โคทม อารียา : ชวนคิดเรื่องการเลือกตั้ง อบต.

การเลือกตั้ง อบต. เพิ่งผ่านไปเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ต่อไปจะถึงคราวการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตามด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. การเลือกตั้งเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เราถูกทหารยึดอำนาจโดยไม่บอกกล่าว นั่นหมายถึงการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยปราศจากการเห็นพ้องของประชาชน คราวยึด ยึดไว คราวคลายไม่รีบร้อนอะไรเลย แต่ประชาชนต่างหากที่อยากได้อำนาจคืนโดยไว คนยึดอำนาจถามว่า “ผมผิดอะไร?” ก็ข้อหาล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอย่างไรล่ะ แต่เอาเถอะ คิดทำอนาคตให้ดีโดยไม่ลืมบทเรียนเก่าก็พอ

เราเรียนรู้อะไรจากการเลือกตั้ง อบต . ที่เพิ่งผ่านไป? คงจะเร็วเกินไปที่จะมองภาพรวมได้ครบถ้วน จึงขอทำเพียงตั้งข้อสังเกตบางประการในเรื่องการหาเสียง การใช้สิทธิ์ และผลการเลือกตั้ง

เรื่องที่น่าศึกษาคือทัศนคติของประชาชนต่อการซื้อสิทธิ์ขายเสียง คำถามแรกคือถ้าไม่ซื้อเสียงจะแพ้แน่นอนใช่ไหม ผมคิดว่ามีโอกาสแพ้สูงแต่ไม่แน่นอนว่าจะแพ้ คือถ้าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่สนใจการเมืองในท้องถิ่น คิดง่าย ๆ ว่า “เงินมา กาไป” ธนาธิปไตยก็ชนะ ถ้าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเห็นว่า ปัจจัยอื่น ๆ ก็อย่างงั้น ๆ ไม่เห็นความแตกต่างมากนักระหว่างผู้สมัคร รับเงินก็ต้องไปเลือกเขา อย่างไรก็ดี โอกาสที่ผู้สมัครที่ไม่ได้ซื้อเสียงจะชนะก็มี ผมพอเชื่อว่าผู้สมัครของคณะก้าวหน้าไม่ซื้อเสียง เขาประกาศว่าใครซื้อเสียงไม่ใช่ผู้สมัครของคณะนี้ ในเขตเลือกตั้งขนาดเล็กอย่างหมู่บ้านหรือตำบล พอรู้กันอยู่ว่าใครซื้อใครไม่ซื้อ ถ้าประกาศอย่างขึงขังแต่ทำอีกอย่าง ก็ไว้ใจไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว

ทุกฝ่ายยอมรับว่ายังมีการซื้อเสียงอย่างแพร่หลาย การตั้งสินบนนำจับของ กกต. ทำเหมือนแก้เขิน ทำไปให้ขึงขังเหมือนขี่ช้าง ว่าจะให้สินบนเป็นหมื่นเป็นแสน แต่ก็จับตั๊กแตนไม่ได้ เอาเถอะ ขู่ไว้ก่อนก็ยังดี แต่จะดีกว่านี้ถ้าให้ภาคประชาสังคมและสภาองค์กรชุมชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งจะให้ผลในการป้องปรามได้ดีกว่า เพราะจะมีคนมาช่วยด้วยจิตอาสาว่าต้องการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งสร้างการตระหนักรู้และจิตสำนึกประชาธิปไตย

Advertisement

หลักฐานการซื้อเสียงที่ชัดกว่าคำบอกเล่าคือการจับหัวคะแนนที่ตำบลบ้านโป่งพร้อมเงินใส่ซอง ซองละ 2,000 บาท จำนวน 56 ซอง และยังพกพาบัตรของผู้สมัครคนหนึ่งในเขตเลือกตั้งที่ทำการจับกุม ไม่ทราบว่าหลักฐานพอเชื่อได้ไหมว่าผู้สมัครคนนั้นน่าจะเกี่ยวข้อง ตัวเลขบอกเล่าคือรายงานข่าวจากจังหวัดพิจิตร ว่าอัตราการซื้อเสียงอยู่ที่ 1,000-6,000 บาท รวมทั้งการแจกคูปองหากได้รับเลือกตั้งให้มารับรางวัลภายหลัง

การซื้อเสียงเป็นเสมือนโรคร้ายของการเลือกตั้ง หลายประเทศเคยมีปัญหานี้มาแต่ในอดีต แล้วปัญหาค่อย ๆ หมดไป หลายประเทศยังมีปัญหาเช่นนี้อยู่เหมือน ๆ ประเทศไทย ผมเชื่อว่าถ้ามีการเลือกตั้งทุกระดับเป็นประจำตามวาระ โดยทหารไม่เข้ามายึดอำนาจซึ่งเป็นการขัดจังหวะ พฤติกรรมการออกเสียงคงค่อย ๆ เปลี่ยนไป เมื่อประชาชนเห็นคุณประโยชน์ของการกำหนดใจตนเองมากขึ้น

