ลลิตา หาญวงษ์ : Junta Strikes Back ท่าทีของพม่าต่ออาเซียน

คอลัมน์ไทยพบพม่า : Junta Strikes Back ท่าทีของพม่าต่ออาเซียน โดย ลลิตา หาญวงษ์

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งสุดท้ายประจำปี 2021 ปิดฉากลงไปแล้ว การประชุมที่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม ในครั้งนี้เป็นหมุดหมายครั้งสำคัญของอาเซียนในหลายประเด็น โดยเฉพาะท่าทีของอาเซียนที่มีต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพม่าหลังเกิดรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น ผู้นำอาเซียนมีมติไม่เชิญตัวแทนจากพม่าเข้าร่วม ในทางทฤษฎี คณะรัฐประหารเลือกอู มยิ้น ส่วย (U Myint Swe) ขึ้นมารักษาการในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่ในทางปฏิบัติ ทุกคนต่างรู้ดีว่าผู้นำที่แท้จริงของพม่าในปัจจุบันคือพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และหัวหน้าคณะรัฐประหาร และก็ไม่แปลกที่มิน อ่อง ลาย จะเป็นจุดสนใจของทั่วโลก เพราะนี่คือ “ก็อดฟาเธอร์” มากบารมี และเป็นผู้มีอำนาจการตัดสินใจสูงสุดในขณะนี้ และโดยธรรมชาติของกองทัพพม่า รัฐประหารที่เกิดขึ้นเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่ “ขาดความชอบธรรม” ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ และกองทัพในฐานะ “กระดูกสันหลัง” ของชาติก็ย่อมต้องปกป้องชาติจากนักการเมืองที่กองทัพมองว่าจ้องจะทำลายความเป็นเอกภาพของชาติ

หลังอาเซียนมีมติไม่เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เราได้เห็นการต่อสู้กันทางความคิดระหว่างอาเซียนด้านหนึ่ง ที่ยังยึดแนวทางสิทธิมนุษยชน ความมั่นคงร่วมภายในอาเซียน และมารยาททางการทูต และรัฐบาลคณะรัฐประหารพม่าอีกด้านหนึ่ง ที่มองว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายในของตน และอาเซียนควรรักษาจุดยืนเรื่องการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติสมาชิก แต่ท่าทีของอาเซียนต่อพม่าครั้งนี้ต่างออกไปจากครั้งก่อนๆ ฝ่ายคณะรัฐประหารเองก็ออกแถลงการณ์แสดงความไม่พอใจมติของอาเซียนมากถึง 3 ฉบับ

อาเซียนตัดสินใจเชิญชาน เอ (Chan Aye) อดีตข้าราชการ ที่เคยทำงานในกระทรวงต่างประเทศในยุครัฐบาลเอ็นแอลดี และยังเคยทำงานให้กับรัฐบาลของพรรค USDP (พรรคนอมินีของกองทัพ) มาก่อนด้วย อาเซียนอาจมองว่าการเลือกชาน เอ เป็นตัวแทนจากพม่าเพียงคนเดียวเป็นตัวเลือก “กลางๆ” ที่ไม่ได้เป็นคนจากฝ่ายการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ชาน เอ เป็นอดีตนักการทูตที่มีประสบการณ์ทำงานกับหลายพรรค แต่ในท้ายที่สุด ไม่ว่าอาเซียนจะเลือกใครเป็นตัวแทนของพม่า คณะรัฐประหารก็ไม่พอใจอยู่ดี ตราบใดที่พลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน

ในแถลงการณ์ฉบับล่าสุดของรัฐบาลคณะรัฐประหารได้อ้างว่าตนมี “สิทธิเต็มที่จะเข้าร่วมการประชุม” และการไม่เชิญพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ไปเท่ากับอาเซียนละเมิดกฎบัตรของอาเซียนด้วย แถลงการณ์ยังกล่าวว่าคณะรัฐประหารจะยอมรับคำเชิญเข้าร่วมประชุมเมื่ออาเซียนเชิญคนในรัฐบาลตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีขึ้นไปเท่านั้น ถ้อยแถลงของคณะรัฐประหารชี้ให้เห็นว่าพวกเขารู้สึกเหมือนถูกตบหน้าอย่างแรงที่อาเซียนไม่เชิญผู้นำคณะรัฐประหารไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แต่ก็แก้เขินในแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายว่าอาเซียนอาจจะเปลี่ยนใจ หากไม่ต้องการเชิญมิน อ่อง ลาย ไปก็อาจเชิญคนในระดับรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรัฐประหารไปร่วมประชุมก็ได้ อย่างน้อยพม่าก็จะไม่เสียหน้าจนเกินไปในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ

