คั่นไว้ในใจเธอ พบสำนักพิมพ์ชั้นนำที่มติชน

คั่นไว้ในใจเธอ พบสำนักพิมพ์ชั้นนำที่มติชน

โรคระบาดยังพยายามระบาด แต่ระบาดได้หรือไม่อยู่ที่คน คนที่อยู่ท่ามกลางโรคระบาดย่อมพยายามเอาตัวรอด รอดโดยมีอยู่ มีกิน มีอ่าน ดังนั้น มติชน บุ๊กมาร์ค 2021 จึงไม่เกิดขึ้นไม่ได้ ตั้งแต่ศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จนถึง 11 พฤศจิกายนที่จะถึง ระหว่าง 10 โมงเช้าถึง 1 ทุ่มแต่ละวัน ที่ มติชน อคาเดมี ถนนเทศบาลนิมิตใต้ ซอย 12 ประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร สถานที่สร้างพ่อครัวแม่ครัวหัวป่าก์รุ่นใหม่ หรือที่ผลิตเชฟไทยในกระแสคลื่นอาหารนานาชาติ หลายคนยังรู้จักว่ามีร้านหนังสือชั้นดีตั้งอยู่

จะเป็นสถานที่จัดงานเทศกาลหนังสือ คั่นไว้ในใจเธอ ซึ่งยกสำนักพิมพ์ชั้นนำมาเสนอสนองความต้องการนักอ่านอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง เพื่อมาแล้วจะได้กลับไปอย่างอิ่มเอม

สำนักพิมพ์เหล่านี้มี แสงดาว, ประพันธ์สาส์น, ยิปซี, เม่นวรรณกรรม, สารคดี-เมืองโบราณ, บทจร, เป็ดเต่าควาย, ต้นฉบับ, Merry Go Round, Earnest, Legend Books, Words Wonder, River books, P.S. และสำนักพิมพ์มติชน เพื่อนร่วมงาน

เห็นรายนามสำนักพิมพ์แล้ว ย่อมประกันงานคุณภาพที่นักอ่านพออกพอใจทั้งสิ้น

Advertisement

ทั้งนี้ จะเป็นเทศกาลหนังสือสุดสนุกที่จะทำให้นักอ่านทั้งขาจรและขาประจำ “รัก” หนังสือมากขึ้นกว่าเดิมแน่นอน ด้วยบรรดากิจกรรมสุดพิเศษตลอดงาน ไม่ว่าการเสวนากับนักเขียนคนดังมากมาย ที่พร้อมเพรียงกันคาดหน้ากากมาพบแฟนๆ เวิร์กช็อปสุดปังที่ห้ามพลาด กับนิทรรศการสร้างแรงบันดาลใจในยามที่สภาพแวดล้อมสังคมชวนให้จิตตก พร้อมกับของแถมที่จะสร้างความประหลาดใจแก่นักอ่านในฐานะมิตรอักษรไม่นอนเหงา

ดังนั้น อย่าพลาดเวลาทองอีกเพียง 5 วัน ที่ได้พบสำนักพิมพ์ชั้นเยี่ยมกับงานชั้นยอด

● เภสัชกร นักเขียน ผู้แม้จะล่วงไปเร็วเพียงวัย 58 ปี แต่งานเขียนจากความรู้เรื่องยาและโภชนาการ ยังตรึงใจผู้อ่านอยู่จนปัจจุบันไม่ลืมเลือน ที่ทำให้เรื่องลึกลับ เขย่าขวัญ ตื่นเต้น น่าสะพรึงกลัว ขยายแนวจากการหลอกหลอนเหนือธรรมชาติ ไปสู่พรมแดนของนิติเวชศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ อันช่วยให้ความบันเทิงเพิ่มพูนสาระอันน่าทึ่งยิ่งขึ้น

สรจักร (ศิริบริรักษ์) กลับมาอีกครั้งกับ 33 เรื่องสั้นคัดสรร แค้นของคนตาย จากชุดเรื่องสั้น สามผี ที่ยังอยู่ในใจนักอ่านเรื่องลี้ลับสยองขวัญ เพื่อนำผู้อ่านกลับไปท่องโลกภูต ผี วิญญาณ อันระทึกใจในความมืดซึ่งมิอาจจินตนาการภาพที่เห็น หนังสือเล่มนี้จะผ่อนคลายบรรยากาศตึงเครียดรอบด้านได้ไม่น่าเชื่อ ด้วยความกลัวที่ตื่นเต้นเร้าใจ

