จากการเลือกตั้งอบต. สู่อนาคตการเมืองไทยหลังยุคซื้อเสียง และการไม่ยอมเลือกตั้งกทม.

ผลการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบลเมื่อวันอาทิตย์ 28 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้เราเห็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจหลายอย่าง

และทำให้ตอนนี้เหลือแต่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นองค์กรเดียวที่ยังไม่มีการเลือกตั้งท้องถิ่นเลย ไม่ว่าจะตัวผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภาเขต (ซึ่งถูกยุบไปแล้ว และยังไม่มีโครงสร้างอื่นมาแทน)

แม้ว่าเมืองพัทยาก็ยังไม่มีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่ในระดับจังหวัดแล้ว องค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีก็ได้รับการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อปีที่ผ่านมา ดังนั้นโดยภาพรวมของจังหวัดชลบุรีก็มีการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นไปแล้วเกือบทั้งหมด เว้นแต่ส่วนเมืองพัทยา

ผมเองได้เคยเขียนถึง อบต. ไปบ้างแล้ว มาครั้งนี้อยากจะเน้นเพียงบางข้อสังเกตเอาไว้ นั้่นก็คือสถานการณ์ของ อบต.หลังการเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 พ.ย.

Advertisement

จากประสบการณ์บางส่วนที่ไปสัมผัสมา ผมเห็นว่าโดยภาพรวมแล้วประชาชนมีความตื่นตัวในเรื่องของการเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้อยู่ในระดับสูง และการแข่งขันก็เป็นการแข่งขันที่เข้มข้น

นี่คือการเลือกตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ชนบท หลังจากถูกแช่แข็งไว้ถึงเกือบ 8 ปี นับจากการเลือกตั้งครั้งที่แล้วก่อนที่ คสช.จะยึดอำนาจ

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ยังต้องรอผลการวิเคราะห์อีกสักพัก ที่จะเห็นว่าการแช่แข็ง อบต.แบบ “อสมมาตร” ที่ผ่านมา (หมายถึงว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมืองจากรัฐส่วนกลาง ที่ให้คุณให้โทษกับการเมืองและการบริหารท้องถิ่นอย่างมาก) นั้นก่อให้เกิดผลอะไรบ้าง

ขยายความว่าการแทรกแซงโครงสร้างการเมืองและการบริหารระดับท้องถิ่นของ อบต. โดย คสช.นั้นเป็นการใช้อำนาจเผด็จการในการ “ยกเว้น” ทำนองคลองธรรมของการจัดสรรสิ่งที่มีคุณค่าในสังคมท้องถิ่นโดยมีองค์กรที่มีอำนาจบังคับที่ได้รับความชอบธรรมจากประชาชน อย่างร้ายแรง เพราะเมื่อ อบต.นั้นหมดวาระลง ทั้งตัวนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต.นั้นในช่วงแรกมีความพยายามแทนที่โดยข้าราชการในพื้นที่ที่มักเป็นข้าราชการเกษียณ

แต่ต่อมาเป็นการยินยอมให้นายก อบต.และสมาชิกสภา อบต.เดิม ซึ่งหมดวาระลงไปแล้วนั้นบริหารพื้นที่ต่อมาอีกเกือบจะสมัยการเลือกตั้งอีกรอบหนึ่ง โดยไม่ได้ผ่านการแข่งขันในพื้นที่

ไอ้ที่ดีก็ได้อยู่ต่อ ไอ้ที่ห่วยก็ได้อยู่ต่อ โดยอำเภอใจของคณะรัฐประหารจากส่วนกลาง

คำถามที่ตามมาคือ งบประมาณที่ยังเบิกจ่ายได้ปกติรายปีนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการซื้อเสียง/ซื้อใจล่วงหน้าไปอีกมากน้อย?

และในขณะเดียวกัน ในกรณีพื้นที่ที่มีการเปลี่ยนแปลง อาทิ ทีมเก่าอยู่ต่อแถมใช้งบประมาณต่อเนื่องมาหลายปี แต่กลับแพ้ราบคาบในการเลือกตั้งในรอบนี้มีสักเท่าไหร่ ด้วยเงื่อนไขอะไร?

