เล่าเรื่องหนัง : เมื่อ ‘เบบี้บูมเมอร์’ ปะทะ ‘เจน-ซี’ ผ่านท่วงทีภาษาตลกจากซีรีส์ ‘Hacks’

Hacks ซีรีส์สายคอมเมดี้ที่ฟีลกู้ด ตลกเสียดสี พรั่งพร้อมด้วยการแสดงจัดจ้านของนักแสดงนำที่ปล่อยพลังได้อย่างมีเสน่ห์ ส่งผลให้กวาดไปได้ 3 รางวัลหลักในเวที Emmy Awards 2021 ของปีนี้ คือนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมประเภทซีรีส์คอมเมดี้ บทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยมประเภทซีรีส์คอมเมดี้ และกำกับการแสดงยอดเยี่ยมในสายซีรีส์คอมเมดี้

“Hacks” เป็นซีรีส์ 10 ตอนที่ดูสนุก ด้วยเนื้อเรื่องไม่มียืดยาด ยืดเยื้อ ตัวละครมีพัฒนาการ และที่สำคัญนักแสดงนำหญิงสองคนในเรื่อง “จีน สมาร์ท” และ “ฮันนาห์ เอนบินเดอร์” คือชูโรงสำคัญ ทั้งคู่คือภาพแทนของคนสองยุคระหว่าง “เบบี้บูมเมอร์” กับ “เจเนอเรชั่นซี” (Gen Z) ที่ต้องมาทำงานที่เชี่ยวชาญและมีพรสวรรค์เหมือนกัน นั่นทำให้พื้นที่ช่องว่างระหว่างวัยของคนที่มีพรสวรรค์ แต่ต่างวัยกลายเป็นวัตถุดิบให้ Hacks สร้างไดอะล็อกและเรื่องราวสนุกสนานตลอดเรื่อง

ซีรีส์เปิดเรื่องด้วยความหรูหรา อลังการ และความเป็นเซเลบริตี้ประจำลาสเวกัสของ “เดโบราห์ แวนซ์” (จีน สมาร์ท) ตำนานที่ยังโด่งดังและประสบความสำเร็จอันยาวนานในอาชีพ Stand-Up Comedy หรือเดี่ยวไมโครโฟนรุ่นเก๋า แม้จะล่วงเข้าสู่วัย 60 แต่หน้าที่การงานและอาชีพของเธอยังคงพราวเสน่ห์ มีแฟนคลับซื้อตั่วมาชมการแสดงสดเดี่ยวไมโครโฟนของเธอที่ลาสเวกัสทุกสุดสัปดาห์ ชีวิตที่รุ่งโรจน์ในเวกัสมีให้ “เดโบราห์” อย่างล้นเหลือและส่งให้เธอเป็นตัวแม่แห่งดินแดนทะเลทรายที่ค่ำคืนสวยกว่ากลางวันแห่งนี้

Advertisement

ขณะที่ “เอวา” (ฮันนาห์ เอนบินเดอร์) ผู้มาเยือนจากนครลอสแองเจลิส นักเขียนบทแนวตลกวัย 25 ปี ที่ทำมาหากินในฮอลลีวู้ด กลับกระอักกระอ่วนไม่รู้สึกถึงสุนทรียรสกับสถานที่อย่างลาสเวกัสเลย เธอเพิ่งตกงานกะทันหันจากผลพวงของการถ่ายทอดความคิดและความมั่นใจของตัวเองบนโซเชียลมีเดียจนถูกเลิกจ้าง หนำซ้ำรายการวาไรตี้ รายการโชว์ต่างๆ ในฮอลลีวู้ดก็ขยาดที่จะจ้างเธอมาร่วมงาน ทางรอดสุดท้ายคือการตัดสินใจมาร่วมงานกับ “เดโบราห์ แวนซ์” ในฐานะลูกน้องมือเขียนบทตลกในเดี่ยวไมโครโฟนที่ลาสเวกัส ซึ่ง “เอวา” ดูจะไม่เข้าใจกับความสำเร็จของคนรุ่นเก่ากว่าเธอ ไม่อินกับสถานที่อย่างเวกัส ทั้งที่ว่ากันตามจริงเธอก็เพิ่งจากลามาจากความฉาบฉวยแห่งโลกฮอลลีวู้ดเช่นกัน

ฉากการพบกันครั้งแรกของนายจ้างและลูกจ้างคู่นี้ต่างก็มีบทสนทนาที่ไม่เป็นมิตร และส่งประโยคท้าทายระหว่างกันประสาคนทำอาชีพในสายงานใกล้กันและหล่อเลี้ยงชีวิตตัวเองด้วย “มุขตลกเสียดสี” นั่นทำให้ซีรีส์เรื่อง Hacks สร้างบทสนทนาของคนต่างวัยที่สนุกมีเสน่ห์และทำคนดูหัวเราะตามออกมาได้จนเป็นจุดเรียกแขกให้ต้องดูกันไปจนสุดทาง

Advertisement

กระนั้นนี่ไม่ใช่เรื่องราวประเภทผู้หญิงสองคนมาริษยาชิงดีชิงเด่นอะไร แต่ “Hacks” เล่าเรื่องลุ่มลึกในแบบฉบับฟีลกู้ด พร้อมสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างวัย ความแตกต่างทางทัศนคติ ชีวิต และนิสัยใจคอของคนระหว่างรุ่น ซึ่งซีรีส์ที่ได้รับรางวัล Emmy Awards สาขาบทละครโทรทัศน์ยอดเยี่ยมประเภทซีรีส์คอมเมดี้ ก็ทำหน้าที่เสนอมุมมองได้อย่างมีอรรถรส พร้อมด้วยการกำกับการแสดงยอดเยี่ยมที่ผลักดันให้สองนักแสดงหลักของเรื่องส่งบทและเคมีให้กันได้อย่างลื่นไหล