 

● เรื่องหนังสือที่จะทำให้คนรักหนังสือแปลกใจคาดไม่ถึง จากพฤติกรรมธรรมดาถูกจัดระเบียบเป็นความไม่ธรรมดาในการอ่าน ที่เราท่านทั้งหลายนักอ่านไม่เคยรู้สึกตัวว่าถูกหมายรวมเข้าไปด้วย จึงกลายเป็นหนังสือน่าอ่านชนิดพลาดไม่ได้ แปลกพิกล คนรักหนังสือ หรือ “Seven Kinds of People You find in Bookshops” ของ ฌอน ไบเทลล์ แปลโดย ลลิตา ผลผลา ที่ให้มุมมองเกี่ยวกับหนังสือซึ่งแปลกไปไม่เหมือนที่ผ่านๆ มา

ด้วยสายตาของนักสังเกตที่ยากจะหาผู้ใดทัดเทียม ผู้เขียนได้รวบรวมประเภทของผู้คนซึ่งเดินเข้าร้านหนังสือมาให้เราได้รู้จัก อย่างน้อยได้รู้ว่าเราเป็นนักอ่านหรือลูกค้าร้านหนังสือประเภทไหน ทำให้หนังสือเล่มนี้เหมาะกับคนรักหนังสือและรักร้านหนังสือกลายเป็นเรื่องหนังสือที่เกี่ยวกับคน เรื่องของคนที่เกี่ยวกับหนังสือ ซึ่งจะทำให้เรารักหนังสือเพิ่มขึ้นอีกเป็นกอง หรือหลายๆ กองทีเดียวเชียว

ผู้เขียนได้แบ่งประเภทลูกค้าที่เข้ามาเยี่ยมเยียนกึ่งย่ำยี (ฮ่าฮ่า) ร้านหนังสือของเขา ในวิกทาวน์ สกอตแลนด์ ออกเป็นประเภทน่าปวดหัวดังต่อไปนี้คือ ผู้เชี่ยวชาญ, ครอบครัวที่มีลูกเล็กๆ, คนที่มาเดินเตร่, มนุษย์บำนาญเคราครึ้ม, นักเดินทางผู้ไม่เงียบเหงาเท่าไหร่, คนชอบศึกษาประวัติครอบครัว, คนเล่นของ กลุ่มคนลึกลับที่สนใจตั้งแต่ทฤษฎีสมคบคิดไปจนถึง
งานคราฟต์ เป็น 7 ประเภทลูกค้านักอ่านที่จะทำให้เราปวดหัวสนุกสนานไปด้วย

อ่านเพลินจนหากเข้าร้านหนังสือคราวต่อไปอาจต้องเหล่ๆ มองคนอื่นไม่รู้ตัว

● มนุษยชาติรักการเรียนรู้มานมนาน ไม่ได้เกิดมามืดบอด แต่ถูกบังคับให้มืดบอด

เรื่องหนังสือซึ่งน่าทึ่งอีกเรื่องที่เราอาจไม่รู้ไม่เคยได้ยิน แม้ไม่พ้นจินตนาการแต่อาจนึกภาพไม่ออก รถหนังสือเร่ ของคนพเนจร จะให้ภาพอันงดงามน่าทึ่งนั้น เพื่อเติมจินตนาการที่แหว่งเว้าให้เต็ม คริสโตเฟอร์ มอร์เลย์ เขียน “พาร์นาซัส ออน วีล Parnassus on Wheels” เมื่อ 2460 (1917) ในยุคที่เราคงนึกภาพไม่ออก ยิ่งเอาบ้านเราเป็นพื้นฐานว่า เคยมีพ่อค้าแม่ค้ามาเร่ขายหนังสือถึงหน้าประตูบ้าน น่าอัศจรรย์แท้

ด้วยเกวียนพาร์นาซัสหน้าตาประหลาด บรรทุกหนังสือนานาชนิด นำโลกการอ่านอันกว้างใหญ่ไพศาลมาให้ถึงบ้าน โดยหญิงชายผู้เป็นเจ้าของที่จะให้เรื่องน่ารัก อบอุ่น ละมุนละไม และสนุกสนานหรรษา กับการผจญภัยระหว่างทางส่งต่อโลกการอ่านสู่ผู้คน