ศัตรูของประชาธิปไตยมักยกเรื่องการซื้อเสียงมาเป็นจุดอ่อน ว่าการเลือกตั้งถูกครอบงำโดยธนาธิปไตย อีกทั้งทำให้ทะเลาะเบาะแว้งขัดแย้งกัน อย่างไรก็ดี การขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา เพียงแต่ต้องไม่ใช้ความรุนแรง อันที่จริง ธนาธิปไตยหมายถึงการปกครองที่เอื้อคนรวยให้รวยสุดกู่ และการไม่จัดสวัสดิการสังคมให้ทั่วถึงมากกว่า การเลือกตั้งท้องถิ่น แม้ยังไม่สามารถก้าวพ้นโรคร้ายของการซื้อเสียงได้ แต่อำนาจการตัดสินใจก็ยังอยู่ที่ประชาชน ซึ่งต้องเรียนรู้ว่าประโยชน์ของตนอยู่ที่ไหน และจะทำให้เกิดความแตกต่างได้อย่างไร

Advertisement

ผู้สนใจการเมืองอาจถามว่า นักการเมืองระดับชาติ พรรคการเมือง หรือคณะบุคคลทางการเมืองควรหรือไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนผู้สมัครท้องถิ่น ผู้ที่เห็นว่าไม่ควรมีข้อกริ่งเกรงว่า นักการเมืองระดับชาติกำลังมาสร้างฐานเสียงหรือจัดตั้งหัวคะแนน บางคนคิดว่าเงินที่ใช้ซื้อเสียงมาจากนักการเมืองระดับชาตินั่นแหละ ผมกลับเห็นว่าการเชื่อมโยงการเมืองระดับชาติกับระดับท้องถิ่นเป็นเรื่องธรรมดา การสร้างฐานเสียงเป็นเรื่องธรรมดาของการเมือง ไม่ควรมองนักการเมืองว่าเป็นผู้ร้ายที่ฉ้อโกงโดยเอาทุนคืน ควรมองในแง่ดีไว้ก่อนว่า ที่เขาต้องการคือได้รับเลือกตั้ง ตราบใดที่ผลการเลือกตั้งยังขึ้นอยู่กับการซื้อเสียงและการจัดตั้งหัวคะแนน ตราบนั้นนักการเมืองก็คงทำไปเพื่อหวังผล การแข่งขันก็ไม่เท่าเทียมกันคือคนมีเงินย่อมได้เปรียบ แต่ไม่เสมอไป ผลการเลือกตั้ง ส.ส. และระดับท้องถิ่น หลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา ได้แสดงว่าประชาชนฉลาดเลือกมากขึ้นตามลำดับ แจกแต่เงินสอบตกแน่ ต้องมีผลงาน มีเครือข่าย มีนโยบายที่ดี ฯลฯ ด้วย ผมคิดว่าการตัดสินใจของประชาชนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เขามีอำนาจที่จะเปลี่ยนผู้แทนได้ทุก 4 ปี ถ้าประเมินไม่ผ่าน และประชาชนกำลังเรียนรู้ที่จะใช้อำนาจนี้ได้อย่างสมประโยชน์มากขึ้น จึงไม่ควรปรามาสว่าประชาชนรอแต่เงินจึงกาให้

ในการเลือกตั้ง อบต. คราวนี้ มีผู้ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนจำนวนมาก สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)​ ประกาศเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมว่า ในการเลือกตั้งนายก อบต. มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 27,386,272 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 20,424,603 คน คิดเป็นร้อยละ 74.58 ซึ่งถือว่าสูงมาก จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดพัทลุง คิดเป็นร้อยละ 84.97 2. จังหวัดตรัง คิดเป็นร้อยละ 83.38 3. จังหวัดสุราษฎร์ธานี คิดเป็นร้อยละ 83.26 4. จังหวัดสงขลา คิดเป็นร้อยละ 82.76 5. จังหวัดเพชรบุรี คิดเป็นร้อยละ 82.60 6. จังหวัดสระบุรี คิดเป็นร้อยละ 82.55 7. จังหวัดนครนายก คิดเป็นร้อยละ 82.00 8. จังหวัดกระบี่ คิดเป็นร้อยละ 81.98 9. จังหวัดสตูล คิดเป็นร้อยละ 81.89 10. จังหวัดลำพูน คิดเป็นร้อยละ 80.88 สังเกตว่าภาคใต้มีหลายจังหวัดที่มีการตื่นตัวสูง

ในช่วงวันเลือกตั้ง มีผู้สังเกตว่า บนถนนมิตรภาพที่เชื่อมภาคกลางกับอีสาน รถติดมาก แต่แทนที่จะคิดในทางบวกว่า คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑลมีการตื่นตัวที่จะกลับไปใช้สิทธิ์ที่หมู่บ้านของตน กลับตีความว่า เงินที่ผู้สมัครแจกนั้นคุ้มค่าเดินทาง จริงอยู่ ถ้าต้องควักกระเป๋าเองจะไปไหม บ้างคงไม่ไป แต่บางคนยังไปใช้สิทธิ์ด้วยหน้าที่ หรือด้วยความเป็นเครือญาติ ด้วยอยากช่วยผู้สมัครที่มีผลงานหรือมีนโยบายดี ฯลฯ ซึ่งน่าจะมีไม่ใช่น้อย การสรุปไปในทางใดทางหนึ่งคงต้องรอการศึกษาในเชิงลึกและครอบคลุมมากกว่าการสังเกตในเบื้องต้นของพวกเรา

