม่มีวันล้าสมัย โดยจะแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ธรรมชาติบนโลกใบนี้และสรรพสิ่งจะเป็นอย่างไร เพื่อเราจะได้ตระหนักกันจริงจังเสียทีว่า เราทำลายโลกใบนี้ไปยับเยินขนาดไหน เราทิ้งขยะทุกอย่างบนโลกมากมายเพียงใด จากกิเลสตัณหาที่หว่านโปรยโลภ โกรธ หลงไว้เป็นพิษแก่โลกชนิดยากจะเสื่อมสลายไว้มหาศาลระดับไหน

เมื่อโลกไม่มีเรา The World Without Us ของ อลัน ไวส์แมน แปลโดย สรณรัชฏ์ กาญจนะวณิชย์ จะบรรยายสภาพโลกที่ไม่มีมนุษย์ให้เห็นบ้านเมือง ตึกสูง สวนสาธารณะ รถไฟใต้ดินบนดิน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่จะพังทลายกลายเป็นฟอสซิล เพื่อจะได้ตระหนักว่า ทำไมอาคารเก่าแก่บางแห่งอาจเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ ทำไมพลาสติก ประติมากรรมสำริด คลื่นวิทยุ จะเป็นของขวัญซึ่งยั่งยืนที่สุดสำหรับจักรวาล

สำหรับเหล่าคนรักโลก ที่ต้องการรักษ์โลก เยียวยาโลก ไม่มีอะไรจะสยดสยองยิ่งไปกว่าที่กล่าวมานี้อีกแล้ว โดยเฉพาะบรรดาผู้คนที่เกิดมาแล้วตระหนักว่าชีวิตสั้น ต้องยังชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มิใช่บรรดาผู้ที่เกิดมารู้ว่าชีวิตสั้น ต้องเร่งรีบล้างผลาญทุกอย่างรอบตัว

● อย่ากระนั้นเลย อ่านนิยายแปลสนุกร้าย ตลกลึก เจ็บกระดองใจแบบนวลๆ นัวๆ สักเล่มท่าจะดี ร้านชำสำหรับคนอยากตาย ของ ฌอง เตลเล่ แปลตรงจากภาษาฝรั่งเศสโดย องอาจ กันใจศักดิ์ มีบรรณาธิการภาษาฝรั่งเศสคือ อธิยา กาบูลอง กับบรรณาธิการสำทับให้หนังสือสมบูรณ์ด้วยคุณภาพคือ ปราย พันแสง เพื่อจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้เพลินแน่ๆ

เรื่องของร้านค้าเล็กๆ ในดินแดนที่ศาสนาเลือนหายไปจากความคิดความสนใจของผู้คน การฆ่าตัวตายจึงไม่ผิดบาปและไม่ขัดศีลธรรม ธุรกิจของร้านจึงดำเนินไปได้ราบรื่น สืบทอดต่อกันมาหลายชั่วอายุ ด้วยประกันคุณภาพว่าไม่ตายคืนเงินให้ ใครใคร่ตายจึงตายได้สมใจ เพราะสินค้าในร้านมีตั้งแต่เชือกแขวนคอ ชุดฮาราคีรี ยาพิษ กระทั่งจุมพิตมรณะก็ยังมี

กระทั่งเด็กชายผู้หนึ่งถือกำเนิดขึ้นมาในครอบครัวพร้อมรอยยิ้ม ซึ่งคนในตระกูลไม่เคยมี ธุรกิจและวิถีชีวิตของร้านชำแห่งนี้จึงปั่นป่วนรวนเรไปกับการเปลี่ยนแปลงซึ่งไม่คาดหมายมาก่อน

ผู้เขียนที่เป็นนักข่าว นักเขียนการ์ตูน นักแสดง และผู้กำกับภาพยนตร์ เขียนหนังสืออย่างเฉียบแหลมในการนำปัญหาหนักๆ มาย่อยให้ตลกร้าย แต่เสียบความคิดคาอยู่กับใจนักอ่าน ให้มองความตายกับความรื่นรมย์ในชีวิตผ่านตัวละครสองด้านทั้งในเงามืดและแสงสว่างอย่างใกล้ชิด

● แล้วมาอ่านนิยายไทยสักเล่ม ฝีมือ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ รังสรรค์ให้เห็นคุณค่าของตนและผู้อื่น ท่ามกลางเป้าหมายชีวิต ความสุข ความทรงจำที่แตกต่างกันไป โดยสื่อสารผ่านมนุษย์เงินเดือน พนักงานเสิร์ฟ สถาปนิก คนขับรถรับจ้าง พนักงานคิดเงิน นักเรียน นักศึกษา กระทั่งหมาจรจัด ให้ภาพตั้งแต่ระดับตัวตน คนรอบข้าง และเพื่อนร่วมโลก ซึ่งหลายชีวิตเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในอุบัติเหตุครั้งใหญ่ เกิดการเชื่อมประสานส่งผลกระทบต่อกัน ทำให้ได้ทบทวนความหมายของชีวิต ที่ไม่ควรปล่อยให้สิ่งมีความหมายทั้งหลายหล่นหายไป จนล่วงผ่านวินาทีสุดท้ายของชีวิต