หนังสือเล่มนี้ยังเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์การค้าสิ่งพิมพ์ปัญญาระหว่างมนุษย์ ในรูปรถหนังสือเคลื่อนที่ (บุ๊กโมไบล์-bookmobile) ซึ่งแพร่หลายอย่างมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 ยุคสมัยที่หนังสือมีล้อมีตีนเดินไปหาผู้คนถึงบ้าน

เยี่ยมจริงๆ ต้องหาอ่านให้เห็นภาพแล้ว ไอริสา ชั้นศิริ แปลให้อ่านเพลิดเพลิน

● เรื่องหนังสือที่ทำให้เศร้าเสียดาย หรืออาจสะเทือนใจไม่แพ้การรู้เรื่องประวัติศาสตร์ เช่น ห้องสมุดอเล็กซานเดรียอันยิ่งใหญ่สมัยโบราณ ที่ถูกเผาทำลายเพราะจูเลียส ซีซาร์เผาเมืองท่าอเล็กซานเดรียจนห้องสมุดที่อยู่ใกล้มอดไหม้ หนังสือนับแสนเล่มแสนม้วนกลายเป็นซาก หรือการเผาหนังสือของฮิตเลอร์ ไปกระทั่งจิ๋นซีฮ่องเต้ แม้จนหลักฐานประวัติศาสตร์ในเมืองต่างๆ ที่วอดวายไปเพราะสงคราม เช่น อยุธยา เป็นต้น

มนุษยชาติรักการเรียนรู้มานมนาน ไม่ได้เกิดมามืดบอด แต่ถูกบังคับให้มืดบอด

หนังสือ/ห้องสมุด/เปลวไฟ โดย ซูซาน ออร์ลีน แปลโดย ศรรวริศา เป็นเรื่องสะเทือนใจอีกเรื่องของคนรักหนังสือ เมื่อเช้าวันที่ 29 เมษายน 2529 (1986) เกิดเพลิงไหม้หอสมุดกลางนครลอสแองเจลิส ความร้อนพวยพุ่งแรงกล้ากว่าสองพันองศาฟาเรนไฮต์ และเผาไหม้อยู่นานกว่าเจ็ดชั่วโมงกว่าจะควบคุมเพลิงได้ หนังสือสี่แสนเล่มของหอสมุดกลางถูกเผาผลาญวอดวาย อีกเจ็ดแสนเล่มเสียหายอย่างหนักจากควันและน้ำ

กลายเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดของห้องสมุดสาธารณะในสหรัฐอเมริกา

ในแต่ละปี หอสมุดกลางแห่งนี้ให้ยืมหนังสือมากกว่าเก้าแสนเล่ม ตอบคำถามอ้างอิงหกล้านคำถาม มีผู้เดินผ่านประตูเข้าไปเจ็ดแสนคน หลังเพลิงไหม้หอสมุดกลางว่างเปล่าเว้นแต่เถ้าละเอียดสีดำ สาเหตุการเสียหายเกิดจากอะไร อุบัติเหตุ ไฟฟ้าลัดวงจร วางเพลิง เป็นหนึ่งในหนังสือแห่งปี 2561 ซึ่งจัดลำดับโดยนิวยอร์ก ไทม์ส น่าหาอ่าน

● คนถูกสอนให้เชื่อมาว่าเราเป็นเพศพันธุ์ที่เห็นแก่ตัวและชั่วร้าย ผ่านบทเรียนจากหนังสือ สื่อมวลชน ทฤษฎีจิตวิทยา ประวัติศาสตร์ ปรัชญา ฯลฯ แต่หนังสือเล่มนี้กลับโต้แย้งว่า “มนุษย์เราเป็นคนดี” แต่กำเนิด ทั้งยังท้าทายทฤษฎีและการทดลองสำคัญๆ ต่างๆ

ของโลก ที่บอกเราว่า คนเปลี่ยนจากดีมาทำเรื่องชั่วร้ายได้เพราะมีอำนาจในมือ รวมถึงการตั้งคำถามต่อการสังหารหมู่ชาวยิวของนาซีเยอรมัน ที่จะทำให้นักอ่านต้องจรดจ่อสนใจ