เรื่องของการแข่งขันลงสมัครรับเลือกตั้ง อบต.อย่างมากนั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ และยังไม่ได้ศึกษากันอย่างจริงจังว่าทำไม อบต.บางแห่งแข่งขันสูง บางแห่งไม่แข่งขันเอาเสียเลย เป็นการลงคะแนนรับรองมากกว่า

เงื่อนไขที่มากไปกว่าคำอธิบายแบบพรรณนาเรื่องราวในท้องถิ่นแต่ละแห่งว่าไม่เหมือนกัน หรือที่เรียกว่าโครงสร้างและเครือข่ายอำนาจในท้องถิ่นก็คือ โครงสร้างของ อบต.ทั้งประเทศนั้นเหมือนกันหมด ไม่ว่าจะมีพื้นที่มากหรือน้อย จะมีรายได้มากหรือน้อย

ผมผ่านไป อบต.แห่งหนึ่งอยู่ในพื้นที่กลางป่ากลางเขาที่นั่นแข่งกันลงนายก อบต. 5-6 คน ในพื้นที่นั้น ขณะที่อบต.ติดเมืองบางแห่งแข่งกัน 2 คน หรือ เป็นการรับรองคนคนเดียว

ยังไม่เห็นงานวิจัยที่อธิบายแบบแผนการแข่งขันดังกล่าว ว่าเป็นเพราะงบประมาณที่ทำให้เกิดการแข่งขันกัน หรือเป็นเพราะความขัดแย้ง-แข่งขันของการเมืองในท้องถิ่นกันเอง? เป็นเพราะการเชื่อมโยงกับระบบบ้าน/เครือข่ายอุปถัมภ์/จักรกลการเมืองในระดับจังหวัด หรือ เป็นเพราะการเมืองของกลุ่ม ก๊วนมุ้ง และ/หรือ ตัวกลไกของพรรคการเมืองในระดับชาติ

ยังมีปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนกว่านั้น เช่น หลาย อบต.ในจังหวัดหนึ่งติด กทม.มีการลงแข่งขันกันหลายทีม แต่พอสืบทราบก็พบว่างานนี้มีหลายสายที่เชื่อมโยงกับบ้านใหญ่ในจังหวัดนั้น หมายถึงมีทั้งที่เชื่อมโยงโดยตรง อย่างน้อยในเชิงสัญลักษณ์ที่เข้าใจตรงกันในท้องถิ่นนั้น คือสวมเสื้อทีมและทำป้ายหาเสียงในโทนสีเดียวกันกับเสื้อทีมและป้ายหาเสียงกับบ้านใหญ่ที่ลงเลือกตั้งในระดับจังหวัด (อบจ.) ในรอบที่แล้ว ขณะที่ทีมอื่นแม้ว่าจะต่างออกไป แต่ก็เป็นกลุ่มที่เชื่อมกับบ้านใหญ่ในพื้นที่เช่นกัน

ที่สนุกอีกแบบหนึ่งก็คือ อีก อบต.หนึ่งมีผู้สมัครนายก อบต. 5 ราย คือรายที่อยู่ในอำนาจเดิม แข่งกับคู่แข่งหลัก และผู้สมัครจากกลุ่มก้าวหน้า แต่ที่น่าสนใจคือ มีอีกสองผู้สมัครนายกในพื้นที่นั้นสวมเสื้อทีมเดียวกับผู้สมัครตัวเต็งที่ครองอำนาจอยู่ แถมบางป้ายหาเสียงคือยืนคูู่กันในป้ายเดียวกัน ก็เป็นที่เล่าขานกันว่า นี่คือแผนสองเผื่อตัวเต็งที่ใส่เสื้อเหมือนกันสามเบอร์นั้นอาจโดนคดี ก็เลยมีแผนสองเอาไว้ก่อน

ยังมีตัวอย่างอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่ ใน อบต.ที่ร่ำรวยมากมหาศาลมีเขตเลือกตั้งถึง 20 กว่าเขต ทั้งที่ในหนึ่ง อบต.นั้นไม่ควรจะมีมากกว่า 10 เขต เพราะโดยทั่วไปแล้ว ตำบลไม่ควรจะมีหมู่บ้านเกิน 10 หมู่บ้าน (และหนึ่งเขตมักเท่ากับหนึ่งหมู่บ้าน) แต่เอาเข้าจริงคงจะต้องลงไปพิจารณากันต่อว่าเหตุใด อบต.นั้นจึงมีประชากรมากมายจนมีเขตเลือกตั้งมากขนาดนั้น และยังไม่ยอมยกระดับเป็นเทศบาลสักที

