เล่าเรื่องหนัง : The Laundromat ภาพสะท้อนรวยมั่งคั่ง จาก ‘ปานามา เปเปอร์ส’ สู่ ‘แพนดอรา เปเปอร์ส’

สัปดาห์ก่อนปรากฏข่าวต่างประเทศมีการเปิดเผยเอกสารลับ “แพนดอรา เปเปอร์ส” (Pandora Papers) ที่แฉความลับความมั่งคั่งของเศรษฐี คนรวย ผู้ทรงอิทธิพลในหลายประเทศ นักการเมืองทั้งอดีต ปัจจุบัน ตลอดจนเจ้าหน้าที่รัฐ โดยมีคนที่ถูกเปิดเผยชื่อออกมา รวมกว่า 300 คน มีรายงานว่าคนเหล่านี้ใช้วิธีกระจายความมั่งคั่งผ่านการจัดตั้งบริษัทในต่างแดนซื้ออสังหาริมทรัพย์ลับๆ บ้างก็ลงทุนผ่านกองทุนลับๆในต่างประเทศแบบถูกกฎหมาย

ถ้าจำกันได้หลายปีก่อนมีกรณีที่โด่งดังทั่วโลก รวมทั้งบ้านเราก็ให้ความสนใจในตอนนั้นอย่าง “ปานามา เปเปอร์ส” (Panama Papers) ที่เปิดโปงคนดัง ผู้ทรงอิทธิพลในหลายวงการเช่นกัน

ครั้งนั้นมีเอกสารที่รั่วไหลพาดพิงถึงสำนักกฎหมาย “มอสแซก ฟอนเซกา” ในประเทศปานามา โดยถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและเลี่ยงภาษีหรือไม่ โดยโยงใยไปถึงบรรดาคนดัง มหาเศรษฐี เซเลบริตี้ นักการเมืองทั่วโลก ที่กระจายความเสี่ยงความมั่งคั่งของตัวเองรวมทั้งต่อยอดความมั่งมีนั้น โดยทั้งหมดดำเนินการในนัยยะซุกซ่อนลงทุนแบบถูกกฎหมาย ผ่านการตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore company) ไปจนถึงการตั้งกองทรัสต์มาจัดการทรัพย์สิน เป็นต้น

Advertisement

ทั้ง “แพนดอรา เปเปอร์ส” และ “ปานามา เปเปอร์ส” รวมทั้งก่อนหน้านี้ยังมีเอกสารรั่วไหลอีกชุดคือ “พาราไดซ์ เปเปอร์ส” (Paradise Papers) ข้อมูลเหล่านี้ผ่านการตรวจสอบโดยกลุ่มนักข่าว International Consortium of Investigative Journalists (ICIJ) หรือเครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนสอบสวนนานาชาติ ที่มีนักข่าวเข้าร่วมมากกว่า 650 คน จาก 117 ประเทศ โดยข้อมูลชุดล่าสุดอย่าง “แพนดอร่า เปเปอร์ส” กลุ่มผู้สื่อข่าวสามารถเข้าถึงเอกสาร 12 ล้านฉบับจากบริษัทที่ให้บริการทางการเงิน 14 แห่งในประเทศต่างๆ รวมถึงหมู่เกาะบริติชเวอร์จิน ปานามา เบลีซ ไซปรัส สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์

หากใครสนใจอยากติดตามเรื่องนี้ให้เข้าใจในรูปแบบความบันเทิง มีภาพยนตร์ที่ทำให้การติดตามวิธีการซุกทรัพย์สินที่ดูซับซ้อนหลายชั้นหลายขุมถูกเล่าออกมาให้กระจ่างมากขึ้นในหนัง “The Laundromat” ของผู้กำกับ “สตีเฟ่น โซเดอร์เบิร์ก” ที่หยิบจับเอาเรื่องราวของกรณี “ปานามา เปเปอร์ส” มาเล่าให้ดูแบบภาพยนตร์

“The Laundromat” ดัดแปลงจากหนังสือ “Secrecy World” ของ “เจค เบิร์นสตีน” นักข่าวรางวัลพูลิตเซอร์ ที่ร่วมในทีมสืบสวนสอบสวนข้อมูลในเอกสารลับปานามา