ที่ผ่านมา มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ (Humankind A Hopeful History) ของ รุทเกอร์ เบรกแมน แปลโดย ไอริสา ชั้นศิริ จะสืบเสาะค้นหาความจริงมาแสดง ด้วยการย้อนไปกว่าสองแสนปี ผ่านงานวิจัยเกี่ยวกับวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต เพื่อที่จะค้นพบว่า โฮโมเซเปียนส์ไม่ได้ฉลาดกว่า เก่งกว่า หรือโหดร้ายกว่าโฮโมสายพันธุ์อื่นๆ แต่พวกเขาเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคม และมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

ผู้เขียนสัมภาษณ์ ค้นคว้า หาข้อผิดพลาด จนพบว่างานวิจัยและความเชื่อที่สอนต่อกันมา ล้วนถูกบิดเบือนเพื่อสร้างความเข้าใจผิดๆ ว่ามนุษย์โหดร้ายเห็นแก่ตัว เพราะหลักฐานที่พบแสดงให้เห็นว่า มนุษย์ไม่เคยไร้หัวใจ ไม่เคยทอดทิ้งกัน มีความหวัง ดังนั้น จึงควรมองมนุษยชาติด้วยสายตาและมุมมองใหม่ โดยเฉพาะในยามยากที่โลกลำบากนี้

ลองอ่านดู อ่านแล้วอาจยังเพิ่มคำถามและข้อโต้แย้งกลับมาอีกมากมาย จะเป็นเพราะโลกนี้ทุกข์เข็ญเกินไป หรือคนที่ไม่ไร้หัวใจมีมากแต่เปลี่ยนแปลงโลกให้ดีไม่ได้

● หนังสืออีกเล่มซึ่งเหมาะกับยุคสมัยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อทุนนิยมเผยโฉมหน้ากระจ่างขึ้นเรื่อยๆ ขณะเทคโนโลยีวิทยาการกำลังก้าวสู่อีกยุคที่จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินชีวิตไปแทบจะสิ้นเชิง การทบทวนตัวเองเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน

พระพุทธเจ้ามองวอลล์สตรีท : ทุนนิยมมีปัญหาอย่างไรและเราจะทำอะไรได้บ้าง หรือ “The Buddha on Wall Street” โดย วรรธกะ ลิน (Vaddhaka Linn) แปลโดย นันทวิทย์ พรพิบูลย์ จะนำเราสำรวจตัวตนมนุษย์และความสัมพันธ์ในโลกทุนนิยม ที่แทบจะทำให้มนุษย์เป็นเครื่องจักร (ซึ่งชาร์ลี แชปปลิน แสดงให้เห็นมาแล้วเนิ่นนาน)

ภายใต้การแข่งขันอย่างเคร่งเครียดและแสวงความร่ำรวยอย่างสิ้นหวัง โดยเฉพาะคนจนที่ไม่มีโอกาสและสายสัมพันธ์ หนังสือเล่มนี้มิใช่แนวคิดต่อต้านทุนนิยมและโลกสมัยใหม่ พุทธศาสนามิได้เป็นเพียงเรื่องการนั่งสมาธิ แต่เป็นการปฏิบัติตั้งแต่เกิดจนตาย ด้วยความเข้าใจเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา เมื่อเศรษฐศาสตร์ส่งผลต่อชีวิตทุกๆ ด้าน จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนรวมทั้งพุทธศาสนิกต้องสนใจ เพราะพุทธศาสนาตั้งอยู่บนหลักธรรมชุดหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากความเชื่อทางเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ (-อย่างไร? ต้องอ่าน)

ใน 12 บทสำคัญ เราจะได้เรียนรู้และทบทวนเรื่อง ความสัมพันธ์แบบให้เปล่า, ความเสื่อมถอยของชุมชน, ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, เศรษฐกิจที่สิ้นเปลือง (ต้องสนใจมากๆ), เศรษฐกิจที่เรียกร้องความสนใจ (ยิ่งต้องสนใจมากๆ ในฐานะเหยื่อ), อุตสาหกรรมความสุข จากนั้น ทบทวนความเหลื่อมล้ำ เข้าใจบริษัท และวิถีพุทธ