ยิ่งก่อนสมัยนี้ยิ่งสนุกมาก เพราะเดิมนั้นหมู่บ้านหนึ่งจะมีตัวแทน ส.อบต. 2 คน แต่รอบนี้เหลือ 1 คนต่อหมู่บ้าน ตาม พ.ร.บ.ใหม่ สมมุติว่าหากได้ ส.อบต.ที่ละ 2 คนต่อหนึ่งหมู่บ้านเหมือนเดิม อบต.นี้จะมีสมาชิกสภา อบต.สี่สิบกว่าคนตามกฎหมายเก่า และเมื่อพิจารณาเทียบเคียงกับเงื่อนไขว่า เทศบาลนครที่เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นระดับใหญ่ที่สุดในชั้นเดียวกัน (ไม่นับ อบจ.) ซึ่งระบุว่าเทศบาลนคร มี 4 เขตเลือกตั้ง มีสมาชิกสภาเขตละ 6 คน ก็จะมี ส.ท.ได้แค่ 24 คน เท่านั้นเอง

ส่วนปรากฏการณ์คนรุ่นใหม่ที่กำชัยชนะได้หลายเขต อบต. แม้จะพิสูจน์ว่าคนรุ่นใหม่นั้นไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของมุมมอง จุดยืน และความใฝ่ฝัน ก็คงต้องพิจารณาต่อว่า พวกเขาจะบริหารจัดการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ไปรอดแค่ไหน เพราะว่าเริ่มวิเคราะห์กันในหลายพื้นที่ผู้ชนะนั้นเข้ามาสวมเสื้อทีมใหม่ แต่เคยครองอำนาจในพื้นที่อยู่ก่อน หรือ ในหลายกรณีความท้าทายอยู่ที่ว่า อบต.นั้นจะบริหารอย่างโดดเดี่ยวจากการเชื่อมโยงกับ อบจ.ที่เป็นยานแม่ได้แค่ไหนในแง่การสนับสนุนโครงการและงบประมาณที่มาจากคนละกลุ่มการเมืองกััน อีกทั้งยังหมายถึงการประสานงานกับงบประมาณส่วนกลางก็จะเป็นอีกประเด็นท้าทายที่พวกเขาจะต้องเจอ

ประการสุดท้ายในเรื่อง อบต. ท่านอาจารย์ณัฐกรวิทิตานนท์ แห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ได้ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้ง อบต.ในรอบนี้ เรื่องที่จะกลายเป็นประเด็นกันก็คือการร้องเรียนเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครมากกว่าเรื่องการซื้อเสียง

ข้อเสนอของท่านอาจารย์ณัฐกร ทำให้ผมคิดอยู่หลายตลบ และจุดประกายความคิดของผมมากๆ เรียกว่าสว่างคาตา เพราะว่าทำให้ผมเสนอการนิยามว่าการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นเป็น “การเมืองหลังยุคการซื้อเสียง”

การเมืองหลังยุคการซื้อเสียง หมายถึงการซื้อเสียงไม่ใช่ไม่มี หรือไม่ใช่ไม่เป็นส่วนสำคัญในการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง

แต่สาระสำคัญในเรื่องของการกุมชัยชนะการเลือกตั้งนั้นอยู่ที่การทำลายคู่แข่งด้วยการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยเฉพาะการฟ้องร้องการดำเนินคดีผ่านเงื่อนไขของเรื่องคุณสมบัติการเลือกตั้ง

โดยมีองค์กรอิสระอย่าง กกต. ป.ป.ช. และศาล เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนี้ ซึ่งบางครั้งปฏิบัติการอาจจะไม่สอดคล้องกัน หรือไม่ได้สมคบคิดกันเสมอไป

หมายถึงว่า กกต.ในสมัยแรกเราคิดว่ามีไว้จับโกงซื้อเสียง เอาจริงงานหลักคือคัดกรองคุณสมบัติผู้สมัคร แล้วบางกรณีก็อื้อฉาว เป็นที่ถกเถียง หรือค้านสายตาประชาชน (controversial)