นั่นคือ วินาทีไร้น้ำหนัก ที่น่าหาอ่านดู

● ยามที่จีนกำลังผงาดกลับมาสู่วิถีอันยิ่งใหญ่เช่นสมัยโบราณ ที่บอกตัวเองว่าตนเป็นศูนย์กลางโลก ประจันหน้ากับมหาอำนาจเดิมทางตะวันตก ซึ่งพยายามมิให้จีนฟื้นขึ้นมาเป็นคู่แข่งขัน การทำความเข้าใจจีนเพื่ออยู่ร่วมกันในอนาคตที่ไม่แน่นอนและผันผวนเช่นปัจจุบัน จึงไม่เพียงมองไปยังการเมืองการเศรษฐกิจ แต่ต้องแลทะลุให้ถึงจิตวิญญาณอดีตที่เป็นรากฐานปัจจุบัน ซึ่งไม่มีอะไรลึกซึ้งไปกว่าการเชื่อมต่อของงานเขียนหรือวรรณกรรมอันเป็นรากเหง้าของคนทั้งหลาย

และหากจะรู้จักจีนร่วมสมัยหรือสมัยใหม่ให้ดี ก็ต้องรู้จัก “ขบวนการ ๔ พฤษภา” อันเป็นต้นตอหรือที่มาความคิดของสังคมมหาประชาชน ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนประเทศครั้งใหญ่ทางความคิด

นักเขียนนักคิดชั้นแนวหน้า เช่น เสิ่นฉงเหวิน, เยี่ยเซิ่งเถา, เหลาเส่อ, ปิงชิน, อวี้ต๋าฟู, ปาจิน, เหมาตุ้น, อู๋จู่เซียง, ติงหลิง ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นนักเขียนใหญ่ของบ้านเมือง ได้ถูกนำมาฉายภาพ เกิดใหม่ในกองเพลิง รวมเรื่องสั้นจีนสมัยใหม่ ครบรอบ 100 ปีขบวนการ 4 พฤษภาคม 1919 (2462) จินตนาการความคิดจากมุมมองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญในวาระหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา คือประสบการณ์พิเศษจากการอ่านที่หาได้ยากจากการถือกำเนิดของประเทศมหาอำนาจประเทศหนึ่ง ซึ่งเชื่อมร้อยอดีตเข้ากับปัจจุบันด้วยการฝ่าฟันอุปสรรคหนักหนาให้เห็นเป็นแบบอย่าง

รัชกฤช วงษ์วิลาศ และคณะร่วมกันแปลอย่างสุดฝีมือ ไม่ควรพลาดงานชั้นดีเช่นนี้

● หนังสือพิสดารอีกเล่ม ที่จะฟื้นความทรงจำ ความคิด และสภาพแวดล้อมที่เคยเติบโตมา ของคนรุ่น 80-70 ปีลงไป ให้เห็นว่า โลกมิได้มีแต่ “มาร์เวล” (Marvel) แม้สยามเมืองซึ่งยิ้มไม่ค่อยออกในปัจจุบันก็มีอดีตของรูปสายลายเส้นสำหรับเด็กและวัยรุ่นเช่นกัน การ์ตูนไทย ศิลปะ และประวัติศาสตร์ เป็นหนังสือที่ต้องเรียนรู้และควรสนับสนุน เพื่อได้เห็นเส้นสายและรอยต่อวัฒนธรรมอีกแบบจากนิทานพื้นบ้านนิทานชาดก จนถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับความกังวลของคนยุคมิลเลนเนียมในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกประวัติศาสตร์การ์ตูนไทยที่ไม่เคยถูกบอกเล่า

เนื้อหาเปี่ยมชีวิตชีวาที่เต็มไปด้วยเรื่องบอกเล่ากับภาพประกอบอันงดงามเล่มนี้ แสนแปลกใหม่ในสายตานักอ่าน เพราะจะได้พบกับการ์ตูนที่สูญหาย แม้จะผ่านเวลามาด้วยกันกับเรา พร้อมทั้งเรื่องเล่าเบื้องหลังของบรรดาการ์ตูนที่เรารักและเคยรู้จัก กับเหล่านักเขียนการ์ตูนที่รังสรรค์ขึ้นมา แต่ละหน้ายังให้มุมมองของสังคมซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ที่แสดงถึงความหวัง ความกลัว ความเบิกบาน และความสยองขวัญ ผ่านตัวการ์ตูนที่โลดแล่นอยู่ในกาลเวลาเหล่านั้น

นี่เป็นงานของ นิโคลาส เวร์สแตรปเปิน ผู้เขียน ซึ่งควรกับการยกย่องชมเชย

ผ่านมาร่วม 2 ปีเต็มๆ แล้ว จาก ปลายปี 2562 ที่ไวรัสร้ายแรงถึงชีวิตเริ่มระบาดทั่วโลก จนวันนี้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 5 ล้านคน การต่อสู้โรคภัยกับการระแวดระวัง ขณะเดียวกันก็กระทบการทำมาหากินโดยตรง ทำให้ชีวิตในวิถีเดิมระส่ำระสายจนการเปลี่ยนแปลงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเกิดการดำเนินชีวิตวิถีใหม่สืบไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องระวังให้ชีวิตรอดเสียก่อนเป็นปฐม

หวังว่าแต่ละรูปนามในวันนี้ จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไม่ประมาท

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image