เป็นหนังสือที่น่าจะอ่านจริงๆ เนื่องจากผู้เขียนเป็นนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นักการอุตสาหกรรม และการศึกษา ทำงานสหพันธ์การค้าในอังกฤษกว่า 20 ปี ก่อนเข้าร่วมกับชุมชนพุทธไตรรัตน์ และเดินทางระหว่างอังกฤษกับเอสโทเนีย ทำงานสอนและช่วยบริหารองค์กรพระศาสนา พร้อมกับเขียนหนังสือเกี่ยวกับความเชื่อในสังคมหลายเล่ม

ฝรั่งตะวันตกเรียนรู้พระศาสนาไปไกล โดยเฉพาะในหลายประเด็นที่ล้วนเกี่ยวกับโลก เพื่อเท่าทันโลก แต่สังคมที่ถือพระพุทธศาสนาเป็นสำคัญเช่นไทย ยังงมงายล้าหลังกับยศช้างขุนนางพระ ไล่สึกสงฆ์ที่คิดต่าง แสดงออกแตกต่าง โดยกีดกันการเมืองออกจากพระศาสนาซึ่งเป็นเรื่องน่าขัน ในเมื่อแต่โบราณที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้มา สภาพแวดล้อมพระองค์ล้วนเป็นการเมืองทั้งสิ้น แม้แต่การออกบวช และในเมื่อเศรษฐกิจเกี่ยวพันชีวิตมนุษย์โดยตรง มนุษย์ที่ต้องมีศีลธรรม เมื่อเศรษฐกิจเป็นเรื่องการเมือง ศาสนา

จะหลีกหนีการเมืองไปทางไหน หนีไปได้อย่างไร จากความมืดบอดที่ไม่ยอมรับความจริงทั้งหลายดังกล่าวมา

อ่านเพื่อให้รู้อีกประเด็นด้วยว่า พุทธศาสนาในโลกตะวันตกไปถึงไหนแล้ว

● สุดท้ายประจำสัปดาห์น่าจะเหมาะกับหลายๆ คนหรือคนส่วนมากคือ วิธีเอาตัวรอดในวงล้อมคนงี่เง่า หรือ “Surrounded by Idiots” โดย โธมัส เอริคสัน หนังสือที่จะช่วยให้เรารู้จักคนงี่เง่าสี่แบบรอบตัวเรา เพื่อเข้าใจเขา และเราจะได้เอาตัวรอดไม่ลำบาก ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นเพื่อน เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ลูกน้อง เจ้านาย จนคนในครอบครัว

คนที่ให้ตายก็เข้ากับเราไม่ได้, คนที่ปรี๊ดแตกง่าย, คนที่พล่ามแต่เรื่องตัวเอง, คนที่เหมือนจะฟังเรา แต่ไม่เคยเข้าใจอะไรเลย, คนที่คิดบ้าๆ ทำบ้าๆ อย่างนั้นไปเพื่ออะไร ฯลฯ พร้อมกับวิธีการมองคนสี่สีที่อาจช่วยให้รอด คนสีแดง-รู้ให้ได้ว่าใครจ่าฝูง, คนสีเหลือง-จอมฟุ้งฝันที่ต้องดึงมา, คนสีเขียว-เปลี่ยนยากและวิธีตะล่อมคนแบบนี้, คนสีน้ำ-พวกไล่ล่าหาความสมบูรณ์แบบ เพื่อเข้าใจคนแต่ละลักษณะ และสื่อสารกันได้โดยไม่ปวดหัว โดยมิได้ตั้งตนเป็นผู้ถูกต้องแต่ผู้เดียว แต่เป็นการเรียนรู้ที่จะเข้าอกเข้าใจในกันและกัน

นั่นคือ ปัญหาการอยู่ร่วมซึ่งหลีกหนีไม่พ้นในสังคมมนุษย์ ได้แต่ผูกสัมพันธ์ให้ถูกต้อง

เปิดประเทศแล้ว ต้องระมัดระวังอย่างมาก แต่ไม่ต้องเสียศูนย์ เพียงอย่าเสียสติและปัญญากับการตั้งอยู่ในความไม่ประมาทให้ได้เท่านั้น

บรรณาลักษณ์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image