นี่คือสิ่งที่นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ได้อธิบายไว้แล้วว่าเป็นเรื่องของ “นิติสงคราม” (lawfare) แต่ยังไม่ได้อธิบายในมิติส่วนนี้ของการเมืองในมิติของการเลือกตั้ง (electoral politics) และ การเมืองในมิติของรัฐสภา (parliamentary politics)

ตัวแสดงอีกกลุ่มที่่มีความสำคัญในเรื่องการเมืองหลังการซื้อเสียงก็คือ “นักร้อง” ผู้นำเอาคดีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งคนเหล่านี้มีมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นที่ตั้งคำถามตลอดว่าพวกเขาเป็นใคร รับงานไหม หรือทำโดยเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ ทำไมทำแต่กับกลุ่มนี้ทั้งที่มีอีกหลายเรื่องทำไมไม่ทำ

นักร้องหล่านี้เป็นเครือข่ายภาคประชาชน ตามที่บรรดานักวิชาการด้านประชาสังคม และ กระบวนการทางสังคมใหม่เคยจินตนาการเอาไว้ไหมว่าวันหนึ่งจะเกิดการเมืองหลังการซื้อเสียงในแบบนี้?

เรื่องที่ผมพยายามอธิบายก็ต้องเน้นย้ำกันอีกทีว่า การเมืองหลังการซื้อเสียงไม่ใช่มองว่าการซื้อเสียงไม่มีหรือไม่มี แต่ถ้าดูคดีความ และวิธีการพิจารณาของ กกต.เอง จะพบว่ามีการตัดสินเรื่องราวเหล่านี้ไม่มากนัก หรือบางทีมีการตัดสิน แต่ศาลพิพากษาไม่ตรงกับที่ กกต.ตัดสิทธิไปแล้ว และ ส.ส.คนนั้นก็หมดสิทธิไปเลยก็มี

ในอีกด้านหนึ่งในวงวิชาการเองนั้นก็มีการตั้งข้อสงสัยมาพักใหญ่แล้วว่า ไอ้การสังเกตการณ์เลือกตั้งแล้วสุดท้ายต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์หรือไม่นั้น เอาเข้าจริงมันเป็นเรื่องของ “ดีกรี” มากกว่าความเป็นจริงของการทุจริตที่ยากต่อการยอมรับต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรม หมายความว่า ถ้าผ่านร้อยละ 51 กับไม่ผ่านร้อยละ 49 นั้นมันจะ “ขี้เหร่” ต่างกันมากแค่ไหนกันเชียว? และแม้จะมีความพยายามวัดประเมินการเลือกตั้งให้ซับซ้อนขึ้นเช่น electoral integrity ที่วัดการเลือกตั้งหลายตัวแปร แต่เอาเข้าจริงส่วนสำคัญในวันนี้ของการเมืองไฮบริดในบ้านเรากลับเป็นเรื่องของ “การเมืองหลังการซื้อเสียงมากกว่า”

หรือบางกรณีก็สอยกันก่อนเลือกตั้งในไม่กี่วันล่วงหน้า อย่างไทยรักษาชาติก็มีให้เห็นมาแล้ว

การสอยกันด้วยคุณสมบัติจึงเกิดไปทุกหย่อมหญ้า ไล่เรียงกันมาตั้งแต่การเลือกตั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น แม้แต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองก็เคยโดยร้องเรียนอยู่หลายเรื่อง และผ่านมาอย่างงงๆ

ที่พยายามอธิบายเรื่องนี้ ก็เพื่อจะชี้ว่าแทนที่จะมากังวลว่าการเมืองข้างหน้านั้น เพื่อไทย และ/หรือก้าวไกลจะโดนยุบแน่ ผมคิดว่าเงื่อนไขใหญ่ไม่ใช่การยุบพรรคด้วยเงื่อนไขแบบว่าพรรคนี้มีจุดยืนทางการเมืองที่ต่างไป เพราะการยุบพรรคเช่นนั้นเท่ากับระบอบการเมืองที่เป็นอยู่โดยเฉพาะสถาบันทางการเมืองหลายสถาบันกล้าเปิดหน้าชนกับมวลชนเลือกตั้งที่มีจำนวนมากกว่า (แต่ความเข้มข้นของอำนาจเมื่อพวกเขารวมตัวกันแล้ว อาจจะน้อยกว่าก็ได้)