Advertisement

มติของอาเซียนในครั้งนี้ดูดุดันมากกว่าที่เคย อาเซียนมีทีท่าชัดเจนว่าจะไม่รับข้อเสนอใดๆ ของคณะรัฐประหาร เพราะถือว่าได้ให้โอกาสมาหลายครั้งแล้ว แน่นอนว่าการอภิปรายของอาเซียนในคราวนี้จะมีพม่าเป็นจุดสนใจหลัก จริงอยู่ว่ายังเกิดภาวะ “เสียงแตก” ภายในอาเซียนในประเด็นเกี่ยวกับพม่า เพราะชาติสมาชิกบางชาติก็ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องพม่า และท้ายที่สุด เมื่ออาเซียนไม่สามารถหาฉันทามติในอันที่เกี่ยวกับพม่าได้ เราก็จะยังไม่เห็นมติที่แรดิคัลอย่างการแขวนสมาชิกภาพของพม่าชั่วคราว เมื่ออาเซียนหารือกันเรียบร้อยแล้ว เราคงเห็นความพยายามกดดันพม่าเพิ่มเติม แต่เป็นในรูปแบบข้อเรียกร้องให้พม่าเคารพ “ฉันทามติ 5 ข้อ” ของอาเซียน เพื่อแก้วิกฤตการเมืองภายในพม่า หรือการยืดหยุ่นให้คณะทูตพิเศษจากอาเซียนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และได้เข้าพบผู้ที่ได้รับผลกระทบจากรัฐประหารทุกฝ่าย

ท่าทีของอาเซียนต่อพม่าเป็นที่ฮือฮาในขณะนี้ แต่ในท้ายที่สุดความสำเร็จในการจัดการปัญหาของพม่าไม่ได้วัดกันที่ท่าทีก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน แต่วัดกันที่ท่าทีของอาเซียนในระยะยาว เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้น อาเซียนไม่ได้ประณามพม่าแบบเปิดเผย มีเพียงชาติสมาชิกไม่กี่ชาติที่แสดงความกังวลอย่างชัดเจน ความบาดหมางระหว่างอาเซียนกับพม่าเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่ออาเซียนต้องการส่งคณะทูตพิเศษเข้าไปร่วมแก้ไขปัญหาการเมืองในพม่า ไม่ว่าอาเซียนอยากจะส่งคนของตนเข้าไปในพม่าเพราะต้องการให้ทั่วโลกมองว่าอาเซียน “มีน้ำยา” หรือเพราะมีความจริงใจอยากเป็นกลไกระดับภูมิภาคเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาการเมืองในพม่าอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพม่าแสดงออกมาชัดว่าไม่ต้องการให้คณะทูตจากอาเซียนเข้าไป และไม่ต้องการทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อ” ที่พม่าและอาเซียนร่วมลงนามไปก่อนหน้านี้

หลักใหญ่ที่แท้คือกองทัพพม่าไม่อยากให้คณะผู้แทนอาเซียนเข้าพบอดีตผู้นำประเทศ ด่อ ออง ซาน ซูจี และผู้บริหารพรรคเอ็นแอลดีที่ยังถูกควบคุมตัวอยู่ เพราะหากผู้แทนอาเซียนได้พบคนเหล่านี้เมื่อไหร่ ภาพความรุนแรง การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง เช่น การซ้อมทรมานนักโทษการเมือง หรือการสังหารประชาชนอย่างเหี้ยมโหด ก็จะถูกเผยแพร่ออกไปทั่วโลก และหากในอนาคตมีการตัดสินคดีเพื่อลงโทษคณะรัฐประหารชุดนี้ คำให้การเหล่านี้ก็จะเป็นหลักฐานมัดตัวคณะรัฐประหาร รวมทั้งคนในองค์กรอื่นๆ เช่น ตำรวจ หรือลงไปถึงระดับผู้นำชุมชน ผู้เขียนมองว่าคณะรัฐประหารพม่าจะไม่มีทางผ่อนปรนให้คณะผู้แทนจากอาเซียนเข้าไปสืบสวนข้อเท็จจริงใดๆ ได้ ก่อนหน้านี้เคยเกิดวิกฤตการณ์ในพม่าขึ้นหลายครั้ง ตั้งแต่การปราบปรามประชาชนครั้งใหญ่ในเหตุการณ์การปฏิวัติชายจีวร (Saffron Revolution) ในปี 2007 และวิกฤตโรฮีนจาระลอกล่าสุด สหประชาชาติส่งคณะผู้แทนพิเศษเข้าไป มีนักการทูตระดับเวิลด์คลาสหลายคนที่เคยทำหน้าที่เจรจากับพม่า ไม่ว่าจะเป็นอิบราฮิม กัมบารี (Ibrahim Gambari) หรือแม้แต่โคฟี อันนัน (Kofi Annan) อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ แต่จนถึงที่สุดก็ไม่สามารถแก้ไขวิกฤตใดๆ ในพม่าได้

Advertisement

แทคติคที่กองทัพพม่านำมาใช้ตลอดคือ “ปล่อยผ่าน” คือปล่อยให้โลกค่อยๆ ลืมเหตุการณ์ความรุนแรงในพม่าไป ในที่สุด หากองค์การระหว่างประเทศรวมทั้งอาเซียนไม่ร่วมกันแก้ไขปัญหาพม่าอย่างเอาจริงเอาจัง และยกเป็นวาระหลัก (อย่างน้อยก็สำหรับอาเซียน) ก็จะยังเกิดความรุนแรงในพม่าอีกเรื่อยๆ และก็จะไม่มีใครที่แก้ปัญหาได้ไปอีกนาน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image