สำหรับชื่อเรื่อง “Hacks” มาจากคำสแลงใช้กล่าวว่าใครในทำนองเป็นคนไม่เจ๋งจริงในสิ่งที่ตัวเองทำ และมักจะใช้คำนี้ พูดเปรียบถึงแวดวงคนที่ทำงานเขียนโดยเฉพาะ อาทิ ใช้เรียกนักเขียนที่เขียนงานไม่ได้ความ การที่ซีรีส์ใช้ชื่อเรื่อง Hacks จึงเป็นตลกร้ายที่ใช้เรียกล้อเลียนใส่ทั้ง “เดโบราห์” และ “เอวา” ที่้ทั้งคู่ต่างก็เฉียบคมในวิชาชีพของตัวเอง แต่คนต่างวัยคู่นี้ก็ถูกตั้งคำถามชีวิตเช่นกัน “เดโบราห์” กำลังถูกท้าทายกับอีโก้ของตัวเองด้วยยุคสมัยและนาฬิกาชีวิตที่ทำให้เธออาจกำลังเข้าสู่ช่วงขาลง ส่วน “เอวา” อยู่ระหว่างต่อสู้ทางจิตใจที่มุ่งมั่นทะเยอทะยานจนลืมมองคนรอบข้าง ขณะที่เส้นทางการงานก็ยังล้มลุกคลุกคลาน

อีกหนึ่งจุดที่ Hacks ถ่ายทอดได้ดีคือ การพูดถึงผู้หญิงในวงการบันเทิงและเป็นผู้หญิงที่ทำงานในด้านคอมเมดี้หรือขายความตลกขบขันนั้น เพราะไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยเราจะเห็นว่าในวงการนี้เป็นโลกของผู้ชายอย่างแท้จริง พื้นที่ที่จะให้เหล่าเอนเตอร์เทนเนอร์ผู้หญิงที่มีพรสวรรค์ถูกลดทอนสถานะให้เป็นรองหรือหากขึ้นมายืนเป็นเบอร์หนึ่งได้ก็ต้องฝ่าฟันมากกว่าผู้ชาย ซึ่งด้วยสไตล์ของ Hacks ไม่ได้เล่าขยี้ออกมาตรงๆ จนอาจทำให้กลายเป็นซีรีส์สิทธิสตรี เพราะเอาเข้าจริง ในโลกฮอลลีวู้ด และวงการเดี่ยวไมโครโฟน ผู้หญิงที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ของผู้ชายนี้ ต่างก็ต้องใช้วิธีต่อรองแย่งชิงอำนาจแพ้บ้างชนะบ้าง เช่นกรณี “เดโบราห์” ที่ขึ้นมาเป็นเดี่ยวไมโครโฟนเบอร์ต้นของประเทศได้ก็ไม่ได้ต่อสู้ในแบบฉบับสิทธิสตรี แต่เธอเล่นเกมและเอาชนะไปในเกมของพื้นที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ภาพแทนของตัวละคร “เดโบราห์” จึงมิอาจสะท้อนแง่มุมเฟมินิสต์ได้ และว่ากันตามตรง ตัวละครหญิงทั้งสองคนต่างก็เผชิญกับคำถามเดียวกันนี้

ขณะที่ซีรีส์ยังใส่ประเด็นที่ว่าเดี่ยวไมโครโฟนนั้น เป็นหนึ่งในงานบันเทิงด้านตลกขบขันและการขายมุกตลกเพื่อเรียกเสียงหัวเราะคนดู ซึ่งคนที่เป็นนักเดี่ยวไมโครโฟนมักจะเล่าเรื่องตลกที่สะท้อนเรื่องราวร่วมสมัย มีทั้งการเสียดสี เหน็บแนมแบบตลกร้าย ซึ่งอีกนัยหนึ่งมันก็ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น ทว่ามันก็ถูกตั้งคำถามว่า เส้นแบ่งระหว่างการเล่นมุกตลกแบบทั่วไปกับแบบล้อเลียนคนอื่นที่อาจถูกมองว่าไม่พีซี (PC – Political Correctness-ความถูกต้องทางการเมือง) มันสามารถทำได้ในนามของ การเล่าเรื่องตลกบนเวทีหรือไม่

ภาพรวม “Hacks” คือเรื่องราวของผู้หญิงสองคนต่างรุ่นต่างวัย ทั้งคู่มีความเหมือนกันมากในบางแง่มุม เพราะพวกเขาพูดภาษาตลกของคนในวิชาชีพเดียวกัน แต่ในทางกลับกันบริบทของทั้งคู่ก็แตกต่างกันอย่างมาก ซึ่ง Hacks ถ่ายเทน้ำหนักของ “เดโบราห์” และ “เอวา” ทั้งจุดอ่อนของทั้งคู่ที่มีเท่าๆ กัน และต่างคนต่างก็ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ดีๆ ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างรุ่น ซึ่งซีรีส์ทำได้ดีตรงที่ไม่ได้ออกแบบให้ตัวละครจากสองยุคไปทำหน้าที่สั่งสอนอีกฝ่าย แต่เป็นการเซตโทนให้เรื่องราวที่ถูกต้องอยู่ตรงกลางระหว่างคนสองวัยนี้

(ภาพประกอบ Youtube Video / HBO)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image