ตัวหนังใช้วิธีการเล่าเรื่องตั้งแต่จุดเล็กที่สุด ซึ่งสุดท้ายขยายให้เห็นตลอดห่วงโซ่ความเชื่อมโยงที่ลุกลามขยายใหญ่โตในที่สุด โดยได้นักแสดงหญิงรุ่นลายคราม “เมอรีล สตรีพ” มารับบทหญิงม่ายที่สามีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเรือล่ม และต้องเคลมเงินประกันภัย แต่ปรากฏว่าบริษัทประกันภัยที่ทางผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวทำไว้ไม่มีตัวตนจริง ส่งผลให้หญิงม่ายออกเดินทางไปยังที่ตั้งของบริษัทประกันที่ต่อมาพบว่าเป็นเพียงบริษัทที่ตั้งมาจัดฉากแบบเปลือกๆ หรือ Shell Company จนต่อมาเรื่องราวก็ขยายบานปลายไปถึงความเกี่ยวพันกับสำนักงานทนายความมอสแซก ฟอนเซกา ในประเทศปานามา ศูนย์กลางกรณีอื้อฉาวของเรื่องที่เปิดให้บริการปรึกษาด้านกฎหมายและการลงทุน โดยมีส่วนในการให้ความช่วยเหลือลูกค้าจัดตั้งบริษัทในต่างประเทศเพื่อถือครองทรัพย์สินอย่างลับๆ แบบอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายในการทำให้ถูกต้อง แต่ก็ดูน่าเคลือบแคลงในที โดยมีสองทนายความผู้อยู่เบื้องหลัง รับบทโดยสองนักแสดงดังรุ่นใหญ่ “แกรี่ โอลด์แมน” และ “แอนโตนิโอ แบนเดอรัส”

แม้ “The Laundromat” จะเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยศัพท์เทคนิคในโลกการเงิน และบางครั้งมีความไวจนอาจตามไม่ค่อยจะทัน แต่หนังก็พยายามอย่างยิ่งในการเล่าเรื่องเทคนิคนี้ให้ง่ายเท่าที่จะทำได้ มีตั้งแต่การให้ตัวละครมาอธิบายหน้ากล้องให้คนดูฟังกันเลย แต่กระนั้นบางช่วงคนดูก็ต้องโฟกัสกับหนังกันพอสมควรเพื่อตามให้ทันประเด็นซับซ้อนในโลกการเงิน ซึ่งหนังได้พยายามชี้ให้คนดูเห็นและเข้าใจตามด้วยการอธิบายให้เห็นถึงจุดอ่อน ช่องโหว่ในระบบการเงินโลก โดยวิธีเล่าก็ยอกย้อนน่าติดตาม เพราะเราจะได้เห็นตั้งแต่วิธีการบริหารจัดการเงินผ่านการตั้งบริษัทในต่างแดน การตั้งกองทรัสต์ และเป็นข้อสรุปว่าช่องโหว่ทางกฎหมายในโลกการเงินนี้ ตกลงผิดที่ “คน” หรือ “ระบบ” แต่ที่แน่ๆ มันเป็นหลุมดำในโลกการเงินที่อาศัยช่องโหว่กฎหมายที่อ่อนแอในการหลบเลี่ยงหรือตกแต่งบัญชีทรัพย์สิน

ภาพยนตร์เรื่อง “The Laundromat” เน้นไปที่การหยิบจับเชื่อมโยงเรื่องราวจากกรณีปานามา เปเปอร์ส เป็นหลัก และถ่ายทอดให้เห็นว่า มอสแซก ฟอนเซกา เป็นบริษัทกฎหมายที่ดูจะลึกลับมากแห่งหนึ่ง และแม้ต่อมาบริษัทจะไม่ได้ถูกตั้งข้อหาว่าทำผิดกฎหมาย แต่ด้านหนึ่งหนังก็นำเสนอให้เราตั้งคำถามถึงช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดช่องเอื้อให้คนที่รวยมากๆ มีวิธีหาทางสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบต่างๆ ในต่างประเทศได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และก็ต่อยอดความมั่งคั่งนี้ออกไป ซึ่งผลที่ตามมาคือภาพสะท้อนให้เห็นว่า การจัดการการเงินของเศรษฐีคนรวยๆ นั้นอยู่บนเส้นพร่าเลือนของกติกากฎหมาย และเมื่อยังมีช่องโหว่นี้ความร่ำรวยจนเหลื่อมล้ำนี้ก็จะไม่มีวันจบสิ้น

เราอาจจะเห็นข่าวการจัดอันดับเศรษฐีโลก ซึ่งว่ากันตามจริงข้อมูลที่ใช้จัดอันดับก็เป็นเพียงข้อมูลสาธารณะ เช่น หาจำนวนหุ้นในบริษัทมหาชน ดูราคาหุ้นเพื่อดูมูลค่า แต่ในอีกมิติยังมีความร่ำรวยจากแหล่งอื่นที่ไม่ได้ถูกค้นพบ และมหาเศรษฐีบางคนก็รวยโดยไม่ต้องมีบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์เลยด้วยซ้ำ

แต่เหนือสิ่งอื่นใด จาก “ปานามา เปเปอร์ส” สู่ “แพนดอร่า เปเปอร์ส” ก็บอกเราว่า เรื่องแบบนี้ไม่ได้อยู่ที่คนรวย แต่อยู่ที่ระบบมากกว่าที่เอื้อให้เกิดความร่ำรวยที่ต่อยอดความมั่งคั่งจนประเด็น “ความไม่เท่าเทียม” ในสังคม “ความเหลื่อมล้ำ” กลายเป็นวาระสำคัญระดับโลกในวันนี้

(ภาพประกอบ Youtube Video / Netflix)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image