สิ่งที่จะเกิดขึ้นในการเมืองหลังการซื้อเสียง ก็จะเป็นเรื่องการใช้เงื่อนไขของการขาดคุณสมบัติของคนระดับกรรมการบริหารพรรคนั่นแหละครับ ที่จะทำให้พรรคนั้นถูกยุบโดยปริยาย/โดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเงื่อนไขว่ามันเป็นไปตามกฎหมาย เมื่อการกระทำบางอย่างนั้น “ขาด” หรือ “ผิด” คุณสมบัติทางกฎหมายที่ได้ระบุไว้ โดยคำตัดสินขององค์กรอิสระต่างๆ ที่ชงเรื่องขึ้นไป หรือมีอำนาจในการวินิจฉัยเอง

การเมืองในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในปีกว่าๆ ข้างหน้าก็จะเป็นเช่นนี้ และในการเลือกตั้งท้องถิ่นถัดๆ ไปก็จะเป็นเช่นนี้ คดีความที่เกี่ยวกับการทุจริตการซื้อเสียงนั้นจะไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญในการกำหนดสารัตถะทางการเมือง เพราะอาจมองว่าการซื้อเสียงนั้นเกิดขึ้นในวงเล็ก คือเฉพาะบางเขตเท่านั้นที่มีปัญหาการนับคะแนน เมื่อเลือกใหม่ก็ยังชนะอยู่ดี

แต่เรื่องคุณสมบัตินั้นเป็นเรื่องที่ตัวบุคคล ต่อให้ชนะอย่างขาวสะอาด แต่ขาดคุณสมบัติในเรื่องนิดๆ หน่อยๆ (และประเทศไทยนี้ก็ชอบเน้นเรื่องคุณสมบัติเป็นอย่างยิ่ง ดูในกฎหมายการจัดตั้งองค์กรทั้งหลายได้) หรือกระบวนการผิด แถมไม่ได้อยู่ฝ่ายเดียวกัน ความเสี่ยงต่อการถูกสอบก็จะมากขึ้นเท่านั้น

ในประการสุดท้าย ในวันนี้เงื่อนไขของการไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็ยิ่งปรากฏชัดเจนมากขึ้น เมื่อนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นอดีตหัวหน้ารัฐประหาร ที่ผ่านมาใช้คำสั่งคณะรัฐประหารเองในการทำลายการบริหาร กทม. นายกฯคนเดียวกันนี้ได้กล่าวถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.ว่า “ต้องดูสถานการณ์ที่เหมาะสม อะไรที่เกี่ยวข้องกับคำว่าเหมาะสมมันคืออะไร ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ความขัดแย้งต่างๆ ต้องลดลง เพราะต้องเป็นห่วงประเด็นในเรื่องของความมั่นคง ความมีเสถียรภาพของบ้านเมือง มันต้องมาก่อน เมื่อไหร่มีความพร้อมก็ต้องเลือกตั้งไป ซึ่งก็สุดแล้วแต่ว่าประชาชนจะเลือกใคร” (คมชัดลึก 3 ธ.ค. 2564)

ที่เรียกว่านายกรัฐมนตรีท่านนี้มีส่วนสำคัญในการทำลายการบริหาร กทม. มากกว่าแค่แช่แข็ง ก็เพราะมีการ “กลับลำ” !ใช้ “มาตรา 44” ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ยาวไป หลังจากที่หนึ่งเดือนแรกหลังจากยึดอำนาจ คสช. ออกประกาศงดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นในทุกพื้นที่ ซึ่งในช่วงนั้นเกือบทุกงค์กรปกครองท้องถิ่น ใกล้จะหมดวาระกันแล้ว และตั้งคณะกรรมการสรรหาจากข้าราชการมาพิจารณาสรรหาผู้บริหารท้องถิ่นใหม่ แทนที่จะมีการเลือกตั้ง และคนที่มาเป็นส่วนมากเป็นข้าราชการ ทั้งที่เป็นอดีตข้าราชการ และข้าราชการที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ไม่ต้องออกจากจำแหน่งเดิมด้วย จากนั้นในตอนปลายปีนั้นการกลับลำก็เกิดขึ้น โดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. คนเดียวกันนี้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีตอนนี้ ก็ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับปี 2557 เป็นครั้งแรกของตัวเอง โดยการออกคำสั่งให้ผู้บริหารและสมาชิก อปท. ที่หมดวาระรักษาการในตำแหน่งต่อ (Ilaw. “สี่ปี คสช.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กระจายอำนาจถอยหลัง ราชการแทรกแซงท้องถิ่น”. 16 พ.ค. 61)