มาถึงผลการเลือกตั้ง ขอชมเชยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่นำผลการเลือกตั้ง อบต. ใน 5300 ตำบล ไปใส่ในอินเตอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว และเชิญชวนประชาชนให้เข้าไปสืบค้นได้ที่ https://ele.dla.go.th/public/score.do โดยกรอก จังหวัด อำเภอ ตำบล ตามลำดับ

ทันทีที่ทราบผล พลเอกประวิตรหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐคุยว่า ได้มา 4,500 คน ขอบคุณประชาชนที่เลือกพรรคพลังประชารัฐ และยังบอกด้วยว่า “ไม่เห็นชมเลยว่าได้เยอะ” แต่มีนักหนังสือพิมพ์ลองคำนวณว่า จำนวนนายก อบต. มี 5,300 คน สมาชิกสภา อบต. มี 56,641 คน รวมเป็น 61,941 คน พรรคพลังประชารัฐได้มา 4,500 คนหรือประมาณ 7.3 % ก็ไม่น่าตื่นเต้นอะไร เป็นเรื่องดีที่พรรคพลังประชารัฐสนับสนุนให้สมาชิกพรรคลงสมัตร อบต. เสียดายที่ไม่บอกว่าส่งลงสมัครเท่าไร จึงได้มา 4,500 คน พลเอกประวิตรช่างว่องไว ให้สัมภาษณ์ในวันถัดมาว่า “ที่บอกว่าขอบคุณ คือขอบคุณสมาชิกพรรคเหล่านี้ที่ได้ช่วยพรรค แต่สื่อไม่เข้าใจ คอยจับผิดอยู่เรื่อย” ขอขอบคุณพรรคพลังประชารัฐที่เปิดเผยข้อมูล รวมทั้งเลิกสงวนท่าทีเกี่ยวกับการสนับสนุนสมาชิกพรรคให้ลงชิงชัยในสนามท้องถิ่น

ผมเห็นด้วยอยู่แล้วว่า เป็นเรื่องที่ดีที่พรรคการเมืองจะสนับสนุนผู้สมัครรับการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น และควรทำอย่างเปิดเผย ถ้าผู้สมัครเหล่านี้ซื้อเสียงก็ให้รู้กันไป ถ้าผู้สมัครของพรรคมีนโยบายที่ดีและได้รับเลือกตั้งด้วย พรรคจะพลอยมีชื่อเสียงในทางที่ดี เรื่องนี้ตรงกับความตั้งใจของคณะก้าวหน้า คณะก้าวหน้าส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งนายก อบต. จำนวนนิดเดียวคือ 196 คน กำชับว่าห้ามซื้อเสียง เน้นนโยบายอย่างเดียว มีผู้สมัครของคณะก้าวหน้าที่ได้เป็นนายก อบต. 38 คน คิดเป็น 19.4% ขอให้ดำเนินตามแนวนี้ต่อไป

มีข้อมูลจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นของกระทรวงมหาดไทยว่า มีอดีตนายก อบต. ลงสมัครในครั้งนี้ 2,811 คน คิดเป็น 53 % ของผู้สมัครทั้งหมด ในจำนวนนี้ ได้รับเลือกตั้ง 1,176 คน คิดเป็น 41.8 % ของอดีตนายกอบต. ที่ลงสมัคร ส่วนผู้สมัครหน้าใหม่ที่เข้าเส้นชัยมี 3,561 คน ถ้าใช้ข้อมูลนี้ หมายความว่ามีตำบลที่กำลังดำเนินการ 5,300 – (1,176 + 3.561) = 563 ตำบล ทำให้การคำนวณไม่สมบูรณ์ อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลนี้ มีนายก อบต. หน้าใหม่กว่า 3 เท่าของหน้าเก่า การเลือกตั้งเดิม ๆ มักเลือกผู้สมัครหน้าใหม่ กับหน้าเก่าพอๆ กัน มาคราวนี้การตื่นตัวอาจสูงกว่า และระยะเวลาการประเมินผลงานคนเดิมจะนานกว่า (8 ปี แทนที่ปกติ 4 ปี) เลยได้ผู้สมัครหน้าใหม่ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

การเมืองท้องถิ่นคือประชาธิปไตยฐานราก ติการเลือกตั้งท้องถิ่นเพื่อก่อน่าจะดี แต่อย่าติแล้วบอนไซท้องถิ่นเสียเลย ที่ดีกว่าคือสนับสนุนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างจริงจัง ผู้มีอำนาจและชนชั้นกลางในเมือง โปรดอย่าดูแคลนวิจารณญาณของคนท้องถิ่นเลย หากควรเชื่อว่า ประชาชนในท้องถิ่นพึงรับผิดชอบชะตากรรมของตนเท่า ๆ กับคนอื่น ๆ ทุกคนในระบอบประชาธิปไตย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image