เว้นแต่ในกรณีของ กทม. และพัทยา ที่ พลเอกประยุทธ์ในฐานะหัวหน้า คสช. แต่งตั้งนายตำรวจสองนายเป็นผู้ว่าฯกทม. และนายกเมืองพัทยา และในส่วนของ กทม.เองนั้น ส.ก.ก็ยังถูกแต่งตั้งมา ขณะที่ ส.ข.นั้นถูกยกเลิกไปเลย ด้วยเงื่อนไขของการที่กลัวว่า ส.ข. จะเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนักการเมือง และเมื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์พ้นผิดคดีที่ถูกกล่าวหา ก็ไม่ได้รับการคืนตำแหน่งกลับมาเป็นผู้ว่าฯกทม. ทั้งที่ได้รับเลือกตั้งมา

(อย่าลืมข่าวล่าสุดที่พลเอกประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐเคลมว่า พลังประชารัฐมีส่วนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง อบต.รอบนี้สี่พันกว่าแห่ง)

ผมเจอข่าวการให้ทรรศนะของนายกรัฐมนตรีท่านนี้แล้วผมก็ถึงแสบตากันอีกครั้ง เพราะตรรกะสุดแสนพิสดารของนายกรัฐมนตรีท่านนี้ที่เดิมก็เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และ สร้างเงื่อนไขในการเลือกตั้งท้องถิ่นว่าให้เป็นไปตามคำสั่ง คสช. และโอนอำนาจมาที่ ครม. หาก คสช.ไม่อยู่แล้ว ที่มีนัยยะว่าการเลือกตั้ง/ยังไม่เลือกตั้ง กทม.นั้นเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่ความมั่นคงนี้เป็นความมั่นคงของใครกันแน่?

เป็นความมั่นคงของรัฐ หรือความมั่นคงของรัฐบาล?

กลัวว่าผู้ว่าฯกทม. ที่มาจากการเลือกตั้งจะสั่งซ้ายหันขวาหันไม่ได้หรือเปล่า? แต่ไม่ถามว่าประชาชนคนกรุงเทพฯเขาเดือดร้อนจากการที่เขาไม่มีตัวแทนในการบริหารบ้านบริหารเมืองของเขาบ้างไหม?

ส่วนตัว พล.ต.อ.อัศวินนั้น ผมคิดว่าท่านก็ควรแสดงสปิริตลาออกจากการเป็นผู้ว่าฯกทม.ที่อยู่โดยอิงอำนาจของคนคนเดียวในนามของกฎหมายที่คนคนนั้นออก เพื่อชี้ให้เห็นว่าท่านเป็นผู้ว่าฯของประชาชน เป็นผู้ว่าฯที่เข้าใจจิตใจของประชาชน เพราะเมื่อท่านลาออกท่านก็ยังมีโอกาสรักษาการต่อไป

และเมื่อนั้นจะได้เปิดให้เห็นกันสักทีว่าใครกันแน่ที่มีอำนาจที่ชอบธรรมในกำหนดการเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร?

พลเอกประยุทธ์ พลเอกอนุพงษ์ จะยังกล้าแต่งตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครคนใหม่โดยไม่ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกรุงเทพมหานครต่อไปอีกหรือไม่

หรือถึงเวลาที่ประชาชนกรุงเทพฯจะได้มีโอกาสเลือกผู้บริหารท้องถิ่นเขาเอง ทั้งผู้ว่าฯ และ สมาชิกสภา กทม. หลังจากที่คนทั้งประเทศเขาเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นของเขาเองกันหมดแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image